xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงคราม AI “Chatbot” เดือด Microsoft – Google – Baidu เปิดศึกชิงความเป็นหนึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ความนิยมอย่างล้นหลามในเวลาอันรวดเร็วของ “ChatGPT” ที่มีค่าย Microsoft อยู่เบื้องหลัง จุดชวนให้ยักษ์เทค search engine อย่าง Google นั่งไม่ติด ประกาศส่ง “Bard” แชทบอทเอไอตัวใหม่ออกมาท้าชน ส่วน Baidu ซึ่งเป็น search engine อันดับหนึ่งของจีนมีแผนเปิดตัวแชทบอทในเดือนมี.ค.นี้ ภายใต้ชื่อ “ERNIE Bot” ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษและ ‘Wenxin Yiyan’ เวอร์ชันภาษาจีน 

การเปิดตัว “ChatGPT” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดึงดูดผู้ใช้พุ่งทะลุล้านรายภายใน 5 วัน และยอดผู้ใช้งานเพิ่มสูงถึงหลัก 100 ล้านคน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนตื่นตะลึงอย่างยิ่ง ล่าสุดทางบริษัท กูเกิล (Google) ไม่ขอนิ่งเฉย ส่ง “Bard”  ซึ่งมีความหมายว่า “นักกวี” ลงสนามรบชิงความเป็นหนึ่ง

สำนักข่าว CNN รายงานว่า ซันดาร์ พิชัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกูเกิลและอัลฟาเบท ระบุในบล็อกโพสต์ว่า บริษัทเริ่มเปิดให้ผู้ทดสอบที่ได้รับความเชื่อถือทดลองใช้งาน Bard ตั้งแต่วันจันทร์ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะที่คนทั่วไปจะได้ใช้งานแชทบอทตัวนี้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

Bard เป็นแชทบอทที่ถูกพัฒนาขึ้นบนคลังข้อมูลภาษาขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ ChatGPT ที่บริษัท OpenAI ของค่ายไมโครซอฟต์ เปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งการฝึกฝนกับฐานข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่ทำให้แชทบอทมีศักยภาพในการประมวลผลที่ซับซ้อน และสามารถตอบคำถามของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ

“Bard คือการผสานคลังความรู้ทั่วโลกเข้ากับพลัง ความชาญฉลาด และความคิดสร้างสรรค์ของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของเรา” และ “มันใช้ฐานข้อมูลต่างๆ บนเว็บเพื่อให้คำตอบที่สดใหม่และมีคุณภาพสูง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกูเกิลและอัลฟาเบท ระบุ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ search engine ของกูเกิลกำลังกับเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีชาวเน็ตจำนวนมากเริ่มหันไปใช้ ChatGPT เป็นตัวช่วยในการสร้างบทความ แต่งเรื่องราว เขียนเนื้อเพลง หรือแม้กระทั่งตอบคำถามต่างๆ แทนที่จะใช้วิธีสืบค้นข้อมูลจากกูเกิลเหมือนในอดีต กระแสความฮิตของ ChatGPT ทำให้คณะผู้บริหารกูเกิลถึงกับต้องประกาศ  “รหัสแดง” (code red) ซึ่งบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของบริษัท

 พอล บัคไฮต์ หนึ่งในวิศวกรผู้สร้างสรรค์ Gmail เคยทวีตเตือนเมื่อปีที่แล้วว่า กูเกิลอาจเหลือเวลาอีกแค่ 1-2 ปีก่อนจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันสืบเนื่องมาจากความเฟื่องฟูของเอไอ

สำหรับเทคโนโลยีที่กูเกิลใช้สนับสนุน Bard ก็คือ Language Model for Dialogue Applications หรือ LaMDA ซึ่งเป็นแบบจำลองภาษาที่กูเกิลพัฒนาและเปิดตัวตั้งแต่ 2 ปีก่อน

 กูเกิลยังได้โชว์ความชาญฉลาดของ Bard โดยจำลองสถานการณ์ให้ผู้ใช้รายหนึ่งเข้าไปสั่งให้ Bard ช่วยอธิบายการค้นพบใหม่ๆ โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ในแบบที่ “เด็ก 9 ขวบ” ฟังแล้วรู้สึกสนุก ซึ่งปรากฏว่า Bard ได้ให้คำตอบออกมาเป็นข้อๆ โดยข้อแรกนั้นบอกว่า “ในปี 2023 กล้องโทรทัศน์เจมส์เว็บบ์ได้ค้นพบดาราจักรมากมายที่มีชื่อเล่นว่า ‘ถั่วเขียว’ ที่พวกมันถูกเรียกแบบนี้ก็เพราะว่ามันมีรูปร่างเล็ก กลม และสีเขียวเหมือนกับถั่วเขียว” 

