xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พรีวิว 2 กฎหมายลูก นับถอยหลัง “เลือกตั้ง 66”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์
- เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจาบุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (ฉบับที่ 2) 2566 และ 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) 2566

ซึ่งก็คือ 2 กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2566 เป็นต้นมา และจะเป็น “กติกาใหม่” สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566

สำหรับ “สาระสำคัญ” ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ จะเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งให้ ส.ส.มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจากเดิม 350 คน เป็น 400 คน แบบบัญชีรายชื่อลดลงจาก 150 คน เป็น 100 คน

ทั้งนี้ตั้งแต่ที่ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ผ่านการพิจารณาในชั้น ส.ส.-ส.ว.แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็น “เจ้าภาพหลัก” ก็ได้เตรียมจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ไว้เบื้องต้นมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเพิ่งมีการประกาศออกมาหลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้

โดยที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ ได้พิจารณากำหนดจำนวนสมาชิก ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดพึงจะมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด จากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร เมื่อ 31 ธ.ค.65 ที่มี 66,090,475 คน จำนวนประชากรโดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน

ปรากฎว่า จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัด มีดังนี้

“ส.ส. 1 คน” มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด, ระนอง, สมุทรสงคราม และ สิงห์บุรี

“ส.ส. 2 คน” มี 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท, นครนายก, พังงา, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, สตูล, อ่างทอง, อำนาจเจริญ และ อุทัยธานี

“ส.ส. 3 คน” มี 19 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, จันทบุรี, ชุมพร, น่าน, บึงกาฬ, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, พะเยา, พัทลุง, พิจิตร, เพชรบุรี, แพร่, ภูเก็ต, ยโสธร, ยะลา, สระแก้ว, หนองคาย, หนองบัวลำภู และ อุตรดิตถ์

“ส.ส. 4 คน” มี 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, ฉะเชิงเทรา, ตรัง, ตาก, นครพนม, ปัตตานี, ลพบุรี, ลำปาง, เลย, สมุทรสาคร, สระบุรี และ สุโขทัย

“ส.ส. 5 คน” มี 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, นราธิวาส, พระนครศรีอยุธยา, พิษณุโลก, ระยอง, ราชบุรี และ สุพรรณบุรี

“ส.ส. 6 คน” มี 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, นครปฐม, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์ และ มหาสารคาม

“ส.ส. 7 คน” มี 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ, ปทุมธานี, สกลนคร และ สุราษฎร์ธานี

“ส.ส. 8 คน” มี 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, นนทบุรี, ร้อยเอ็ด, สมุทรปราการ และ สุรินทร์

“ส.ส. 9 คน” มี 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ศรีสะเกษ, สงขลา และ อุดรธานี

“ส.ส. 10 คน” มี 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี และ บุรีรัมย์

“ส.ส. 11 คน” มี 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, เชียงใหม่ และ อุบลราชธานี

“ส.ส. 16 คน” มี 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา

และ “ส.ส. 33 คน” มี 1 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร

เมื่อเปรียบกับเขตเลือกตั้งเดิมเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 พบว่ามีจังหวัดที่ได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น ดังนี้ “เพิ่ม 3 คน” มี 1 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร

“เพิ่ม 2 คน” มี 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, นครราชสีมา และ บุรีรัมย์

“เพิ่ม 1 คน” มี 37 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, เชียงราย, ตาก, ตรัง, นครนายก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, บึงกาฬ, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, ภูเก็ต, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอนเลย, ร้อยเอ็ด, ระยอง, สกลนคร, สงขลา, สระบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์, สุโขทัย, ศรีสะเกษ, อ่างทอง, อุตรดิตถ์, อุดรธานี และ อุบลราชธานี

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการใช้บัตรเลือกตั้งแบบละ 1 ใบ หรือ “บัตร 2 ใบ” กล่าวคือ ส.ส.เขตเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนด เขตเลือกตั้งละ 1 คน ที่เรียกกันว่า “บัตรคน”

ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” เป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียวทั้งประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “บัตรพรรค”

สำหรับการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของ แต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ หรือ “สูตรหาร 100”

ในส่วนของสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 นั้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นการดับฝัน “พรรคเล็ก” นั้นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ผ่านการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ที่ พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย

นอกเหนือจากนี้มี “ข้อห่วงใย” อยู่บ้าง เพราะใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 25 ที่เป็นการแก้ไขมาตรา 130 เดิม ที่กำหนดว่า “หากต้องมีการเลือกตั้งใหม่บางเขตหรือบางหน่วยก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ห้ามนำคะแนนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ต้องเลือกตั้งใหม่มาคำนวณหา ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับ”

