ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จัก คำว่า “มูเตลู” เปรียบดังร่างใหม่ของ “ไสยศาสตร์” ในยุคดิจิทัล
เรียกว่า หน้าตาของความเชื่อความศรัทธาปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย อีกทั้ง ช่องทางออนไลน์ยิ่งดัน “กระแสมูเตลู” มีบริการ “ครบวงจร” เข้าถึงคอนเทนต์มูเตลูต่างๆ อาทิ ดูดวงออนไลน์, ธีมมือถือเสริมดวง, เช็คเสื้อสีมงคล ฯลฯ หรือบริการตักบาตรออนไลน์, ขอพร-แก้บนออนไลน์ เป็นต้น
ข้อมูลล่าสุด LINE ประเทศไทย เปิดอินไซต์พฤติกรรมผู้ใช้รวมกว่า 53 ล้านคนตลอดปี 2565 ผ่านการใช้บริการบนแอป LINE ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของชีวิตดิจิทัลของคนไทยตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน พบการเข้าถึงคอนเทนต์และบริการต่างๆ เกี่ยวกับ “มูเตลู” ครองความนิยมประชากรออนไลน์ไทย
ตั้งแต่บริการ “LINE ดูดวง” เผยว่ามีคนตักบาตรออนไลน์มากขึ้นถึง 4 เท่าจากปี 2564 โดยเฉพาะช่วงวันพระสถานที่ที่คนขอพรผ่าน “LINE ดูดวง” มากที่สุด 3 ลำดับคือ หลวงพ่อทันใจ แห่งวัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่, ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช และท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม โดยวันที่คนเข้ามาขอพรออนไลน์ มากที่สุดในปี 2565 คือ วันคเณศจตุรถี เป็นวันเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองบูชาพระพิฆเนศ
ถัดมา “LINE TODAY” ที่มีบริการดูดวงโดยเฉพาะ เผยว่าฟีเจอร์สีเสื้อมงคลมีคนเปิดเช็กสีถึง 30,000 ครั้งต่อวัน และเข้ามาเปิดไพ่ทาโร่ถึง 42 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา และมีคนเข้ามาตรวจผลลอตเตอรี่ที่พุ่งถึง 10 ล้านครั้งหลังดูไลฟ์ประกาศผลที่แตะยอดวิวถึง 4 ล้านวิวต่องวด
นอกจากนี้ “LINE STICKERS” ยังพบว่าผู้คนหันมาใช้ธีมลายมูเตลู สำหรับความรัก การงาน ความมั่งคั่ง พบว่ากินสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของยอดดาวน์โหลดรวมทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสอดคล้องกันชี้ชัดว่า “คนไทยส่วนมากสายมู” จากผล “สำรวจพฤติกรรมคนไทยสายมูเตลู” ของบริษัท Lucky Heng Heng ระบุว่าประชากร 52.5 ล้านคน หรือ 75% เชื่อในเรื่องดูดวง แบ่งสัดส่วนตามเจเนอเรชั่น อันดับ 1 กลุ่ม Gen Y คิดเป็น 43.4%, อันดับ 2 กลุ่ม Gen Z คิดเป็น 21.6%, อันดับ 3 กลุ่ม Gen X คิดเป็น 17.4% และอันดับ 4กลุ่ม Baby Boomer คิดเป็น 6.7%
นอกจากนี้ 5 บริการมูเตลู ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 ดูดวง คิดเป็น 68.1%, อันดับ 2 ทำบุญ คิดเป็น 57.9%, อันดับ 3 เครื่องราง คิดเป็น 42.8%, อันดับ 4 สีและเลขมงคล คิดเป็น 36.9%, อันดับ 5 ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดเป็น 27.5%
ข้อมูลอินไซต์จากงานสัมมนา “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยนิยมมูเตลู ผลสำรวจระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องโชคลาง (Superstitious)
5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุด คือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี, 2.พระเครื่องวัตถุมงคล, 3.สีมงคล 4,ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ รวมทั้ง โลกดิจิทัลทำให้ช่องทางการเช็คดวงเช็คโชคลาง สามารถผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมาแรงเป็นอันดับหนึ่ง