นอกจากนั้น กูเกิลยังมีแผนที่จะเปิดตัวฟีเจอร์เอไอใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้เสิร์ชเอนจินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น “.... ฟีเจอร์เอไอใน Search ที่จะนำเสนอข้อมูลอันสลับซับซ้อนและมุมมองที่หลากหลายในฟอร์แมตที่ย่อยง่าย ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจภาพรวมและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นจากเว็บ” พิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการที่กูเกิลจะนำศักยภาพของแชทบอทเอไอมาผสานเข้ากับเสิร์ชเอนจินอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ถูกฝึกด้วยฐานข้อมูลออนไลน์ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอผลลัพธ์ที่ลำเอียงหรือเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน

สำหรับจุดแข็งของ Google ในการสู้ศึกสงครามแชทบอทครั้งนี้อยู่ที่การมีส่วนแบ่งตลาดเสิร์ชเอนจิ้นที่สูงถึง 92.7% เข้าถึงผู้ใช้งานทั่วโลกได้มากกว่า 4,300 ล้านคน ดังนั้น Bard จึงเข้าถึงข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตได้มากกว่าของ Microsoft สามารถให้คำตอบและข้อมูลได้แม่นยำและถูกต้องกว่า และอธิบายเรื่องที่คนเข้าใจยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย

ส่วนความเคลื่อนไหวของ  Baidu เสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ของจีน เตรียมเปิดตัวแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ท้าชนกับ “ChatGPT” และ “Bard” เช่นกัน

ตามรายงานของซีเอ็นบีซี อ้างแถลงการณ์ของ Baidu ที่อธิบายว่า ERNIE เป็นชื่อที่ย่อมาจาก ‘Enhanced Representation through kNowledge IntEgration’ ซึ่งเป็นโมเดลทางภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ของบริษัทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 2019 ขณะนี้ ERNIE ยังอยู่ระหว่างการทดสอบภายใน คาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.นี้ ก่อนจะเริ่มเปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งาน

 “สิ่งที่ทำให้ ERNIE แตกต่างจากโมเดลภาษาอื่นๆ คือการรวมความรู้ที่กว้างขวางเข้ากับข้อมูลจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดความเข้าใจและความสามารถที่ยอดเยี่ยม” แถลงการณ์ของ Baidu ระบุและยังบอกว่า ปัจจุบัน ERNIE ได้ถูกพัฒนาจนกลายมาเป็นโมเดลขนาดใหญ่ขั้นสูงที่สามารถจัดการงานได้หลากหลาย เช่น การทำความเข้าใจภาษา การสร้างภาษา และการสร้างข้อความเป็นรูปภาพ 

การประกาศเปิดตัว ERNIE Bot ส่งผลให้ราคาหุ้น Baidu ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นมากกว่า 13% สู่ระดับ 159.80 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับราคาสูงสุดของหุ้น Baidu ในรอบ 11 เดือน หรือนับจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022

 ความน่าสนใจและจุดแข็งของ ERNIE อยู่ที่นักลงทุนที่เข้าร่วมสนับสนุนมีทั้ง Intel และ Qualcomm ซึ่งจุดแข็งของ Baidu คือความเป็นเสิร์ชเอนจิ้นที่มีผู้ใช้งานมากสุดในจีน สามารถเข้าถึงประชากรจีนมากกว่า 1,400 ล้านคน 

สำหรับ ChatGPT ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 นั้น ค่าย Microsoft คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จโดย Microsoft ให้เงินสนับสนุนบริษัท Open AI ซึ่งเป็นเจ้าของ ChatGPT มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2562 โดย Open AI มีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 ราย คือ แซม อัลท์แมน ปัจจุบันคือประธานบริษัทนั่นเอง และอีกคนคือ อีลอน มัสก์ ซีอีโอ  และผู้ก่อตั้ง Tesla แต่ มัสก์ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทไปเมื่อปี 2561

