xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เรือรบ” เสื้อชูชีพไม่พอ “เรือดำน้ำ”ไม่มีเครื่องยนต์ รอยแผลเป็นแห่ง “กองทัพเรือไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหตุการณ์ระทึกขวัญเรือหลวงสุโขทัยจมลงก้นอ่าวไทยบริเวณนอกชายฝั่งอ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นข่าวช็อกโลกเพราะ “เรือรบ” ลำนี้ซึ่งถือเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญ 1 ใน 5 ของกองทัพเรือไทย กลับมีปัญหา “เสื้อชูชีพ” ไม่พอต่อกำลังพลบนเรือ ไม่ต่างไปจากการสั่งซื้อเรือดำน้ำมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทจากจีนที่จนป่านนี้ยังหาเครื่องยนต์มาติดตั้งยังไม่ได้  

ท่ามกลางการเร่งควานหาผู้สูญหายกลางทะเล เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมต่อกองทัพเรือก็ยิ่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก “พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)”  ออกมาแถลงยอมรับว่าเรือหลวงสุโขทัยมีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับจำนวนกำลังพลที่อยู่บนเรือในวันที่เรืออับปางคือวันที่ 18 ธันวาคม 2565 แถมยังเล่นสำนวนในทำนองคนใส่ชูชีพก็ใช่ว่าจะรอด คนรอดก็ใช่ว่าจะมีเสื้อชูชีพกันทุกคน

“.....มี 30 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ และถูกช่วยชีวิตได้ใน 75 คนแรก จำนวน 18 คน ยังมีผู้สูญหาย 12 คนที่ยังอยู่ในทะเล ขณะเดียวกันกำลังพลที่มีเสื้อชูชีพครบทุกคนก็ยังมีอีก 18 คนที่ยังอยู่ในทะเล เพราะฉะนั้นการมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถจะ.. พูดง่าย ๆ รอดชีวิต ....” ถ้อยแถลงของ ผบ.ทร. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจุดกระแสร้อนแรงตามมาถึงขั้นมีเสียงเรียกร้องให้ ผบ.ทร.แสดงสปิริตด้วยการลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ผบ.ทร.แจกแจงสาเหตุที่กำลังพล 30 นายไม่มีเสื้อชูชีพประจำกายว่า เรือหลวงสุโขทัยออกปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ในอ่าวไทย และนำกำลังพลของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง ไปร่วมพิธีครบ 100 ปี “เสด็จเตี่ย” หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่หาดทรายรี จ.ชุมพร เรือหลวงสุโขทัยทราบปัญหาดีว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับกำลังพลที่มาเพิ่มเติมจำนวน 30 คน ก็ได้พยายามที่จะนำอุปกรณ์และสิ่งที่สามารถช่วยชีวิตได้มาให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพ “เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าคนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด”

ThaiArmedForce.com เว็บไซต์อิสระด้านการทหารและความมั่นคง วิจารณ์คำชี้แจงดังกล่าวของ ผบ.ทร.ว่า “เหมือนกับบอกว่าขึ้นรถแล้วจะคาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่คาดก็ไม่ได้การันตีว่าจะรอด เสื้อชูชีพคืออุปกรณ์พื้นฐานของการขึ้นเรือ จำเป็นต้องมี เอาอะไรมาแทนลำบาก อีกทั้งถ้า ผบ.ทร.บอกว่า เรือดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลก็ยิ่งต้องมีเสื้อชูชีพแบบเกินพอด้วยซ้ำ เพราะถ้าเสื้อชูชีพยังไม่พอสำหรับกำลังพลของเรือ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างไร ซึ่งก็แสดงให้เห็นอีกว่าที่บอกว่า #เรือหลวงสุโขทัย ไปช่วยผู้ประสบภัยนั้นไม่น่าจะจริง”

อย่างไรก็ดี ผู้บัญชาการกองทัพเรือ แจงว่า เรือรบปกติจะมีเสื้อชูชีพของกำลังพลประจำกับเสื้อชูชีพสำรองเพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย และยังมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ เช่น แพชูชีพ ห่วงยาง หรือลูกยางกันกระแทกที่ติดอยู่กับเรือเล็กของเรือ

