xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โจรไซเบอร์ระบาด แอปฯ แบงก์ดูดเงิน แค่ล้อมคอกเอาผิด “ซิมผี-บัญชีม้า” ไม่พอ แต่ “ระบบธนาคาร” ต้องสู้ “ระบบโจร” ให้ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทีมงานสายไหมต้องรอด พากลุ่มผู้เสียหาย 20 รายถูซึ่งกแฮกเกอร์ดูดเงินในบัญชีธนาคารผ่านแอป สูญร่วมกว่า 1 ล้านบาท ไปร้องทุกข์ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  คุณภาพชีวิตคนไทยในโมงยามนี้ ไม่เพียงแบกหนี้หัวโตเท่านั้น เงินทองหามาได้เก็บออมฝากธนาคารไว้ยังเจอภัยโจรไซเบอร์ที่อาละวาดหนักสร้างความเสียหายในวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าที่ผูกแอปพลิเคชั่นโมบายแบงก์กิ้งกับธนาคารทุกสาขาอาชีพทุกเพศทุกวัย วันดีคืนดีเงินในบัญชีก็หายเกลี้ยง ทั้งแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทั้งแบบเผลอกดลิงค์แอปฯ แบงก์ปลอม ตกหลุมพรางสารพัดสารพันกลโกง 

ปัญหานี้ ที่ผ่านมาธนาคารก็มักจะโยนกลับให้ลูกค้าวิ่งเต้นแก้ปัญหากันหัวหมุน ต้องไปแจ้งความก่อนมาหาแบงก์และกระบวนการตรวจสอบล่าช้า กระทั่งความเสียหายขยายวงกว้างมากขึ้นๆ ความเชื่อมั่นใน  “สังคมไร้เงินสด” เริ่มหดหายลงไป ทำให้ธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ต้องออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ มาล้อมคอกไล่จับโจรไซเบอร์กันยกใหญ่

เริ่มจากสมาคมธนาคารไทย  นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA)  กล่าวยอมรับว่าการหลอกลวงโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้ง ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันการเงิน ซึ่งมาตรการป้องกันมิจฉาชีพจะต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทางหรือตั้งแต่ระบบสื่อสาร/อินเทอร์เน็ตไปจนถึงการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านบัญชีม้าโดยต้องดูทั้งระบบนิเวศแบบ end to end เช่น การตรวจจับการเปิดเบอร์มือถือจำนวนมากและผิดสังเกต ซึ่งต้องประสานงานระหว่างกันเพื่อยับยั้งให้ทัน

สำหรับมาตรการที่ออกมาจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ภายในธนาคารเอง ปัจจุบันจะเห็นว่าทุกธนาคารอยู่ระหว่างการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจจับธุรกรรมน่าสงสัยที่มีลักษณะเดียวกันและเป็นธุรกรรมที่ต้องระวัง และ 2.ข้ามธนาคาร กรณีที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งเจอธุรกรรมน่าสงสัย จะแจ้งให้ธนาคารอื่นพึงระมัดระวังร่วมกัน ซึ่งทุกธนาคารจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการตรวจจับโดยใช้ระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยตรวจจับธุรกรรมที่มีจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี จากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้กลไกการยับยั้งธุรกรรมน่าสงสัยทำได้ไม่รวดเร็ว โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามธนาคาร จึงต้องยกร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว จะให้สิทธิธนาคารสามารถบล็อกธุรกรรมได้ทันที ไม่ต้องรอแจ้งความ รวมถึงกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่ต้องสงสัยได้ โดยไม่ขัดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับสมาชิกธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) จัดทำระบบติดตามความเสี่ยงผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทุจริตหรือต้องสงสัย” หรือเรียกว่า “central fraud registry” โดยดำเนินการผ่าน  บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) ซึ่งจะเป็นตัวกลางคอยตรวจจับและยับยั้งธุรกรรมต้องสงสัยแบบตลอดเส้นทาง (end to end) ในส่วนของ ธปท. จะมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติม โดยจะให้ธนาคารเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตนด้วย biometric comparison บนโมบายแบงกิ้ง โดยแบงก์ชาติจะกำหนดเงื่อนไข เช่น จำนวนเงินและความถี่ในการโอน เป็นต้น

“การยืนยันตัวตนด้วย biometric จะเป็นวิธีเพิ่มเติม จากเดิมที่สามารถโอนเงินได้ทันที แต่ต่อไปก่อนจะโอนเงินจะต้องมีการสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริงถึงจะสามารถโอนเงินได้ ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการเพิ่มเติมจะมาพร้อมความไม่สะดวกสบายของลูกค้า” นายผยง กล่าว

 นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์  ผู้จัดการบริหารความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศและความปลอดภัยไซเบอร์ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) กล่าวถึงแนวทางการป้องกันภัยไซเบอร์ ปัจจุบันสมาคมธนาคารไทย (TBA) และ TB-CERT ได้ร่วมป้องกันความเสี่ยงของโมบายแบงกิ้ง โดยติดตั้งระบบป้องกันและคัดกรองแอปพลิเคชั่นปลอมบนโมบายแบงกิ้ง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA)
นอกจากนี้ TB-CERT อยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาชิกธนาคาร และหน่วยงานกำกับในการจัดทำฐานข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนเรื่องของบัญชีม้า เนื่องจากที่ผ่านมาการโจรกรรมจะมีการโอนเงินข้ามธนาคาร เพื่อให้การติดตามใช้เวลานานขึ้น ซึ่งหากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจะทำให้สามารถปิดบัญชีม้าได้เพิ่มขึ้น เช่น จากเดิมสามารถปิดบัญชีม้า เพียงบัญชี A แต่หากมีการร่วมมือกันจะสามารถปิดบัญชีม้าได้ เช่น บัญชี A, B, C และ D

 นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.และสถาบันการเงินอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริตและบัญชีม้าระหว่างกัน โดยจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ ธปท.ยังมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติม โดยจะให้ธนาคารเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตนด้วย biometric comparison บนโมบายแบงกิ้งเมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การโอนเงินจำนวนมาก ทั้งจำนวนเงินและความถี่ รวมถึงการปรับเพิ่มวงเงินต่อวัน โดยกำหนดตามพฤติกรรมหรือระดับความเสี่ยงของลูกค้าของธนาคาร รวมทั้งให้มีฮอตไลน์ตลอด 24 ชม. ให้ลูกค้าสามารถแจ้งเหตุหลอกลวงได้โดยตรง

ดังนั้น ทุกธนาคารจะมีการลงทุนและการปรับระบบของโมบายแบงกิ้งเพิ่มเติม รวมถึงหลังบ้าน จะมีการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยตรวจจับ และลดการเกิดธุรกรรม error คู่ขนานกับระบบติดตามความเสี่ยงของ “ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทุจริตหรือต้องสงสัย” ซึ่งจะช่วยป้องกันระยะยาวเกี่ยวกับบัญชีม้า ที่ไม่ให้สร้างความเสียหายในระบบ และสามารถยับยั้งธุรกรรมได้ไวขึ้น

 น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโฆษก ธปท. เผยว่า ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปรับปรุงและพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยให้เท่าทันวิธีการหลอกหลวงรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะกำหนดให้สถาบันการเงินต้องยกระดับการจัดการภัยหลอกลวง และภัยทุจริตเป็นความเสี่ยงระดับองค์กร และต้องกำหนดแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนโดยเร็ว

ตัวอย่างเช่น กำหนดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking หรือบัญชีกระเป๋า e-Wallet ของแต่ละผู้ให้บริการทางการเงิน และให้ใช้งานบน 1 อุปกรณ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการนำบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking หรือกระเป๋า e-Wallet ไปใช้ในทางไม่สุจริต มีกระบวนการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเปิดบัญชี e-Money โดยตรวจสอบให้ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก หรือบัญชี e-Money ที่ใช้โอนเงินสอดคล้องตรงกันกับชื่อเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

นอกจากนี้ ขอให้งดเว้นแนบลิงก์ผ่านช่องทางข้อความสั้น (SMS) อีเมล และโซเชียลมีเดีย ที่เป็นการขอข้อมูลในการยืนยันตัวตนและข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รหัสผ่านใช้ครั้งเดียว (OTP) รหัส PIN หมายเลขบัตรประชาชนชน วันเดือนปีเกิด เป็นต้น

การอาละวาดของมิจฉาชีพ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีคำเตือนจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอ้างข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปี 2565 ว่ามีผู้ถูกหลอกลวงโอนเงินเฉลี่ยวันละ 800 ราย เมื่อหลงเชื่อกดลิงค์หรือทำตามที่มิจฉาชีพโทรเข้ามาจนสูญเงินในบัญชีเงินฝากแล้ว ต้องเข้าสู่ขั้นตอนมีการแจ้งความ ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัญชี ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบติดตามค่อนข้างนาน จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อความที่ส่งมาเป็นอันขาด หากได้รับข้อความหรือโทรศัพท์ที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐขอให้เชื่อทันทีว่า เป็นมิจฉาชีพ เพราะหน่วยงานราชการไม่มีนโยบายไม่ให้เจ้าหน้าที่โทร.หาประชาชน

 “หากเราไปหลงเชื่อกดทำธุรกรรมยืนยันตัวเองให้ข้อมูลตัวเองก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง” นายอาคม กล่าว 

