รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (ร่าง) พรบ.กัญชากัญชง
มีการส่งข้อความทางสื่อสังคมว่า กัญชาสกัดสามารถรักษาโรคได้ 34 โรค และใส่ชื่อผม นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ โดยที่ผมไม่ได้เป็นคนเขียน ข้อความดังกล่าวอาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ประหลาดใจและสงสัย เพราะจากเดิมกัญชาเป็นยาเสพติด ห้ามนำมาใช้รักษาโรคใดๆ ทั้งสิ้น กลายมาเป็นกัญชารักษาได้หลายโรค จึงเกิดคำถามว่า กัญชาสามารถรักษาได้ 34 โรค จริงหรือไม่ จึงขออธิบายเรื่องดังกล่าวว่า ประเทศต่างๆมีการนำกัญชามาใช้รักษาและบรรเทาหลายโรคจริง แต่ผลการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านผู้ป่วย ด้านคุณภาพยา และการรักษาอื่นๆที่ได้รับ ปรชาชนควรรู้วิธีใช้ยากัญชาที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลดีและป้องกันผลเสีย
การใช้กัญชารักษาโรคในอดีต ใช้กับ 14 โรคไปจนถึงมากกว่า 100 โรคหรืออาการ:
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีการใช้กัญชารักษาโรคมานานแล้ว ทั้งในประเทศจีน อินเดีย อิหร่าน มากกว่า 1,000 ปี ประเทศไทย 360 ปี ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา 200 ปี [1][2][3][4][5][6][7] แต่การจัดกลุ่มโรคในแต่ละยุคสมัยจะแตกต่างกัน
ประเทศจีน จักรพรรษเช็นนึง บันทึกไว้เมื่อ 4,700 ปีก่อน ว่ากัญชาสามารถใช้รักษามากกว่า 100 กลุ่มโรคหรืออาการ [1]
ประเทศไทย กัญชาเป็นส่วนผสมหนึ่งของตำรับยามากกว่า 90 ตำรับ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 360 ปีก่อน มีสรรพคุณรักษาบรรเทาอาการต่างๆ อย่างน้อย 35 กลุ่มโรคหรืออาการ [3][4]
ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุในเภสัชตำรับ เมื่อ 200 ปีก่อนว่า กัญชามีสรรพคุณรักษาบรรเทาโรค 19 กลุ่มโรคและอาการ [6]
ประเทศอังกฤษ นายแพทย์จอห์น รัสเชล เรโนลส์ แพทย์ประจําราชสํานักฯ บันทึกประสบการณ์การใช้กัญชารักษาโรคของตน เมื่อ 133 ปีมาแล้ว ว่ากัญชามีสรรพคุณรักษาบรรเทา 14 กลุ่มโรคและอาการ [5]
ในช่วงศตวรรษที่ 18 มียาจากกัญชาขายตามร้านขายยาทั่วไป ที่ประชาชนหาซื้อได้โดยง่าย ไม่ต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ บริษัทยาดังๆ ในปัจจุบันนี้ ตอนนั้นก็ผลิตยาจากกัญชาจำหน่าย [7]
การใช้กัญชารักษาโรคหยุดไป เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาถอดถอนกัญชาออกจากเภสัชตำรับและออกกฎหมายจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด เมื่อ 76 ปีก่อน และผลักดันให้สหประชาชาติมีมติให้ประเทศสมาชิกทำเช่นเดียวกัน เมื่อ 61 ปีก่อน [2][7]
การใช้กัญชาในยุคปัจจุบัน บางมลรัฐให้ใช้รักษาบรรเทาโรคได้ จำนวนมากถึง 50 โรคหรืออาการ:
ปัจจุบันมีมากกว่า 60 ประเทศที่แก้กฎหมายยาเสพติด ให้สามารถนำกัญชามารักษาโรคได้อีกครั้ง [8]
แต่ละประเทศระบุโรคที่รักษาได้แตกต่างกันไป เช่น บางมลรัฐของอเมริกากำหนดให้รักษาโรคได้เพียงโรคเดียวเท่านั้น คือ โรคลมชักที่ใช้การรักษาแผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผล ในขณะที่บางมลรัฐกำหนดให้รักษาโรคได้จำนวนมากถึง 50 กลุ่มโรคหรืออาการ และบางมลรัฐไม่ได้ระบุกลุ่มโรคใดๆเลย แต่ให้แพทย์ผู้รักษาเป็นคนตัดสินใจ [9]
