xs
xsm
sm
md
lg

การต่อสู้และกลยุทธ์ทางการเมืองของ 2 ป. / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ | พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 สอง ป. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความสัมพันธ์อย่างยาวนานในอาชีพทหาร ต่อมาร่วมมือกันเพื่อช่วงชิงและครอบครองอำนาจรัฐไทยได้ร่วมทศวรรษ ทั้งโดยการรัฐประหารและการเลือกตั้ง กล่าวได้ว่า บุคคลทั้งสองครอบงำโครงสร้างอำนาจส่วนบนและกำหนดทิศทางการเมืองไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จในการเมืองยุคปัจจุบัน แต่สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นสัจธรรม ปลายสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 รอยร้าวและความขัดแย้งระหว่างบุคคลทั้งสองเริ่มปรากฏสู่สาธารณะ เพราะต่างคนต่างมีความปรารถนาสิ่งเดียวกัน แต่ไม่มีใครยอมถอยให้กันอีกแล้ว การช่วงชิงโอกาสและความได้เปรียบทางการเมืองระหว่างบุคคลทั้งสองจึงเกิดขึ้น และจะดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งการช่วงชิงนักการเมืองที่มีฐานเสียงเข้มแข็งให้มาสังกัดพรรคก่อนการเลือกตั้ง การแข่งขันช่วงชิงคะแนนเสียงระหว่างเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง


พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรมีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความท้าทายแตกต่างกัน การที่แต่ละคนจะสามารถปฏิบัติการทางการเมืองให้บรรลุเป้าหมาย อันได้แก่การเป็นนายกรัฐมนตรี จึงขึ้นอยู่กับว่ากลยุทธ์ของใครจะมีพลังมากกว่ากัน โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันทำให้บุคคลทั้งสองมีความได้เปรียบผู้นำการเมืองคนอื่น ๆ เพราะบุคคลทั้งสองมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นฐานอยู่คนละประมาณครึ่งหนึ่งของส.ว. ทั้งหมด แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ จะทำให้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีเสมอไป เพราะการแข่งขันในสนามการเมืองมิได้มีเพียงบุคคลทั้งสอง หากแต่ยังมีผู้นำการเมืองและพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพสูงและมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากพรรคการเมืองอื่น ๆ จับมือกันและสามารถรวบรวมเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่า 376 คน ได้เมื่อไร เมื่อนั้นคือ เวลาอวสานทางการเมืองของ 2 ป.

อย่างไรก็ตาม สำหรับในบทความนี้มุ่งเน้นวิเคราะห์ไปที่จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความท้าทาย รวมถึงกลยุทธ์ที่ 2 ป. ใช้ในการช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และสรุปว่าใครมีโอกาสมากกว่ากันในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง 2 ป.

เริ่มจากประเด็นจุดแข็ง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีจุดแข็งที่สำคัญ 4 ประการ ขณะที่พลเอกประวิตรมีจุดแข็ง 7 ประการ ดังนี้

จุดแข็งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 4 ประการ คือ
 
1.มีความสามารถในการสร้างภาพลักษณ์เรื่องความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ทำให้มีความนิยมค่อนข้างสูงในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์เป็นคนซื่อสัตย์ เพราะไม่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตที่รุนแรงโดยตรงของพลเอกประยุทธ์เกิดขึ้น แม้มีบางเรื่องที่ดูเหมือนจะคาบเกี่ยวอยู่บ้าง เช่น การพักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนกลุ่มนี้ในตัวพลเอกประยุทธ์ได้

2.มีความสามารถในการสร้างภาพลักษณ์แห่งความเข้มแข็ง โดยปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่มีความเห็นต่างอย่างรุนแรงและเด็ดขาด ทำให้บ้านเมืองสงบ จึงเป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง และได้รับการยอมว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมในการต่อสู้กับนายทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งมองว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันหลักของชาติ



3.มีอำนาจรัฐอยู่ในมือและสามารถใช้อำนาจรัฐเอื้อต่อการแข่งขันเลือกตั้งทางอ้อม เช่น แต่งตั้งสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทำให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งมีโอกาสใช้ตำแหน่ง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมืองได้

4.มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจำนวนมากเพื่อใช้ในการดำเนินงานการเมืองและการหาเสียงเลือกตั้งจากกลุ่มทุนพลังงานบางกลุ่มที่ใกล้ชิด และได้รับประโยชน์จากนโยบายพลังงานของรัฐบาล  

