xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

องค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (11-จบ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพพิธีเปิดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ณ มหาศาลาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2565 (ภาพรอยเตอร์)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 การที่มีองค์กรพื้นฐานของพรรคเช่นนี้ ทำให้เห็นถึงรายละเอียดของโครงสร้างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่ามีความสลับซับซ้อนไม่น้อย 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานหรือพื้นที่ทั่วประเทศจีนจะมีบุคลากรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกระจายอยู่ทั่วไป องค์กรพื้นฐานของพรรคเหล่านี้จะมีคณะกรรมการพื้นฐานประจำหน่วยงานหรือพื้นที่นั้นๆ

โดยทั่วไปแล้ว หน่วยงานหรือพื้นที่ใดจะมีคณะกรรมการพื้นฐานได้หรือไม่ จะพิจารณาจากจำนวนสมาชิกพรรคว่ามีครบ 100 คนหรือไม่ หากไม่ครบก็จะพิจารณาต่อไปว่า หน่วยงานหรือพื้นที่นั้นมีการจัดสรรกำลังในการบริหารได้สูงเพียงใด

ซึ่งหากผลปรากฏว่ามีเช่นนั้นแล้ว ก็จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการในระดับที่สูงกว่าขึ้นไป

นอกจากจะมีคณะกรรมการพื้นฐานแล้ว ก็ยังมีสมัชชาพื้นฐานอยู่ในหน่วยงานหรือพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย โดยสมัชชาพื้นฐานนี้จะมีที่มาและบทบาทหน้าที่คล้ายๆ กับสมัชชาใหญ่ และจะมีสมาชิกในสมัชชาประมาณ 100-200 คน สูงสุดไม่เกิน 300 คน

ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า หน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะมีคณะกรรมการพื้นฐานหรือสมัชชาพื้นฐานของตนได้นั้น ในด้านหนึ่งย่อมต้องเป็นหน่วยงานหรือพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร

จากตัวอย่างข้างต้นนี้ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดแบ่งองค์กรพื้นฐานของตนเป็นองค์กรย่อยต่อไป ผลที่ปรากฏออกมาจึงกลายเป็นว่า พรรคจะมีองค์กรพื้นฐานของตนที่มีขนาดเล็กกว่าที่กล่าวมาอยู่แทบจะทั่วประเท

 อย่างไรก็ตาม องค์กรพื้นฐานของพรรคเหล่านี้มีบางองค์กรที่มีคณะกรรมการปฏิบัติการที่ขึ้นตรงต่อศูนย์กลางพรรค บางองค์กรมีบทบาทหน้าที่คล้ายกับองค์กรที่ขึ้นต่อศูนย์กลางพรรค (เช่นหน้าที่ในการตรวจสอบวินัย) บางองค์กรก็มีลักษณะงานเฉพาะ แต่กลับขึ้นต่อศูนย์กลางพรรค (เช่น คณะกรรมการปฏิบัติการด้านการคลัง) บางองค์กรก็ขึ้นต่อกองทัพ เป็นต้น 

เหตุดังนั้น หากพิจารณาถึงความเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่แล้ว องค์กรพื้นฐานเหล่านี้จึงมีอยู่มากมายทั่วประเทศ และมีบทบาทหน้าที่หลากหลายเหลือคณานับ แต่ที่แน่นอนคือ ภาพในเชิงโครงสร้างที่มีความสลับซับซ้อน

ผู้แทนจากชนส่วนน้อยกำลังออกจากมหาศาลาประชาชนจีนหลังพิธีเปิดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2565 (ภาพรอยเตอร์)

การประชุมสองสภา หรือการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน (CPPCC) เป็นการประชุมใหญ่ของจีนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง
ควรกล่าวด้วยว่า ในกรณีที่เป็นหน่วยงานหรือพื้นที่ที่เล็กมาก จนไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการพื้นฐานได้นั้น อาจเห็นได้จากโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีขนาดเล็กมาก หรือถ้าเป็นวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในเมืองใหญ่แล้ว ก็จะมีคณะกรรมการพื้นฐานได้ด้วย