คนไทยใช้กัญชารักษาโรคด้วยตนเอง มากกว่า 70 โรคหรืออาการ:
กระทรวงสาธารณสุข แบ่งกลุ่มโรคที่ใช้กัญชารักษาบรรเทาได้ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ [10]
กลุ่มที่ 1 มีหลักฐานเพียงพอว่าได้ประโยชน์ มี 6 โรค ได้แก่ 1) ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2) โรคลมชักที่รักษายาก 3) ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4) ภาวะปวดประสาท 5) ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 6) การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
กลุ่มที่ 2 น่าจะได้ประโยชน์ ในการควบคุมอาการ มี 4 โรค ได้แก่ 1) โรคพาร์กินสัน 2) โรคอัลไซเมอร์ความจำเสื่อม 3) โรควิตกกังวลไปทั่ว 4) โรคปลอกประสาทอักเสบ
กลุ่มที่ 3 อาจได้ประโยชน์ (ในอนาคต) เช่น การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด และโรคอื่นๆที่ใช้การรักษาแผนปัจจุบันแล้วไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป
มีการจัดตั้งคลินิกกัญชาทั้งในสถานบริการสาธารณสุขของภาครัฐและเอกชน แต่ผลการสำรวจโดย ศาสตราจารย์สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2564 กลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92) ได้ยากัญชาจากนอกระบบ สธ., มีผลการรักษา “ดีขึ้น” หรือ “ดีขึ้นมาก” รวมร้อยละ 93 และสามารถ “เลิก” หรือ “ลด” ยาแผนปัจจุบันได้ รวมร้อยละ 58 และที่น่าสนใจมากคือ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84) ใช้กัญชาเพื่อรักษาบรรเทาโรคอื่นๆ “นอกเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด” นับได้มากกว่า 70 โรคหรืออาการ [11]
ทำไมกัญชาจึงมีสรรพคุณรักษาบรรเทาได้หลายโรค:
สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐเคยให้ทุนแก่นักวิจัยประเทศอิสราเอล เพื่อหาคำตอบว่า กัญชามีฤทธิ์ “ทำลายสมอง” อย่างไรบ้าง ผลการวิจัยกลับพบว่า กัญชามีสรรพคุณ “ปกป้องสมอง” ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญมาก คือ ค้นพบว่าร่างกายของมนุษย์ “สร้างสารกัญชาได้เอง” เพื่อทำหน้าที่ควบคุมระบบอื่นๆทั้งหมด ทำให้เกิดความสมดุล เป็นกลไกการเยียวยารักษาตนเอง มีการจดสิทธิบัตรเรื่องนี้ [12][13]
ข้อค้นพบนี้ทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมกัญชาจึงรักษาได้หลายโรค
เมื่อร่างกายสร้างสารกัญชาตามธรรมชาติได้ลดลง เนื่องจากได้รับสารพิษสารเคมี และขาดแคลนสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างสารกัญชา จึงเสียสมดุล เกิดการเจ็บป่วยขึ้น การได้รับสารกัญชาจากพืชจึงช่วยทดแทนและฟื้นฟูการสร้างสารกัญชาตามธรรมชาติของร่างกายอีกครั้ง [14]
อีกทั้งยังมีงานวิจัยค้นพบว่า การใช้กัญชาช่วยลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่คนไทยเป็นกันมากได้อีกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคตับ [15][16][17] นั่นคือ กัญชามีสรรพคุณป้องกันโรคได้
