ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การปลุกผีโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนที่ จ.ชัยภูมิ เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ซึ่งกระทรวงคลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และครม.รับทราบแนวทางการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ “บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)” กำลังเป็นที่จับตามองอย่างกว้างขวาง ทั้งจากกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้หมดอายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทั้งจากสภาพปัญหาที่ยืดเยื้อมานมนาน ทำให้ยังไม่แน่ว่าเอาเข้าจริงแล้วจะไปต่อได้หรือไม่ หลังก่อนหน้านี้ “ครม.ลุง” เปิดไฟเขียวให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ จ.อุดรธานี ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
เรื่องนี้ รัฐมนตรีสาย “นายกฯ ลุง” คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอแนวทางการดําเนินการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจําเป็นและความเหมาะสมในการลงทุนในโครงการทําเหมืองแร่โปแตชที่ อ.บําเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ วงเงินลงทุนรวม 63,800 ล้านบาท ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มทุนบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) เพื่อเสนอครม.พิจารณาต่อไป
มูฟเม้นท์รอบนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 บริษัทฯ มีหนังสือแจ้งกระทรวงการคลังว่า สถานการณ์ราคาปุ๋ยมีการปรับตัวสูงขึ้น และมีผลกระทบกับภาคเกษตรกรรม ประกอบกับมีผู้ลงทุนรายใหม่ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ 2 ราย ในสัดส่วนการถือหุ้นรวม 40% ของทุนจดทะเบียน บริษัทฯ จึงวางแผนที่จะเรียกชําระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพื่อจะได้ดําเนินโครงการต่อไปและมีเงินทุนในการจ้างที่ปรึกษา โดยสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง 20% ของทุนจดทะเบียน รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสําหรับโครงการฯ ประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนโครงการและสัดส่วนหนี้ต่อทุนตามเงื่อนไขของสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ที่จะได้รับจากสถาบันการเงิน
หลังจากบริษัทยื่นข้อเสนอเข้ามา กระทรวงการคลังได้ประชุมหารือร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และบริษัทฯ โดยบริษัทฯ เสนอแผนดำเนินธุรกิจว่า โครงการจะมีกําลังการผลิตแร่โปแตชประมาณ 1.235 ล้านตันต่อปี ใช้เวลาพัฒนาโครงการ ประมาณ 3 ปี และสามารถผลิตได้ประมาณ 13.5 ปี สิ้นสุดประทานบัตรในวันที่ 5 ก.พ. 2583
นอกจากนั้น ยังประเมินว่าการฟื้นโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ จะสามารถทดแทนการนําเข้าแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากต่างประเทศได้ทั้งหมด ประมาณ 7-8 แสนตันต่อปี ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยโพแทสเซียมในราคาที่ถูกลง ไม่ต่ำกว่า 20-30%
บริษัทฯ ได้ประมาณการเงินลงทุนในช่วงระหว่างการก่อสร้างอยู่ที่ 63,800 ล้านบาท ประมาณการอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Project Internal Rate of Return : IRR) ที่ร้อยละ 15.42 และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ที่ 11,888 ล้านบาท (ใช้อัตราคิดลดที่ประมาณ 7.6-13% ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในแต่ละช่วงเวลา)
ขณะที่สมมติฐานรายได้ของโครงการฯ ใช้ราคาของแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากราคาตลาดโลกรวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่า Premium (Free on Board Vancouver) อยู่ที่ 612 เหรียญสหรัฐต่อตัน จนถึงปี 2571 ต่อจากนั้นปรับลดเป็น 450-514 เหรียญสหรัฐต่อตัน จนถึงปี 2582
สำหรับเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ จะใช้แหล่งเงินทุนจากส่วนทุน 30% เป็นเงินประมาณ 19,132 ล้านบาท เป็นส่วนของกระทรวงการคลัง ในสัดส่วน 20% คิดเป็นเงินประมาณ 3,826 ล้านบาท ที่เหลือ 44,668 ล้านบาท ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน
บริษัทฯ มีประเด็นสอบถามว่า รัฐบาลจะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้ชําระค่าหุ้นเพิ่มทุนในโครงการ เพราะตามแผนจะมีการเรียกชําระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มต้นจํานวน 1,500 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนของกระทรวงการคลังประมาณ 300 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 และรัฐบาลจะมอบหมายให้สถาบันการเงินใดเป็นแกนหลักในส่วนเงินกู้ยืมโครงการประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขประมาณการต้นทุนโครงการดังกล่าวยังต้องจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาปรับปรุงข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง
ภายใต้แผนธุรกิจที่บริษัทฯ นำเสนอดังกล่าว กระทรวงการคลัง เห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากครม. ให้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (AIP) ของประเทศไทย และตาม Basic Agreement ได้กําหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดเงินลงทุนทั้งหมดและมีสัดส่วนที่เป็นเงินลงทุนจากรัฐบาล เจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 20% ของยอดเงินลงทุน ประกอบกับการชําระค่าหุ้นเพิ่มทุนในโครงการ จะก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐประมาณ 4,000 ล้านบาท กระทรวงการคลัง จึงเสนอเรื่องเข้าครม.อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจําเป็นและความเหมาะสมในการลงทุนในโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ครม.มีมติเห็นชอบมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพไปดูรายละเอียดของโครงการเหมืองแร่โปแตชที่จ.ชัยภูมิ โดยคลังยังสงวนสิทธิถือหุ้นสัดส่วน 20% เท่าเดิม ส่วนเรื่องที่เอกชน 1-2 ราย อย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และกลุ่มบริษัท ดับเบิ้ล เอฯ สนใจเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนในโครงการอาเซียนโปแตชชัยภูมิ กระทรวงการคลังไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันก็มีเอกชนถือหุ้นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ข้อสรุปดังกล่าวยังไม่ลงตัว โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บริษัท ทีอาร์ซีคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT อยู่ระหว่างการพิจารณาของบริษัท ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนระเบียบภายใต้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กลุ่มบริษัท ดับเบิ้ล เอฯ ที่มีกระแสข่าวว่ากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรอย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 10 ก.พ.นี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย จะบินมาเยือนประเทศไทย และร่วมเจรจากับผู้บริหาร TRC เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการเพิ่มทุนจากเดิมที่เคยถืออยู่ประมาณ 13% ต่อมาลดลงเหลือ 5.96% และจะขอให้กองทุนของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย ส่วนคลังเบื้องต้นจะเพิ่มทุนสัดส่วนเดิม 20% สำหรับการเพิ่มทุนและการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นดังกล่าว เพื่อรองรับแผนกู้เงินจากสถาบันการเงินมาใช้ดำเนินการโครงการต่อไป
มติ ครม.ข้างต้น ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก TRC มีสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการอาเซียนโปแตชชัยภูมิ ประมาณ 25.13% และหากเป็นไปตามแผน TRC จะเข้ามารับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจรสำหรับงานวิศวกรรมจัดหาและก่อสร้างโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ มูลค่า 32,000 ล้านบาท
หลังจาก ครม.มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ราคาหุ้นของบริษัท TRC-EA กอดคอกันวิ่งฉิว โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.66 ราคา หุ้น บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ณ เวลา10:08 น. อยู่ที่ระดับ 0.52 บาท บวก 0.04 บาท หรือ 8.33% สูงสุดที่ระดับ 0.52 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 0.49 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 64.42 ล้านบาท
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA อยู่ที่ระดับ 84.50 บาท บวก 1 บาท หรือ 1.16% สูงสุดที่ระดับ 87.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 86.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 106.90 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากงบการเงินปี 2561 ที่ผ่านมา TRC มีการตั้งสำรองฯจากการด้อยค่าเงินลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ รวมมูลค่า 2,093.76 ล้านบาท จนทำให้ปี 2561 มีผลขาดทุนสุทธิ หากโครงการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง บริษัทจะบันทึกกลับรายการบัญชีจากการตั้งสำรองฯเป็นกำไรทันที พร้อมทั้งมีโอกาสรับงานด้านการก่อสร้างโครงการนี้ในลำดับถัดไป และสุดท้ายเมื่อดำเนินการเดินเครื่องผลิต TRC จะได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 25.13% ในระยะยาว
การดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ อ.บําเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ที่ผ่านมามีปัญหามาโดยตลอด ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรงในปี 2564
ส่วนการเพิ่มทุนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลต่างประเทศตาม Basic Agreement ไม่ประสงค์ที่จะเพิ่มทุนในบริษัทฯ ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซีย ลดลงจาก 13% เป็น 5.96% และรัฐบาลประเทศบรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ลดลงจาก 1% เป็น 0.56% ซึ่งต่างจากสัดส่วนตาม Basic Agreement และข้อตกลงร่วมทุน
ในการหาเม็ดเงินมาใช้เพิ่มทุน และการหาผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการในสัดส่วนของรัฐบาลไทยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ยังไม่ประสบความสําเร็จ เนื่องจากผู้ลงทุนที่มีศักยภาพยังไม่พร้อมที่จะยืนยันการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ บริษัทเองก็มีปัญหาทั้งในด้านการยืนยันปริมาณสํารองแร่และแผนการทําเหมือง การจัดทํา Bankable Feasibility การสรุปเงื่อนไขสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ และการหานักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเหมืองแร่โปแตชเข้าร่วมลงทุน
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีหนี้สินระยะยาวสําหรับค่าประทานบัตรกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จํานวน 4,549.56 ล้านบาท ไม่นับรวมเงินค่าปรับในอัตรา 15% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันชําระจริง ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ระหว่างการดําเนินการตามกฎหมายกับบริษัทฯ
ที่มาที่ไปของโครงการทําเหมืองแร่โปแตชที่อ.บําเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เริ่มต้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ได้ลงนามในข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement)
ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Projects:AIP) กําหนดให้มีโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแต่ละประเทศจะต้องดําเนินโครงการอย่างน้อยหนึ่งโครงการ และกําหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด และมีสัดส่วนที่เป็นเงินลงทุนจากรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 20% ของยอดเงินลงทุน และอีก 40% ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน
28 มี.ค. 2532 รัฐบาลไทยเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม นําโครงการเหมืองแร่โปแตชที่อ.บําเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เข้าสู่การพิจารณาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยอุตสาหกรรมแร่ธาตุและพลังงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อครม.ว่า โครงการข้างต้นมีความเหมาะสมทั้งทางด้านเทคนิคและทางเศรษฐกิจ มีผลตอบแทนทางการลงทุนภายหลังเสียภาษีแล้วในอัตรา 18.34% เหมาะสมที่จะเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนได้
โครงการทําเหมืองแร่โปแตชเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องผลิตปุ๋ยโปแตชอย่างต่ำ 1 ล้านตันต่อปี จึงจะคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ การเสนอเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนจะทําให้มีตลาดรองรับชัดเจน และได้สิทธิพิเศษจําหน่ายปุ๋ยโปแตชในอาเซียน การเสนอเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทยเพื่อแบ่งเบาภาระการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนถึง 306 ล้านเหรียญสหรัฐ
18 ก.ย.2533 ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้จัดตั้งองค์กร ผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทยเข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัททําเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนตามหลักเกณฑ์ Basic Agreement ภายใต้ชื่อบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) และให้กระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับกระทรวงการคลัง จัดหาเงินจํานวน 770,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 20.02 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับทุนจดทะเบียนขั้นต้น
17 ม.ค. 2534 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามใน Joint Venture Agreement (JV) โดยประเทศไทยถือหุ้น 71% อินโดนีเซียและมาเลเซียถือหุ้นประเทศละ 13% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ถือหุ้นประเทศละ 1%
