xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมของนักการเมืองและพรรคการเมืองในรอบปี 2565 / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในรอบปี 2565 ความนิยมของประชาชนต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ประชาชนมีแนวโน้มสนับสนุน น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลดลง แนวโน้มการสนับสนุน น.ส. แพทองธาร มีทิศทางเดียวกับการสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแบบแผนความนิยมยังมีทิศทางเช่นนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งในต้นปี 2566 โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งมากเป็นลำดับหนึ่งแบบท่วมท้นมีสูงยิ่ง และนั่นย่อมเปิดประตูแห่งโอกาสให้ น.ส. แพทองธารก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สมการอำนาจของการเมืองไทยในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อน ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะมากเป็นลำดับหนึ่งในการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า น.ส. แพทองธารจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ทันทีที่ลงสู่สนามการเมือง น.ส.แพทองธาร บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตรก็ได้รับความนิยมมากพอสมควร ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ความนิยมของน.ส.แพทองธารใกล้เคียงกับความนิยมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากนั้นคะแนนนิยมของน.ส. แพทองธาร ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มนำแบบทิ้งห่างคู่แข่งหลักทั้งสอง ในเดือนธันวาคม น.ส. แพทองธาร ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 34 นำห่างคู่แข่งทั้งสองถึงร้อยละ 20 ทีเดียว

สาเหตุหลักที่คะแนนนิยมของ น.ส. แพทองธารเพิ่มขึ้นมาจาก การสร้างภาพลักษณ์ความเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย การได้รับการมองว่าเป็นทายาทและตัวแทนทางการเมืองของนายทักษิณ การณรงค์หาเสียงอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่มีพลังโน้มน้าวจูงใจผู้คน และความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์

สำหรับคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ในรอบปี 2565 มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เป็นช่วงปีที่พลเอกประยุทธ์มีคะแนนนิยมน้อยกว่าปีก่อน ๆ มาก เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความตกต่ำของพลเอกประยุทธ์ก็ว่าได้ ในไตรมาสที่สามเดือนกันยายนคะแนนนิยมของเขาตกลงไปถึงระดับร้อยละ 10 ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 14 ในเดือนธันวาคม สาเหตุที่คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ลดลง มาจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่สะสมปัญหาเหลือคณานับ ความเหลื่อมล้ำขยายตัว สินค้าราคาแพง คนจนมากขึ้น หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ยาเสพติด อัตราการฆ่าตัวตาย การทุจริตคอรัปชั่น และความรุนแรงทางสังคมก็เพิ่มขึ้นแบบทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลประยุทธ์มีแนวโน้มขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตยเพราะสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาลและนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลลงมติล้มร่างกฎหมายที่ก้าวหน้าหลายฉบับ รวมทั้งไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างที่เสนอจากประชาชน ทั้งยังทำให้การเมืองมีภาพลักษณ์เชิงลบมากขึ้นด้วยพฤติกรรมของ ส.ส. “งูเห่า” และการลงมติที่สำคัญ เช่น มติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ถูกขับเคลื่อนด้วยเงินตรา ที่เรียกกันว่า “การแจกกล้วย”

นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมคงที่ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีนัยว่า การแสดงบทบาททางการเมืองของนายพิธา ไม่อาจดึงดูดความสนใจและสร้างความชื่นชอบแก่ผู้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นได้ กลุ่มผู้สนับสนุนเกือบทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเดิม ความโดดเด่นและแหลมคมของนายพิธายังมีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ด้านพล ต. อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย มีแบบแผนคะแนนนิยมคล้ายคลึงกันคือ ปลายปีต่ำกว่าต้นปีเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ที่เคยสนับสนุนส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจไปสนับสนุนนักการเมืองคนอื่นตามกระแส ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกุลคะแนนนิยมปลายปีสูงกว่าต้นปี ซึ่งน่าจะเกิดจากในช่วงปลายปีนายอนุทินแสดงศักยภาพในการดึง ส.ส.เข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยได้มากขึ้น ประกอบกับมีการผลิตกระแสสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่นายอนุทินอย่างต่อเนื่อง ส่วนคะแนนนิยมของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีลักษณะขึ้นลงสลับกัน ลดลงระหว่างปี แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปลายปี นั่นเป็นเพราะนายจุรินทร์มีบทบาทไม่โดดเด่นมากนัก แม้ว่ามีความพยายามในการผลิตกระแสนิยมบางช่วงแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีมีค่อนข้างมากในช่วงต้นปี แต่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปลายปี นั่นเป็นเพราะเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง ประชาชนมีเริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและสามารถตัดสินใจได้ว่า จะสนับสนุนบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี และมีความเป็นไปได้ว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ยังไม่สนับสนุนใครเมื่อต้นปี หันไปสนับสนุน น.ส. แพทองธาร ซึ่งทำให้คะแนนนิยมของ น.ส. แพทองธารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


 
สำหรับคะแนนนิยมพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28.89 ในช่วงต้นปี เป็นร้อยละ 42.95 ในช่วงปลายปี สาเหตุที่ทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก มาจากการผลิตและขับเคลื่อนนโยบายหาสียงและการรณรงค์หาเสียงอย่างเข้มข้นต่อเนื่องของพรรคโดยเฉพาะตั้งช่วงกลางปีเป็นต้นมา สามารถผลิตนโยบายที่สร้างแรงดึงดูดใจแก่ผู้เลือกตั้งจำนวนมาก กอปรกับผู้เลือกตั้งมีความเชื่อมั่นในการรักษาสัญญาของพรรคเพื่อไทยว่า สามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้ รวมทั้งการที่ผู้เลือกตั้งอีกไม่น้อยที่ไม่พึงพอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล และหมดหวังกับรัฐบาลประยุทธ์ จึงหันมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นทุกภาค และเป็นพรรคที่มีคะแนนนิยมมากที่สุดเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ ในทุกภาค กรณีภาคใต้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะโดยปกติภาคใต้เป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กับพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่ปรากฏว่าในช่วงปลายปี คะแนนนิยมของ ปชป. ลดลงจากช่วงต้นปีอย่างมาก ลดลงจากร้อยละ 27.8 เหลือร้อยละ 17.82 และพรรคพลังประชารัฐลดลงจากร้อยละ 10.47 เหลือ 4.73 ส่วนพรรคเพื่อไทยคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.55 เป็น ร้อยละ 22.55 (ดูตารางที่ 3) และทำให้ในเวลานี้ พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ของพรรคเพื่อไทยไม่ได้มาจากการเปลี่ยนใจของผู้ที่เคยสนับสนุนพรรค ปชป. และ พปชร. แต่น่าจะมาจากผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งช่วงต้นปีมีสูงถึงร้อยละ 33.21 แต่ในช่วงปลายปีลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6.91 (ดูตารางที่ 3)

พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมค่อนข้างคงที่ระหว่างช่วงต้นปีกับปลายปี มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ด้านหนึ่งสะท้อนว่าผู้นิยมพรรคก้าวไกลมีความมั่นคงในการสนับสนุนพรรค แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การขยายความนิยมของพรรคก้าวไกลไปยังกลุ่มผู้เลือกตั้งอื่น ๆ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (ดูตารางที่ 2) คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลคงที่ในทุกภาค ยกเว้นในกรุงเทพมหานครที่ลดลงจากร้อยละ 22.6 เหลือร้อยละ 16.86 (ดูตารางที่ 3) เป็นไปได้ว่า ชาวกรุงเทพส่วนหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคก้าวไกลจะตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ โดยหันไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

พรรคภูมิใจไทยเป็นอีกพรรคหนึ่งที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงต้นปีมีคะแนนร้อยละ 1.88 และในช่วงปลายปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.25 เป็นพรรครัฐบาลเพียงพรรคเดียวที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะ ปกติพรรคนี้ฐานคะแนนนิยมต่ำ เมื่อผู้นำพรรคและพรรคแสดงบทบาทที่โดดเด่นขึ้นในการขับเคลื่อนนโยบาย และแสดงจุดยืนในเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและการสนับสนุนให้นายอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูใหญ่โตของพรรค ด้วยการดึง ส.ส.จำนวนมากเข้าพรรค จึงทำให้ผู้เลือกตั้งส่วนหนึ่งเกิดความมั่นใจในศักยภาพของพรรค และส่งผลให้พรรคได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คะแนนนิยมของภูมิใจไทยเพิ่มขึ้นทุกภาค แต่ภาคที่เพิ่มมากเป็นพิเศษคือภาคใต้ และที่น่าสนใจคือ แม้แต่ในกรุงเทพก็เพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว (ดูตารางที่ 3)

พรรคประชาธิปัตย์ประสบความตกต่ำอย่างต่อเนื่อง สมาชิกคนสำคัญของพรรคทยอยกันลาออกเป็นจำนวนมาก บางส่วนไปจัดตั้งพรรคใหม่ แต่ส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ในภาพรวมลดลงจากร้อยละ 7.97 ในช่วงต้นปี เหลือร้อยละ 5.35 ในช่วงปลายปี (ดูตารางที่ 2) คะแนนนิยมของ ปชป.ลดลงทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้และกรุงเทพมหานคร สาเหตุมาจากกลุ่มผู้บริหารพรรคในปัจจุบันมีภาพลักษณ์ไม่ดีนักทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการบริหารกระทรวงที่รับผิดชอบ และความโน้มเอียงสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองประเภทบ้านใหญ่ หรือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นมากขึ้น จึงทำให้ผู้สนับสนุนพรรคที่เหลืออยู่หันไปสนับสนุนพรรคใหม่ โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในเชิงเปรียบเทียบ ดูมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าในสายตาของผู้ที่เคยสนับสนุน ปชป.

เช่นเดียวกันกับกรณีพรรค พปชร. ในภาพรวมมีคะแนนนิยมลดลงจากร้อยละ 7.03 ในช่วงต้นปี เหลือร้อยละ 4 ในปลายปี (ดูตารางที่ 2) คะแนนนิยมของ พปชร. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเกือบทุกภาค แต่ลดลงมากเป็นพิเศษในภาคใต้และภาคเหนือ มีเพียงภาคกลางเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ดูตารางที่ 3) ผู้ที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐจำนวนมากที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เมื่อพลเอกประยุทธ์ประกาศตัวเข้าร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะหันไปสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติแทนพรรค พปชร.

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์สายอนุรักษ์นิยมเข้มข้น เพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปในอนาคต ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีที่พลเอกประยุทธ์ยังมีท่าทีไม่ชัดเจนเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่เขาจะสังกัด ทำให้พรรค รทสช. มีคะแนนนิยมต่ำมาก แต่ช่วงปลายปี เมื่อพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจชัดเจนว่าจะร่วมงานทางการเมืองกับพรรคนี้ จึงทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 0.1 ในช่วงต้นปี เป็นร้อยละ 6.95 คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่เคยสนับสนุนพรรค ปชป. พรรค พปชร. และผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ อย่างไรก็ตามคะแนนนิยมของพรรคมีความแปรผันและผูกพันกับความนิยมของพลเอกประยุทธ์ และคะแนนนิยมที่พรรคนี้จะได้รับในอนาคตไม่มากไปกว่าความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์

กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลการสำรวจคะแนนนิยมของนิด้าโพลครั้งล่าสุด เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หากนำคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้าน และพรรคที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์รวมกัน (เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย และไทยสร้างไทย) จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.2 ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลรวมกัน (พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ) จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 21.55 ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 8.3 และเป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเล็กอื่น ๆ อีกร้อยละ 3.95 ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ บ่งชี้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านในปัจจุบันมีโอกาสสูงมากที่จะชนะการเลือกตั้งในปี 2566 และได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร







กำลังโหลดความคิดเห็น