การใช้ยากัญชาให้ได้ผลดีและไม่เกิดผลเสีย:
ผลการรักษาจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านผู้ป่วย อายุ ความรุนแรงของโรค ด้านคุณภาพยากัญชา ขนาดยา วิธีใช้ และด้านการรักษาอื่นๆที่ได้รับ อาจจะเสริมหรือหักล้างฤทธิ์กันได้
หลักการสำคัญ คือ “ให้เริ่มทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มขนาดจนควบคุมอาการเจ็บป่วยได้ แล้วคงขนาดนั้นไปเรื่อยๆ”
เริ่มต้นด้วยใช้ยากัญชาที่เจือจาง (3%) แล้ว เพียงครั้งละ 1 หยด ใส่ช้อนรับประทาน หลังอาหารเย็น อมไว้ในปาก 3-5 นาทีก่อนกลืน (ไม่ควรหยดใส่ลิ้นโดยตรง เพราะจะควบคุมปริมาณไม่ได้)
รออีกหนึ่งถึงสองวันต่อมา ถ้ายังไม่ได้ผล ให้เพิ่มเป็น 2 หยด แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกัญชาออกฤทธิ์ คือ นอนหลับลึกหรือควบคุมอาการได้ และให้คงขนาดนั้นไปเรื่อยๆ งานวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ย ใช้เพียง 3 หยด ก็ได้ผล
อาจจะมีการให้ยากัญชาเพิ่มได้อีก วันละ 1-2 ครั้งในตอนกลางวัน ตามอาการ แต่ถ้ามีอาการมึนหรือเมา ให้ลดขนาดยาลง
นำใบกัญชาแห้ง 1-2 ใบ มาชงน้ำร้อนดื่ม วันละ 2-3 ครั้ง
นำใบกัญชาสด 1-2 ใบ ไปปั่น พร้อมผักผลไม้ นำมารับประทาน วันละ 3-4 ครั้ง จะได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะกัญชาสดจะมีสารออกฤทธิ์ที่ไม่มีในกัญชาแบบสกัด เช่น สารเทอร์ปีน สารฟลาโวนอยด์ กรดไฟโตแคนาบินอยด์ เกลือแร่ต่างๆ [18]
กินอาหารที่มีไขมันชนิดโอเมก้าสาม จะช่วยทำให้กัญชาดูดซึมได้ดี ทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น งาขี้ม่อน เมล็ดแฟล็ก เมล็ดเจีย เมล็ดกัญชา
ใช้วิธีแบบทาภายนอก ใช้กัญชาผสมน้ำมันมะพร้าวหรือยาหม่อง ทาบริเวณที่ปวด หรือเป็นผื่น วันละ 2 - 3 ครั้ง
บางคนใช้วิธีสูบ เพื่อให้ได้ผลเร็ว เช่น คนที่มีอาการปวดมากๆ แต่ฤทธิ์ก็ลดลงเร็ว และอาจจะระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ให้ใช้เพียงบางครั้ง และต้องใช้วิธีอื่นๆร่วมไปด้วย
ควรปรับวิถีชีวิตร่วมไปด้วย ลดสารพิษ กินอาหารจากพืชปลอดสารพิษ ออกกำลังกาย ถูกแดด ทำสมาธิบำบัด ตามลมหายใจ นอนหลับ ช่วยเหลือคนอื่นๆ จะช่วยระบบกัญชาตามธรรมชาติฟื้นคืนได้ดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนและข้อควรระวังเมื่อใช้กัญชา:
ถ้าไม่เคยใช้มาก่อน และใช้เกินขนาด อาจจะมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน หลอน คลื่นไส้ อาเจียน วิธีแก้ไข คือ ให้ไปนอนพักผ่อน หลับไปเลย ดื่มน้ำมะนาว อมเกลือ อมเมล็ดพริกไทย กินน้ำสกัดรางจืด เมื่อร่างกายขจัดยากัญชาออกจากร่างกายหมด ภายในเวลา 12 – 24 ชั่วโมง ก็จะหายจากอาการดังกล่าว
ถ้าใช้ยาแผนปัจจุบันอยู่ ให้ระวังผลกระทบจากยาหลายตัวตีกัน เช่น ยาลดน้ำตาล ยาลดความดันโลหิต ยาละลายลิ่มเลือด ยาที่มีฤทธิ์ง่วง ให้ค่อยๆลดขนาดยาแผนปัจจุบันลง ติดตามวัดสัญญาณชีพเป็นระยะ และปรึกษาแพทย์ที่ดูแลประจำ [19]
ข้อคิดเป็นท้าย:
