xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กัญชา” ยึดแท่นธุรกิจดาวรุ่ง 2566 เกมการเมืองดึงร่างกฎหมายคาสภาฯ “หมอหนู” ไม่ท้อขอดันจนสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงแม้ว่าเกมการเมืองในสภาฯ จะดึงร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ให้ล่าช้าออกไป และไม่แน่ว่าจะทันในสมัยประชุมสภาฯนี้หรือไม่ แต่กระแสขานรับของสังคมในเรื่องกัญชายังคงไม่แผ่วโดยยกให้เป็นธุรกิจดาวรุ่งในปี 2566 

การแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ที่เป็นเทรนด์แห่งอนาคต ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ในปี 2566 โดยดูจากยอดขายต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุนหรือกำไรสุทธิผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน ความต้องการและความสอดคล้องกับกระแสนิยม จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ผลปรากฏว่าธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ใบกระท่อม ติดอันดับ 1 ใน 10 ธุรกิจดาวรุ่งด้วย

หอการค้าไทยฯ มองว่า หลังจากที่ประเทศไทยเปิดเสรีกัญชาและใบกระท่อม โดยไม่ถือเป็นสารเสพติด ทำให้เป็นประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงกระแสความต้องการสมุนไพรไทยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ  กลุ่มกัญชง กัญชา กระท่อม และฟ้าทะลายโจร  ทำให้มูลค่าวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลปลดล็อก กัญชง กัญชา พ้นจากสถานะเป็นยาเสพติด (กรณีผลผลิตมีค่าTHC ไม่เกิน 0.2%) การเข้าถึงกัญชา ใบกระท่อม ที่ง่าย และพบเห็นได้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ทุกช่วงวัยได้มากขึ้นและการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนธุรกิจดาวรุ่งอีก 9 ธุรกิจ เรียงตามลำดับคะแนนมากน้อย คือ Social Media และ Online Entertainment, ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber การรีวิวสินค้า และ influencer, ธุรกิจโฆษณาและสื่อออนไลน์, ธุรกิจ matching เช่น platform หาคู่ สั่งอาหาร เรียกรถ, ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ, ธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรีและคลังสินค้า, ธุรกิจตู้ยอดเหรียญ เช่น น้ำ เครื่องซักผ้า อาหาร , ธุรกิจยานยนต์, ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย) ธุรกิจบันเทิง เช่น ละครหนังซีรีส์วาย (Y) และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สุดท้ายคือธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาและใบกระท่อม

ความเชื่อมั่นว่าธุรกิจกัญชง กัญชา และใบกระท่อม ซึ่งเป็นสมุนไพรทรงคุณค่าหากใช้ในทางที่ถูกที่ควร และสามารถต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังดึงดูดให้กลุ่มธุรกิจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุด  นายชำนาญ วังตาล กรรมการบริหาร บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ เปิดเผยว่า ในปี 2566 ทาง AQ มีแผนที่จะเดินหน้าธุรกิจกัญชง-กัญชา ซึ่งได้เข้าซื้อบริษัท อีโกรนิกซ์ จำกัด หรือ EGRONIX เพื่อลงทุนต่อยอดในด้านการปลูกและจำหน่ายพืชกัญชง พืชกัญชา และพืชอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

เช่นเดียวกับ  นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM เผยว่าทางกลุ่มเตรียมลุยสู่ธุรกิจพืชสมุนไพร ผ่านบริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด (KWHB) นั้น โดยเบื้องต้นโรงงานผลิตจะก่อสร้างเสร็จในเร็วๆ นี้ และจะติดตั้งเครื่องสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรไทย และดำเนินการสกัดเชิงพาณิชย์โดยบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดที่ได้จากพืชกระท่อมทั้งในรูปแบบ ละลายน้ำ แคปซูล เป็นต้น

ส่วนธุรกิจสกัดสารจากพืชสมุนไพรไทยกัญชา-กัญชง อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งปัจจุบัน KWM ลงทุนธุรกิจสารสกัดสำคัญจากพืชสมุนไพรผ่าน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เคดับบลิวเอ็ม แคนนาบิเทค จำกัด ให้บริการสกัดสารจากพืชสมุนไพรไทยกัญชา-กัญชงด้วยเครื่องสกัด บริษัท แล็บแอคทีฟ จำกัด และบริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด (KWHB) โดย KWM ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และกลุ่มพันธมิตรภายใต้บริษัท เฮมพ์บิซ จำกัด

ขณะเดียวกัน บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ร่วมกับบริษัทย่อยในเครืออย่าง บริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด (CW) ผนึกกำลังกับ บริษัท อะโกรว์แล็บ จำกัด (AgrowLab) และ บริษัท อโกรว์พลัส จำกัด (AgrowPlus) พัฒนาการปลูกกัญชา-กัญชงในโรงเรือนที่ Cannabiz way Valley อ.วิหารแดง จ.สระบุรี โดย นายวรศักดิ์ เกรียงโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EE เปิดเผยว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่ดีสำหรับธุรกิจกัญชา-กัญชงในอนาคต สอดรับกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงเร่งผลักดันพัฒนาการผลิตกัญชา-กัญชงต้นน้ำให้มีศักยภาพมากขึ้นโดยร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Agrow Group มอบหมายให้ AgrowLab ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบระบบปลูกและเทคโนโลยีทางการเกษตรครบวงจรเป็นผู้ออกแบบพัฒนาโรงเรือนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรขั้นสูง โดยมีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ






บริษัทฯ มองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจ เพราะตลาดกัญชา-กัญชงในประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร เวชภัณฑ์สำหรับแพทย์ทางเลือก และเครื่องสำอาง โดยบริษัทคาดว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะสามารถเพาะปลูกกัญชงได้ประมาณ 16,000 ต้น ภายในระยะเวลา 1 ปีและสามารถแปรรูปเป็นช่อดอกแห้งเพื่อจัดจำหน่ายไปยังอุตสาหกรรมได้ถึง 5,000 กิโลกรัม สำหรับเฟสแรกคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ และบริษัทย่อยในเครือได้ประมาณ 100 ล้านบาท พร้อมรับรู้รายได้ในปี 2566 ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นของทั้งสองบริษัท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดธุรกิจให้กับบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจด้านกัญชา-กัญชงได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกลุ่มบริษัทที่ประกาศชัดเจนว่าจะลุยธุรกิจน่านน้ำใหม่อย่างกัญชง กัญชา แม้ว่าร่างกฎหมายกัญชา กัญชง จะยังไม่ผ่านสภาฯ เช่น กลุ่มบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป หรือ GTG ที่ตั้งเป้าเป็น “ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย”  จากธุรกิจกัญชา โดยมองแนวโน้มธุรกิจกัญชาทั่วโลกเติบโตสูงมาก ข้อมูลจาก fortunebusinessinsights คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 – 2571 ธุรกิจกัญชาจะมีอัตราการเติบโต 30% ต่อปี หรือมีมูลค่าถึง 197,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2571 จากปี 2564 มีมูลค่า 28,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าภายใน 2567 หลายประเทศเตรียมปลดล็อกกัญชาให้เป็นธุรกิจถูกกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ธุรกิจกัญชาในประเทศไทยจะขยายตัว 15% จนถึงปี 2568 หลังจากมีการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 43,000 ล้านบาท

สำหรับ GTG ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสายพันธุ์กัญชามากว่า 12 สายพันธุ์ และถือเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับมาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ของเยอรมัน ครอบคลุมถึงการปลูก การตาก การบ่ม การเก็บ โดย GTG มีแผนการพัฒนาธุรกิจและส่งออกกัญชาทางการแพทย์สู่สหภาพยุโรปในปี 2566 ขณะเดียวกัน GTG ได้เปิดฟาร์มกัญชาต้นแบบขนาดพื้นที่กว่า 5,000 ตร.ม. บริเวณถนนอาจณรงค์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำธุรกิจกัญชาแบบครบวงจร ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL พร้อมบุกธุรกิจกัญชง-กัญชาครบวงจร ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจกัญชง-กัญชาทั้งนำเข้าเมล็ด, การปลูก, โรงสกัดสาร, และส่งออกสารสกัดจากพืชกัญชงครบถ้วน โดยพืชกัญชงบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจทั้งการปลูก–สกัด–ส่งมอบผลผลิตให้กับคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้า–และพัฒนาสายพันธุ์ ส่วนพืชกัญชา บริษัทมุ่งเน้นการทำตลาดต่างประเทศ โดยศึกษาร่วมกับองค์กรผู้พัฒนายารักษาโรคร้ายแรง อาทิ ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นสารสำคัญในการผลิตยารักษาโรครวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ

นอกจากนั้น ยังมีบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ZIGA ที่เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องเพราะได้รับใบอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนส่วนกลางน้ำที่เตรียมลงทุนสร้างโรงงานสารสกัด CBD ในกัญชง และสาร THC ในกัญชา ซึ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกาศแผนลงทุนในส่วนนี้มาก่อนหน้า เช่น บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD, บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ JP เป็นต้น

สำหรับกลุ่มเน้นลงทุนปลายน้ำที่วางเป้าหมายนำสารสกัดไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ก่อนหน้านี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เตรียมเข้ามาลงทุน เช่น บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือNRF, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS, บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN, บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือSAPPE, บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO, บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC, บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจที่วางแผนลงทุนขั้นต้นน้ำคงเดินหน้าต่อเนื่องได้ไม่มีปัญหา แต่กลุ่มที่จะลงทุนในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ อาจยังรีรอดูว่าร่างกฎหมายกัญชา กัญชง จะผ่านสภาฯ ออกมาประกาศใช้ได้เมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้พรรคภูมิใจไทย จะต้องผลักดันต่อไปให้สำเร็จ ตามสโลแกนหาเสียง “พูดแล้วทำ”

นโยบายกัญชา ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยกวาดคะแนนและเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสมัยที่แล้ว ขณะที่สมัยเลือกตั้งครั้งหน้า นักวิเคราะห์การเมืองหลายสำนักก็ฟันธงล่วงหน้าว่า พรรคภูมิใจไทย มีโอกาสสูงในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็มีสิทธิ์ลุ้นในตำแหน่งผู้นำประเทศกันเลยทีเดียว

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 
รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่อาจไม่ผ่านสภาในสมัยประชุมสภาฯนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าสมัยนี้สภาฯไม่ออกกฎหมายดังกล่าว เมื่อพรรคภูมิใจไทย ได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯอีกครั้งจะนำเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาฯอีกแน่นอน

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รู้ดีว่า ร่างกฎหมายกัญชาฯ กลายเป็นเกมการเมืองที่ไม่ว่าจะชี้แจงแค่ไหนก็มีคนอยากดึงร่างกฎหมายนี้เพราะเขาตั้งเป้าไว้แล้ว และเกรงว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้คะแนนนิยมมาก

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะอยู่ในอาการติดกึกๆ กักๆ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ลงมติในมาตรา 3 ที่ระบุว่า กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ กมธ. ที่ให้ตัดมาตรา 3 ทิ้งทั้งมาตรา ด้วยคะแนน 119 คะแนน ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 31 คะแนน

แต่ถัดจากนั้น ในช่วงที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานได้สั่งปิดการประชุม หลังจากองค์ประชุมเพื่อลงมติในมาตรา 7/4 ว่าด้วยเรื่อง “การกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ส่งเสริมการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ” แต่ปรากฎว่า มีสมาชิกแสดงตน 214 คน ซึ่งไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมีอย่างน้อย 220 คน ทำให้ประธานสั่งเลื่อนการลงมติไปครั้งหน้า

ในวันถัดมา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. แถลงว่าได้รับแจ้งจากที่ประชุมวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมว่าวันพุธที่ 28 ธ.ค. 2565 จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิเศษ เพื่อพิจารณากฎหมายที่วุฒิสภา พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 5 ฉบับ จึงอาจเป็นผลทำให้ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังพิจารณากันอยู่ช้าออกไปอีก จึงเรียกร้องให้วิปทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณากำหนดวันประชุมเพิ่มอีกหนึ่งวันนอกเหนือจากที่ต้องพิจารณาประชุมในวันพุธของสัปดาห์แรกในเดือนม.ค. 2566 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา และขอเรียกร้องให้ส.ส.อยู่ในที่ประชุมสภาฯ ให้ครบองค์ประชุม เพื่อไม่ให้การพิจารณาร่างกฎหมายสะดุดหรือช้าลง

“.... หลายฝ่ายห่วงสถานการณ์กัญชาก่อนหน้านี้ที่มีผลต่อสังคม เยาวชน แต่การจะแก้ไขสถานการณ์นี้ก็คือเร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา ให้เร็วขึ้น กระชับ อยู่ในประเด็น เพื่อส่งไปยังส.ว.ต่อไป ทำให้สังคมมีกฎหมายเฉพาะในการควบคุม กำกับดูแล กัญชา กัญชง รวมถึงสอดคล้องกับข้อตกลงกับยูเอ็นในอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 ซึ่งเรามีเวลาเหลือน้อยมาก เพราะสภาผู้แทนราษฎร จะหมดสมัยในวันที่ 28 ก.พ. 66 ถ้าหากเรายิ่งลากยาว มันไม่มีประโยชน์อะไรกับประเทศชาติและประชาชน ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย ....” นายศุภชัย กล่าวเรียกร้อง

 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์  โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงทั้งสองครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2565 แม้จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่คำปรารภ แต่เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตามร่างและการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ ทุกมาตราจนถึงมาตราสุดท้ายของมาตรา 7 แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าคำอภิปรายชี้แจงของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากยังคงได้รับการตอบสนองโดยการลงมติเห็นด้วยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก

ส่วนประเด็นที่จะต้องจับตาดูในเรื่องสำคัญที่สุดก็คือมาตรา 18 ที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าประชาชนควรที่จะปลูกกัญชา กัญชงเพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 15 ต้นนั้นจะได้รับการตอบสนองจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร และก่อนจะไปถึงมาตรา 18 ก็ต้องดูว่าการอภิปรายที่ยืดเยื้อที่ทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้านั้น จะทันมีกฎหมายก่อนการยุบสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่? โดยเฉพาะบางพรรคการเมืองที่ใช้วิธีทำให้องค์ประชุมไม่ครบโดยการไม่เข้าประชุม หรือเข้าประชุมแต่ไม่ยอมกดบัตรรายงานตัว เพียงเพราะต้องการขัดขวางไม่ให้กฎหมายฉบับนี้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ใครทำเช่นนั้นก็คงจะเห็นการเปิดโปงของประชาชนให้ทราบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดมีพฤติกรรมที่หวังจะไม่ให้การพิจารณากฎหมายในการใช้ประโยชน์หรือการควบคุมกัญชาเดินหน้าต่อไปมีใครบ้าง?

 นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล  กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … และเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าไม่สนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชา ซึ่งมี 2 มาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 15 ปลูกเพื่อขาย และมาตรา 18 ปลูกใช้ในครัวเรือน ซึ่งทั้งสองมาตรานี้ควรคงไว้ และที่เบี่ยงเบนว่าหากชาวบ้านปลูกได้ 15 ต้น จะทำให้ประชาชนติดกัญชากันทั้งประเทศ มายาคติเหล่านี้ได้ขยายกันไปเยอะในสังคม และสร้างปรากฏการณ์ในทางลบขึ้นมาก ในฐานะกรรมาธิการถือว่ามาตรา 18 สำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิหลักประชาชนที่มีสิทธิ์ใช้กัญชาในครัวเรือน ส่วนการที่จะเอากัญชาไปทำอะไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นั้นก็จะมีหลักเกณฑ์ในการควบคุม และขอยืนยันว่ากัญชาเสรีไม่ได้ถูกพูดถึงใน พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย

 อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีการยื้อยุดร่างกฎหมายกัญชาฯ อย่างไร ถึงที่สุดแล้ว หากพรรคภูมิใจไทย แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าโอกาสที่พืชสมุนไพรกัญชาจะได้รับการพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์คงชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับการควบคุมป้องกันไม่ให้เยาวชนของชาติตกเป็นทาสเสพติดกัญชา 



กำลังโหลดความคิดเห็น