มาตรา 25 ดังกล่าวนี้เองที่ถูกมองว่า “อาจ” ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 93 บัญญัติว่า “ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ในบางเขต หรือบางหน่วยก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่มีการประกาศผลครบทุกเขตไม่ว่าด้วยเหตุใด การคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่และพรรคการเมืองพึงได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ”

แต่ก่อนหน้านี้มีการยื่นคำร้องให้ ศาลรับธรรมนูญ ตีความ ก็ปรากฎว่า ตุลาการเสียงข้างมากไม่มองว่าเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ซึ่งคำว่า “ส.ส.พึงมี” ที่ยังมีอยู่ในรับธรรมนูญ มาตรา 93 ซึ่งออกแบบไว้สำหรับสูตรคำนวณหาร 500 เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 นี้เองที่ถูกมอิงว่า อาจเป็นปมยุ่งเหยิงในอนาคตได้

ในส่วนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มี “สาระสำคัญ” ในการแก้ไขค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง, การทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ เป็นต้น

กล่าวคือ ค่าบำรุงพรรคการเมืองประเภทรายปีจาก 100 บาท เหลือเพียง 20 บาท และประเภทตลอดชีวิตจาก 2,000 บาท เหลือเพียง 200 บาท

พร้อมแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อการผ่อนคลายให้สิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น

พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดนั้น

กรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่า 1 สาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมากกว่า 1 ตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกำหนดว่า จะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใด

หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง และแก้ไขเรื่องการทำระบบไพรมารีโหวตในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

หลักใหญ่เป็นการแก้ไขเงื่อนไขการทำงานของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เดิมถูกมองว่า “ตึงเปี๊ยะ” จนไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จนต้องระบุไว้ในบทเฉพาะกาลให้เลื่อนการปฏิบัติออกไปก่อน ก่อนจะมาแก้ไขให้ผ่อนคลายในคราวนี้

ขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.ก็จะไล่ทยอยประกาศระเบียบ และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม 2 กฎหมายลูกออกมา อาทิ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส., รประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดประชุมสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือ “ไพรมารีโหวต” และประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เป็นต้น โดยต้องส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อระเบียบ และประกาศดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับแล้วสำนักงาน กกต.จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนที่กฎหมาย และระเบียบกำหนด ซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนที่ต้องใช้ระยะเวลา 10 วัน

ซึ่งการขีดแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตนี่เองที่เป็นอีกจุดสำคัญในการชี้วัดความได้เปรียบ-เสียเปรียบของพรรคการเมืองต่างๆในการเลือกตั้ง

เมื่อกฎกติกาพร้อมสรรพแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า “นายกฯ ตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีภา “ยุบสภา” จะเลือกห้วงเวลาไหน ในการประกาศยุบสภา เพื่อนับหนึ่งไทม์ไลน์เลือกตั้งที่คาดว่าจะ เปิดคูหากาบัตรกันได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566 นี้

ตามกรอบเวลาที่ กกต.เคยกำหนดไว้คร่าวๆ กรณี “ครบวาระ” จะมีการเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แต่หากมีการยุบสภาใกล้ครบวาระ ก็เขยิบไปได้อีกราว 2 สัปดาห์

โดยเชื่อกันว่า “บิ๊กตู่” ที่ประกาศไปต่อกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเลือกยุบสภาก่อนวันที่ 23 มีนาคมที่อายุสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบวาระ เพื่ออย่างน้อยจะได้มีเวลาเตรียมตัวเพิ่มขึ้นอยู่อย่างน้อย 15 วัน

ตามที่รัฐธรรมนุญกำหนดไว้ว่า หากมีการยุบสภาจะต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน ขณะที่หากปล่อยให้สภาฯครบวาระ จะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายในไม่เกิน 45 วัน รวมทั้งยังกระทบไปถึงการนับสมาชิกภาพพรรคการเมืองของผู้สมัคร ส.ส.ด้วย

โดยหลังจากที่มีการยุบสภา หรือสภาฯครบวาระ กกต.ก็จะเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อกำหนดให้มีวันเลือกตั้ง ที่ต้องประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ก่อนที่จะทยอยออกประกาศ 5 ฉบับ ลงราชกิจจานุเบกษา เช่นกัน ได้แก่ 1.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป, 2.ประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.400 เขต, 3.ประกาศการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ค่าธรรมเนียมสมัคร, 4.ประกาศกำหนดวันออกเสียงล่วงหน้า และ 5. กำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกสถานที่

เท่ากับว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเลือกตั้งปี 2566 จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “นายกฯ ประยุทธ์” แต่เพียงผู้เดียว

โดยมีปัจจัยเร่งคือปัญหาสภาฯล่มซ้ำซากที่ผู้คนกำลังก่อด่าอยู่ในขณะนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น