xs
xsm
sm
md
lg

3 ตัวแบบรัฐบาลใหม่: โอกาสและความเสี่ยง / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มาจากการสำรวจความนิยมทางการเมืองของนิด้าโพล ซึ่งดำเนินการตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด เป็นระบบ และต่อเนื่องในช่วงปี 2565 ทำให้เห็นแนวโน้มว่า กลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันมีโอกาสสูงมากที่จะได้จำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งคาดว่าฝ่ายค้านอาจมีจำนวน ส.ส.มากกว่าฝ่ายรัฐบาลประมาณ 80 -100 ที่นั่ง หากการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยปกติ โฉมหน้ารัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม


อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของโครงสร้างอำนาจการเมืองไทยทำให้การจัดตั้งรัฐใหม่มีความแปรผันและมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลใหม่อาจสะท้อนภาพการถอยหลังทางการเมือง ไม่ได้เป็นตัวแทนของเสียงข้างมาก ขาดความชอบธรรม และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง หรืออาจเป็นรัฐบาลที่สะท้อนภาพการประนีประนอมของกลุ่มอำนาจ เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ผสมระหว่างพรรคการเมืองในนามตัวแทนประชาชนกับกลุ่มอำนาจที่ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน หรืออาจเป็นรัฐบาลที่สะท้อนภาพความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากประกอบด้วยตัวแทนประชาชนทั้งหมด โดยไม่พึ่งพาตัวแทนของกลุ่มอำนาจเหนือประชาชน

ตัวแบบแรกที่อาจเกิดขึ้นคือ ตัวแบบรัฐบาลขวาจัดหรือรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเข้มข้น ลักษณะของตัวแบบนี้คือ รัฐบาลจะมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยอาศัยเสียงของวุฒิสภา ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเหนือประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่จะมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงครึ่งหรือประมาณ 200 – 210 เสียง รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่มีพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นแกนนำในการจัดตั้ง และพรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

กลุ่มหลักที่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม กลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ กลุ่มวุฒิสภา กลุ่มนักการเมืองฉวยโอกาสที่เกาะอำนาจและความนิยม และประชาชนผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง กลุ่มเหล่านี้ยังคงมองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นตัวเลือกที่หมาะสมในการเป็นตัวแทนการใช้อำนาจต่อสู้กับนายทักษิณ ชินวัตร และสามารถตอบสนองผลประโยชน์ของพวกเขาได้ ส่วนกรณีประชาชนเป็นกลุ่มที่ยังคงรู้สึกชื่นชอบภาพลักษณ์และบุคลิกบางอย่างของพลเอกประยุทธ์

โอกาสการเกิดขึ้นอีกครั้งของรัฐบาลขวาจัดมีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง หากพลเอกประยุทธ์ยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเหนือประชาชนผ่านวุฒิสมาชิก แต่จะสร้างความเสี่ยงให้แก่ระบอบประชาธิปไตยและความเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งทางสังคมที่จะตามมาหลายประการ

ความเสี่ยงต่อระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะว่าตัวแบบนี้ทำลายบรรทัดฐานอันชอบธรรมระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลจะต้องมาจากเสียงข้างมากของประชาชน ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ตัวแบบรัฐบาลขวาจัด ทำให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังไปหลายทศวรรษ ปรากฏการณ์ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “งูเห่า” และ “การแจกกล้วย”

ปรากฏการณ์ทั้งสองเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้เงินซื้อตัว ส.ส. และซื้อการลงมติของ ส.ส. เพื่อสร้างชัยชนะให้กลุ่มตนเองในการลงมติที่สำคัญในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นตลาดการซื้อขายเสียง เฉกเช่นเดียวกับการซื้อขายเสียงประชาชนในหลายพื้นที่ระหว่างมีการเลือกตั้ง

