xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความหวัง ท่องเที่ยว-การบิน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ความเสี่ยง ระวังโควิดกลับมาเขย่าขวัญอีกรอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จุดประกายความหวังท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อทางการจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ดีเดย์ 8 ม.ค.นี้ ปล่อยทัวร์จีนตะลุยท่องโลก แต่ต้องไม่ลืมความเสี่ยงเชื้อแพร่กระจาย หลายประเทศรวมถึงไทยเองจึงตั้งการ์ดรับมือคุมโรคอย่างมีสติและเมกมันนี่พลิกฟื้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 


ภายใต้เป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ  “หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งหัวโต๊ประชุมบูรณาการ  “สาธารณสุข-คมนาคม-ท่องเที่ยว-ต่างประเทศ”  รับมือผู้เดินทางจากจีน เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา

ไกด์ไลน์ที่วางไว้ตามที่กรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อปลายเดือนธ.ค. 2565 เพื่อเตรียมรับการเดินทางมาของชาวจีนหลังเปิดประเทศ 8 ม.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าไทยกว่า 5 ล้านคน รวมทั้งคนไทยจะเดินทางไปจีนมากขึ้นนั้น  ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร  ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการฯ กล่าวว่าจะมีการตรวจเอกสารรับรองวัคซีนโควิด-19 และประกันสุขภาพระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโควิด ก่อนเดินทางเข้าไทย สอดคล้องกับข้อกำหนดของจีนในการรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่ให้ตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 48 ชั่วโมง

นอกจากนั้น ยังวางระบบเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศที่ช่องทางเข้าออกประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์เพื่อนำไปพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม และเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว รวมทั้งการเตรียมวัคซีนสำหรับแรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยว คมนาคม และคนไทยให้ได้ 4 เข็มเพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต และเน้นสื่อสารให้ป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ จัดบริการสายด่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อโควิดในผู้เดินทางจากจีน สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ European CDC แต่หากมีข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์หรือสถานการณ์ระบาดเปลี่ยนแปลง จะพิจารณาความจำเป็นของการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทางเข้าไทยอีกครั้ง

จากการประเมินของ “หมอยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม่ทัพใหญ่ที่สู้ศึกโควิด-19 มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มองว่า การระบาดของโควิดที่มีมาเป็นเวลา 3 ปีแล้วนั้นความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด เพราะประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อไปแล้ว ร่วมกับการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับประเทศไทย มีการติดเชื้อไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ก็ยังมีการฉีดวัคซีน 3 เข็ม เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น
ส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวมายังไทยนั้น “หมอยง” ให้ข้อคิดที่ต้องคำนึงว่าเวลานี้ประชากรทั่วโลกติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก และผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ เป็นการยากที่จะตรวจกรองผู้เดินทางได้หมด ขณะที่การฉีดวัคซีนทั่วโลกครบ 3 เข็ม ไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ของประชากรโลก 7,000 ล้านคน
อีกเรื่องที่ต้องคำนึงคือ ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในแต่ละประสำหรับไทยได้มีการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ BA.1 จนถึง BA.4/5 และขณะนี้เป็น BA.2.75 ซึ่งเป็นการระบาดตามหลังประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ซึ่งขณะนี้พัฒนาเป็น BQ.1 และ BQ.1.1 ทั้ง 2 สายพันธุ์จะดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเข้มงวดในแต่ละประเทศที่จะเดินทางเข้ามาจะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ โดยเฉพาะเป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทยไม่มี และมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดง่าย ถ้าสามารถป้องกันได้ก็จะลดความเสี่ยงของเราลงได้

สิ่งที่สำคัญจึงต้องรู้เขารู้เราว่าประเทศต้นทางกำลังระบาดด้วยสายพันธุ์อะไรอยู่ ถ้าประเทศต้นทางเป็น BA.4, BA.5 หรือ BA.2.75 ซึ่งประเทศไทยได้ระบาดผ่านไปแล้ว และประชากรส่วนใหญ่ก็มีภูมิต่อสายพันธุ์นี้แล้ว ความวิตกกังวลก็จะน้อยลง

 “หมอยง” ยังบอกว่า ข้อมูลจาก Asahi Shimbun ญี่ปุ่น วันที่ 26 ธ.ค. 2565 ระบุว่า สายพันธุ์ที่พบในจีนที่ปักกิ่งเป็น BF.7 ซึ่งเป็นลูกของ BA.5 และสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วประเทศจีนขณะนี้เป็น BA.5.2 ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นคือ BF.7 และ BA.5.2 เช่นเดียวกัน 