ด้านจุดแข็งของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมี 7 ประการ
 
1 เป็นผู้มีบารมี ที่มีเครือข่ายการเมืองกว้างขวาง ได้รับการมองว่าเป็นคนใจกว้าง ใจดี ใจถึง พร้อมสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการทำงานการเมืองแก่บรรดานักการเมืองในสังกัดที่เป็นพวกเดียวกัน ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักการเมือง

2 มีลักษณะประนีประนอม รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ประสานได้ทุกฝ่าย เข้าใจความเป็นจริงของการเมืองไทย ทำให้กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มประชาชนที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงและพูดคุยเจรจาต่อรองได้

3. เป็นผู้ผลักดันขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำและที่ดิน รวมทั้งปัญหาหนี้สินนอกระบบ ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรูปธรรมที่สร้างประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชาวบ้าน ทำให้เป็นที่นิยมของชาวบ้านระดับรากหญ้าจำนวนไม่น้อย

4. มีทรัพยากรเงินทุนจำนวนมากจากหลายแหล่ง ที่เชื่อมโยงกับการดำรงตำแหน่งและใช้อำนาจทางการเมือง กล่าวได้ว่า พรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของพลเอกประวิตร มีความพร้อมสูงมากพรรคหนึ่งในการแปลง “ทุน” ให้กลายเป็น “เสียง” หรือ “คะแนนจริง” ในการเลือกตั้ง

5.มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และทีมงานหาเสียงที่เข้มแข็งและมีศักยภาพสูงในการทำงานในระดับพื้นที่เลือกตั้งที่หลากหลาย ทั้งนักการเมืองประเภทบ้านใหญ่ และนักกลยุทธ์ที่มีความเชี่ยวชาญการหาคะแนนเสียง ในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

6. มีนโยบายเด่นที่ได้รับความนิยมจากประชาชน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรประชารัฐ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการหาเสียงได้ว่าเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และสามารถผลิตนโยบายใหม่ต่อยอดนโยบายเดิม เช่น เพิ่มเงินในบัตรประชารัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน

6.มีบุคลิกที่รับฟังและให้เกียรติในการทำงานกับผู้อื่น จึงมีแนวโน้มว่าจะสามารถแสวงหามีผู้มีชื่อเสียงมีฝีมือเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเข้าร่วมเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคดีขึ้น 

สำหรับประเด็นจุดอ่อน พลเอกประยุทธ์ มีจุดอ่อนที่สำคัญ 5 ประการ ส่วนพลเอกประวิตร มีจุดอ่อนที่สำคัญ 2 ประการดังนี้

 จุดอ่อนของพลเอกประยุทธ์

1.เป็นบุคคลยึดตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล คิดว่าตนเองฉลาดกว่าผู้อื่นจึงไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากความเชื่อตนเอง และมีแนวโน้มรับรู้ความจริงที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเองเป็นหลัก และปัดความจริงที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเองออกไป

2.มีบุคลิกในการทำงานไม่ให้เกียรติผู้อื่น มีแนวโน้มใช้คำพูดและกิริยาที่ไม่เหมาะสมกับผู้ร่วมงานที่มีความเห็นต่างจากความเชื่อของตนเอง จนทำให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่เคยทำงานร่วมด้วยในช่วงต้นที่เป็นนายกรัฐมนตรี ปลีกตัวหนีถอยห่างออกเกือบหมด พฤติกรรมของพลเอกประยุทธ์เป็นที่กล่าวขานในแวดวงผู้มีความรู้ความสามารถของประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถแสวงหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริงเข้ามาเป็นทีมงานบริหารประเทศได้

3.บุคคลใกล้ชิด ทั้งเครือญาติ เพื่อนพ้อง และลูกน้องมีข่าวพัวพันกับการทุจริตที่อื้อฉาวเป็นจำนวนหลายคน

4.มีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศต่ำ และไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาและการปฏิรูปประเทศ และไม่มีทีมเศรษฐกิจที่มากความสามารถและได้รับความเชื่อถือจากสังคม ที่ใช้ในการสร้างคะแนนนิยมเพิ่มในการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า

