xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุดฉาว !อาจารย์มหา’ลัยชอปงานวิจัย ขายวิญญาณทำลายสังคมอุดมปัญญา!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงกับเรื่องอื้อฉาวอาจารย์มหาวิทยาลัยชอปปิงงานวิจัย ขายวิญญาณ เพื่ออัพตำแหน่ง เงินเดือน และดัน Ranking มหาวิทยาลัยให้ติดอันดับสถาบันการศึกษาระดับโลก 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนเรื่องนี้แวดวงวิชาการจะรับรู้กันดีมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว หากฟังจาก  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา  นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าธุรกิจการ Shopping งานวิจัยไม่ใช่สิ่งใหม่ และดูเหมือนจะไม่ผิดกฎหมาย (ใช้คำว่า on legal grounds) ในบางประเทศ แต่ผิดจริยธรรมขั้นรุนแรง

ดร.อนันต์ ได้ยกตัวอย่าง Website ที่คนสามารถเข้าไป Shopping งานวิจัยได้อย่างเปิดเผย และหา Link ผ่าน Search engine ได้อย่างง่ายดาย มีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจนี้เปิดให้คนที่มีเงินในมือเข้ามาเป็นผู้แต่งในวารสารวิชาการที่การันตีแน่นอนว่าได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ

เนื่องจากงานวิจัยเขียนขึ้นจากคนใน Field จริงๆ ประเด็นเรื่องคุณภาพที่จะถูกผู้ประเมินปัดตกจากกระบวนการของวารสารคงจะยาก หรือประเด็นเรื่องการจับผิดเรื่องการลอกเลียนงานวิจัยคงไม่มี ดังนั้นงานวิจัยแบบนี้จะสามารถผ่านกระบวนการประเมิน peer review ได้ ปกติเมื่อส่งไป review วารสารจะให้เวลาแก้ไขต้นฉบับ (revision) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าแก้ไขตามความเห็นผู้ประเมินจะสามารถผ่านไปตีพิมพ์ได้ ช่วงเวลา revision นี้เป็นโอกาสทองที่เอกสารเหล่านี้จะถูกลงประกาศขายให้ผู้สนใจเข้ามา shop เป็นเจ้าของ ที่น่ากังวลมากคือ ถ้ามีงบประมาณในมือเพียงพอสามารถเข้ามา “ซื้อ” งานวิจัยทั้งฉบับเป็นของตัวเองได้เลย แล้วไปหาผู้แต่งร่วมคนอื่นๆ เอง ซึ่งจะทำให้ไม่เห็นความผิดปกติของการมีคนจากต่างชาติมาร่วมเขียนด้วย ซึ่งจะทำให้ยากมากต่อการจับความผิดปกติ หรือถ้างบประมาณน้อยก็จะต้องไปร่วมเป็นผู้แต่งกับคนอื่นๆ ที่ไม่รู้จัก ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกสังเกตเห็นได้

ดร.อนันต์ สะท้อนว่าเป็นเรื่องน่ากังวลมากๆ เพราะสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2003 และงานวิจัยมากกว่าหมื่นเรื่องถูกขายไปจาก website แห่งนี้เพียงแห่งเดียว ไม่นับจากหลายๆ ที่ที่อาจจะใช้วิธีการแบบเดียวกัน

“ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้นๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือผู้นิพนธ์ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลางๆ ก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผีๆ นี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือเห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย” ดร.อนันต์ ระบุในโพสก่อนหน้านี้

ด้าน  ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ออกมาทวีตข้อความว่า “เรื่องฉาวของวงการวิจัยและมหา’ลัยตอนนี้ คือการขุดพบว่าอาจารย์บางคนมีผลงานตีพิมพ์ มี citation และ H-index สูงเพราะไปซื้อ authorship ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากระดับเดียวกับ data fabrication และ plagiarism ซึ่งผู้บริหารต้องจัดการครับ สิ่งนี้ถือเป็น unforgivable sin ในวงการวิจัย”

ประเด็นการช้อปงานวิจัยใส่ชื่อตัวเองที่เปรี้ยงปร้างเปิดแผลแวดวงวิชาการเน่าใน ไม่เพียงสร้างชื่อ สร้างผลงาน แต่ยังแถมถอนทุนคืนบวกกำไรงามๆ อีกด้วย โดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนผ่านการโพสเฟซบุ๊กว่า “มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่…”