ส่วนวิสาหกิจที่ร่วมทุนกับต่างชาตินั้นมีน้อยรายที่จะมีคณะกรรมการพื้นฐาน

ที่สำคัญ คณะกรรมการพื้นฐานนี้เองที่มีบทบาทในการรับรองบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคด้วย ฉะนั้น หากเป็นกรณีบุคคลที่อยู่ในภาคธุรกิจแล้ว การได้เป็นสมาชิกพรรคก็จะเป็นได้ด้วยวิธีนี้

อันเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงโครงข่ายที่กว้างใหญ่ไพศาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เป็นอย่างดี

 ความสรุป 

องค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ ทำให้เห็นว่า พรรคการเมืองนี้ไม่เพียงมีโครงสร้างและเครือข่ายที่กว้างใหญ่ไพศาลเท่านั้น หากในแง่รายละเอียดแล้วก็นับว่ามีความสลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อย

ถึงกระนั้นก็น่าสังเกตว่า รายละเอียดหรือความสลับซับซ้อนนี้ มีขึ้นเพื่อที่จะทำให้พรรคเกิดความมั่นคงทั้งสิ้น

เพราะภายใต้โครงสร้างระดับชาติที่เริ่มจากสมัชชาใหญ่พรรค แล้วลดหลั่นเป็นคณะกรรมการกลางพรรค คณะกรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการประจำกรมการเมือง เรื่อยมาจนถึงองค์กรพรรค ล้วนถูกรองรับด้วยกลุ่มชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่าผู้ปฏิบัติงานและสมาชิกพรรคทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นบุคลากรระดับรากฐานของพรรคโดยตรง และบุคลากรเหล่านี้ก็มีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรมวลชน หรือองค์กรและพรรคการเมืองอื่นที่เป็นแนวร่วมในทางใดทางหนึ่ง

 จากลักษณะการเมืองการปกครองเช่นที่ว่ามานี้ หากจะวาดออกมาเป็นรูปโครงสร้างแล้ว รูปที่ปรากฏออกมาจึงยากที่จะปฏิเสธถึงการมีอยู่ของสมาชิกพรรค ซึ่งควรที่จะจัดให้อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของโครงสร้างใหญ่  


และเนื่องจากสมาชิกพรรคคือรากฐานสำคัญของพรรค สมาชิกพรรคจึงเป็นฐานที่สำคัญ

โดยเหนือขึ้นไปของโครงสร้างก็จะเป็นบรรดาตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญสูงสุด ที่แม้สมาชิกพรรคอีกหลายสิบล้านคนจักต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามด้วยความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ก็จริง

แต่ตัวแสดงเหล่านี้ต่างก็คือสมาชิกพรรคที่เคยมีบทบาทธรรมดามาก่อนทั้งสิ้น เพียงแต่อาจเป็นสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าสมาชิกพรรคคนอื่นๆ เท่านั้น จึงได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุด แต่พรรคการเมืองนี้ก็พยายามแยกการดำเนินการทางการเมืองการปกครองต่างหากออกไป โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรขนาดใหญ่ระดับชาติอีกองค์กรหนึ่ง นั่นคือ  สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ  

การแยกเช่นนี้ทำให้เห็นคล้ายกับว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการคงความเป็น  “พรรค”  เอาไว้ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว บุคลากรที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในสภาผู้แทนฯ นั้น โดยมากจะเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้บริหารระดับสูงของพรรค

ฉะนั้น การมองในเชิงทฤษฎีที่ทำให้รู้สึกว่าพรรคไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง นอกจากการ  “ชี้นำ” เท่านั้น จึงไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

แต่ในขณะเดียวกัน การไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว และต่างก็เข้าใจดีว่า ในทางปฏิบัติที่ปรากฏออกมาเช่นนั้น ในด้านหนึ่งก็คือ ประสิทธิภาพในการบริหาร ที่ผู้ “ชี้นำ”  (พรรค) เป็นผู้  “ปฏิบัติ”  (รัฐ) ไปด้วยในตัว

 โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นทรงอำนาจสูงสุด

แต่การมีอำนาจสูงสุดเช่นนี้จะเป็นจริงไม่ได้เลย หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มีองค์กรพรรคคอยเป็นแขนขาและเป็นหูเป็นตาให้ ความสำคัญขององค์กรพรรคจึงมีด้วยประการฉะนี้ 



กำลังโหลดความคิดเห็น