หากฟังตามนั้น กรณีของเรือหลวงสุโขทัยที่ไม่มีเสื้อชูชีพสำรองสำหรับกำลังพลที่เข้ามาเสริมและช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” อย่างยิ่ง

ส่วนสาเหตุเรืออับปางพลเรือเอกเชิงชาย ระบุว่าเนื่องจากมีคลื่นลมแรง ทะเลมีคลื่นสูง 3-4 เมตร ตั้งแต่อ่าวไทยตอนกลางไปถึงตอนล่าง โดยน้ำเข้าทางหัวเรือ เข้าห้องเครื่องยนต์ และเครื่องจักรสำคัญในเรือ กำลังพลพยายามสูบน้ำออกด้วยเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ในเรือแต่ไม่ทัน เพราะน้ำทะลักเข้ามาจำนวนมาก แม้ว่าเรือรบจะถูกสร้างขึ้นมาแบบมีระบบผนึกน้ำเพื่อให้เรือลอยอยู่ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันไว้ได้ สุดท้ายระบบไฟฟ้าตัด ต้องลอยลำอยู่ในระยะ 20 ไมล์ทะเลจากท่าเรือบางสะพาน จึงประสานกองทัพเรือเพื่อขอความช่วยเหลือ ช่วงแรกกองทัพเรือวางแผนจะส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ช่วยสูบน้ำออกจากเรือหลวงสุโขทัยแต่ปริมาณน้ำมาก ไม่สามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำได้ รวมทั้งการนำเรือหลวงกระบุรีเข้าเทียบช่วยกำลังพลก็ทำได้ยาก

สำหรับการช่วยเหลือกำลังพลในเรือที่เกิดเหตุ ผบ.ทร. ชี้แจงว่า จากการประเมินช่วงแรกพบว่าเรือเอียง 60 องศาคงที่ จึงยังไม่ลำเลียงคนออก แต่ด้วยสภาพคลื่นลมในช่วงนั้นรุนแรงมาก ทำให้น้ำไหลเข้าเรืออย่างต่อเนื่องจนเรือเอียงมากขึ้น และเริ่มจมลงจากด้านท้ายลงไปจนหัวเรือตั้งขึ้น ทำให้เกิดความชุลมุน กำลังพลบางส่วนจึงกดปลดแพชูชีพให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพได้ขึ้นไปบนแพ ส่วนกำลังพลบางส่วนที่มีเสื้อชูชีพก็พยายามว่ายน้ำไปที่เรือหลวงกระบุรีที่อยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งมีการส่งเรือเล็กเข้าไปช่วยผู้ที่อยู่ในทะเลด้วย สามารถช่วยกำลังพลได้ 75 นาย มีหลายนายบาดเจ็บ จากนั้นเช้าวันรุ่งขึ้น 19 ธันวาคมจึงเริ่มปฏิบัติหารค้นหากำลังพลที่สูญหายอีก 30 คน ก่อนจะทยอยค้นพบซึ่งมีทั้งผู้รอดและเสียชีวิต

เหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผบ.ทร.ยืนยันว่าจะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเฉพาะประเด็นที่ว่าทำไมเสื้อชูชีพไม่เพียงพอสำหรับกำลังพลบนเรือ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดข้อเท็จจริง จะสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา
อไหร่




ส่วนประเด็นการบำรุงรักษาเรือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานนั้น ผบ.ทร. ยืนยันว่า เรือหลวงสุโขทัยแม้จะใช้งานมาแล้ว 36 ปี แต่อุปกรณ์และระบบอาวุธบนเรือทั้งหมด ยังมีศักยภาพใช้งานได้ดีในระดับสูง เพิ่งผ่านการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมไปประจำการณ์ชายฝั่งทะเลอันดามัน และมีแผนจะขยายอายุการใช้งานเรือต่อไปอีกประมาณ 10 ปี

