xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง และแนวโน้มการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

นอกเหนือจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงและจับตาไม่น้อยหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 คือกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประเด็นที่ผู้คนเฝ้าติดตามคือ การตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาว่าจะลงมติอย่างไรในการเลือกนายกรัฐมนตรี

การพิจารณาว่าสมาชิกวุฒิสภามีแนวโน้มตัดสินใจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรนั้นดูได้จากเรื่อง การดำรงตำแหน่งของพวกเขามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจใด ความเชื่อและค่านิยมทางการเมือง การกระทำทางการเมืองในการแสดงออกทางความคิดและการลงมติในประเด็นต่าง ๆ ในช่วงสามปีเศษที่ผ่านมา และแรงกดดันจากสังคมที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง

สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ได้รับการเลือกสรรและแต่งตั้งจากคณะบุคคลที่เป็นตัวแทนของคณะรัฐประหารปี 2557 องค์ประกอบของ ส.ว. มี 4 ส่วนหลักด้วยกัน คือ 1) เครือข่ายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2) เครือข่ายสายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ 3) เครือข่ายชนชั้นนำจารีต 4) ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครในสาขาอาชีพตามรัฐธรรมนูญ แต่ถูกคัดเลือกในขั้นสุดท้ายโดยตัวแทนของคณะรัฐประหาร สมาชิกส่วนใหญ่ของ ส.ว. ที่อยู่ในสามเครือข่ายแรกเป็นอดีตทหารและข้าราชการเกษียณ บางส่วนเป็นตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร และที่เหลือมีความหลากหลายอาชีพ บ้างก็เป็นสื่อมวลชน บ้างก็เป็นนักวิชาการ บ้างก็เป็นนักกฎหมาย แต่เกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับคณะรัฐประหารและชนชั้นนำ

กล่าวได้ว่า สว. ชุดนี้คือ ตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจ ที่ถูกจัดวางในฐานะที่เป็นเครื่องมือและกลไกเพื่อทำหน้าที่หนุนเสริม รักษา ปกป้องรัฐอนุรักษ์นิยมเชิงอำนาจและจารีตให้ครอบงำสังคมไทยต่อไปอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการสกัด ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทางการเมืองที่อาจจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างอำนาจเดิม

ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมการเมืองไทยคือ กลุ่มคนที่มีอำนาจในการเลือกหรือแต่งตั้งใครขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีแนวโน้มเลือกบุคคลที่พร้อมจะตอบสนองผลประโยชน์และความต้องการของผู้แต่งตั้ง ซึ่งมักเลือกบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะญาติ เพื่อน และพวกพ้อง และบุคคลที่มีความเชื่อและค่านิยมเหมือนหรือคล้ายคลึงกับตนเองเป็นหลัก ส่วนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งและมีอิสระทางความคิดแทบไม่มีเลย หรืออาจจะมีบ้าง เพื่อนำมาอ้างสร้างความชอบธรรม แต่ก็มีสัดส่วนน้อยมาก และไม่อาจสร้างผลกระทบใดต่อความปรารถนาและผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ

ภารกิจแรกของ ส.ว. ที่กระทำอย่างเป็นเอกฉันท์พร้อมเพรียงกันคือ การเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 หลังจากนั้นก็มีการลงมติที่สำคัญอีกหลายประการโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนพฤศจิกายน 2563 เดือนมิถุนายน 2564 เดือนพฤศจิกายน 2564 และ เดือนกันยายน 2565 ประเด็นสำคัญของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมทั้ง 4 ครั้งในช่วงสามปีที่ผ่านมาคือ การตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มีเพียง ส.ว. ส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมตัดอำนาจของตนเอง ดังการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2565 มี ส.ว. เพียง 23 คน เท่านั้นที่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ 151 คน ไม่รับหลักการ และ 45 คนงดออกเสียง

ตัวเลขการลงมติของ ส.ว. ในประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีสะท้อนว่า มี ส.ว. ส่วนใหญ่หรือประมาณ ร้อยละ 60 ยังคงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการดำรงรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ เพื่อตอบสนองกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่แต่งตั้งพวกเขาเข้ามาดำรงตำแหน่ง ขณะที่ ส.ว. จำนวนน้อย ไม่ถึงร้อยละ 10 ของ ส.ว.ทั้งหมด เริ่มเกิดความตระหนักและสำนึกถึงความชอบธรรมของตนเองตามหลักการประชาธิปไตย พวกเขาจึงมีความละอายแก่ใจในการรักษาอำนาจที่ขาดความชอบธรรมเอาไว้กับตนเอง ส่วนกลุ่มที่งดออกเสียง ประมาณร้อยละ 18 แสดงออกถึงความลังเล และเริ่มมีความขัดแย้งขึ้นมาในจิตใจตนเอง ระหว่างสำนึกแห่งหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม กับความปรารถนาในการรักษาอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมเอาไว้กับตนเอง

