xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอย “ทัวร์จีนเที่ยว VIP” บริการพิเศษที่ไม่บันทึกไว้ในสารบบ “ไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นข่าวครึกโครมสะเทือน 2 วงการ  “ท่องเที่ยว” และ “ตำรวจ”  จากกรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนเผยแพร่คลิปท่องเที่ยวไทยแบบ VIP จ่ายเงินซื้อบริการพิเศษตำรวจไทย อำนวยความสะดวกให้มารับที่สนามบินและขับรถนำขบวนไปส่งถึงที่พัก นำสู่การตรวจสอบเอาผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่  นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ  รองผู้ว่า ททท. ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ปฎิเสธเสียงแข็งว่า จากการตรวจสอบจากสำนักงาน ททท. ทั้ง 5 แห่ง ในประเทศจีน ยืนยันว่าไม่มีธุรกิจเที่ยวไทยแบบ VIP ดังที่ตกเป็นข่าว และคาดว่าน่าจะเป็นการติดต่อแบบส่วนบุคคล
แต่ความจริงในอีกมิติหนึ่งได้ปรากฎต่อสาธารณะ เมื่อเฟซบุ๊กเพจ “ลุยจีน” แฉบริการ Thailand Fast Pass แพกเกจทัวร์จีนเที่ยวไทยแบบ VIP นอกจากบริการรถตำรวจนำทางแบบ VIP แล้ว ในโซเชียลฯ ยังแฉบริการแพกเกจพิเศษท้ากฎหมายไทยของบริษัททัวร์ในจีน ที่ประกาศขายกันทางออนไลน์ อาทิ 1. ทดลองทำเด็กหลอดแก้ว 2. บริการรถตำรวจนำขบวน รับจากสนามบินแบบ VIP 3. ทำวีซ่าแบบอีลิท หรือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษ 5 ปี 10 ปี 20 ปี 4. เปิดบัญชีธนาคาร ทำบัตร ATM 5. บริการทำใบขับขี่ 6. บริการเช่ารถหรือรายเดือน 7. บริการเช่าเรือยอร์ช วิลล่า และบอดี้การ์ด

โดยวิธีการชาวจีนจะนิยมสั่งซื้อบริการ Thailand Fast Pass บริการ vip เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างสะดวก รวดเร็ว มีอภิสิทธิ์เหนือระดับ ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์ม eCommerce อย่าง Taobao (เถาเป่า) ซึ่งง่ายและสะดวกมาก โดยบริการยอดฮิตส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กันหมด คือเป็นพาผ่านด่าน ตม.ไทยที่สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต) แบบไม่ต้องต่อแถว ไม่ต้องกรอกเอกสาร ไม่ต้องแสดงยอดเงินในบัญชี เลือกทำ Visa On Arrival เพิ่มได้ และเมื่อใช้บริการเสร็จให้ไปให้คะแนนดาวเพื่อเป็นกำลังใจให้บริษัททัวร์นั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย ส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2566 ประชากรจีนมีจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน ในแต่ละปีมีจำนวนผู้เดินทางออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนกว่า 140 - 150 ล้านคน ดังนั้น จีนจึงมีนัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว เผยว่าก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าไทย โดยเฉลี่ยนมีการใช้จ่ายต่อทริป 7 วัน อยู่ที่ 50,000 บาทต่อคน

สำหรับปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 25 ล้านคน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่ามีสายการบินสัญชาติจีนขอเปิดเที่ยวบิน และเพิ่มความถี่มาไทย ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2566 โดยได้รับการอนุมัติจาก กพท.ให้ทำการบินแล้วรวมจำนวน 1,035 เที่ยว หรือเฉลี่ยเดือนละกว่า 300 เที่ยวบิน นอกจากนี้ สายการบินจีนยังทำคำขอเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาอีกประมาณวันละ 40 เที่ยว อยู่ระหว่างการพิจารณาจาก กพท. ซึ่งจะต้องประเมินความพร้อมของสายการบิน รวมไปถึงบริการภาคพื้นที่รองรับผู้โดยสารด้วย

 นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่าการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 อาจยังไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) กลุ่มนักธุรกิจและคนที่เดินทางมาเยี่ยมญาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะเพิ่งเปิดประเทศ แต่นับจากเดือนมี.ค. เป็นต้นไป จะมีเที่ยวบินเข้าไทยเพิ่มขึ้นทั้งเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากหลายเมืองของจีนเข้ามา มีการเดินทางท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ที่จะทยอยการเดินทางเข้าไทย และจะเริ่มเดินทางกลับขึ้นมาเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4

สอดคล้องกับข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุว่าท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกจากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด ในช่วงแรกๆ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจยังมีข้อจำกัดจากจำนวนเที่ยวบิน รวมถึงรัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวนำกลุ่มทัวร์ออกนอกประเทศผู้เดินทางจีนส่วนใหญ่จึงอาจเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองและเป็นกลุ่มนักเดิน ทางระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งอาจมีจำนวนไม่มาก โดยรวมคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยอาจจะฟื้นชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

 นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ  รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในงานจัดงานเสวนา อัพเดตสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ปี 2566 ว่า วางกลยุทธ์ที่การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนให้เป็นตลาดคุณภาพ เน้นเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนต่อทริป โดยให้สำนักงาน ททท.ทั้ง 5 แห่งในจีนสื่อสารและให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวจีน อาทิ ททท. สำนักงานปักกิ่ง ซึ่งดูแลตลาดทางตอนเหนือของจีน 9 มณฑล อาทิ ปักกิ่ง, เทียนจิน, เหอเป่ย์, เหอหนาน, ซานซี, เหลียวหนิง ฯลฯ รวมถึงมองโกเลีย มีประชากรรวมประมาณ 370 ล้านคน ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจากโซนนี้เข้าไทยประมาณ 3 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน ที่น่าสนใจคือ พบว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ มีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น นิยมเดินทางแบบเทเลอร์เมด และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมีอัตราการขยายตัวสูง และกว่า 90% บอกว่ามีแผนพาลูกๆ ไปท่องเที่ยวหาประสบการณ์นอกห้องเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ยอมรับระบบการจองล่วงหน้าด้วย

ททท. สำนักงานกว่างโจว ดูแลพื้นที่ใน 5 มณฑลใหญ่ คือ กวางตุ้ง, ฝูเจี้ยน, เจียงซี, หูหนาน และไห่หนาน ระบุว่าภูมิภาคนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความมั่งคั่งสูง ประชากรกลุ่มคนชั้นกลางมีรายได้สูง และมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก มีโครงสร้างนักท่องเที่ยวประมาณ 62% เป็นนักท่องเที่ยวแบบเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ขณะที่กลุ่มที่เป็นกรุ๊ปทัวร์นั้น ส่วนใหญ่ปรับตัวเดินทางเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กลง นิยมเดินทางกับเพื่อนและครอบครัว อีกทั้ง นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มีพฤติกรรมพร้อมจ่าย เพื่อสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้น เป็นกลุ่มที่แสวงหาความสะดวกสบาย ใช้เทคโนโลยีในทุกกระบวนการท่องเที่ยว เป็นต้น

โดย ททท. วาง strategy หรือแผนกลยุทธ์สำหรับตลาดระยะใกล้ไว้ถึง 5 แนวทาง โดยแคมเปญ China is Back หรือจีนกลับมาแล้ว เป็น 1 ในแผนกลยุทธ์ที่จะไปเปิดตลาดในช่วงที่ไปโรดโชว์จีน และยังมีแผนเร่งทำตลาดในจีนอย่างหนักต่อเนื่องทั้งปี

และการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนในครัง้นี้ ททท. ได้วางกลยุทธ์การตลาดดึงดูดแคมเปญ ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน โปรโมตสินค้าและบริการท่องเที่ยวของไทยผ่านแพลตฟอร์มท่องเที่ยวและชำระเงินออนไลน์ยอดนิยมของจีน เช่น แพลตฟอร์มท่องเที่ยว Ctrip, Quner.com, lvmama.com แพลตฟอร์มชำระเงิน UnionPay, Alipay เป็นต้น

นอกจากนี้ ทริปดอทคอมกรุ๊ป (Trip.com) ได้ฉายภาพการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยการค้นหาข้อมูลบนแพลตฟอร์ม Trip.com พบว่านักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางไปยังประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดยในระยะเวลา 11 วันหลังจากประกาศเปิดประเทศของจีน อัตราการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 176% ขณะที่การค้นหาข้อมูลประเทศสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 96% เมื่อเทียบกับ 14 วันก่อนหน้าที่ทางการจีนประกาศเปิดประเทศ

โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนประเภทเดินทางด้วยตนเอง (FIT) จะเริ่มเดินทางต่างประเทศมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาว 1 พฤษภาคม (วันแรงงาน) และช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในเดือนก.ค. - ส.ค. ขณะที่ช่วงตรุษจีนนี้ยังมีนักท่องเที่ยวจีนออกเดินทางไม่มาก เพราะปริมาณเที่ยวบินยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับอดีต หลายเที่ยวบินต้องต่อเครื่องที่ท่าอากาศยานอื่น สายการบินฟูลเซอร์วิสยังไม่กลับมาให้บริการเต็มที่ อีกทั้งบัตรโดยสารยังมีราคาแพงมาก

ทั้งนี้ เมืองที่มีนักท่องเที่ยวต้องการออกเดินทางสูง ได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กว่างโจว, เสิ่นเจิ้น, หางโจว, หนานจิง, เฉิงตู และฉงชิ่ง ส่วนใหญ่เน้นการเดินทางเพื่อพักผ่อน เดินทางกับครอบครัว เพื่อน ปลายทางที่ได้รับความนิยมคือ กรุงเทพฯ และภูเก็ต รองลงมาคือ เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา

ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยหนุนให้ GDP ไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ที่ 3.6%

ดังนั้น หากจะพูดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะรุ่งเรืองอีกครั้ง หลังนักท่องเที่ยวจีนกลับมา อาจไม่เกินจริง?


กำลังโหลดความคิดเห็น