สำหรับการควบคุมการเดินทางหรือมาตรการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในแง่สายพันธุ์ ความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์ การดื้อต่อระบบภูมิต้านทาน ที่จะมาแพร่กระจายได้ง่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลอย่างละเอียดในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญในการป้องกันการระบาดและลดความรุนแรงสำหรับประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องคนไทยด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน และแนวทางการปฏิบัติสุขอนามัยเป็นเกราะกำบัง

ด้าน  นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์  หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กถึงข่าวดีที่จีนยกเลิกมาตรการกักตัวนักเดินทางเชื่อว่าอีกไม่นานนักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยเป็นหลักล้านจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคนไทยไม่ต้องตื่นกลัวข่าวที่ว่าอาจมีเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่เกิดในจีนแล้วคนจีนเอาเชื้อมาแพร่กระจายในประเทศไทย เชื้อไวรัสโควิดมีการกลายพันธ์ต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอดของตัวมัน สามารถเกิดขึ้นในประเทศไหนก็ได้ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ดังนั้น จึงควรปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวจีน ยินดีต้อนรับเขาเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ

 “หมอมนูญ” บอกว่า ถึงเวลาเราควรเลิกกลัวไวรัสโควิด เราต้องอยู่ร่วมกับโควิดอย่างมีสติ เตรียมตัวคนไทยเองให้ดี เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันโควิด ในอนาคตคงต้องฉีดวัคซีนหลายๆ สายพันธุ์ทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ สร้างสุขนิสัยที่ดี สวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวเองป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ 

นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่า ถึงจะทำทุกอย่างก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสโควิดแพร่กระจายทางอากาศได้ง่ายกว่าไวรัสทุกชนิดในโลก ติดเชื้อหลักๆ ทางการหายใจ และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าเกิดจากการได้รับวัคซีน หรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ เมื่อติดเชื้อก็รักษากันไป ข้อดีของการติดเชื้อคือ เกิดภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้มีภูมิคุ้มกันลูกผสม hybrid immunity ป้องกันโควิดได้ดียิ่งขึ้น

ไม่แต่ประเทศไทยที่วางมาตรการรับการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีน หลายประเทศทั่วโลกก็ตื่นตัวรับมือเช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกที่กำลังถูกจีนท้าทาย วางมาตรการใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊า ที่ต้องการเข้าสหรัฐฯ ต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบไม่ต่ำกว่าสองวันก่อนการเดินทาง ส่วนผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกมาก่อนเดินทาง 10 วัน สามารถแสดงเอกสารที่ระบุว่าหายป่วยจากโรคโควิด-19 แทนผลตรวจโรคโควิด-19 ที่เป็นลบได้ มาตรการดังกล่าวยังบังคับใช้กับผู้ที่เดินทางจากประเทศที่สามและผู้โดยสารที่แวะต่อเครื่องผ่านสหรัฐฯด้วย
การวางมาตรการเข้มของสหรัฐฯดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC อ้างว่าเนื่องจากการขาดข้อมูลด้านการแพร่ระบาดและรายงานผลตรวจโควิดด้วยข้อมูลลำดับสารพันธุกรรมไวรัสที่เพียงพอและโปร่งใส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการติดตามยอดติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและลดโอกาสของการเข้ามาของกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา เกาหลีใต้ สเปน กาตาร์ เป็นส่วนหนึ่งของหลายประเทศทั่วโลก ที่ประกาศมาตรการให้ผู้เดินทางจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิดแบบ PCR ที่เป็นลบก่อนเข้าประเทศ

สหราชอาณาจักร ยังประกาศว่าตั้งแต่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป หน่วยงานด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรจะสุ่มตรวจโควิดผู้เดินทางที่มาจากจีน

สำหรับญี่ปุ่น กำหนดให้ผู้ที่มาจากประเทศจีนตรวจเชื้อโควิด-19 ปลายทางที่ญี่ปุ่น แม้จะมีผลลบไม่ติดเชื้อ แต่ยังต้องกักตัว 5 วัน และหากพบผลบวกหรือติดเชื้อ ต้องกักตัว 7 วัน พร้อมทั้งจำกัดเที่ยวบินจากประเทศจีนไว้เพียง 4 สนามบิน ได้แก่ นาริตะ ฮาเนดะ คันไซ และชูบุ

ส่วนอินเดียออกมาตรการควบคุมโรคเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2565 ให้ตรวจเชื้อโควิด-19 ผู้มาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไทย หากพบว่ามีอาการป่วยหรือผลตรวจเป็นบวกต้องกักตัวตามกำหนด

