xs
xsm
sm
md
lg

มองสมาชิกวุฒิสภาจากข้อเสนอแก้การซื้อเสียงด้วยการให้เงินผู้ใช้สิทธิ 500 บาท / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 มีการพิจารณา รายงานการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนของวุฒิสภา มีข้อเสนอหลายประการ แต่ที่เป็นกลายประเด็นทางการเมืองและได้รับความสนใจจากสาธารณะมากคือ การเสนอแนวทางแก้ไขการซื้อขายเสียงด้วยการจ่ายค่าเดินทางให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนละ 500 บาท รายงานฉบับนี้ได้รับการรับรองจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว และกำลังเสนอให้แก่รัฐบาลพิจารณาต่อไป 


ส.ว. ชุดนี้ มองว่าการซื้อขายเสียงระบาดอย่างหนัก มีการซื้อเสียงกันอย่างแยบยล ทั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ บางคนอภิปรายว่า การซื้อเสียงเป็นวัฒนธรรมที่เลวร้าย และหากปล่อยให้นักการเมืองซื้อเสียงเข้าไปมีอำนาจ ก็จะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง การมองปัญหาในลักษณะนี้เป็นความคิดที่มีมาอย่างยาวนานของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ที่มองว่า การซื้อเสียงของ ส.ส. และการขายเสียงของประชาชนคือ ต้นตอของปัญหาการเมืองไทย เฉกเช่นเดียวกับความคิดของคนอีกบางกลุ่มที่มองว่า การรัฐประหารทหารและ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารคือ ต้นตอปัญหาของสังคมการเมืองไทย

 หากพิจารณาปรากฎการณ์ที่เห็นในการประชุมวุฒิสภาอย่างผิวเผินและตัดขาดจากประวัติศาสตร์การเมือง หลายคนก็อาจหลงชื่นชมบทบาทของ ส.ว. ที่แสดงออกมาในครั้งนี้ และอาจเข้าใจว่า ส.ว. ชุดนี้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี รวมทั้งอาจคิดว่า ส.ว.ชุดนี้มีจิตสำนึกในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย เพราะได้พยายามศึกษาและเสนอแนวแก้ปัญหาการซื้อขายเสียง แต่หากพิจารณากันอย่างละเอียดลึกซึ้งถึงการได้มาของตำแหน่ง ส.ว. แบบแผนทางจิต วิถีคิดและวิถีการกระทำที่ผ่านมาของ ส.ว. ชุดนี้แล้ว มายาภาพฉาบหน้าที่ดูสวยงาม ก็จะถูกมองทะลุ และเห็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่แสดงออกมาแต่อย่างใด 

การซื้อขายเสียงเป็นปรากฎการณ์ทั่วไป ที่มักเกิดขึ้นในสังคมช่วงเริ่มต้นของการใช้ระบอบประชาธิปไตย บางประเทศใช้เวลานับร้อยปีในการทำให้การซื้อขายเสียงหายไป แต่บางประเทศก็ใช้เวลาสั้นกว่านั้น แนวทางการแก้ปัญหาซื้อขายเสียงที่นิยมใช้กันคือ การออกกฎหมายเพื่อลงโทษแก่ผู้ที่ซื้อขายเสียง แต่เนื่องจากการซื้อขายเสียงส่วนใหญ่เป็นการสมยอมระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ มาตรการทางกฎหมายจึงไม่ค่อยมีประสิทธิผลมากนัก ยิ่งประเทศใดที่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ และผู้บังคับใช้กฎหมายตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจของชนชั้นนำทางการเมืองมากเท่าไร ประสิทธิของกฎหมายก็ยิ่งลดลง

การซื้อขายเสียงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยปัจจัยสำคัญสามประการ อย่างแรกคือ ผู้เลือกตั้งยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการเลือกตั้งของตนเองมากเท่าที่ควร ไม่ตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิแห่งการกำหนดชะตากรรมของตนเองและประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเองและเพื่อนร่วมสังคมในทุกมิติ ผลที่ตามมาจากการใช้สิทธิเลือกตั้งมีหลายประการ ดังเช่น ก่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างศักยภาพของประชาชน หรือสร้างความเสื่อมถอยแก่สมรรถนะของพลเมืองและทำให้ประชาชนอ่อนแอลง ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตด้วยความรื่นรมย์กับการมีอิสรภาพ หรือต้องตกอยู่ในความคับแค้นขมขื่นจากการถูกบังคับ ทำให้ผู้คนมีความมั่งคั่งอย่างทั่วหน้า หรือยากจนข้นแค้นทั้งแผ่นดิน ทำให้ระบบสาธารณสุขได้รับการพัฒนาและสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม หรือมีแต่คนร่ำรวยที่สามารถเข้าถึง ขณะที่คนยากจนต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ทำให้สังคมมีความมั่นคงปลอดภัยและมีหลักประกันอย่างยั่งยืนในการดำรงชีวิต หรือเป็นสังคมที่ผู้คนต้องอยู่อย่างหวาดผวา เต็มไปด้วยความเสี่ยงในการถูกทำร้าย และไร้หลักประกันยามเกษียณอายุ

หากประชาชนเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่า การตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งต่างกันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกัน พวกเขาก็จะใช้ความคิดพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างระมัดระวังเพื่อเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่นำเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสังคมในอนาคต และแนวนโยบายในการขับเคลื่อนสังคมที่สอดคล้องกับความเชื่อของพวกเขา ยิ่งกว่านั้นประชาชนก็จะมีความฉลาดเพียงพอที่สามารถแยกแยะได้ว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองใดบ้างที่เป็นพวกฉวยโอกาสและปราศจากความน่าเชื่อถือ พวกเขาก็จะไม่เลือกกลุ่มการเมืองเหล่านั้น แต่จะเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาเชื่อว่า มีความน่าเชื่อถือ รักษาคำมั่นสัญญา และมีสามารถเพียงพอในการบริหารประเทศให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ได้

ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของหลายประเทศ ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในสิทธิเลือกตั้งของตนเองขึ้นมาคือ การปรากฏขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีรากฐานจากกลุ่มชนชั้น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาตินิยม กลุ่มศาสนา และกลุ่มพลเมืองผู้ต้องการปฏิรูปสังคมและการเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต่อเนื่องของกลุ่มทางสังคมเหล่านี้ในรูปแบบของการณรงค์ทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิ และกิจกรรมอื่น ๆ ทางสังคมและการเมือง ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ผู้คนจำนวนมากมีประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติทางการเมือง ทำให้ความคิดและจิตสำนึกใหม่เข้าไปเกาะติดและดำรงอยู่ในจิตใจของประชาชนอย่างเหนียวแน่น ประชาชนจำนวนมากที่เคยขายสิทธิของตนเอง ก็ยุติการกระทำนั้นได้ และใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่เชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ของตนเองกับผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมในอนาคตได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การจูงใจของผลประโยชน์ระยะสั้นเฉพาะหน้า และเฉพาะตัวอีกต่อไป

ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน มีประชาชนที่เห็นความสำคัญของสิทธิเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นตามการเคลื่อนตัวของเวลา ดังเห็นได้จากการเลือกตั้งในปี 2562 มีประชาชนจำนวนหลายล้านคนที่ใช้สิทธิลงคะแนนด้วยเหตุผลและอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอวิสัยทัศน์และนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนกลุ่มนี้ได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้กลายเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นลำดับสามในสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจัยที่สอง คือ ฐานะทางเศรษฐกิจ  เป็นความจริงที่ว่า ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งอยู่ในชนบทหรือชุมชนแออัด มีแนวโน้มขายเสียงมากกว่าชนชั้นกลางที่มีฐานะเศรษฐกิจพึ่งตนเองได้ สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนยังคงมีรายได้ต่ำคือ รัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว อันเกิดจากการใช้นโยบายที่เอื้อแก่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและชนชั้นนำทางการเมืองและธุรกิจมากกว่าประชาชน การไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การละเลยต่อการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่กระทำต่อประชาชน และรวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ดูดเอาทรัพยากรของสังคมให้ไปกระจุกตัวในกลุ่มที่ครองตำแหน่งในรัฐบาลและระบบราชการ เมื่อประชาชนที่ยากจนเห็นการแสวงประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจกระทำกันอย่างแพร่หลาย พวกเขาก็สิ้นหวังต่อระบบการเมือง ดังนั้นเมื่อมีโอกาสและช่องทางได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนกลับมาบ้างจากสิทธิเลือกตั้งของตนเอง พวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะขายสิทธิของตนเองแก่นักการเมืองที่ให้ข้อเสนอสูงสุดแก่พวกเขา อันที่จริง การตัดสินใจของประชาชนกลุ่มนี้ใช้เหตุผลเชิงเศรษฐกิจที่พวกเขาคาดว่าจะได้รับตอบแทนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการตัดสินที่ดูมีเหตุผลมากกว่าคนบางกลุ่ม ที่ต้องฟังคำสั่งและปฏิบัติตามความต้องการทุกอย่างของผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งตัวเองไปชูหน้าสลอนในสถาบันทางการเมืองบางแห่งเสียด้วยซ้ำ

 ปัจจัยที่สาม การดำรงอยู่ของการซื้อขายเสียงถูกหล่อเลี้ยงด้วยวัฒนธรรมบางประการของสังคม  ในกรณีสังคมไทย ค่านิยมเชิงวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของการซื้อขายเสียงคือ ค่านิยมต่างตอบแทนตามพันธะสัญญาทางสังคม คนไทยจำนวนมากเมื่อรับสิ่งของหรือเงินทองจากผู้อื่นแล้ว พวกเขาจะเกิดพันธะทางใจที่ต้องกระทำตอบแทน ดังนั้น เมื่อรับเงินผู้สมัครคนใดมาแล้ว ก็จะเลือกผู้สมัครคนนั้น ค่านิยมนี้มิได้มีแต่เฉพาะในกลุ่มชาวบ้าน หากแต่ปรากฏในสถาบันทางการเมืองระดับสูงด้วย ดังเห็นได้จาก วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีแนวโน้มลงมติไปในทิศทางที่ผู้แต่งตั้งตนเองต้องการ โดยไม่คำนึงถึงหลักการและจริยธรรมของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เช่น การลงมติรักษาอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของตนเอง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าขัดแย้งกับจริยธรรมของระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้บริหารประเทศจะต้องมาจากอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง

 ข้อเสนอให้เงิน 500 บาทแก่ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจึงเป็นข้อเสนอที่ผิวเผิน ไม่สามารถแก้ปัญหาการซื้อขายเสียงได้ และสะท้อนความไม่เข้าใจปัญหาของ ส.ว. และหากดูเหตุผลที่ ส.ว. ใช้เป็นฐานในการเสนอก็ยิ่งบ่งบอกถึงความสามารถในการคิดเป็นอย่างดีว่าอยู่ในระดับใด พวกเขาให้เหตุผลว่า “การให้เงินประชาชน 500 บาทจะทำให้ประชาชนตอบแทนคุณแผ่นดิน ไม่ขายเสียง และเลือกคนดี รวมทั้งทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ประชาธิปไตยกินได้ตั้งแต่วันออกมาใช้สิทธิ”

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า การที่รัฐให้เงินประชาชน แตกต่างจากการที่บุคคลธรรมดาให้เงินแก่ผู้อื่น กรณีแรกไม่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าต้องตอบแทนแต่อย่างใด เพราะประชาชนจำนวนมากคิดว่า “เงินรัฐ” คือ “เงินของพวกเขา”  ความคิดแบบนี้เห็นได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมากในอดีต ดังโครงการของรัฐที่ให้เงินกู้แก่ประชาชน แต่ก็มีคนจำนวนมากไม่คืนเงิน เพราะคิดว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินของพวกเขา หรืออย่างนโยบายที่รัฐบาลประยุทธ์แจกเงินแก่ประชาชนจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลับไม่ทำให้ประชาชนนิยมรัฐบาลเพิ่มขึ้น หรือรู้สึกว่าเป็นบุญคุณแต่อย่างใดแต่อย่างใด ตรงกันข้ามคะแนนนิยมของรัฐบาลประยุทธ์กลับลดลงเสียอีกด้วยซ้ำ การคิดว่ารัฐให้เงินประชาชนแล้วจะทำให้ประชาชนไม่ขายเสียง จึงเป็นความคิดที่ผิดพลาดทั้งในเชิงตรรกะและเชิงประจักษ์ แตกต่างจากการที่ประชาชนรับเงินจากบุคคลอื่น เพราะนั่นเป็นเงินคนอื่น เมื่อผู้อื่นให้เงิน และขอให้กระทำบางอย่างเพื่อแลกเปลี่ยนตอบแทน คนที่รับเงินแล้วแทบทุกคนก็มักจะปฏิบัติตามสัญญา เพราะนั่นเป็นบรรทัดฐานและจริยธรรมของการแลกเปลี่ยนทางสังคม หากใครไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจถูกลงโทษทางสังคม โดยการไม่คบค้าสมาคมด้วย และบางคนก็อาจเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมาได้

ส่วนความคิดที่เรียกว่า  “ประชาธิปไตยกินได้” เป็นตรรกะแบบลดรูปและด้อยค่าประชาธิปไตยให้เหลือเพียงมิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ทั้งที่คุณค่าของประชาธิปไตยนั้นมีมากมายหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การคิดที่เน้นย้ำแต่เรื่องประชาธิปไตยกินได้เป็นการบั่นทอนและทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ตีความได้ว่า ผู้คิดอาจมีความประสงค์บางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ก็เป็นได้ เพราะว่าแหล่งที่มาของตำแหน่ง แบบแผนทางจิต และการกระทำที่ผ่านมาของกลุ่มผู้เสนอนั้นห่างไกลกับคำว่าประชาธิปไตยอยู่มากทีเดียว

 สิ่งที่ ส.ว. ชุดนี้ควรกระทำคือ การนั่งลงครุ่นคิด ทบทวน ไตร่ตรอง สะท้อนมองตัวตนของตนเองให้ละเอียดลึกซึ้ง ลองตั้งคำถามแก่ตนเองดูว่า การดำรงอยู่และบาทบาทของตนเองมีส่วนในการสร้างปัญหาแก่สังคมการเมืองไทยอย่างไรบ้าง แต่หากยังคิดไม่กระจ่าง ไม่หลุดพ้นจาก “กับดักของอำนาจรัฐประหาร” ไม่อาจสลัดจิตใจให้หลุดพ้นจากการครอบงำของผู้แต่งตั้งตนเอง และยังกระทำการที่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางจริยธรรมของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในปี 2566 ที่กำลังมาถึง ผลที่ตามมาอาจทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง และนั่นอาจกลายเป็นตราบาปแก่ตนเองและครอบครัว เพราะการกระทำนั้นจะถูกจารึก บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปอีกยาวนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น