xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จีนศึกษาในยุคสมัยของเรา (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ประวัติพระถังซัมจั๋ง ของ เคงเหลียน สีบุญ
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หรืองานแปลและเรียบเรียงอย่างเช่น  ประวัติพระถังซัมจั๋ง  ของเคงเหลียน สีบุญเรือง ที่เผยแพร่ในปี 1942 (2485) หรือ  ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ต. บุญเทียม ซึ่งเป็นนามแฝงของตันบุญเทียม อังกินันท์ ที่เผยแพร่ในปี 1952 (2495) เป็นต้น

ตราบจนปลายทศวรรษ 1960 จึงเริ่มปรากฏผลงานจีนศึกษาที่เป็นวิชาการมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นงานศึกษาที่เขียนขึ้นใหม่ มิใช่งานแปลหรือเรียบเรียง

โดยผู้บุกเบิกคนสำคัญคือ ศาสตราจารย์ ดร.เขียน ธีระวิทย์ ในผลงานเรื่อง วิวัฒนาการการปกครองจีน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 1966 (2509) อันเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในจีนพอดี และถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ก็ว่าได้ที่ใช้คำทับศัพท์เป็นภาษาจีนกลางเป็นส่วนใหญ่

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้มีผลงานส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นงานวิชาการ และแม้จะให้ความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่งานส่วนใหญ่ล้วนถูกแปล เรียบเรียง หรือเขียนขึ้นด้วยภาษาจีนถิ่น ไม่ใช่ภาษาจีนกลาง

ในระยะแรกงานเหล่านี้มักทับศัพท์เป็นภาษาจีนฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ในชั้นหลังต่อมาจะเป็นภาษาจีนเฉาโจว (แต้จิ๋ว) เป็นส่วนใหญ่ จนไม่ว่าใครก็ตามหากเรียนภาษาจีนกลางมาก่อนแล้วมาอ่านงานเหล่านี้ย่อมรู้สึกหงุดหงิด เพราะไม่รู้ว่าคำทับศัพท์เหล่านั้นเป็นคำใดในภาษาจีนกลาง

ควรกล่าวด้วยว่า ในสมัยนั้นสถานศึกษาบางแห่งโดยเฉพาะโรงเรียนพาณิชยการนั้น ยังสอนภาษาจีนแต้จิ๋วแทนที่จะเป็นภาษาจีนกลางอีกด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการทำการค้ากับชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ในไทยที่มักมีอาชีพค้าขาย ถ้ารู้ภาษาจีนแต้จิ๋วแล้วก็จะมีประโยชน์ต่ออาชีพของตน

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประสบการณ์ส่วนตัวจะเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง เรื่องนี้เกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะที่ผมกับเพื่อนอาจารย์กำลังรอเรือข้ามฟากไปยังเกาะเสม็ด คนขับรถก็ได้เปิดหนังเรื่อง สามก๊ก ให้พวกเราดูฆ่าเวลา พอหนังเริ่มเรื่อง เพื่อนอาจารย์รุ่นพี่ท่านหนึ่งก็บอกให้ปรับเครื่องเล่นเป็นเสียงจีนกลาง โดยที่ท่านเองก็ไม่รู้ภาษาจีน

ท่านว่าท่านอยากจะฟังอย่างนั้น ส่วนเนื้อหาท่านจะอ่านจากคำบรรยายภาษาอังกฤษเอาเอง ผมจึงท้วงว่า อย่าเลยเชียว เพราะแม้ท่านจะอ่านอังกฤษได้ไวได้คล่องก็จริง แต่หากท่านอ่านพบตัวโรมันหรือพินอิน (pin-yin) คำว่า  หลิวเป้ย  ท่านจะไม่รู้ว่านั่นคือ  เล่าปี่ 

 ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ต. บุญเทียม
หากท่านอ่านพบคำว่า กวานอี่ว์  ท่านจะไม่รู้ว่านั่นคือ  กวนอู 

หากท่านอ่านพบคำว่า  จังเฟย  ท่านจะไม่รู้ว่านั่นคือ เตียวหุย  

หากท่านอ่านพบคำว่า  รัฐสู่ ของเล่าปี่ ท่านจะไม่รู้ว่านั่นคือ  จ๊กก๊ก 

หรือหากท่านอ่านพบคำว่า จักรพรรดิเสียนตี้ ท่านก็จะไม่รู้ว่านั่นคือ พระเจ้าเหี้ยนเต้ 

แล้วท่านก็จะดูหนัง  สามก๊ก ไม่รู้เรื่อง ผลคือ ท่านเชื่อผมและยอมฟังพากษ์ไทยแต่โดยดี

ถึงตรงนี้เราก็จะเห็นได้ว่า การทับศัพท์ภาษาจีนก็เป็นปัญหาหนึ่งของจีนศึกษาในบ้านเรา ในปัจจุบันแม้จะมีการใช้ภาษาจีนกลางอย่างกว้างขวาง และโดยส่วนใหญ่แล้วก็ทับศัพท์เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากกว่าแต่ก่อน