ถ้อยแถลงของ ผบ.ทร. ในประเด็นเรื่องเสื้อชูชีพที่ไม่เพียงพอต่อกำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย เป็นคำชี้แจงที่ดูเหมือนจะ  “ฟังไม่ขึ้น”  เอาเสียเลย เพราะต้องไม่ลืมว่าเรือหลวงสุโขทัยมีเขี้ยวเล็บเทียบได้กับเรือรบ แต่แค่เสื้อชูชีพทำไมถึงไม่มีสำรอง ยิ่งต้องขนกำลังพลจากหน่วยอื่นด้วยอันดับแรกก็ต้องดูว่ามีเสื้อชูชีพครบกันทุกคนไหม และหากว่าเรือหลวงสุโขทัยอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตะเวนชายฝั่งเพื่อช่วยเหลือเรือประมงและเรือสินค้าตามที่ผบ.ทร.แถลง แล้วเหตุไฉนจึงไม่มีเสื้อชูชีพสำรองเอาไว้ให้พร้อม

คำถามง่ายๆ ก็คือก่อนออกเรือ(รบ)หลวงสุโขทัย ได้ตรวจความพร้อมของเรือหรือไม่ และหาก “เรือรบ” ลำนี้ ต้องเข้าสู่สนามรบจริงๆ จะเป็นเช่นไร นี่เจอเพียงข้าศึกที่เป็นคลื่นทะเลสูง 3-4 เมตร ก็ยังไม่รอด ทั้งที่กองทัพเรืออวดความสามารถพร้อมรบของเรือหลวงสุโขทัยมีล้นเหลือ

เรือหลวงสุโขทัย ซื้อจากสหรัฐอเมริกา คุณสมบัติ ระวางขับน้ำ ปกติ 866.8 ตัน / เต็มที่ 958.9 ตัน กว้างxยาวxสูง เท่ากับ 9.6 x 76.7 x 26.82 เมตร น้ำลึกหัว 3.81 เมตร น้ำลึกท้าย 3.07 เมตร โดมโซนาร์ 4.5 เมตร เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 เครื่อง ชนิด 4 Stroke, Single Action แบบ 20V 1163 TB 83 กำลัง 7,268 แรงม้า เครื่องไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง ชนิด Self-Regulating Brushless Alternators แบบ DKB 100/550-4TS ความเร็ว มัธยัสถ์ 16 นอต สูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการสูงสุด 3,568 ไมล์ทะเล

ภารกิจหลักของเรือหลวงสุโขทัย คือการปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวน ตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ สนับสนุนการยิงฝั่ง ส่วนภารกิจรองคือสนับสนุนภารกิจกองทัพเรือ โดยขีดความสามารถของเรือหลวงสุโขทัย ระดมยิงด้วยปืน 76/62 OTO MELARA 1 กระบอก ต่อสู้อากาศยานด้วยปืนกล 40L70 มิลลิเมตร แท่นคู่ 1 กระบอก ป้องกันระยะประชิดด้วยปืนกล 40L70 มิลลิเมตร แท่นคู่ ปืนกล 20 มิลลิเมตร 2 กระบอก และเครื่องทำเป้าลวง DAGAIE ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ASPICE 2000 ด้วยแท่นยิง ALBATROS Mk2 9/T ท่อตอร์ปิโด 2 แท่น MK 32 MOD5

ThaiArmedForce.com กล่าวถึงความสำคัญของเรือหลวงสุโขทัยต่อกองทัพเรือไทยว่าเป็นเรือที่กองทัพเรือให้ความสำคัญสูงมาก มีการปรับปรุงให้ทันสมัยมาเรื่อย ๆ ไม่รวมการซ่อมทำตามวงรอบปกติ เช่น ปรับปรุงโซนาร์ DSQS-21C สำหรับการค้นหาเรือดำน้ำ เปลี่ยนระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์จาก R-ESM เป็น ES-3601 เปลี่ยนเรดาร์พื้นน้ำเป็น Scout Mk 3 LPI ติดตั้งระบบออปโทรนิกส์ DCoMPASS ปรับปรุงจรวดพื้นสู่อากาศ เป็น Aspide 2000 ปรับปรุงระบบ Datalink เป็น link Y Mk 2 และติดตั้ง link RTN