เรียกว่า หน้าตาของความเชื่อความศรัทธาปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย จากที่เห็นคนสมัยก่อนนิยมแขวนพระ ห้อยตะกรุด ผูกสายสายสิญจน์ ปัจจุบันเครื่องรางเปลี่ยนร่างให้เข้ายุคสมัยใหม่อย่าง กำไรมงคล สร้อยคอเสริมดวง แหวนเรียกทรัพย์ ดีไซน์ร่วมสมัยสวยงาม ตอบโจทย์ศรัทธาความเชื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
อีกทั้ง ช่องทางออนไลน์ยิ่งดันกระแส “มูเตลู” ให้แรงต่อเนื่อง มูได้ทุกที่ทุกเวลามีบริการ “ครบวงจร” เข้าถึงคอนเทนต์มูเตลูต่างๆ อาทิ ดูดวงออนไลน์, ธีมมือถือเสริมดวง, เช็คเสื้อสีมงคล ฯลฯ หรือเลือกรับบริการตักบาตรออนไลน์, ขอพร-แก้บนออนไลน์ เพียงโอนเงินแล้วรอ จากนั้นตัวแทนเสมือนเป็นสะพานบุญ จะเดินทางไปประกอบกิจนั้นๆ แทน
แต่อย่างไรก็ตาม กรณี “ตักบาตรออนไลน์” เคยตกเป็นที่วิพากษ์ถึงความเหมาะสม ว่าด้วยมิติใหม่แห่งการตักบาตรโดยที่ไม่ต้องลุกจากที่นอนมาใส่บาตรพระด้วยตัวเองยามเช้า สามารถจ่ายเงินผ่านตัวแทนสะพานบุญเจ้าต่างๆ ให้ใส่บาตรแทนได้
กระทั่ง ต่อมา “พระพยอม กัลยาโณ” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ออกมาเตือนสติญาติโยมให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นความว่า “เป็นความเจริญก้าวหน้าของยุคสมัย” จะไปทำแบบเดิม ถ้าไม่ว่างไปวัด จิตเป็นกุศล แต่ไม่มีเวลาไปทำบุญที่วัด บางคนอายุเยอะไม่มีใครพาไป ก็ไม่ได้ไปใส่บาตร
“เรื่องตักบาตรออนไลน์ ได้บุญขึ้นอยู่กับพระ ว่าพระที่มาบิณฑบาตร เป็นเนื้อนาบุญหรือไม่ และเงินที่ญาติโยมโอนมาให้แม่ค้า ได้มาอย่างบริสุทธิ์หรือไม่ ถ้าทั้งสองล้วนบริสุทธิ์ ทุกอย่างจะเกิดบุญ ส่วนวิธีการอาจจะได้ยินเสียงพระ ให้พร ก็ได้ยินเสียงเช่นเดียวกัน แค่ไม่ได้เห็นองค์ใกล้ๆ มีการถ่ายทอดสดให้ดู ถึงเรียกว่าเป็นยุคสมัยใหม่ที่แท้จริง หากจะต้องยึดติด และทำแบบเดิม อาจจะไม่ได้ทำบุญ”
อย่างไรก็ดี จากข้อมูล LINE ประเทศไทย ข้างต้น เผยอินไซต์พฤติกรรมผู้ใช้รวมกว่า 53 ล้านคนตลอดปี 2565 ไลฟ์สไตล์ของชีวิตดิจิทัลที่เกี่ยวกับ “มูเตลู” ครองความนิยมสูงสุด บ่งชี้เทรนด์การตลาดสายมู (Muketing) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีบริษัทที่รับทำการตลาดสายมูโดยเฉพาะเกิดขึ้น อย่าง Horosociet (โฮโรโซไซตี้) โดยวางตัวเป็นผู้นำด้านการวางแผนกลยุทธ์การตลาดสายมูแบบครบวงจรและลุย Horoscope NFT หวังผลักดันธุรกิจสายมูให้เติบโตในตลาดดิจิทัลแบบเต็มตัว
อนัญญา โตแสงชัย ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหาร บจ.โฮโรโซไซตี้ กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการทำตลาดสายมูว่า “การตลาดสายมู (Muketing) เป็นรูปแบบการตลาดที่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ในทุกระดับฐานะ ทุกเพศทุกวัย ทุกสายอาชีพ คอนเทนต์ประเภทนี้มักได้รับความนิยมและมี Engagement ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคอนเทนต์ประเภทอื่นเนื่องจากคนไทยตลอดจนคนเอเชียมีความชอบ และความเชื่อในเรื่องมูเตลูกันเป็นพื้นฐาน ดังนั้นการผสมผสานศิลปะ (Art) ข้อมูล (Data) ประสบการณ์ (Experience) กับศาสตร์ความเชื่อในยุคดิจิทัลทำให้การทำการทำการตลาดสายมู (Muketing) มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เรามีลูกค้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ และใช้บริการกับเราเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก”