ทางการไต้หวัน กำหนดว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเครื่องบินและเรือจากจีน จะต้องตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1-31 ม.ค. 2566 หากพบว่าผลตรวจเป็นบวกสามารถแยกกักตัวที่บ้าน

 รายงานข่าวของ VOA Thai ระบุว่า รัฐบาลจีนคัดค้านมาตรการการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาบังคับใช้ โดยชี้ว่ามาตรการดังกล่าว “ขาดหลักการทางวิทยาศาสตร์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า จีนอาจกำหนด “มาตรการตอบโต้บนพื้นฐานของหลักการของมาตรการโต้กลับ” 

ทั้งนี้ จีนพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นระหว่างที่รัฐบาลชาติอื่นๆ ต่างกล่าวหารัฐบาลจีนว่าไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ

รัฐบาลจีน ได้ปลดล็อกและออกมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิดภายในประเทศโดยจะไม่มีการกักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และไม่มีการแบ่งกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยการรักษาผู้ป่วยจะจัดแบ่งเป็นกลุ่มประเภทตามระดับอาการ ปรับการตรวจหาเชื้อโควิดเป็น “อยากตรวจก็ตรวจให้หมด”

ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศรัฐบาลจีนกำหนดมาตรการ ได้แก่ ตรวจ Nucleic Acid หรือ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 48 ชั่วโมง, ยกเลิกการยื่นขอ Health Code, เริ่มรับทำหนังสือเดินทางให้กับประชาชนจีน, กรอกผลตรวจลงใบคัดกรองสุขภาพของ ตม.เหมือนเดิม, ยกเลิกมาตรการกักตัวกับมาตรการตรวจ Nucleic Acid หรือ RT-PCR หลังจากเข้าประเทศจีน และยังยกเลิกนโยบาย 5-1 แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบินตลอดเวลา, อนุญาตให้ผู้เดินทางไปทำงาน ทำธุรกิจ ศึกษา เยี่ยมญาติ ขอวีซ่าแต่ละประเภทเพื่อที่จะเดินทางเข้าประเทศจีนได้, อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศจีนได้ทั้งทางบกและทางเรือ เป็นต้น

ถึงแม้หลายประเทศทั่วโลกจะตั้งแง่และคุมเข้มในการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจีน แต่สำหรับ  “นิวซีแลนด์”  กลับไม่เห็นเช่นนั้น นางอายีชา เวอร์รัลล์  รัฐมนตรีผู้ดูแลการระบาดของโควิด-19 ในนิวซีแลนด์ ระบุในแถลงการณ์การประเมินความเสี่ยงด้านสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ ว่า ทางการนิวซีแลนด์ได้ข้อสรุปว่านักเดินทางที่มาจากจีนจะไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ ดังนั้นนักเดินทางจากจีนจึงไม่จำเป็นต้องแสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ ก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติจากทุกประเทศที่จะเดินทางเข้ามายังนิวซีแลนด์ จะถูกเรียกให้ตรวจหาเชื้อโควิดหากแสดงอาการป่วยที่เข้าข่าย นอกจากนี้ อาจจะมีการถามความสมัครใจจากนักเดินทางจากจีนเพื่อสุ่มตรวจเฉพาะบางคน เพื่อเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยทางการนิวซีแลนด์ได้เตรียมจัดหาที่ตรวจเชื้อไว้ให้บริการฟรีที่สนามบิน

นอกจากนี้ ทางการนิวซีแลนด์ยังเตรียมที่จะทดสอบน้ำทิ้งภายในสนามบินนานาชาติ เพื่อปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการสุ่มตรวจหาเชื้อจากอาสาสมัครต่อไป

ส่วนประเทศไทย ภาคการท่องเที่ยวเป็นความหวังที่เรืองรองของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สร่างซาลง โดยปี 2565 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนไทยเกินเป้าหมายจากที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน เอาเข้าจริงทำยอดได้ถึงกว่า 11 ล้านคน เสน่ห์ไทยแลนด์แดนสยามยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ถือเป็นกลุ่มหลักที่เข้ามาเยือนไทยมากที่สุดก่อนโควิด-19 ระบาดใหญ่


มาปีนี้ 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาทัวร์ไทยไว้ที่ 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยในปี 2562 ก่อนโควิดแพร่ระบาด และตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท

แต่เมื่อจีนปลดล็อกโควิดเร็วกว่าที่คาด  นายยุทธศักดิ์ สุภสร  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แผนการเปิดประเทศของรัฐบาลจีนที่ประกาศออกมานั้นถือว่าเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเป็นการผ่อนคลายมาตรการระดับประเทศเป็นครั้งแรกหลังจากที่ใช้มาตรการคุมเข้มมานานเกือบ 3 ปีเต็ม นับเป็นปัจจัยบวกอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและทั่วโลก โดยประเมินว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเติมอีกประมาณ 5-6 ล้านคน จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 20 ล้านคน รวมคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน

“เท่าที่ ททท.ประเมินไว้ เราไม่กังวลเรื่องดีมานด์ แต่เป็นห่วงเรื่องความพร้อมของซัปพลายไซด์ที่จะรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงดรามาที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอีกรอบ ….” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ขยับตัวเลขเป้าหมายนักท่องเที่ยวสำหรับปี 2566 จาก 20 ล้านคน เป็น 25 ล้านคน สร้างรายได้รวมที่ 2.38 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า หลังจากทางการจีนยกเลิกมาตรการกักกันโควิดเชื่อว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาไทยเกินกว่า 5 ล้านคน

สำนักวิจัยเศรษฐกิจของแบงก์พาณิชย์ อย่าง Krungthai COMPASS ประเมินการท่องเที่ยวไทยหลังโควิดว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 อยู่ที่ 21.4 ล้านคน และปี 2567 อยู่ที่ 34.7 ล้านคน มีมูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวในภาพรวมในปี 2566 และ 2567 อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท และ 2.4 ล้านล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็น 58-87% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

 นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ KKP ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ระดับ 2.8% โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญ แต่เมื่อจีนมีการเปิดเมือง ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 2.8% และถ้าจีนมาได้จริงๆ ก็น่าจะเกิน 3% เพราะนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะดันจีดีพีได้ 0.2-0.3% ของจีดีพี

 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือน ธ.ค. 2565 พบว่าอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเข้าสู่ช่วง High season ปลายปี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธ.ค. 65 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 63% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่คาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือนม.ค. 66 เฉลี่ยอยูที่ 60% ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวในเกือบทุกภูมิภาค โดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 10-30% และคาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับก่อนโควิดภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 66 

ในด้านสภาพคล่องธุรกิจกว่าครึ่งมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดย 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสอดคล้องกับรายได้ของโรงแรมทั้งราคาห้องพักและค่าใช้จ่ายในโรงแรมของนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนโควิด ทั้งนี้ 28% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังมีสภาพคล่องสำหรับดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือน

การปลุกท่องเที่ยวไทยและดึงต่างชาติเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั้งภายในและระหว่างประเทศพลอยคึกคักตามไปด้วย โดยนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประเมินว่าการมาของนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในไทย โดยคาดการณ์ผู้โดยสารระหว่างประเทศในปี 2566 จะฟื้นตัวประมาณ 62 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย โดยจีนเป็นตลาดหลักที่จะนักท่องเที่ยวจะกลับมาเดินทาง

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากไทยที่บินไปยังเมืองต่างๆ ของจีนรวม 15 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีเที่ยวบินรวมกว่า 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เชื่อว่าเมื่อจีนปลดล็อกเงื่อนไขการเดินทางแล้ว จะเห็นการฟื้นตัวของเที่ยวบินจากจีนทันที เพราะไทยเป็นจุดหมายปลายทางหลักที่คนจีนนิยมเดินทางมาในช่วงสถานการณ์ปกติอยู่แล้ว

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สรุปปริมาณเที่ยวบินในปี 2565 รวมประมาณ 520,367 เที่ยวบิน และคาดว่าปี 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 858,387 เที่ยวบิน จากการเดินทางในประเทศและการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และในปี 2566 สัดส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ IATAคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยจะกลับสู่ภาวะปกติในปี 2567 โดยจะมีปริมาณผู้โดยสารกลับมาเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คือที่ระดับ 142 ล้านคนต่อ และยังคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะเติบโตถึง 200 ล้านคนต่อปีในปี 2574 โดยอุตสาหกรรมการบินของไทยจะเติบโตเป็นอันดับ 9 ของโลก 

ทั้งนี้ ในปี 2565 มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กว่า 22 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 6 ล้านคน และมีค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อ 1 คนจะอยู่ที่ประมาณคนละ 48,000 บาท และการใช้จ่ายดังกล่าวจะก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ สูงถึง 326,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 565,450 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณทางเศรษฐกิจถึง 1.34 ล้านล้านบาท

 ถึงเวลาเปิดศักราชบูมท่องเที่ยวอีกครั้ง เสริมสร้างภูมิต้านทานสู้โควิดและพลิกฟื้นเศรษฐกิจไปด้วยกัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น