ล่าสุด กองทัพเรือก็พึ่งของบประมาณปี 2566 มาปรับปรุงเพิ่มเติมอีก โดยจะทำการเปลี่ยนตอร์ปิโดให้เป็นรุ่นใหม่คือ Mk. 54 Mod 0 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่กองทัพเรือสหรัฐฯใช้ แปลว่ากองทัพเรือมีความตั้งใจจะใช้งานเรือหลวงสุโขทัยต่ออีกอย่างน้อย 15 ปี จะเห็นได้ว่าแม้เรือจะดูมีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก แต่อุปกรณ์ข้างในไม่ได้เก่าเลย ถือว่ามีความทันสมัยมากทีเดียว การเสียเรือลำนี้ไปจึงมีผลกระทบมากกับยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพราะเป็นเรือรบหลัก ขีดความสามารถสูง

เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือรบหลัก 1 ใน 5 ลำของกองทัพเรือในตอนนี้ที่รบได้ครบ 3 มิติ คือ บนฟ้า ผิวน้ำ และใต้น้ำ และมีจรวดพื้นสู่พื้นกับพื้นสู่อากาศในการรับมือกับภัยคุกคามครบ โดยอีก 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ตามแผนความต้องการของกองทัพเรือ คือต้องมีเรือที่มีสมรรถณะสูงแบบนี้ 8 ลำด้วยกัน ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบันเคยกล่าวไว้เมื่อตอนรับตำแหน่งใหม่ว่ากำลังจะเสนองบจัดหา 1 ลำเพิ่มเติมต่อจากเรือหลวงภูมิพล ขณะที่อีก 2 ลำ ยังไม่มีแผน จึงต้องใช้ เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี ที่พอจะทดแทนได้ไปก่อน แต่เรือไม่มีจรวดพื้นสู่อากาศและระบบปราบเรือดำน้ำไม่ทันสมัย


ในการรบเป็นกองเรือ เรือหลวงสุโขทัยสามารถทำหน้าที่ในการป้องกันทางอากาศ เป็นเรือป้องกันระยะใกล้ให้กับเรือหลักที่มีคุณค่าสูงได้ เปิดเรือยามเรดาร์ให้กับกองเรือหลักได้ และทำหน้าที่ในการปราบเรือดำน้ำ เป็นเรือฉากระยะใกล้ได้ ดังนั้นการเสียเรือหลวงสุโขทัยไปคือการเสียกำลังรบชั้นแนวหน้าถึง 20% ที่กองทัพเรือมี ซึ่งก็หมายถึงจะส่งผลให้ขีดความสามารถของกองทัพเรือลดลงไปค่อนข้างมากแน่นอน

 หากพลิกประวัติศาสตร์ราชนาวีไทยกับเหตุการณ์เรือรบอับปาง เว็บไซต์ ThaiArmedForce.com ระบุว่าเหตุการณ์เรือรบของ ทร. อับปางที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มี 3 เหตุการณ์ ได้แก่ ปี พ.ศ. 2484 เหตุการณ์เรือหลวงธนบุรีจมในยุทธนาวีเกาะช้าง จ.ตราด ในกรณีพิพาทอินโดจีน ที่ถือเป็นยุทธนาวีครั้งแรกและครั้งเดียวของกองทัพเรือไทย เรือหลวงธนบุรีถูกกองเรือฝรั่งเศสยิงจนจมลง พร้อมกับเรือตอปิโดอีก 2 ลำ

ปี พ.ศ. 2488 เหตุการณ์เรือหลวงสมุยถูกจมโดยเรือดำน้ำ USS Sealion ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเรือหลวงสมุยไปรับน้ำมันจากสิงคโปร์ และถูกเรือดำน้ำยิงจมลง

ปี พ.ศ.2494 เหตุการณ์เรือหลวงศรีอยุธยา ถูกจมลงในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันหรือกบฏทหารเรือ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2494 เป็นเหตุการณ์ที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ริเริ่มก่อการ ต้องการโค่นล้มรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร เหตุการณ์นี้ จอมพล ป. เดินทางไปร่วมพิธีรับมอบเรือขุดจากอเมริกันชื่อ “แมนฮัตตัน” แต่ถูกทหารเรือจับเป็นตัวประกันและพาตัวไปกักขังไว้ที่เรือหลวงศรีอยุธยา ต่อมาเรือถูกระดมยิงและถูกทิ้งระเบิดจากกองทัพอากาศ โดยจอมพล ป. ต้องกระโดดเรือหนีออกมา 