หากตัวแบบรัฐบาลขวาจัดหรือรัฐบาลถอยหลังลงคลองเกิดขึ้นอีกครั้ง ก็ยิ่งจะบั่นทอนและกัดกร่อนความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น จะมากกว่าช่วงสี่ปีที่ผ่านมาอย่างไม่อาจประมาณได้ เพราะปรากฏการณ์งูเห่าและแจกกล้วยจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม อันเป็นผลมาจากเสียงในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลน้อยมาก ซึ่งอาจจะต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 40-50 เสียง นั่นหมายความว่า ฝ่ายอำนาจรัฐจะต้องใช้ปฏิบัติการณ์งูเห่าหรือแจกกล้วยอย่างเข้มข้นต่อ ตั้งแต่ขั้นตอนการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร การลงมติที่สำคัญในสภาฯ และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มิฉะนั้นรัฐบาลก็จะต้องแพ้โหวตและไม่อาจบริหารประเทศได้
ความเสี่ยงอีกประการคือ ตัวแบบรัฐบาลขวาจัดมีโอกาสสูงในการสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงทางสังคมขึ้นมาอีกครั้ง เพราะประชาชนจำนวนมากมองว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมและไม่เป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน พวกเขาจะออกมาชุมนุมประท้วงและขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขยายเป็นวงกว้าง ก็จะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลแก่รัฐบาล รัฐบาลอาจคิดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงดังในช่วงที่ผ่านมา แต่การใช้วิธีการเดียวกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เรื่องราวต่างกัน และเวลาต่างกัน ผลลัพธ์อาจไม่เหมือนเดิมก็เป็นได้

ตัวแบบที่สอง ตัวแบบรัฐบาลประนีประนอม หรือรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ กับพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบปฏิบัตินิยม เป็นการผสมระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร กับกลุ่มอำนาจเดิมที่มีวุฒิสภาบางส่วนให้การสนับสนุน ตัวแบบนี้รัฐบาลใหม่อาจมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือบุคคลที่มาจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และอาจมีพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วมด้วยก็เป็นได้

ตัวแบบรัฐบาลประนีประนอมจะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือมีเสียงประมาณ 280 – 300 เสียง ซึ่งทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศระดับหนึ่ง และสามารถลดปรากฎการณ์งูเห่าหรือการแจกกล้วยลงไปได้ อันจะทำให้ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรดูดีขึ้น ภายใต้โครงสร้างอำนาจและสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ตัวแบบรัฐบาลประนีประนอมมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากกว่าตัวแบบรัฐบาลขวาจัด เพราะการมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรม และสามารถบริหารประเทศได้ โดยไม่ต้องกังวลกับแรงกดดันในสภาผู้แทนราษฎรมากนัก รวมทั้งแรงต่อต้านจากประชาชนและกลุ่มการเมืองภายนอกรัฐสภาจะมีน้อยกว่าตัวแบบแรก
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของตัวแบบนี้มี 3 ประการคือ ประการแรก ในกรณีที่พลเอกประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีอาจทำให้มวลชนเสื้อแดงและประชาชนบางส่วนที่ยึดมั่นกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเข้มข้นที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไม่พอใจและขุ่นเคืองผู้บริหารพรรค พวกเขามีรู้สึกว่าพรรคหักหลังหรือทรยศพวกเขา ที่ไปจับมือและยอมให้พลเอกประวิตร ที่เป็นอดีตแกนนำคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี พวกเขาอาจจะออกมากดดันและวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในอนาคตได้ ประการที่สอง รัฐบาลอาจมีภาพลักษณ์ไม่สู้ดีนักในเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะจะมีบุคคลจำนวนมากที่มีประวัติอื้อฉาวเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ประการที่สาม รัฐบาลจะเผชิญกับศึกหนักในสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะมีฝ่ายค้านที่เข็มแข็ง ฝ่ายค้านจะประกอบด้วยพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า พรรคประชาธิปัตย์ 2 เพราะมีอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ฝีปากกล้าอยู่ในพรรคนี้เป็นจำนวนมาก) พรรคทั้งสามมี ส.ส.จำนวนมากที่มีความสามารถและทักษะในการอภิปรายสูง ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อรัฐบาลไม่น้อยทีเดียว