รศ.ดร.วีรชัย หรือ “อาจารย์อ๊อด” ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES (เชส) ยังให้สัมภาษณ์สื่อแฉต่ออีกว่า จากการตรวจสอบตอนนี้พบมีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 6 คน ที่เข้าข่ายซื้องานวิจัย รายหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ อีกรายอยู่ในสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และที่เหลือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ พฤติกรรมคือเป็นนักวิชาการทางด้านสาธารณสุข มีจำนวนงานวิจัยสูงอย่างผิดปกติ ปีละ 90 งาน มากกว่านักวิจัยรางวัลที่มีงานวิจัยสูงสุดในไทยถึง 9 เท่า ที่สำคัญคือหัวข้อที่วิจัยแตกต่างจากความเชี่ยวชาญของตัวเอง เช่นเคมี การเกษตร วิศวกรรม ผลิตภัณฑ์นาโน

“อาจารย์อ๊อด” ยังมีโพสต์ต่อในวันถัดมาด้วยว่า “ยัง ยังไม่จบ อธิการบดี 100 งานวิจัย 100 เปเปอร์ ในปีเดียว อาจารย์อ๊อดขอคารวะและขอเข้าไปเป็นลูกศิษย์ครับ”

ทางด้าน รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า “ถ้าเข้าไปเสิร์ชชื่ออาจารย์ มช. ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ ดูประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org เราจะพบเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะชื่อของเขาที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่างๆ นั้น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่ field ของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร cryptocurrency เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม ฯลฯ นี่แสดงว่าทำมานานแล้ว .... ที่สำคัญคือ เราจะไม่พบบทความภาษาไทยเกี่ยวกับเกษตร วิศวกรรม การเงิน คริปโตเคอเรนซี รัสเซีย อินโดนีเซีย ที่อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่นๆ ปรากฏในวารสารใดๆ ในภาษาไทยแม้แต่ชิ้นเดียว

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว ตั้งคำถามด้วยว่า อยากรู้จริงๆ ว่าผู้บริหาร มช. จะจัดการอย่างไรกับเรื่องแบบนี้หรือว่าไม่สนใจ สักแต่จะเอา ranking โดยไม่สนใจว่าทุกวันนี้ มีอาจารย์ที่ไร้ยางอายประเภทนี้ที่หากินด้วยการเอาเงินมหาวิทยาลัยไปจ่ายซื้อ “ที่” ในบทความที่ตัวเองไม่ได้เขียน เมื่อได้ตีพิมพ์ก็มาขอเงินรางวัลที่สูงกว่า จนมีผลงานตีพิมพ์เกินครึ่งร้อยภายในไม่กี่ปี ลองคูณด้วยแสนต่อชิ้น ก็จะรู้ว่าร่ำรวยกันขนาดไหน และก็มีวารสารประเภทนี้ในต่างประเทศที่รู้จักความด้อยพัฒนาแบบมหา’ลัยในไทย (และที่อื่น) เป็นอย่างดี ถึงได้หากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยทั้งหลาย ไม่ทราบว่าว่าอย่างไร?”

ขุดภาพความฟอนเฟะในแวดวงวิชาการออกมาแฉกันยับขนาดนี้ ทำให้สถาบันต้นสังกัดสั่งตรวจสอบเป็นการใหญ่ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในแวดวงการศึกษาไทย

อย่างไรก็ดี  รศ.ดร.วีรชัย  ระบุว่า หลังจากนี้เชื่อว่าเจ้าของงานวิจัยตัวจริงที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งนำงานมาขายเรียกเงินจากนักวิชาการที่อยากได้ผลงานด้วยการใส่ชื่อว่าร่วมวิจัย น่าจะถูกถอดงานวิจัยออกจากวารสารวิชาการที่เผยแพร่และอาจมีบทลงโทษในการขึ้นประวัติเช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนนักวิชาการไทยที่ซื้องานวิจัยเหล่านี้ก็ต้องรอบทลงโทษจากทางมหาวิทยาลัยและสถาบันต้นสังกัดของแต่ละคน ขณะที่ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อยู่ระหว่างหารือเพราะเชื่อว่ามีนักวิชาการที่ทำลักษณะนี้อีกหลายคน

ทั้งนี้ หากมองให้ลึกลงไปเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ดังที่  ศ.ดร. เพทาย เย็นจิตโสมนัส หัวหน้าหน่วยอณูเวชศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา (ด้านบัณฑิตศึกษา) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย รองนายกสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวทท.) กรรมการบริหาร สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแต่แรกแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอยากมี Ranking สูงๆ ในการจัดอันดับของสถาบันการศึกษาระดับโลก และวิธีที่จะได้ Ranking สูงๆ ก็ต้องมีงานวิจัยเยอะๆ ดังนั้นจึงมีแรงกดดันใส่อาจารย์ผู้สอนให้ออกงานวิจัยบ่อยๆ

