ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เติบโตต่อเนื่องสำหรับ “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” โกยกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 91% ปัจจัยหนึ่งมาจากพฤติกรรมหรือรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ หรือ Pet Humanization การเลี้ยงแบบรักและเอ็นดูสัตว์เสมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายต่อสินค้าและบริการได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยง
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2563 - 2565 ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 63 ราย ทุนจดทะเบียน 101.90 ล้านบาท, ปี 2564 จัดตั้ง 68 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือร้อยละ 8) ทุน 119.13 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 17) และปี 2565 จัดตั้ง 130 ราย (เพิ่มขึ้น 62 ราย หรือร้อยละ 91) ทุน 210.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 91.22 ล้านบาท หรือร้อยละ 77)
โดยผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 2,933.51 ล้านบาท กำไร 57.63 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้รวม 3,512.44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 578.93 ล้านบาท หรือ 20%) กำไร 46.31 ล้านบาท (ลดลง 11.32 ล้านบาท หรือ 20%) และปี 2564 รายได้รวม 4,267.72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 755.28 ล้านบาท หรือ 22%) กำไร 127.76 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 81.45 ล้านบาท หรือ 176%)
ข้อมูลธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 562 ราย คิดเป็น 0.06% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,359.60 ล้านบาท คิดเป็น 0.006% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย
ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 243 ราย (43.24%) ทุนจดทะเบียน 679.88 ล้านบาท (50.01%) รองลงมา คือ ภาคกลาง 130 ราย ( 23.13%) ทุน 228.36 ล้านบาท ( 16.80%) ภาคตะวันออก 49 ราย ( 8.72%) ทุน 80.08 ล้านบาท (5.89%) ภาคเหนือ 46 ราย ( 8.18%) ทุน 68.90 ล้านบาท (5.07%) ภาคใต้ 45 ราย ( 8.01%) ทุน 236.60 ล้านบาท ( 17.40%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 ราย ( 5.34%) ทุน 39.20 ล้านบาท ( 2.88%) และภาคตะวันตก 19 ราย (3.38%) ทุน 26.58 ล้านบาท ( 1.95%)
โดยธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 1,334.93 ล้านบาท คิดเป็น 98.19%ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5.15 ล้านบาท ( 0.38%) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.02 ล้านบาท ( 0.37%) อังกฤษ มูลค่า 3.88 ล้านบาท ( 0.29%) และอื่นๆ มูลค่า 10.62 ล้านบาท ( 0.77%)
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมา ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ภาวะการแข่งขันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการประกอบสัมมาอาชีพ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป การไม่มีครอบครัว ครองตัวเป็นโสด สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น
ทั้งนี้ การลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการขายอาหารสัตว์และมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณการขายอาหารสัตว์ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 เพิ่มขึ้น 13% จาก 2563 ขณะที่ปี 2565 มีปริมาณการขายอาหารสัตว์ในตลาดราว 929 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 8% โดยจำนวนอาหารสัตว์ในตลาดสอดคล้องกับจำนวนการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นของสังคมไทย
แนวโน้มมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงคาดการณ์ว่าในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน
สอดคล้องกับข้อมูลของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลสำรวจของมกราคม ปี 2566 ระบุว่าตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย เติบโตสวนกระแสโควิดเป็นอย่างมาก พบว่า 49% ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่ม มักจะเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัวต่อปี
โดยทาง ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่าตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตสวนกระแสโควิด-19 เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงไปเป็นในทิศทางเดียวกัยตลาดโลก อ้างอิงยูโรมอนิเตอร์หน่วยงานเก็บข้อมูลสถิติระดับโลก คาดการณ์ว่า ปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ซึ่งตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยก็เติบโตสอดคล้องไปกับตลาดโลกเช่นกัน
ด้วยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว จึงเป็นโอกาสของธุรกิจหลากหลายแบรนด์ ตีตลาด Pet Marketing รองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนลูก
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลรองรับว่าการที่ผู้บริโภคเห็นภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์อยู่ในโฆษณาสินค้าใดๆ ก็ตาม จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ มากถึง 43.82% เนื่องจากสัตว์เลี้ยงช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก
นายพัชรพันธุ์ เทียนศิริ นักศึกษาปริญญาโท CMMU หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยว่าผลสำรวจเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกของคนยุคใหม่ จากกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,046 คน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชันวาย อายุระหว่าง 24 - 41 ปี โดยจากการสำรวจพบว่า เหตุผลที่คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน คือ 49% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent), 34% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) และ 18% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing)
ทั้งนี้ ประเภทสัตว์เลี้ยงที่คนไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมเลี้ยงมากที่สุด คือ อันดับ 1 คนไทยเลี้ยงสุนัขมากที่สุด คิดเป็น 40.4%, อันดับ 2 คนไทยเลี้ยงแมวรองลงมา คิดเป็น 37.1% และอันดับ 3 คนไทยเลี้ยงสัตว์เอ็กโซติกน้อยที่สุด คิดเป็น 22.6%
ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์แบบทั่วๆ ไป พบว่า 39.3% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001 - 2,000 บาท แต่ถ้าในกลุ่มเจ้าของที่เลี้ยงสัตว์เป็นลูกจะยิ่งยอมจ่ายค่าดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัวต่อปี โดยบริการยอดฮิตที่ผู้เลี้ยงนิยมมากที่สุด คือ อาบน้ำตัดขนที่มีสัดส่วนสูงถึง 61% ของบริการเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหมด
โดยสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย TPIA คาดว่าผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในปี 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% โดย นายวรพัทธ์ อัครกุลไกรเลิศ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย TPIA ระบุว่าแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเลี้ยงแบบลักษณะความเป็นเจ้าของ หรือ Ownership กลายเป็นการเลี้ยงแบบความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว และต้องการเลือกสิ่งที่ดีมีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และบริการต่างๆ
ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าที่เติบโตย่างต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มแมว ส่วนตลาดอาหารสุนัขมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดทั้งในด้านรายได้และขนาดการใช้จ่าย ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์ราคาแพง (Premium treats) เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคเลี้ยงสัตว์ด้วยความรักและให้ความผูกพัน ทำให้ต้องการอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่หลากหลายมากกว่าอาหารสัตว์จำพวกอาหารเม็ดหรืออาหารแบบเปียกอย่างเดิม
นอกจากนี้ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์รุกธุรกิจรับเทรนด์ Pet Humanization ตั้งแต่บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ประกาศอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกโครงการทุกคอนโด มองว่าสัตว์เลี้ยงคือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ควรถูกแบ่งแยก ชูจุดยืนพัฒนาคอนโดมิเนียมคุณภาพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เมื่อการเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่เทรนด์ ออกมาเป็นโปรแกรมที่เรียกว่า MAJOR PETSCAPE ที่ตอบโจทย์ทุกบริบทในการอยู่อาศัยร่วมกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
อ้างอิงบทความเรื่อง “อสังหาฯ กับการปรับตัวตามเทรนด์ Pet Humanization ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย” โดยบริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ระบุว่าทุกวันนี้การปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เป็นแค่สัตว์เลี้ยงหากแต่เป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิด ปรากฏการณ์ Pet Humanization และจากข้อมูลความต้องการลูกค้า ทำให้เหล่าผู้พัฒนาโครงการ (Developer) มีการออกแบบโครงการรองรับกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เพื่อทำการตลาดให้เข้าถึงและตรงใจกลุ่มลูกค้ามากที่สุด
อาทิ จัดพื้นที่ส่วนกลางให้เหมาะกับสัตว์เป็น Pet-Friendly เพิ่มฟังก์ชันจัดโซนสำหรับ Pet Zone และ Dog Toilet เป็นพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงมีการเลือกใช้วัสดุที่ทนน้ำและเก็บกลิ่น เพราะอย่างธรรมชาติของสุนัขต้องพาเดินเล่นวันละ 1-2 ครั้ง และต้องมีการขับถ่าย ดังนั้นโซนนี้ต้องออกแบบให้ล้างทำความสะอาดง่าย ไม่ส่งกลิ่นที่จะรบกวนผู้พักอาศัย ซึ่งโครงการที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้นอกจากการออกแบบแล้ว การกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นนโยบายในการอยู่อาศัยรวมกันก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
รวมทั้ง มีข้อกำหนดส่วนใหญ่จะไม่ให้เลี้ยงพันธุ์ที่มีพฤติกรรมดุร้าย หรือสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษ สัตว์ปีก สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าสงวน และสัตว์อันตรายต่างๆ ทุกชนิด เช่น งู กิ้งก่า อีกัวน่า นก แมลงสายพันธุ์ต่างๆ แต่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์พันธุ์เล็กเท่านั้น เช่น สุนัขพันธุ์ ชิวาวา ปอมเมอเรเนียน หรือเลี้ยงแมว ซึ่งมีการกำหนดขนาดและน้ำหนักเมื่อโตเต็มวัย มีน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม มีใบรับรองสัตว์เลี้ยง (Pet Certificate) จากสัตวแพทย์ และจำกัดจำนวนตัวต่อพื้นที่ตารางเมตรของห้องชุด สูงสุดไม่เกินกี่ตัวก็แล้วแต่กำหนดของแต่ละโครงการ เป็นต้น
สำหรับปี 2566 นับเป็นปีทองของธุรกิจสัตว์เลี้ยง เพราะปัจจุพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน เลี้ยงสัตว์ให้ความรักเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว