xs
xsm
sm
md
lg

สมรรถนะในการแข่งขันของพรรครวมไทยสร้างชาติ และโอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก้าวขึ้นมาสู่อำนาจทางการเมืองด้วยการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร บริหารประเทศโดยใช้ระบอบเผด็จการทหารนานประมาณสี่ปีเศษ ก่อนยุติการใช้อำนาจเผด็จการ คณะรัฐประหารได้กำหนดวิธีการสืบทอดอำนาจเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้พลเอกประยุทธ์รักษาอำนาจต่อไปได้อีกสี่ปี ครั้นหมดวาระการบริหาร แทนที่พลเอกประยุทธ์จะวางมือทางการเมือง กลับยังต้องการและคาดหวังว่าจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยการลงสู่สนามการเลือกตั้ง ในฐานะเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) และได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค เพื่อแข่งขันในการเลือกตั้ง แต่พลเอกปะยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของพรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ที่นั่ง ส.ส. มากเพียงพอ

แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ

คำถามที่ว่า พลเอกประยุทธ์มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หากประเมินภายใต้ความคิดและความเชื่อของพลเอกประยุทธ์และผู้สนับสนุนของเขา พวกเขาก็ย่อมต้องประเมินว่ามีโอกาสสูงมากที่พลเอกประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะพวกเขาเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ยังมีคะแนนนิยมสูงเพียงพอที่จะสร้างชัยชนะในการเลือกตั้งได้ ทั้งยังเชื่อว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้รับการสนับสนุนทรัพยากรในการหาเสียงจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะมีอดีต ส.ส. และนักการเมืองจำนวนมากที่มีฐานเสียงหนาแน่นในเขตเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกและเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค รทสช. และเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ด้วยเงื่อนไขทั้งสี่ประการทำให้เกิดภาวะ “ความคิดกลุ่ม” ขึ้นมาในบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และมีการวาดหวังว่าพรรค รทสช. จะได้จำนวน ส.ส. ประมาณ 100 ที่นั่ง

หากพรรค รทสช. ได้ ส.ส. 100 ที่นั่ง จะทำให้พรรคมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนั่นก็หมายความว่าพลเอกประยุทธ์มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้ เแต่ดูเหมือนว่า ความเชื่อของพลเอกประยุทธ์และผู้สนับสนุนตั้งอยู่บนฐานคิดที่ห่างไกลจากความเป็นจริงทางการเมืองในปัจจุบันไปมากทีเดียว เพราะการประเมินว่าพรรค รทสช. จะได้ที่นั่ง ส.ส. 100 ที่นั่งเป็นการประเมินศักยภาพของพลเอกประยุทธ์ และสมรรถนะการแข่งขันของพรรค รทสช. สูงเกินความจริง อีกทั้งยังประเมินสมรรถนะของคู่แข่งต่ำกว่าความเป็นจริงอีกด้วย ทั้งคู่แข่งที่อยู่ขั้วการเมืองเดียวกันอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และคู่แข่งทางการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล และ พรรคเสรีรวมไทย

หากเปรียบเทียบระหว่างพรรค รทสช. กับ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ที่จะกลายมาเป็นขู่แข่งในสนามการเลือกตั้ง ข้อได้เปรียบในการแข่งขันของ รทสช. มีอย่างเดียวคือ พลเอกประยุทธ์ มีคะแนนนิยมสูงกว่า พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. สูงกว่านายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค ภท. และ สูงกว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. แต่กระนั้น หากเปรียบเทียบกับความนิยมระหว่างพลเอกประยุทธ์กับคู่แข่งทางการเมืองขั้วตรงข้าม พลเอกประยุทธ์มีคะแนนนิยมใกล้เคียงกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่มีคะแนนนิยมต่ำกว่า น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ผู้นำพรรคเพื่อไทยมาก (ต่ำกันประมาณร้อยละ 20)

นอกจากคะแนนนิยมของผู้นำพรรคแล้ว คะแนนนิยมของตัวพรรคเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสให้ชนะการเลือกตั้ง ปกติคะแนนนิยมพรรคมาจากนโยบาย บทบาทและการทำงานทางการเมืองของพรรคนั้น ๆ ในแง่นี้ พรรคการเมืองที่ตั้งมานานได้เปรียบพรรคตั้งใหม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพรรคที่มีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่มีข้อเสียเปรียบอยู่มาก เพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พรรคมีความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นจริงได้หรือไม่ สำหรับพรรคเก่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งไม่มีโอกาสนำนโยบายของพรรคไปบริหารประเทศ ความนิยมต่อพรรคก็สามารถสร้างขึ้นได้ โดยการแสดงบทบาทที่โดดเด่นและสร้างความยอมรับจากประชาชน ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิผล
พรรค รทสช. เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นฐานหรือบันไดไต่อำนาจทางการเมืองให้แก่พลเอกประยุทธ์ ยังไม่มีความสำเร็จใด ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งในแง่ความโดดเด่นของนโยบาย และความสามารถในการนำนโยบายไปปฏิบัติ จากการสำรวจความนิยมทางการเมืองของนิด้าโพลครั้งที่ 3 /2565 ในช่วงเดือนกันยายน รทสช. มีคะแนนนิยมไม่ถึงร้อยละ 1 นั่นแสดงว่า พรรคมีคะแนนนิยมน้อยมาก น้อยกว่า ทั้งพรรคขั้วเดียวกันอย่าง ปชป. พปชร. และ ภท. และพรรคต่างขั้วอย่างเพื่อไทย และก้าวไกล ต่อมาในการสำรวจครั้งที่ 4/2565 เดือนธันวาคม รทสช. มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ทว่าคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากนโยบายพรรค หรือความชื่นชอบในบทบาททางการเมืองของพรรคแต่อย่างใด หากแต่มาจากการที่มีข่าวแพร่กระจายในสังคมว่า พลเอกประยุทธ์จะเข้ามาร่วมกับพรรค รทสช. ผู้ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จำนวนหนึ่งจึงตามมาให้การสนับสนุนพรรค รทสช. ไปด้วย ในแง่ความนิยมต่อพรรค รทสช. จึงมีสมรรถนะในการแข่งขันต่ำกว่าพรรคการเมืองคู่แข่ง และมีสถานะเสียเปรียบในการแข่งขัน

เมื่อพิจารณาประเด็นทรัพยากรหลักอย่างเงินทุนที่จะใช้ในการเลือกตั้ง พรรคขั้วรัฐบาลที่ดูเหมือนมีทุนมากที่สุดในเวลานี้ น่าจะเป็นพรรค ภท. เพราะสามารถทำให้นักการเมืองที่เป็น ส.ส. ต่างพรรค ลาออกจากพรรคเดิม และเข้ามาอยู่ใน ภท. เป็นจำนวนมาก จนนักข่าวการเมืองตั้งฉายาให้เป็น “พรรคพลังดูด” ขณะที่ พรรค พปชร. และ ปชป. มีทรัพยากรรองลงมา แต่ก็ดูเหมือนจะมีมากกว่า พรรค รทสช. อยู่ไม่น้อย เพราะพรรคทั้งสองยังสามารถตรึง ส.ส. และนักการเมืองที่มีฐานคะแนนเสียงหนาแน่นให้อยู่กับพรรคได้จำนวนหนึ่ง มี ส.ส. ของ พปชร. ไม่มากนักที่ย้ายไปสังกัด รทสช. และผู้ที่ไปส่วนมากก็ไม่ใช่เป็นนักการเมืองที่ฐานเสียงแน่นหนาแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับนักการเมืองที่เคยอยู่ ปชป. บุคคลที่ย้ายไปอยู่ รทชส. มักจะเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ตกยุค และไร้ฐานเสียงที่เข้มแข็งในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ในมิติทรัพยากรเงินทุน รทสช. จึงมีสมรรถนะในการแข่งขันต่ำกว่าพรรคขั้วเดียวกันทั้งสามพรรค และมีสมรรถนะใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทย และเหนือกว่าพรรคก้าวไกล