แต่เราก็พบว่า เกณฑ์การทับศัพท์ภาษาจีนกลางนั้นมีอยู่หลายสำนักด้วยกัน

แต่ก็ยังมีคำบางคำที่มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การทับศัพท์ตัวพินอิน sh นั้น บางสำนักกำหนดให้ออกเสียงเป็น ช ช้าง หรือ ฉ ฉิ่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้การออกเสียงคำว่า สื่อจี้ ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียน (ราว ก.ค.ศ.145-ก.ค.ศ.86) ออกเสียงว่า ฉื่อจี้ 

ถ้าออกเสียงเช่นนี้ก็หมายความว่า รัฐสู่ (Shu) ที่เป็นรัฐของเล่าปี่ใน สามก๊ก ก็จะออกเสียงเป็น ฉู่ เสียงนี้จะไปตรงกับชื่อของรัฐหนึ่งในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกหรือยุคชุนชิวจั้นกว๋อคือ รัฐฉู่ ซึ่งตัวพินอินคือตัว Chu

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีชื่อรัฐที่ออกเสียงเหมือนกันหรือซ้ำกันสองชื่อ คนอ่านที่ไม่รู้ภาษาจีนหรือเรื่องจีนก็อาจสับสนเอาได้ว่าเป็นรัฐเดียวกัน ทั้งที่เป็นคนละรัฐกัน เป็นต้น

แต่ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่าปัญหานี้มีเป็นส่วนน้อย และส่วนใหญ่ของการทับศัพท์ไม่สู้จะมีปัญหามากนัก และก็คงต้องยึดหลักยืดหยุ่นเอาไว้ คือไม่ควรถึงกับเอาเป็นเอาตาย ว่าหากใครทับศัพท์ต่างไปจากที่เขากำหนดแล้วถือว่าผิด

อย่างไรก็ตาม การทับศัพท์ด้วยภาษาจีนถิ่นในอดีตที่ชวนให้หงุดหงิดแก่ผู้ใช้ภาษาจีนกลาง ก็ถูกกลบด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะและให้ข้อคิด ซึ่งผู้แปลได้ทำให้ภาษาไทยมีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลอยู่ไม่น้อย

วิวัฒนาการการปกครองจีน ของ ดร.เขียน ธีระวิทย์
แต่ที่อดทึ่งไม่ได้ก็คือ ความคิดอันแยบยลในการแปลภาษาจีนให้เป็นภาษาไทยอย่างที่เราคาดไม่ถึง งานแปลนี้มักพบในนิยายกำลังภายใน ซึ่งในสมัยก่อนมักทับศัพท์ด้วยภาษาจีนแต้จิ๋ว

อย่างเช่นคำกึ่งสบถกึ่งด่าที่ตัวละครมักพูดอยู่เสมอและฟังดูไม่สุภาพ คือคำในภาษาจีนกลางที่ว่า ฟั่งหนี่มาเตอพี่ ซึ่งผู้แปลจะแปลเป็นไทยว่า  ผายลมมารดาเจ้า 

ลองคิดดูว่า หากแปลตรงตัวด้วยภาษาไทยแท้ว่า  ตดแม่เอ็ง  แล้ว นิยายกำลังภายในจะด้อยค่าลงเพียงใด

แต่คำทำนองนี้ก็ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมจีนในระดับหนึ่ง ว่าบางทีในการเจรจาพาทีของชาวจีนนั้น ก็สะท้อนกิริยามารยาทหรือธรรมเนียมปฏิบัติบางประการเอาไว้

ดังเช่นคำกล่าวที่ตัวละครจีนมักพูดอยู่เสมอ เช่นคำว่า  อย่ามากพิธี โปรดชี้แนะ  หรือ ถ้าเช่นนั้นข้าก็ไม่เกรงใจแล้  เป็นต้น

เพราะฉะนั้นแล้ว การแปลก็นับเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งเช่นกัน

ประเด็นปัญหาที่ว่าคือ ทักษะที่พึงมีของผู้แปลเอง ซึ่งปัจจุบันนี้จีนมีผลงานทางวิชาการที่ควรแปลเป็นไทยอยู่มากมาย แต่ก็ยังมีผู้แปลไม่มาก และส่วนใหญ่แล้วมักเป็นภาคเอกชน อีกทั้งงานแปลส่วนใหญ่ยังคงเป็นนิยายมากกว่างานที่ให้ความรู้เรื่องจีนหรืองานวิชาการ

ผมเองยังเคยคิดเล่นๆ ว่า อยากจะให้ใครสักคนที่รู้ภาษาจีนดีมาทำคำทับศัพท์ภาษาจีนถิ่นในงานวรรณกรรมต่างๆ ในอดีต มาเป็นภาษาจีนกลาง แต่ให้คงสำนวนภาษาไทยที่ถูกแปลไว้แต่เดิมเอาไว้ และให้แปลข้อความที่ตกหล่นไปให้สมบูรณ์

 หากทำได้ก็จะเกิดประโยชน์กับผู้ที่เรียนภาษาจีนในปัจจุบันไม่น้อย เพราะจะได้ความรู้เรื่องจีนผ่านการเรียนภาษาจีนกลางดังที่ตนกำลังเรียนอยู่ไปด้วย  



กำลังโหลดความคิดเห็น