xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มลพิษ “เผาพืชไร่” ดัน “ค่าฝุ่น” พุ่ง “อ้อยไฟไหม้” ดับฝันแก้วิกฤต PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์การเผาพืชไร่ในอุตสาหกรรมเกษตรตกอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “คุมไม่อยู่” โดยเฉพาะหมอกควันพิษต้นตอจาก “อ้อยไฟไหม้” หรือการเผาไร่อ้อยเพื่อง่ายต่อเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นวิธีการลดต้นทุนที่ชาวไร่ถือปฎิบัติกันมานาน เป็นปัญหาเรื้อรังก่อมลพิษ ซ้ำร้ายการลักลอบเผาอ้อยในปี 2566 มีแนวโน้มรุงแรงที่สุดในรอบ 3 ปี ซ้ำเติมวิกฤต PM 2.5 ดับฝันรัฐบาลไทยคุมปัญหาฝุ่นพิษ 

ขณะที่รัฐบาลทำคลอดแผนปฏิบัติการเร่งด่วนกำหนดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% แต่ภายหลัง  “เปิดหีบอ้อย” ฤดูการผลิต 2565/2566 เพียง 21 วัน มีการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากถึง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 25.70% ส่งผลกระทบสร้างมลพิษทางอากาศรุนแรง

-1.-
ประมาณการณ์ว่าอ้อยที่ถูกลับลอบเผา 10 ล้านตันเทียบเท่าได้กับการเผาป่า 1 ล้านไร่ และปี 2566 หากเกิดลักลอบเผาอ้อยเพิ่มขึ้นอีก วิกฤตการณ์ฝุ่นพิษประเทศไทยจะสาหัสกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

บทความเรื่อง “ทำไมต้องเผาอ้อย?”  โดย  น.ส.ภัทรียา นวลใย  ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bot.or.th เปิดเผยข้อมูลความว่า การเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การตัดอ้อยสด และวิธีที่สอง คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกกันว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ซึ่งแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเผาอ้อยพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 3 ประการ

 ประการแรก  คือ อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าอ้อยสด ไม่ต้องเสียเวลาลอกกาบใบ จึงตัดได้ในปริมาณที่มากกว่าอ้อยสดประมาณ 2 เท่า และแรงงานตัดอ้อยไฟไหม้จะมีรายได้สูงกว่าตัดอ้อยสด ประกอบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ยิ่งส่งผลให้แรงงานมีอำนาจต่อรองในการตัดอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น

 ประการที่สอง คือ รถตัดอ้อยมีน้อย ต้นทุนที่สูง และไม่เหมาะสมกับพื้นที่ 

และประการสุดท้าย คือ โรงงานน้ำตาลให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากหากโรงงานไม่รีบซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด

สำหรับสถิติการลักลอบเผาอ้อยอันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วง 3 ปีการผลิตที่ผ่านมา พบว่า ปี 2562/2563 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 37.18 ล้านตัน, ปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 17.61 ล้านตัน และปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 25.12 ล้านตัน

ขณะที่ฤดูกาลผลิตใหม่ปี 2565/2566 คาดการณ์ปริมาณอ้อยรวมจะสูงถึง 106 ล้านตัน ที่น่าจับตาหลังเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2565/2566 ได้ไม่ถึงเดือน มีการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากถึง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 25.70% ทั้งนี้ หากโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง การลักลอบเผาอ้อยไม่ลดลง ปี 2566 จะส่งผลต่อสภาพมลพิษทางอากาศเข้าขั้นวิกฤตรุนแรง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 57 โรง หลังจาก “เปิดหีบอ้อย” ฤดูการผลิต 2565/2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ต่อเนื่องถึงช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ระหว่างที่ 1-21 ธันวาคม 2565 มีการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากถึง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 25.70% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 9.09 ล้านตัน

 ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาในฤดูการผลิต 2564/2565 พบว่า 5 จังหวัดที่มีการเผามากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 3.532 ล้านตัน, อุดรธานี 2.649 ล้านตัน, กาฬสินธุ์ 2.359 ล้านตัน, ขอนแก่น 1.952 ล้านตัน และเพชรบูรณ์ 1.950 ล้านตัน

และ 5 จังหวัดที่สามารถบริหารจัดการควบคุมการลักลอบเผาได้ดีที่สุด คือ จังหวัดสุโขทัย 0.059 ล้านตัน อุตรดิตถ์ 0.064 ล้านตัน ราชบุรี 0.070 ล้านตัน ประจวบคีรีขันธ์ 0.073 ล้านตัน และพิษณุโลก 0.078 ล้านตัน 

สำหรับการนำอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 2564/2565 พบกลุ่มโรงงานที่มีการรับอ้อยถูกเผาเข้าหีบสูงสุด คือ โรงงานในกลุ่มบริษัทมิตรผล 5.36 ล้านตัน, กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง 3.86 ล้านตัน, กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น 2.27 ล้านตัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ การเผาอ้อยส่งผลให้เกิดควันไฟที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในทั่วพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงพื้นที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัดและกรุงเทพฯ

 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยแผนปฏิบัติการเร่งด่วนกำหนดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% ตามแผนขับเคลื่อนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ  “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562 -2567 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สอน. จะแจ้งข้อมูลจุดที่มีการลับลอบเผาอ้อยซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานปกครองสามารถป้องปรามการลักลอบเผา และเร่งดับไฟได้ทันท่วงที รวมทั้ง ขอร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อหามาตรการสนับสนุนการไม่รับอ้อยที่ถูกเผาเข้าหีบฤดูการผลิตนี้

อย่างไรก็ดี อ้อยเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศ ทั้งในเรื่องของการบริโภคและการแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพแบบครบวงจรตั้งแต่ภาคการเกษตร จนถึงภาคอุตสาหกรรม ประการสำคัญต้องไม่ให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเป็นเหตุของปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5

 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร ที่มีสาเหตุหลักมาจากการตัดอ้อยไฟไหม้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตราการส่งเสริมการตัดอ้อยสด ผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดโดยไม่ต้องเผาอ้อย สำหรับฤดูการผลิต 2565/2566 มีการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเป็นจำนวน 8,159 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินโครงการให้กู้ยืมและชดเชยดอกเบี้ย ปี 2565-2567 เป็นวงเงิน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ให้กับชาวไร่อ้อย เพื่อชดเชยสำหรับการจัดการแหล่งน้ำ ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

สำหรับแนวโน้มราคาของอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลก หากราคา (รวมพรีเมี่ยม) อยู่ที่ประมาณ 20.00 เซนต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงกว่าตันละ 1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ามาตรการรัฐเกี่ยวกับการจัดการลักลอบเผาอ้อยก่อนส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
-2.-
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองปี 2566 คาดการณ์ว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา  นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์  รองอธิการบดีกรมอนามัย ระบุว่าเนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปลายเดือนกุมพาพันธ์ 2566 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่งลมสงบ สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าปรากฎการณ์ลานีญา จะเริ่มน้อยลงหรืออนุมานได้ว่ามีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น

ขณะเดียวที่การเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2566  นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เปิดเผยว่าได้บูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างต่อเนื่อง

ปี 2566 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ตามแนวทางของ นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบนโยบายและเน้นย้ำการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 กำหนด 7 มาตรการหลัก คือ 1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ 2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) 4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) 6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง

นอกจากนี้ ยังกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการระบายฝุ่นละอองในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

 1. พื้นที่เมือง  แหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งด้านการจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน และด้านโรงงานอุตสาหกรรม มีการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษเร่งตรวจกำกับโรงงานเชิงรุก

 2. พื้นที่เกษตร  แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร เน้นการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 17,640 คน และตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%

 และ 3. พื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

สำหรับสถานการณ์การเผาอ้อยในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ตลอดจนวิกฤตการณ์เผาพืชไร่ชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะการเผาไร่ข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ผูกมัดชาวไร่ด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นปัญหาเรื้อรังก่อมลพิษทางอากาศมาอย่างยาวนาน ขณะที่แนวทางของรัฐในการควบคุมสถานการณ์เผาพืชไร่ที่ผ่านมานั้น พอจะสรุปได้ว่า "ตีโจทย์ไม่แตก" เพราะไม่ได้สร้างกลไกปรับวิถีเกษตรกรชาวไร่ชาวสวน

เมื่อมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาของรัฐดูจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร แล้วจะทำอย่างไรให้ได้รับความรวมมือจากทั้งภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โรงงานน้ำตาลกับมาตรการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ เกษตรกรกับการเก็บผลิตผลอ้อยสด การสะสางปัญหาการเผาพืชไร่อันต้นเหตุสำคัญปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 นับเป็นโจทย์ยากท้าทายความสามารถของภาครัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น