5.บุคคลที่ร่วมงานจำนวนมากไม่มีทั้งฝีมือในการบริหารประเทศและการทำงานการเมือง แต่มักจะเป็นผู้ที่ประจบสอพลอ หรือไม่ก็เป็นบุคคลที่ตกยุคสมัยไปแล้ว ซึ่งเข้ามาเกาะชื่อเสียงที่หลงเหลืออยู่บ้างของพลเอกประยุทธ์ เพื่อแสวงหาโอกาสทางการเมือง

ด้านจุดอ่อนของพลเอกประวิตร ที่สำคัญคือ

1มีการกระทำที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเข้าข่ายไม่ตรงไปตรงมา เช่น นาฬิกาหรูยืมจากเพื่อน และมีคนแวดล้อมใกล้ชิดจำนวนหนึ่งเป็นคนที่สังคมเชื่อว่าเป็นคนไม่ดี จึงส่งผลให้พลเอกประวิตรมีภาพลักษณ์สีเทา และไม่เป็นที่นิยมของชนชั้นกลาง

2มีอายุมาก และดูสุขภาพไม่ค่อยดีนัก อาจไม่เหมาะกับการทำงานหนักในฐานะเป็นผู้นำประเทศ

สำหรับโอกาสที่สำคัญของพลเอกประยุทธ์คือ 1) การได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมในกรุงเทพฯ และประชาชนจำนวนมากในภาคใต้ 2) การได้รับการมองว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม เมื่อเทียบกับผู้นำทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมคนอื่น ๆ และ 3) การได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ประมาณ 100 -120 เสียง

ความท้าทายที่สำคัญคือ 1) ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้หากได้รับการลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะมีเวลาในการดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปีเท่านั้น 2) ความเบื่อหน่ายของประชาชน เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนาน แต่ประชาชนจำนวนมากมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้ ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายและต้องการการเปลี่ยนแปลง 3) สังคมสมัยใหม่ต้องการผู้นำที่มีรุ่นใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารประเทศ แต่พลเอกประยุทธ์ถูกมองว่าเป็นผู้นำรุ่นเก่า ที่ไม่เหมาะกับบริบทของสังคมอีกต่อไป และ 4) การแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่จะมาถึงมีแนวโน้มที่เป็นสนามแบบ  “ทะเลเดือด” แต่ศักยภาพและความสามารถของพรรคการเมืองที่พลเอกประยุทธ์สังกัดมีจำกัด ทำให้ยากแก่การเอาชัยชนะในเขตเลือกตั้งได้ตามเป้าหมายที่คาดหวัง และทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติได้คะแนนเสียงน้อย ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ขาดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า

สำหรับโอกาสที่สำคัญของพลเอกประวิตรคือ 1) การเมืองและสังคมไทยในยุคต่อไปต้องการความปรองดองและประนีประนอม ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกที่เป็นจุดแข็งของพลเอกประวิตร 2) พรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้านอย่าง พรรคเพื่อไทย อาจสนับสนุนพลเอกประวิตร เพราะจำต้องอาศัยและพึ่งพาฐานอำนาจของพลเอกประวิตรในวุฒิสภา เพื่อสนับสนุนพลเอกประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี และทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถเข้าร่วมรัฐบาลได้

ส่วนความท้าทายที่สำคัญของพลเอกประวิตรคือ 1) การแย่งชิง ส.ส. ของพรรค และนักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย 2) การแย่งชิงนโยบายที่ได้รับการมองว่าประสบความสำเร็จ เช่น นโยบายบัตรประชารัฐ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อใช้ในการหาเสียง และ 3) การสร้างความยอมรับจากประชาชน สำหรับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สำหรับกลยุทธ์หลักที่ผู้นำการเมืองทั้งสองใช้เป็นแนวทางดำเนินงานการเมืองมีดังนี้

 1)การช่วงชิงนักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนาในเขตเลือกตั้งให้มาเป็นผู้สมัครในนามพรรค พลเอกประวิตรปฏิบัติการในเชิงรุก บุกเข้าไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่นักการเมืองมีความลังเล เพื่อดึงตัวเข้ามาสังกัดพรรค พปชร. อย่างต่อเนื่อง เช่น ราชบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น ขณะที่พลเอกประยุทธ์ยังไม่ดำเนินการ หรืออาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน จึงทำให้ประสิทธิผลของการใช้กลยุทธ์นี้ของพลเอกประวิตรมีมากกว่าพลเอกประยุทธ์อยู่ไม่น้อยทีเดียว