“อาจารย์ถูกบังคับให้ทำวิจัยในสภาพที่ขาดแคลนเกือบจะทุกอย่าง และเงินทุนวิจัยก็น้อย เหมือนทหารที่ถูกส่งออกไปแนวหน้าโดยขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ แถมผลงานวิจัยยังถูกผูกกับสัญญา และเกี่ยวพันกับการปรับเลื่อนเงินเดือน และตำแหน่งวิชาการอีกด้วย .... อาจารย์บางคนจึงใช้วิธีลัด คือแทนที่จะทำเอง จึงใช้วิธีซื้อผลงานวิจัย โดยจ่ายเงินเพื่อให้มีชื่อลงไปในเปเปอร์ที่คนอื่นทำได้เลย” ศ.ดร. เพทาย กล่าว และยังบอกด้วยว่า ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องงานวิจัยแต่แรกอยู่แล้ว อยากให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เยอะๆ แต่ไม่ลงทุนด้าน R&D อย่างเพียงพอ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา งบด้านวิจัยยังอยู่เท่าเดิมที่ 13,000 – 20,000 ล้านบาท ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากการถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องทำวิจัยภายใต้การขาดแคลนการสนับสนุนทุกด้านอย่างที่ ศ.ดร. เพทาย ว่าไว้แล้ว มองดูสภาพชีวิตการทำงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยในยุคสมัยที่ออกนอกระบบเช่นทุกวันนี้หนีไม่พ้นต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น การโชว์ผลงานการทำวิจัย จึงไม่เพียงตอบโจทย์เพื่อสร้างชื่อเสียง เพื่อยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ แต่เพื่อหารายได้ให้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเงินเดือนประจำที่ไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับการขวนขวายร่ำเรียนเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะได้เป็นดอกเตอร์ (ดร.) ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ ดร.ที่ได้มาด้วยการซื้อหาเอา

คุณค่าของงานวิจัยนอกจากจะเอาไปยื่นขอตำแหน่งแล้วยังทำให้การยื่นของบผลิตงานวิจัยชิ้นใหม่ได้ง่ายขึ้น และขอวงเงินได้มากขึ้นอาจถึงแสนสองแสนบาทต่อหนึ่งชิ้น และหากงานวิจัยถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ อาจารย์เจ้าของงานวิจัยก็อาจได้รางวัลพิเศษจากภาควิชาและคณะเป็นเงินก้อนใหญ่ และได้คะแนน KPI ประจำปีที่สูงขึ้น มีโอกาสปรับเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้น

ในทำนองเดียวกัน หากอาจารย์ไม่ขวานขวายทำงานวิจัยหรืองานวิจัยไม่โดดเด่นเข้าตากรรมการ เอาไปยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ยาก มหาวิทยาลัยก็จะไม่ต่อสัญญาจ้างกับอาจารย์ผู้นั้น

ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกข้อกำหนดมาชัดเจน ตามที่ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องการต่อสัญญาของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเอาจริงเรื่องการไม่ต่อสัญญาอาจารย์ที่ไม่สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการตามเกณฑ์ระยะเวลาที่กำหนดได้ ในขณะที่หลายมหาวิทยาลัยดำเนินการดังกล่าวมาหลายปีแล้ว น่าเสียดายที่ทุกวันนี้คุณค่าและความมั่นคงของวิชาชีพอาจารย์ถูกผูกติดอยู่กับสถานะที่มาจากการถูกประเมินด้วยคนเพียงไม่กี่คน

ผศ.ดร.อดิศร ระบุว่า การกระเสือกกระสนเอาตัวรอด ทำให้หลายคนเสาะแสวงหาหนทางลัด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเพื่อจ้างเขียนบทความ/หนังสือ การจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ตีพิมพ์ผลงานเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในสังกัดของตนเอง เมื่อวิธีการที่ไม่ปกติถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะระเบียบกฎเกณฑ์บังคับให้คนต้องหนีตายเช่นนั้น สุดท้ายเราคงต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า เรายังสามารถภาคภูมิใจในวิชาชีพของเราท่ามกลางความเน่าเฟะของระบบแบบที่เป็นอยู่ได้จริงหรือ

 กล่าวได้ว่าสภาพความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกบีบทุกทาง แบบอยู่ได้อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ย้าย ไม่งั้นก็ลาออกไปจากวงการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใจที่เกิดปรากฏการณ์อาจารย์ช้อปงานวิจัย ขายวิญญาณ และถ้าหากยังไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคมไทยก็คงดำดิ่งสู่ความมืดบอดทางปัญญาทุกขณะจิต 



กำลังโหลดความคิดเห็น