นอกจาก การตลาดสายมู (Muketing) ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว การตลาดที่ใช้นักพยากรณ์มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือ KOL (Key Opinion Leader) สามารถสร้างกระแสความนิยม สร้างอัตราการรักษาลูกค้า (Customer Retaining Rate) และดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคได้อย่างมหาศาล
โดยในปีที่ผ่านมา โฮโรโซไซตี้ ได้ทำกิจกรรมการตลาดให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ อาทิ SCB LINE OA (LINE BCRM) ที่ผู้ติดตามในไลน์สามารถเช็กดวงตัวเองได้, เดอะมอลล์กรุ๊ป ในการจัดอีเวนต์ดูดวงสุดพิเศษโดยนักพยากรณ์ชื่อดัง และทำ Lucky Planner ที่รวบรวมเคล็ดลับการใช้ตัวเลข และสีเพื่อให้คนไปปรับใช้ในการเสริมสิริมงคลชีวิต รวมถึงฤกษ์ดีในแต่ละเดือน, Grab ในแคมเปญดวงดี ดีลปัง ทั้งการทำนายดวง แจกวอลเปเปอร์เสริมดวง เปิดร้านตะลุยแก้ชง เสริมดวง, LINE โดยการทำคอนเทนต์ดูดวงไพ่ยิปซี และเซียมซี ให้ระบบดูดวงอัตโนมัติใน LINE OA เป็นต้น
ชัดเจนว่า “มูเตลู” เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์และเป็นโอกาสทางธุรกิจ บทความเรื่อง “ธุรกิจที่เติบโตจากพลังศรัทธา” โดย bangkokbanksme ระบุถึงธุรกิจที่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ยุคสมัยก็สามารถคงอยู่ได้ โดยที่แทบจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเท่าไหร่ อาศัยความเชื่อและความศรัทธาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สิ่งนั้นคือ “พุทธพาณิชย์” หรือยุคนี้มักเรียกว่า “สะพานบุญ” ธุรกิจที่มาพร้อมความเชื่อและศรัทธาจากศาสนา ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยส่วนมาก แม้สถิติสัดส่วนคนรุ่นใหม่จะเข้าวัดทำบุญน้อยลง ตามวิถีการดำเนินชีวิตของคนปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ธุรกิจสะพานบุญ กลับยังเติบโตได้เสมอ เพราะนี่คือพลังของศรัทธา
“แนวโน้มตลาดพุทธพาณิชย์ในไทย แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยขณะนี้จะยังไม่ดีเท่าที่ควรต่อเนื่องมาประมาณ 2 - 3 ปีแล้ว แต่มีประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคราวๆ 60% ของผู้ที่เคยใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องทำบุญเป็นประจำ มักจะขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้จ่ายเกี่ยวกับธุรกิจสะพานบุญแบบไม่นำเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัย ไม่ว่ารายได้ในขณะนั้นจะดีหรือไม่ดีก็สามารถทำบุญได้หมด”
ในปัจจุบันเห็นบางบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจสะพานบุญ ใช้ Big Data มาประกอบกับการขับเคลื่อนธุรกิจร่วมด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี ตลาดธุรกิจสะพานบุญได้รับความนิยมในไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผู้ที่มีฐานะการเงินดีหรือไม่ก็ตาม ซึ่งแต่ละช่วงอาจจะมีขึ้นลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
แม้โลกหมุนไปข้างหน้าแต่ศรัทธาจะยังคงตั้งอยู่ และน่าจับตาว่าอนาคตจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร และได้รับความนิยมต่อเนื่องดังเช่นทุกวันนี้หรือไม่.