2)กลยุทธ์การแสวงหาทีมงานผู้มีความรู้และความสามารถมาร่วมงานกับพรรค  พลเอกประวิตรเปิดเกมรุกด้วยการดึงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์มาร่วมทีม และมีข่าวด้านลึกว่าจะดึงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่มีชื่อเสียงและมากฝีมืออีกผู้หนึ่งเข้ามาร่วมงานกับพรรคด้วย ส่วนพลเอกประยุทธ์ ได้อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมงาน หากตัดสินจากบุคลิกการทำงานแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าพลเอกประวิตร จะดึงผู้มีฝีมือที่หลากหลายมาร่วมงานได้มากกว่าพลเอกประยุทธ์

3)กลยุทธ์ในการหาเสียงด้วยนโยบาย  ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐ เสนอนโยบายที่มีพลังดึงดูดผู้เลือกตั้งได้ไม่น้อยเช่น การเพิ่มเงินบัตรประชารัฐ ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนนัก

4)กลยุทธ์การหาคะแนนในเขตเลือกตั้ง พลเอกประวิตร ดึงร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมาทำงานพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนบนและตอนล่างบางจังหวัด และใช้นักการเมืองประเภทบ้านใหญ่เป็นฐานในการทำงานหลายจังหวัดในภาคกลาง ส่วนพลเอกประยุทธ์ใช้ นายหิมาลัย ผิวพรรณ อดีตนายทหารผู้ทรงอิทธิพลในการทำงานการเมืองระดับเขตเลือกตั้ง และพยายามใช้นักการเมืองประเภทบ้านใหญ่เช่นเดียวกัน แต่ดูเหมือนยังเป็นรองพลเอกประวิตรอยู่ไม่น้อย

5)กลยุทธ์การปรับสร้างภาพลักษณ์  พลเอกประวิตร เน้นการสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้ประสานประนีประนอม ผู้ใหญ่ใจดี เขาถึงง่าย พร้อมจับเข่าคุยกับทุกฝ่าย ส่วนพลเอกประยุทธ์เน้นการสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้รักชาติ สร้างความสงบ ปกป้องและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ภาพลักษณ์เดิมพลเอกประยุทธ์ เหนือกว่าพลเอกประวิตร แต่ความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ทำให้พลเอกประวิตรสามารถลดช่องว่างด้านภาพลักษณ์ที่ตามพลเอกประยุทธ์อยู่ลงไปได้ไม่น้อยทีเดียว

6)กลยุทธ์การช่วงชิง ส.ว.  ขณะนี้แต่ละฝ่ายต่างมีทีมงานในการตรวจสอบและตรวจนับ ส.ว.ที่สนับสนุนตนเองอย่างต่อเนื่อง จากกระแสข่าวที่ออกมา การช่วงชิงเป็นไปอย่างเข้มข้น และสูสีกันมาก

7)กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ  พลเอกประวิตรเปิดเกมรุก ด้วยการส่งสัญญาณว่าพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย และสามารถร่วมมือกับทุกพรรค ยกเว้นพรรคก้าวไกล ซึ่งประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค 2 ป. สำหรับประยุทธ์ขอบเขตความร่วมมือมีจำกัดกว่าคือ ร่วมได้เฉพาะกับพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลมาก่อน และไม่สามารถร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันได้แม้แต่พรรคเดียว ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย และประชาชาติ ก็ตาม กลยุทธ์แสวงหาความร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ของพลเอกประวิตรจึงเหนือกว่าพลเอกประยุทธ์

 กล่าวโดยสรุป จากจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ความท้าทาย และกลยุทธ์ที่พลเอกประวิตรและพลเอกประยุทธ์ใช้อยู่ในขณะนี้ สามารถสรุปได้ว่า พลเอกประวิตรมีโอกาสบรรลุเป้า เข้าสู่ชัย ไปครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่าพลเอกประยุทธ์ แต่กระนั้นก็ตาม โอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่แน่นอน เพราะหากพรรคเพื่อไทยชนะแบบท่วมท้น และพรรคร่วมฝ่ายต้านอื่น ๆ ประสบชัยชนะจนมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 300 เสียง ในกรณีนั้น เราจะได้เห็นชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ไม่ใช่ 2 ป. อีกต่อไป 


กำลังโหลดความคิดเห็น