เนื่องจากพื้นที่ช่วงชิงหลักของพรรคขั้วรัฐบาลในปัจจุบันทั้งสี่พรรคอยู่ที่ภาคใต้เป็นหลัก แต่ละพรรคมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน ปชป. ได้เปรียบในแง่มีคะแนนนิยมของพรรคสูงกว่าอื่น ๆ รทสช. ได้เปรียบในแง่คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์สูงกว่าผู้นำพรรคการเมืองอื่น ๆ ภท. ได้เปรียบในแง่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ใช้ช่วงชิงคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่น ๆ ส่วน พปชร. ไม่มีข้อได้เปรียบใดที่โดดเด่น แต่ก็เป็นพรรคที่มีทรัพยากรค่อนข้างมาก ถ้าจะเป็นรอง ก็คงเป็นรองแต่เฉพาะ ภท. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม นอกจาก พรรคขั้วเดียวกันทั้ง 4 พรรคแล้ว สิ่งที่น่าสนใจในภาคใต้อีกอย่างคือ ในการสำรวจความนิยมครั้งที่ 4/2565 ของนิด้าโพล ปรากฏว่า เพื่อไทยมีคะแนนนิยมนำ ปชป. อย่างเหนือความคาดหมาย และก้าวไกลเองก็มีคะแนนนิยมไม่น้อยทีเดียว ซึ่งจะทำให้ภาคใต้เป็นสนามที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้นมาก อาจจะมากที่สุดเมื่อเปรียบกับภาคอื่น ๆ

นอกเหนือจากทรัพยากรเงินทุนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญต่อชัยชนะในเขตเลือกตั้งอีกประการคือ ความกว้างขวางและเข้มแข็งของครือข่ายหัวคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน หัวคะแนนเปรียบเสมือนผู้รวบรวมวัตถุดิบหรือคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัคร โดยปกติ ผู้สมัครที่เรียกกันว่า “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลสูงในเขตเลือกตั้ง จะมีเครือข่ายหัวคะแนนที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการหัวคะแนนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการจัดหาคะแนนเสียง อัตราตอบแทนของคะแนนเสียงจากการแจกจ่ายทรัพยากรสูงมาก แทบจะไม่มีการสูญเปล่า แต่หากผู้สมัครที่ไม่ใช่บ้านใหญ่และไม่มีกลไกหัวคะแนนที่เข้มแข็ง อัตราการตอบแทนของคะแนนเสียงจากการแจกจ่ายทรัพยากรก็จะต่ำ สำกรับปัจจัยนี้ ดูเหมือน รทสช. จะมีสมรรถนะต่ำกว่าพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วเดียวกัน และมีสถานะเสียเปรียบในการแข่งขัน


 
หากพิจารณาในภาพรวม พรรครวมไทยสร้างชาติมีสมรรถนะในการแข่งขันอยู่ในระดับปานกลางโน้มเอียงต่ำ โอกาสที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. น่าจะอยู่ที่ประมาณ 20 -30 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยมีสมรรถนะรวมค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้จะที่นั่ง ส.ส. ประมาณ 70-80 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐมีสมรรถนะปานกลางโน้มเอียงสูง ซึ่งจะได้ที่นั่งประมาณ 40 – 50 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีสมรรถนะปานกลางระดับกลาง ซึ่งจะทำให้ได้ที่นั่งประมาณ 30 – 40 ที่นั่ง ดังนั้น โอกาสที่พรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบันจะได้ที่นั่งรวมกันอยู่ระหว่าง 160 – 190 ที่นั่ง

เมื่อพิจารณาสมรรถนะในการแข่งขันและโอกาสในการที่นั่ง ส.ส. ของพรรค รทสช. สามารถสรุปได้ว่า โอกาสที่พรรค รทสช. จะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้ามีต่ำมาก ซึ่งจะทำให้ความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งต่ำตามไปด้วย และนั่นหมายถึงเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ก็คงต้องจบล



กำลังโหลดความคิดเห็น