ส.ว. เกือบทั้งหมดมีความเชื่อและค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยม แต่ระดับของความเป็นอนุรักษ์นิยมแตกต่างกัน แต่หากพิจารณาจากพฤติกรรมการลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราสามารถอนุมานได้ว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ที่ลงมติรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ โดยไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบเข้มข้นทั้งในมิติอำนาจนิยมและมิติการธำรงรักษาจารีตดั้งเดิม กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ ส.ว.กลุ่มนี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวาจัดนั่นเอง การเลือกนายกรัฐมนตรีในอนาคตของกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นบุคคลในอุดมคติ (หรือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด) ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในปัจจุบัน ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์ จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ก็ตาม การตัดสินใจของพวกเขาเป็นการตัดสินใจที่อยู่ภายใต้ความยึดมั่นถือมั่นในอคติและความเชื่อของตนเองอย่างมั่นคง โดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม กรณีที่พฤติกรรมของ ส.ว. กลุ่มนี้จะเบี่ยงเบนจากการเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอาจเกิดขึ้นได้ หากคู่แข่งในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ พลเอกประวิตร หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา คาดว่า อาจมี ส.ว.บางส่วนจากกลุ่มนี้จะลงมติเลือกพลเอกประวิตร แต่กระนั้น ก็ยังคงมีความเป็นไปได้สูงว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้จะเลือกพลเอกประยุทธ์ มากกว่าพลเอกประวิตร เพราะภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ในสายตาของคนกลุ่มนี้ดีกว่าพลเอกประวิตรนั่นเอง

ส่วน ส.ว. ที่ลงมติสนับสนุนการตัดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของตนเอง มีความเป็นไปได้สูงว่า ส.ว. กลุ่มนี้จะงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่า การกระทำของตนเองสอดคล้องและมีความคงเส้นคงวากับการลงมติในอดีต อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เหมือนกัน แม้ว่ามีโอกาสน้อย นั่นคือ ส.ว. บางคนของกลุ่มนี้ อาจลงมติให้กับผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร เช่น หากพลเอกประวิตร ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ส.ว. กลุ่มนี้ก็อาจลงมติให้พลเอกประวิตร หรือหากพลเอกประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. พวกเขาก็อาจลงมติให้กับพลเอกประยุทธ์ แต่หากเป็นกรณีที่นักการเมืองฝ่ายค้านรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ และผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ทั้งพลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตร ส.ว. กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะงดออกเสียง เป็นการยากมากที่พวกเขาจะไปลงมติให้กับนักการเมืองคนอื่นที่ไม่ใช่ 2 นายพลที่แต่งตั้งพวกเขามา

ส่วน ส.ว. กลุ่มที่งดออกเสียงในการลงมติตัดอำนาจของตนเอง แสดงออกถึงความลังเล ยังไม่ตกผลึกทางความคิดว่าจะเดินไปทิศทางใดดี ระหว่างการสนับสนุนหลักการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย กับ การรักษาอำนาจแต่ขาดความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม ความลังเลเหล่านี้จะลดลงหากถูกยื่นข้อเสนอที่สนองผลประโยชน์ หรือถูกกดดันจากอำนาจทางการเมือง ดั้งนั้นทิศทางการลงมติว่า จะสนับสนุนใครของ ส.ว. กลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญในห้วงเวลาที่ตัดสินใจ หากปราศจากแรงกดดันใด พวกเขาก็อาจตัดสินใจงดออกเสียง แต่หากมีแรงกดดันและเงื่อนไขจูงใจจากกลุ่มอำนาจใด พวกเขาก็มีแนวโน้มลงมติตามสภาพของแรงกดดันที่ได้รับ ส.ว. กลุ่มนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญ ที่แต่ขั้วอำนาจแต่ละฝ่ายจะดึงมาสนับสนุนตนเอง

สำหรับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง และแนวโน้มการตัดสินใจลงมติในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. กลุ่มต่าง ๆ ผมได้วิเคราะห์และนำเสนอไว้ในตารางที่ 1




 
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งปี 2566 จะเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่บ่งชี้ว่าการเมืองไทยจะมีสมรรถนะเพียงพอในการข้ามพ้นอิทธิพลและเงามืดของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ดำเนินการโดยผ่านสมาชิกวุฒิสภาได้หรือไม่ ก่อนการเลือกตั้งโจทย์ข้อนี้จะเป็นโจทย์ของผู้เลือกตั้งทุกคนที่จะต้องตัดสินใจเลือกนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่หลังการเลือกตั้ง โจทย์นี้จะเคลื่อนตัวไปสู่นักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องตัดสินใจ ว่าจะลงมติให้สอดคล้องกับเจตจำนงของคนส่วนในสังคมที่เลือกพวกเขาเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ หรือจะลงมติขัดแย้งกับมติมหาชน



กำลังโหลดความคิดเห็น