จุดแข็งของ ChatGPT แชทบอท AI ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสื่อสารข้อมูลที่ทำได้มากกว่าการเสิร์ทค้นหาข้อมูลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ สรุป หรือรวบรวมข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมมากกว่าการค้นหาแบบทั่วไป ที่สำคัญยังสามารถโต้ตอบกับผู้ค้นหาได้อีกด้วย ทั้งยังเอาใจสายครีเอทีฟในการค้นหาไอเดียต่างๆ อีก ซึ่งนั่นทำให้ ChatGPT ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ล่าสุดร่ำลือกันว่าไมโครซอฟท์ จะมีการนำ ChatGPT ไปรวมกับ Bing เสิร์ชเอนจิ้นของบริษัทอีกด้วย

ยูบีเอส (UBS) ธนาคารเพื่อการลงทุนของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ChatGPT มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน ในเดือนม.ค. 2023 ซึ่งเร็วกว่าแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่างติ๊กต่อก (TikTok) และอินสตาแกรม จากตัวเลขที่ยูบีเอสมีอยู่ในมือเวลานี้ เชื่อว่า ChatGPT น่าจะมีผู้เข้าใช้งานเฉลี่ยวันละ 13 ล้านคน แต่ตัวเลขการใช้งานก็อาจลดลงได้เรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อกระแสความไฮป์ลดน้อยถอยลงไป

 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ พูดถึงแชทบอทยอดนิยม ChatGPT ว่าจะมีความสำคัญในระดับเดียวกับที่โลกเคยได้สัมผัสกับอินเทอร์เน็ต และวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งมีไมโครซอฟท์และแอปเปิลเป็นกลจักรสำคัญ และเขายังเชื่อว่าหัวข้อของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence - AI) จะกลายเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงในการพูดคุยตลอดปี 2023 

Chatbot คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองบทสนทนาของมนุษย์ สามารถสื่อสารผ่านข้อความหรือเสียงได้แบบ Real Time ใช้ในการโต้ตอบกับคู่สนทนา ตัวโปรแกรมนี้จะถูกฝังตัวอยู่บน Server หรือ Application หรือโปรแกรม chat ต่าง ๆ ซึ่งการมาของแชทบอท ส่งผลสะเทือนต่อหลายวงการ มนุษย์งานเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่เช่นนั้นก็ตกเทรนด์และถูกคัดออกเช่นเดียวกันกันช่วงก่อนหน้าที่เข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต

ข้อมูลของบริษัท OpenAI บริษัทวิจัยและพัฒนา AI ซึ่งเปิดตัว ChatGPT เมื่อปลายปีที่ผ่านมาระบุว่ารูปแบบการสนทนาที่จัดทำโดยแพลตฟอร์มนี้ทำให้ ChatGPT สามารถ “ตอบคำถามได้ครอบคลุม ยอมรับข้อผิดพลาด พร้อมนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และปฏิเสธคำร้องขอที่ไม่สมเหตุสมผล”

นับตั้งแต่ ChatGPT เปิดให้บริการบนโลกโซเชียลมีเดียก็มีการถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมนี้มาปรับใช้ รวมถึงอันตรายที่อาจตามมา เนื่องจากความสามารถในการวิเคราะห์หาข้อผิดพลาดของโค้ด (Debug Code) ไปจนถึงศักยภาพในการเขียนเรียงความสำหรับนักศึกษา


 มร.เบิร์น เอลเลียต  รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์. เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ ChatGPT ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากว่า ChatGPT เป็นปรากฏการณ์ Perfect Storm ที่เป็นการรวมกันของปัญญาประดิษฐ์ (AI) สองเรื่องใหญ่ๆ ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน นั่นคือแชทบอท และ GPT3 ที่นำเสนอวิธีการสื่อสารโต้ตอบพร้อมสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ เสมือนการพูดคุยกับมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำคัญในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

แชทบอทสร้างปฏิสัมพันธ์การสนทนาแบบชาญฉลาด ขณะที่ GPT3 สร้างเอาท์พุทที่ดูเหมือนจะเข้าใจคำถาม เนื้อหา และบริบทของการสนทนา ซึ่งเมื่อสองสิ่งนี้รวมกันได้สร้างผลกระทบใหญ่จนเกิดคำถามว่า เรากำลังสนทนากับมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์กันแน่ หรือว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่เหมือนกับมนุษย์ ซึ่งการโต้ตอบบางครั้งสร้างความขบขัน บ้างนำเสนอข้อมูลลึกซึ้งและบางทีก็เต็มไปด้วยสาระความรู้