อย่างไรก็ดี ขณะที่กองทัพเรือยังไม่สามารถให้ความกระจ่างใดๆ ได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุของเรืออับปาง ต้องรอการสอบสวนทั้งการสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุและลูกเรือและการตรวจสอบซากเรือ แต่ถ้อยแถลงที่เรียกทัวร์ลงในวันแถลงข่าวของผบ.ทร. ทำให้  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ซึ่งถือเป็นสายงานบังคับบัญชาของกองทัพเรือโดยตรง อารมณ์บ่จอย

“...ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง.... เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ....เห็นบางส่วนก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปเยอะแยะไปหมด นี่เหตุการณ์คนเสียชีวิตนะ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาซ้ำเติม ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาพูดจาให้ร้ายเสียหาย นี่แหละคือประเทศไทยเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ขออย่าสร้างความเกลียดชังกันมากนักเลย ยุ่งไปหมดทุกเรื่อง” นายกรัฐมนตรี ออกอาการหงุดหงิด

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็แอ่นอกรับแทนกองทัพเรือว่าผู้บังคับการเรือแก้ไขสถานการณ์ได้ดีที่สุด รวมถึงผู้บังคับบัญชาในลำดับชั้นอื่นๆ ในเรือ รวมถึงต้นเรือด้วย ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาเกิดจากสภาพลมฟ้าอากาศ หรือภัยพิบัติที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ต้องเข้าใจตรงนี้ว่าอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศมันเกิดได้ตลอดเวลา

ความที่กองทัพโยนให้เป็นเรื่องลมฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแสดงท่าทีหงุดหงิดเพื่อกลบเกลื่อนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ทางพรรคฝ่ายค้านก็ได้ทีขย่มซ้ำ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้สดถามพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ตอบคำถามต่อสภาฯในกรณีที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งด้วย

หากกองทัพและกลาโหมจะโยนให้เป็นเรื่องภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ก็ต้องไม่ลืมว่าข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยามีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้สามารถประเมินสภาพอากาศและคลื่นลมทะเลได้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมการณ์รับมือกับสถานกาณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรือรบและมีประสิทธิภาพในการรบครบทั้ง 3 มิติคือบนฟ้า ผิวน้ำ และใต้น้ำ ยิ่งต้องมีความแม่นยำในการคำนวณสภาพคลื่น ลมฟ้าอากาศ และเตรียมรับมือได้อย่างยอดเยี่ยมจึงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทั้งระบบของตัวเรือและบุคลากรของกองทัพเรือทั้งองคาพยพต้องมีความพร้อมก่อนออกปฏิบัติการ

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่ากองทัพเรืออวดศักยภาพความพร้อมถึงกับของบประมาณแผ่นดิน 3 หมื่นกว่าล้านบาท จัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มาประจำการ คำถามจึงตามมาว่าขนาดเรือรบยังล่ม และทั้งที่มีเวลาตั้งหลายชั่วโมงก่อนเรือจะจมลงก้นทะเล ก็ยังลำเลียงกำลังพลออกมาให้รอดปลอดภัยทุกนายไม่ได้ แล้วกรณีจัดซื้อเรือดำน้ำจะให้ประชาชนคนไทยไว้วางใจได้อย่างไร เอาแค่สเตปแรกการจัดซื้อที่ตกลงกับรัฐบาลจีนอย่างดิบดี สุดท้ายก็ได้แต่ตัวเรือ ส่วนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนีที่จะนำมาติดตั้งตามทีโออาร์หรือเงื่อนไขการจัดซื้อก็ปรากฏว่ารัฐบาลเยอรมนีไม่ขายให้จีน

ถึงตอนนี้ทัพเรือไทยกับผู้ช่วยทูตทหารจีนและตัวแทนบริษัท CSOC กำลังคุยกันว่าจะเอาเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนพัฒนาและผลิตเองให้กองทัพเรือไทยแทน เพื่อใช้สำหรับเรือดำน้ำชั้น Yuan Class รุ่น S26T ลำแรกจากจำนวน 3 ลำที่ไทยสั่งซื้อจากจีน หรือไม่ ซึ่งถ้ายอมรับนั่นก็หมายถึงขัดกับทีโออาร์การจัดซื้อเรือดำน้ำที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น และกองทัพเรือไทยจะเป็นชาติแรกของโลกที่ใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว

สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ เผยแพร่คำชี้แจงจาก พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่า กองทัพเรือยังมิได้ตกลงใจในการตอบรับหรือปฏิเสธการใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว ภายหลังบริษัท CSOC ได้เสนอข้อมูลทางเทคนิคเรื่องขีดความสามารถและสมรรถนะของเครื่องยนต์ฯ รุ่น CHD620 ให้กองทัพเรือ พิจารณา

คำชี้แจงจากโฆษกกองทัพเรือ มีขึ้นหลังจาก พล.ร.อ. ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เชิญผู้แทนบริษัท CSOC บริษัทผู้ผลิต และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำกรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีน เข้าร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T ระหว่างวันที่ 13-15 ธ.ค. ที่ผ่านมา

โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า ทร. จำเป็นต้องจัดส่งคณะผู้แทนไปเข้าร่วมการทดสอบทดลอง ณ โรงงานผู้ผลิตที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มเติมในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 และกองทัพเรือ ยังกำหนดความต้องการว่าเครื่องยนต์ที่บริษัทเสนอ จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหารจากกองทัพเรือจีน ซึ่งเป็นกองทัพเรือของประเทศผู้ผลิต โดยกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2566 จากนั้นกองทัพเรือจะรวบรวมข้อพิจารณาเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลต่อไป

ตามกำหนดการเดิม การส่งมอบเรือดำน้ำต้องส่งมอบกลางปี 2566 แต่กองทัพเรือ ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องเลื่อนการส่งมอบเป็นกลางปี 2567 แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ติดตั้งในเรือดำน้ำ ทาง ผบ.ทร. ระบุว่า การส่งมอบอาจล่าช้าน่าจะเกินปี 2567

 เรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำ ไม่รู้กำหนดชัดเจนว่าจะส่งมอบได้แน่ๆ ตอนไหน แต่รัฐบาลไทยโดยกองทัพเรือกลับตั้งหน้าตั้งตาใช้งบประมาณเพิ่มเติมจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายรายการเพื่อประกอบการมีเรือดำน้ำ ตามที่สำนักข่าวอิศรา และข้อมูลกองทัพเรือแถลง ประกอบด้วย เรือดำน้ำ 3 ลำ งบประมาณ 36,000 ล้านบาท, เรือยกพลขึ้นบก LPD “เรือหลวงช้าง” (เรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำ) 6,100 ล้านบาท, ระบบอำนวยการรบให้ “เรือหลวงช้าง” 1,000 ล้านบาท, ท่าจอดเรือดำน้ำและอาคารสนับสนุน ระยะที่ 1 900 ล้านบาท, ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่ 2 งบประมาณ 950 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีโรงซ่อมบำรุง 995 ล้านบาท, คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดสนับสนุน 130 ล้านบาท, อาคารทดสอบ และคลังอาวุธปล่อยนำวิถี 138 ล้านบาท, แผนที่เรือดำน้ำ และระบบแสดงข้อมูลข่าวสารกองทางอุทกศาสตร์ระยะที่ 1+2 งบประมาณ 265.12 ล้านบาท, เรือลากจูงขนาดกลาง 366.50 ล้านบาท, อาคารพักข้าราชการ 294 ล้านบาท, ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท เป็นต้น 


เรื่องที่เกิดขึ้นกับทัพเรือในเวลานี้ สังคมจึงไถ่ถาม ผบ.ทร. และ “นายกฯลุง” ที่สวมหมวก รมว.กระทรวงกลาโหมด้วยนั้นว่า จะแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร? ทั้งความสูญเสียกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย ทั้งมูลค่าความเสียหายของตัวเรือหลวงสุโขทัยและยุทโธปกรณ์ที่ติดตั้งซึ่งคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และความเสียหายต่อขีดความสามารถของกองทัพเรือที่สูญเสียเขี้ยวเล็บสำคัญชั้นแนวหน้า ไม่นับถึงการจัดหาเรือดำน้ำที่ยังไม่รู้กำหนดส่งมอบได้เมื่อไหร่






กำลังโหลดความคิดเห็น