ปี 2541-2547 บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) ได้พัฒนาการทำเหมืองจนถึงชั้นแร่ที่ระดับความลึก 180 เมตร จากผิวดิน และประกาศเชิญชวนผู้ร่วมลงทุนและดำเนินการ
28 ต.ค. 2547 บริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตรในการดำเนินโครงการฯ ในเขตท้องที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และ ต. ห้วยทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่จำนวน 9,708 ไร่
ต่อมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 เพิ่มเติมเพราะโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนเดิมได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และอนุญาตให้ยื่นคำขอเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ จำนวน 2,500 ไร่ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2548 แต่บริษัทได้ขออุทธรณ์ขยายพื้นที่เป็น 10,000 ไร่ พร้อมส่วนขยายอีก 6,000 ไร่ ซึ่งตามกฎหมายแล้วบริษัทต้องขอมาทั้งหมด 16,000 ไร่
หลังจากนั้น บริษัทได้ทบทวนพื้นที่และทำหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อขอเสนอการประกาศเปิดพื้นที่ทั้งหมด 40,000 ไร่ โดยครอบคลุมเป็นพื้นที่ทำเหมืองเดิม และขยายขอบเขตการประกาศให้ควบคุมพื้นผิวดินที่สมบูรณ์ โดยระบุพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินจริงแล้ว 10,000 ไร่ นับรวมพื้นที่กองหางแร่จำนวน 6,000 ไร่ ด้วย ซึ่งการทำเหมืองจะมีท่อส่งหางแร่จากจุดที่ทำเหมืองห่างออกไป 7 กิโลเมตร ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกภายหลังบริษัทจึงตีกรอบพื้นที่ที่มีการทำเหมือง ท่อส่งหางแร่ และพื้นที่เก็บหางแร่ออกเป็นสี่เหลี่ยม คิดเป็นพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 40,000 ไร่
6 ก.พ.2558 บริษัทได้รับอนุญาตประทานบัตร โดยบริษัทคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโครงการ 3 ปี ภายหลังก่อสร้างเสร็จคาดว่าจะสามารถขุดแร่โปแตซได้ปริมาณ 150,000 ตันต่อปี และในปี 2562 ขุดแร่ได้เต็มการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี
12 พ.ค. 2564 บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารแจ้งว่าบริษัทฯ มีความเดือดร้อนจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และเพิ่มขึ้นทุกเดือนต่อเนื่อง โดยการเรียกชําระค่าหุ้นเพิ่มทุนก็ไม่ประสบความสําเร็จ จึงมีมติให้เลิกบริษัทฯ ตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจะนําเสนอวาระที่เกี่ยวข้องกับการเลิกบริษัทฯต่อที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามลําดับ ก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่อีกครั้งในเวลานี้
นอกจากการลุ้มลุกคลุกคลานในการดำเนินงาน โครงการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างมากจากปัญหาดินเค็ม นับตั้งแต่ปี 2539 ชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ทำเหมืองออกมาเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำเกลือที่ไหลนองออกมาท่วมพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านจนกลายเป็นทุ่งเกลือ ซึ่งกินพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 6,700 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล คือ บ้านตาล หัวทะเล บ้านเพชร และบ้านชวน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
ก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแร่ กล่าวสอดคล้องกันว่า การทำเหมืองโปแตชก่อให้เกิดผลกระทบดินเค็มอีสานและการแย่งน้ำที่หนักหนากว่าปัญหานาเกลือกับนาข้าวในอดีตกว่าสิบเท่า
นอกเหนือจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ที่ จ.ชัยภูมิ แล้ว โครงการเหมืองแร่โปแตชอีกแห่งหนึ่งที่รัฐบาลให้ประทานบัตร ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,000 ไร่ แก่บริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี ก็มีปัญหาค่าความเค็มในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงจากการทำเหมืองโปแตชเช่นเดียวกัน
ตามรายงานการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 พบว่า จุดที่น้ำรั่วซึมในบริเวณวัดหนองไทร ติดกับขอบบ่อพักน้ำของเหมือง และน้ำในห้วยลำหลอด หรือห้วยลำมะหลอด บริเวณท้ายน้ำที่อยู่ห่างจากเหมืองประมาณ 1.5 กม. มีค่าความเค็มไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการชลประทาน
ชนวนความขัดแย้งระหว่างทุน รัฐบาล และชาวบ้านในพื้นที่จากโครงการทำเหมืองโปแตชยืดเยื้อเรื้อรังมานมนาน ขณะที่เป้าหมายโครงการทำเหมืองโปแตชเพื่อให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยในราคาถูกยังไม่เป็นจริง