แต่น่าเสียดายที่บางครั้ง ChatGPT ยังนำเสนอเนื้อหาได้ไม่ถูกต้องและไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจหรือสติปัญญาของมนุษย์ ปัญหาอาจอยู่ที่คำว่า 'เข้าใจ' และ 'ความฉลาด' ซึ่งขึ้นอยู่กับการป้อนข้อมูลของมนุษย์ที่อาจมีความหมายคลุมเครือไม่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อนำไปใช้กับอัลกอริธึม อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง

ในมุมที่มีประโยชน์กว่าคือการได้เห็นว่าแชทบอทและโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เช่น GPT ได้กลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าสำหรับการทำงานเฉพาะอย่างให้สำเร็จลุล่วงได้ โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในแอปพลิเคชันที่เหมาะสมและมอบประโยชน์ต่อองค์กรอย่างแท้จริง

ขณะที่รูปแบบการใช้ ChatGPT ในองค์กร ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อจัดเตรียมรูปแบบการโต้ตอบด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาจากแหล่งข้อมูล โดยแชทบอทจะมีรูปแบบการใช้งานมากมายอยู่ในระบบของตัวเองอยู่แล้ว ตั้งแต่การให้บริการลูกค้าไปจนถึงการช่วยเหลือทีมงานเทคนิคระบุปัญหาต่างๆ

สำหรับการใช้งาน ChatGPT ระดับสูงขึ้นไปอีก จะใช้เป็นแชทบอทที่มีความเฉพาะสำหรับ (แชท) โต้ตอบหรือสนทนากับแหล่งข้อมูลของ GPT ในกรณีนี้แหล่งข้อมูล GPT จะได้รับการทดสอบโดเมนเฉพาะโดย OpenAI ซึ่งข้อมูลการทดสอบที่ใช้ในแบบจำลองนี้จะกำหนดวิธีการตอบคำถาม

อย่างไรก็ตาม ความสามารถของ GPT สำหรับสร้างฐานข้อมูลยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าข้อมูลที่ได้นั้นเป็นเท็จ นั่นหมายความว่าข้อมูลสามารถใช้ได้กับบางสถานการณ์ที่ข้อผิดพลาดสามารถยอมรับหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้

มีรูปแบบการใช้งานโมเดลพื้นฐานมากมาย เช่น GPT ในโดเมนต่างๆ ประกอบด้วย Computer Vision, Software Engineering และงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Research and Development) เช่น มีการใช้แบบจำลองพื้นฐานสร้างรูปภาพขึ้นจากข้อความ และตรวจสอบโค้ดจากภาษาธรรมชาติ (Natural Language) รวมถึงการทำ Smart Contracts หรือแม้แต่ในด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) เช่น การสร้างยารักษาโรคใหม่ๆ และการถอดรหัสลำดับจีโนมเพื่อจำแนกโรค

ส่วนความกังวลด้านจริยธรรม รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์. มองว่า ด้วยโมเดลแบบจำลองพื้นฐาน AI เช่น GPT แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้าน AI จากประโยชน์เฉพาะตัว เช่น การช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาสร้างโมเดลแบบจำลองเฉพาะโดเมน สิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงและข้อกังวลด้านจริยธรรม ประกอบด้วย

 Complexity : โมเดลจำลองขนาดใหญ่ต้องใช้พารามิเตอร์นับพันล้าน หรืออาจมากถึงล้านล้าน โดยโมเดลจำลองเหล่านี้มีขนาดใหญ่เกินไปที่องค์กรจะนำมาทดสอบใช้งาน เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรการประมวลผลที่จำเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีราคาแพงและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 Concentration of power  : โมเดลจำลองเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาล และมีความสามารถด้าน AI เป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจในหน่วยงานขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง อาจสร้างความไม่สมดุลในอนาคต

 Potential misuse : โมเดลจำลองพื้นฐานช่วยลดต้นทุนในการสร้างเนื้อหา ซึ่งหมายความว่าการสร้าง Deepfake ที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับจะง่ายขึ้น รวมถึงทุกๆ อย่าง ตั้งแต่การเลียนแบบเสียงและวิดีโอไปจนถึงผลงานศิลปะปลอม ตลอดจนการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมาย ซึ่งข้อกังวลด้านจริยธรรมร้ายแรงที่เกี่ยวข้องอาจทำให้เสียชื่อเสียงหรือสร้างความขัดแย้งทางการเมืองได้

 Black-box nature  : โมเดลจำลองเหล่านี้ยังต้องการการทดสอบอย่างถี่ถ้วนและสามารถมอบผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจ เนื่องจากการทดสอบในลักษณะกล่องดำ (Black-box nature) ที่ไม่คำนึงถึงคำสั่งภายในซอฟต์แวร์ และคลุมเครือว่าฐานข้อมูลที่ตอบสนองนั้นเท็จจริงเพียงใด อาจนำเสนอผลลัพธ์ที่เอนเอียงได้จากข้อมูลที่กำหนดไว้ โดยกระบวนการทำให้ข้อมูลตรงกันของแบบจำลองดังกล่าวสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวได้ หากคลาดเคลื่อนเพียงจุดเดียว

 Intellectual property 
: โมเดลแบบจำลองถูกทดสอบกับคลังข้อมูลของชิ้นงานที่สร้างขึ้น และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีกฎหมายบังคับอย่างไรสำหรับการนำเนื้อหานี้กลับมาใช้ใหม่ และหากเนื้อหานั้นมาจากทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

การ์ทเนอร์ อิงค์. ได้เสนอแนวทางการใช้โมเดลพื้นฐานเอไออย่างมีจริยธรรมว่าเริ่มต้นจากการใช้งานการประมวลผลภาษาตามธรรมชาติ เช่น การจัดหมวดหมู่ การสรุป และการสร้างข้อความในสถานการณ์ที่ไม่ได้เจอตัวลูกค้า และเลือกงานที่มีความเฉพาะ โดยโมเดลจำลองที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วจะสามารถลดต้นทุนการปรับแต่งและการทดสอบที่มีราคาแพง หรือใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจสอบผลลัพธ์โดยมนุษย์

นอกจากนั้น ยังใช้สร้างเอกสารเชิงกลยุทธ์ที่สรุปประโยชน์ ความเสี่ยง โอกาส และแผนงานการปรับใช้โมเดลจำลองพื้นฐาน AI เช่น GPT ซึ่งจะช่วยพิจารณาว่าได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงหรือไม่กรณีที่นำมาใช้งานเฉพาะ และใช้ APIs บนคลาวด์สำหรับสร้างรูปแบบจำลองและเลือกแบบจำลองที่มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการเพื่อลดความซับซ้อนในการดำเนินงาน ลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนรวมสำหรับการเป็นเจ้าของ

และต้องไม่ลืม การจัดลำดับความสำคัญของผู้จำหน่ายที่ส่งเสริมการปรับใช้โมเดลอย่างมีความรับผิดชอบโดยการเผยแพร่แนวทางการใช้งาน การบังคับใช้ รวมถึงบันทึกช่องโหว่และจุดอ่อนที่ทราบ พร้อมเปิดเผยพฤติกรรมที่เป็นอันตราย และสถานการณ์การใช้งานในทางที่ผิดแบบเชิงรุก

 แน่นอน การมาของ AI แชทบอท ย่อมนำมาซึ่งความกังวลในหลายวงการ เมื่อไม่นานมานี้ รายงานของ CNN, Medscape สะท้อนถึงผลกระทบต่อวงการศึกษาและวิชาชีพของ ChatGPT โดยมีการทดลองให้แชทบอท ChatGPT ทำข้อสอบวิชาแพทย์ กฎหมาย และบริหารธุรกิจ พบว่ามันสามารถสอบผ่านได้แม้คะแนนไม่ดีนักก็ตาม 

จากผลการศึกษาดังกล่าว สะท้อนว่า ChatGPT มีความสามารถในการประมวลผลเพื่อตอบคำถามเฉพาะทางได้ในระดับหนึ่งซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในฐานะผู้ช่วย แต่ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่วิชาชีพเฉพาะทางได้

แต่ในแง่ของการทำข้อสอบหรือทำการบ้าน ต้องยอมรับว่ามันเป็นเครื่องมือที่น่ากังวล ซึ่งแวดวงการศึกษาต้องหาวิธีในการรับมือ ขณะนี้มีโรงเรียนหลายแห่งในกรุงนิวยอร์กและนครซีแอตเทิลในสหรัฐฯ รวมถึงรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ควีนส์แลนด์ และทัสมาเนียของออสเตรเลีย ประกาศสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนมีการใช้ ChatGPT ในเครือข่ายของโรงเรียนและบนอุปกรณ์โดยเด็ดขาด

 ความชาญฉลาดของ AI ที่กำลังเกิดขึ้นในอัตราเร่ง ต้องบอกว่าถึงยุคจักรกลขยับใกล้เข้ามาครองโลกร่วมกับมนุษย์แล้ว  



กำลังโหลดความคิดเห็น