ตัวแบบที่สาม เป็นตัวแบบรัฐบาลก้าวหน้า หรือรัฐบาลขวาใหม่-เสรี ซึ่งผสมระหว่างพรรคเพื่อไทยที่มีจุดยืนการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ กับพรรคก้าวไกลที่มีอุดมการณ์การเมืองแบบซ้าย-กลาง หรือ “ประชาธิปไตยสังคม” (เสรีนิยมทางการเมืองและสังคม เศรษฐกิจทุนนิยมที่มีจัดการและเน้นรัฐสวัสดิการสังคม) ตัวแบบรัฐบาลก้าวหน้าจะไม่มีการนำพรรคขวาจัดอย่างรวมไทยสร้างชาติ และอดีตพรรคขวาจัดที่ปรับตัวเป็นขวากลางเชิงปฏิบัติอย่างพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาล เป็นรัฐบาลที่ลดบทบาทและอำนาจของกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม ภายใต้ตัวแบบนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม ตัวแบบนี้จะเป็นจริงได้ใน 3 กรณี กรณีแรกเมื่อ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเล็ก ๆ ที่เป็นพันธมิตรอีก 2 พรรคคือ เสรีรวมไทย และประชาชาติ ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจนมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันได้อย่างน้อย 376 เสียงขึ้นไป กรณีที่ 2 ทั้งสี่พรรคมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่มีเสียงไม่ถึง 376 เสียง แต่ประชาชนสามารถกดดันวุฒิสมาชิกให้ต้องปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร และกรณีที่ 3 เสียงของพรรคทั้งสี่พรรครวมกันมีเสียงข้างมาก แต่ไม่ถึง 376 เสียง เช่นเดียวกับกรณีที่ 2 ซึ่งอาจจัดตั้งรัฐบาลได้ หากพรรคเพื่อไทยสามารถดึงพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลจนทำให้มีเสียงสนับสนุนมากกว่า 376 เสียง (แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยมาก)

ความเสี่ยงของตัวแบบนี้มี 2 ประการ ประการแรก กลุ่มอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม กลุ่มชนชั้นนำ และกลุ่มประชาชนที่มีความเชื่อแบบขวาจัดจะไม่ยอมรับรัฐบาล ออกมาชุมนุมประท้วง สร้างสถานการณ์และความวุ่นวายทางการเมือง เพื่อเปิดทางให้นักฉวยโอกาสทางการเมืองที่ถืออาวุธออกมารัฐประหารได้ ประการที่สอง มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ภายในรัฐบาล เพราะแม้ว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนจะมีอุดมการณ์แบบขวาใหม่-เสรี แต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังพรรคกลับเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเชิงอำนาจนิยม อีกทั้ง ส.ส.ของพรรคจำนวนไม่น้อยก็ยังคงยึดติดอยู่ในความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่บุคคลเหล่านี้จะขัดแย้งกับพรรคก้าวไกล และอาจทำให้รัฐบาลล่มสลายได้

กล่าวโดยสรุป ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีอย่างน้อย 3 ตัวแบบ คือ ตัวแบบรัฐบาลขวาจัด ตัวแบบรัฐบาลประนีประนอม และตัวแบบรัฐบาลก้าวหน้า ภายใต้โครงสร้างอำนาจและสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ตัวแบบรัฐบาลประนีประนอมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูงกว่าอีกสองตัวแบบ แต่ตราบใดที่ผลการเลือกตั้งยังไม่ปรากฏ ตราบนั้นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็เกิดขึ้นได้ และการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนในวันเลือกตั้งจะกำหนดว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ภายใต้ตัวแบบใด


กำลังโหลดความคิดเห็น