สรุปว่ากัญชารักษาและบรรเทาได้หลายโรคจริง และมีประโยชน์ในการป้องกันโรคด้วย แต่ผลการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านผู้ป่วย ด้านคุณภาพยา และการรักษาอื่นๆที่ได้รับ
เมื่อประชาชนสามารถปลูกได้ เข้าถึง และใช้อย่างถูกต้อง จะทำให้ประชาชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้มากขึ้น ลดภาระของระบบบริการสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและของประเทศ สร้างความมั่นคงทางยา ลดปัญหาสังคม และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
โอกาสดีๆเช่นนี้ มีไม่บ่อย ทุกฝ่ายควรช่วยกันทำให้เป็นจริง อย่าให้เสียของ
เอกสารอ้างอิง:
[1] Hui-Lin L. An archaeological and historical account of cannabis in China. Econ Bot 1974;28:437-48.
[2] Hand A, Blake A, Kerrigan P et al. History of medical cannabis. J Pain Manage 2016;9(4):387-94.
[3] วีรยา ถาอุปชิต, นุศราพร เกษสมบูรณ์. การใช้กัญชาทางการแพทย์. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน. 2560; 13 (Suppl.): 228-40.
[4] https://www.medcannabis.go.th/ข้อบ่งใช้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ 16 ตำรับ
[5] Reynolds JR. The Lancet 1890; March 22,637-38.
[6] Hempshopper. Marijuana is listed in the U.S. Pharmacopoeia. Available at https://hempshopper.com/hemp-history/1851-marijuana-is-listed-in-the-u-s-pharmacopoeia/
[7] PMID: 28250701
[8] https://en.wikipedia.org/wiki/Legality_of_cannabis
[9] Ahmad S and Hill KP. Medical Marijuana: A Clinical Handbook. New York: Wolters Kluwer. 2021. Page 187.
[10] กรมการแพทย์. คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์. 2564.
https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/wp-content/uploads/2021/04/Guidance-Updated-v-update-V.4260464.pdf
[11] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565.
[12] Mechoulam R (Ed.). Cannabinoids as therapeutics. Basel: Birkhäuser Verlag 2005.
[13] Pertwee RG (Ed.). Endocannabinoids. London: Springer International Publishing Switzerland 2015.
[14] Russo E. Cannabis and Cannabinoid Research. 2016. Volume 1.1 doi:10.1089/can.2016.0009
[15] Rajavashisth TB, et al. BMJ Open. 2012 Feb 24;2(1):e000494.
[16] Jingyi Huang et al. Cancer Medicine. 2022;00:1–9.
[17] Mboumba Bouassa RS, et al. Int J Mol Sci. 2022 Aug 20;23(16):9423.
[18] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. ประโยชน์ของการกินกัญชาสด.
ผู้จัดการออนไลน์. เผยแพร่: 20 พ.ย. 2565. https://mgronline.com/qol/detail/9650000110686
[19] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. กัญชาทางการแพทย์สำหรับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว. วารสารระบบบริการปฐมภูมิและเวชศาสตร์ครอบครัว. 2563;3(1): 13-20.
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/PCFM/article/view/228052