ท่วงทำนองของนายอาคม ซึ่งเป็นคนระดับรัฐมนตรี และธนาคารที่โยนให้ประชาชนระมัดระวังตัวกันเอาเอง รับผิดชอบตัวเองในการสู้กับโจรไซเบอร์ที่มาในหลายรูปแบบ ทำให้พระเอกหนุ่ม  “ก๊อต จิรายุ ตันตระกูล”  ออกมาโพสต์ถึงปัญหาสังคมที่พบเจอพร้อมตั้งคำถามไปถึงธนาคารว่า สามารถการันตีได้ไหมเงินที่ฝากไว้จะไม่หาย และปลอดภัยจากพวกแก๊งมิจฉาชีพ

 “มีธนาคารไหนบ้างที่การันตีว่าเงินที่ฝากไว้จะปลอดภัยจากมิจฉาชีพ เพราะตอนนี้ไม่ต้องกดลิ้งก์ใดๆ หรือรับสายอะไร เงินก็หายได้แล้ว” ... “ที่ที่รวมเงินของทุกคน เป็นที่ที่ไว้ใจไม่ได้เสียแล้ว! จริงอยู่ที่มันไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่มันก็ควรมีการป้องกันที่ดีกว่าเดิม พวกเราประชาชนพลเมือง เรารู้ตัวว่าเราพึ่งใครไม่ได้ อย่างน้อยธนาคารช่วยสร้างระบบความปลอดภัยให้เราใหม่ก็ยังดี”  


เม้นท์ของ “ก๊อต จิรายุ” ทำให้มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เช่น เห็นด้วยครับ ธนาคารไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเงินเราจริงๆ ด้วย, จริงคะ แล้วเราจะฝากเงินที่ธนาคารกันเพื่ออะไร ความปลอดภัยก็ไม่มี ไม่อยากจะเชื่อระบบธนาคารจะสู้ระบบมิจฉาชีพไม่ได้

ความเดือดร้อนของประชาชนที่พึ่งพาหน่วยงานรัฐและแบงก์ได้ยาก ทำให้พวกเขาต่างหันไปหาความช่วยเหลือจาก  “ทีมงานสายไหมต้องรอด” เพื่อสร้างกระแสสังคม เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและแบงก์ กระตือรือร้นในการออกมาตรการยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นซ้ำในภายภาคหน้า โดยเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ และทีมงานสายไหมต้องรอด พากลุ่มผู้เสียหาย 20 คน ที่ถูกแฮกเกอร์ดูดเงินในบัญชีธนาคารผ่านแอปฯ ไปร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) โดยนายเอกภพ ระบุว่าผู้เสียหายมากกว่า 20 คน ถูกกลุ่มมิจฉาชีพแฮ็กข้อมูลโทรศัพท์ โอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมาจากการรวบรวมของเพจสายไหมฯ มีผู้เสียหายนับร้อยรายแล้ว

หนึ่งในผู้เสียหาย คือ นายอภินันต์ มานะพันธ์  ที่ขอความช่วยเหลือกับนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด กรณีถูกมิจฉาชีพดูดเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารและบัตรเครดิต ได้รับความเสียหายกว่า 4.5 ล้านบาท เล่าว่า ตนประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 มีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่การค้ากระทรวงพาณิชย์โทรศัพท์ติดต่อให้อัพเดตข้อมูลเพื่อสะดวกต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งตอนแรกไม่เชื่อเพราะมีข่าวกลุ่มมิจฉาชีพอาละวาดหลอกเอาเงินจึงเชคข้อมูลเพื่อยืนยัน ซึ่งมิจฉาชีพได้ส่งข้อมูลส่วนตัวของตนและบริษัทซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกเป็นข้อมูลเดียวกันในสารบบของกระทรวงพาณิชย์ จนทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์จริง

หลังจากนั้น จึงทำตามคำแนะนำของมิจฉาชีพที่ให้ติดต่อทางไลน์ และส่งลิงค์มาให้เปิดแอปฯ ซึ่งเมื่อกดเข้าไปหน้าแรกก็เป็นหน้าของกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นก็ทำตามขั้นตอน แต่แล้วจู่ๆ หน้าจอโทรศัพท์ก็ล็อกไปไม่สามารถกดอะไรได้ ระหว่างนั้นก็มีข้อความส่งมาจากธนาคารว่ามีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารหลายครั้งภายใน 15 นาที เมื่อมาตรวจสอบดูภายหลังทราบว่ามีเงินหายออกไปจากบัญชี 3.9 ล้านบาทและบัตรเครดิตอีก 6.5 แสนบาท จึงพยายามติดต่อธนาคารเพื่อระงับธุรกรรมดังกล่าว แต่ทางธนาคารแจ้งว่าทำไม่ได้ ต้องไปลงบันทึกประจำวันกับตำรวจก่อน จึงไปแจ้งความที่สน.บางรัก ใช้เวลานานพอสมควร ระหว่างนั้นบัญชีก็ยังไม่ได้ระงับ จนสุดท้ายมิจฉาชีพดูดเงินออกไปจนเหลือเงินเพียง 131 บาท ก็ทำใจแล้วว่ายังไงก็ไม่ได้เงินคืน แต่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อยากให้ธนาคารมีมาตรการการรับมือที่รวดเร็วกว่านี้ เพราะมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบการหลอกได้ล้ำลึกและพัฒนาไปเร็วมาก ๆ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
 นายเอกภพ ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีข้างต้นว่า ข้อมูลของประชาชนที่มิจฉาชีพได้มานั้นเป็นข้อมูลเชิงลึกที่แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ ทำไมถึงหลุดรอดออกไปได้ และแบงก์ชาติจะต้องกำหนดมาตรการให้ธนาคารต่างๆ ปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนที่เป็นเหยื่อสามารถระงับธุรกรรมของมิจฉาชีพให้รวดเร็ว ทันเวลา ถือเป็นการช่วยเหลือและป้องกันภัยให้กับประชาชนอีกทาง 

ความเสียหายจากโจรไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ออกคำเตือนป้องกันการถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต โดยแนะนำเลี่ยง 6 ความเสี่ยงที่อาจตกเป็นเหยื่อโจรกรรมออนไลน์ โดยอย่าเผลอกดลิงก์โดยไม่รู้ตัว อย่าดาวน์โหลดแอปอะไรมาโดยไม่ตั้งใจ ระวังการดาวน์โหลดแอปจากมิจฉาชีพ ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแอปให้ดีมีตัวตนจริงหรือไม่ก่อนดาวน์โหลด ระวังโฆษณาเถื่อนแฝงมากับโซเชียลมีเดียและเว็บอโคจร ไม่ควรจะเข้าเว็บโดยไม่ระมัดระวัง” และควรจะต้อง “อ่านชื่อเว็บตรงช่อง URL ให้ดี และไม่ควรโหลดแอปนอก Play Store

ส่วนกระทรวงดีอีเอส ที่ตามหลังโจรไซเบอร์หลายก้าวตอนนี้ก็ขยับหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 รับทราบตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ...ตามที่ ครม.เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2566 เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเร็วๆ นี้

หลังจากนี้ ทางดีอีเอสจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลและออกนโยบาย เพื่อกำหนดลักษณะที่เป็นพฤติกรรมต้องสงสัยในการโอนเงิน หากตรวจพบจะสามารถอายัดบัญชี และหยุดการทำธุรกรรม เพื่อรอการตรวจสอบได้เป็นเวลา 7 วัน ถ้าพบว่าถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่มิจฉาชีพ ก็จะปล่อยให้สามารถทำธุรกรรมต่อไปได้ แต่หากพบว่าเป็นบัญชีที่มีปัญหา ก็จะสั่งปิดและดำเนินคดี โดยการเพิ่มอำนาจนี้จะทำให้ดีอีเอสสามารถป้องกันและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้ทันที

“ในกฎหมายก็จะมีการตั้งคณะกรรมการ โดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจจัดตั้งเพื่อกำหนดนโยบายประสานงานกับทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้ รวมถึงกำหนดบัญชีต้องสงสัย หรือพฤติกรรมต้องสงสัยที่จะระงับการทำธุรกรรมทางการเงิน”

กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์รวมถึงอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการระงับยับยั้งการโอนเงินผ่านบัญชีม้า ซึ่งต่อไปผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าจะมีความผิดตามกฎหมาย คือ โทษจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท และหากพบว่ามีการใช้บัญชีม้าในการโอนเงินของคนร้าย หรือมิจฉาชีพจะสามารถอายัดบัญชี และหยุดการโอนเงินทุกบัญชีที่เกี่ยวข้องในการโอนต่อไปเป็นทอดๆ ได้ทั้งหมด

นอกจากการปราบปรามแก๊งเปิดบัญชีม้าแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงเรื่อง  “ซิมผี”  ซึ่งจะมีความผิดเช่นเดียวกับการใช้บัญชีม้า จึงขอเตือนประชาชน และคนที่ไปลงทะเบียนมือถือให้ผู้อื่นใช้ จะมีความผิด โดยมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับที่ไปรับจ้างได้เงินเพียง 500-2,000 บาท แต่ต้องมาโดนปรับเงินถึง 300,000 บาท และเป็นคดีความอีกด้วย

 ติดตามดูกันต่อไปว่าดีอีเอส แบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะล้อมคอกไล่จับโจรไซเบอร์แบบเอาอยู่หรือไม่ และถึงแม้ว่ากฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะช้าเกินไป สายเกินการณ์ แต่ก็ยังดีที่สุดท้ายก็มาแล้ว 



กำลังโหลดความคิดเห็น