คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
หนังสือชื่อ the English Constitution (ค.ศ. 1867) ของ วอลเตอร์ แบจอจ์ท (Walter Bagehot) ถูกใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร แบจอร์ทย้ำว่า การปกครองของอังกฤษในสมัยของเขานั้นเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ซึ่งรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นจารีตประเพณีการปกครอง และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดโดยจารีตประเพณีการปกครองซึ่งเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการได้ตามยุคสมัย
แบจอร์ทได้ชี้ให้เห็นถึงความจริงว่า ทั้งในทางประวัติศาสตร์และหลักการสืบราชสันตติวงศ์ เราไม่สามารถคาดหวังว่า จะได้พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาญาณและมีพระบารมีต่อเนื่องทุกรัชกาล กติกาการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสหรือพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารหรือมกุฎราชกุมารีไม่จำเป็นต้องขวนขวายในเรื่องต่างๆ เหมือนสามัญชนที่ต้องขวนขวายในทุกๆ เรื่องเพื่อความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นการขวนขวายในการศึกษา หาประสบการณ์ การพยายามทำหน้าที่การงานให้ดีที่สุดเพื่อไต่เต้าไปสู่สถานะตำแหน่งที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และระวังมิให้ต้องร่วงหล่นลงจากที่สูง ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นต่อผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์
ยิ่งนักการเมืองอังกฤษด้วยแล้ว ในระดับที่ไต่เต้าถึงรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นคนพิเศษ ทั้งการศึกษา ประสบการณ์ความรู้รอบด้าน และที่สำคัญคือ ไหวพริบความเฉลียวฉลาด
แบจอร์ทกล่าวว่า เพื่อที่จะทัดเทียมกับบรรดารัฐมนตรีของพระองค์ในเวลาที่มีการปรึกษาหารือ พระมหากษัตริย์อังกฤษจะต้องทรง “งาน” เฉกเช่นงานของพวกรัฐมนตรี แต่กระนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ถูกจำกัดจนแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจในงานของแบจอร์ท คือ เขาได้ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะต้องทรง “งาน” ด้วย ? ซึ่งเขาน่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศมหาอำนาจอย่างสหราชอาณาจักร หรือไม่ก็ประเทศอย่างกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ไม่ถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย
แบจอร์ทกล่าวว่า สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ หากพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ทรง “งาน” พระองค์จะสูญเสียพระบารมีอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์อาจจะได้จากการทรงงานอย่างอุตสาหะติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นเรื่องยากที่พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะทรงเอาใจใส่ใน “งาน” ที่จำกัดและอาจจะไม่ได้ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงบารมียิ่งใหญ่เหมือนพระมหากษัตริย์ในระบอบที่พระราชอำนาจยังไม่ถูกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์และกระตือรือร้นตามพระชันษาของพระองค์ พระองค์มักจะตกอยู่ในทางสองแพร่งระหว่างการเลือกใช้เวลาไปกับวิถีชีวิตที่ในแบบที่จะมีได้ก็แต่เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์เท่านั้น กับการใช้เวลาไปกับการทรงปฏิบัติพระราชภารกิจทรง “งาน” ประจำที่จำเจที่กว่าจะปรากฎให้เห็นผลก็ต้องใช้เวลาอีกนาน และไม่ได้จะมีอิทธิพลมากมายเหมือนพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่า อย่างที่กล่าวไป
พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ย่อมจะมีสิ่งต่างๆที่น่าตื่นเต้นเพลิดเพลินที่จะหันเหพระองค์ไปจากพระราชภารกิจประจำที่จำเจ แม้พระองค์จะตั้งพระราชปณิธานไว้ว่าจะทรง “งาน” แต่ความเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ จะดึงให้พระองค์ผลัดผ่อนไปเรื่อยๆ และแบจอร์ทก็เห็นว่า รัฐมนตรีก็จะพอใจกับพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรง “งาน” มากกว่าพระมหากษัตริย์ที่ทรง “งาน”
พระมหากษัตริย์ที่ทรงขึ้นครองราชย์ในพระชันษาที่เยาว์ (หนุ่ม-สาว) ก็มักจะเป็นเช่นนั้น แต่แบจอร์ทกล่าวไว้อีกด้วยว่า สถานการณ์จะยิ่งแย่กว่าหากพระองค์ขึ้นครองราชย์ตอนที่ทรงชราหรืออยู่ในวัยกลางคนแล้ว เพราะเมื่อถึงตอนนั้น พระองค์จะไม่ทรงพร้อมที่จะทรง “งาน” เพราะพระองค์ได้ทรงใช้เวลาในวัยหนุ่มทั้งหมดและช่วงแรกของชีวิตไปกับเรื่องอื่นๆ และไม่มีเหตุผลที่จะคาดหวังให้พระองค์ทรง “งานหนัก” อย่างที่ปรากฏในกรณีของ พระเจ้าจอร์จที่สามหรือเจ้าชายอัลเบิร์ต
แล้วพระมหากษัตริย์ในลักษณะใดที่แบจอร์ทเห็นว่าจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เหมาะสมกับพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ที่สุด ?
แบจอร์ทกล่าวว่า เงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ เจ้าชายที่เริ่มครองราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ ผู้ซึ่งทรงอยู่เหนือความสุขสบายแม้พระองค์จะยังทรงพระเยาว์ (หนุ่ม) อยู่ ผู้ซึ่งจะทุ่มเทมุ่งมั่นที่จะทรง “งานหนัก” ในขณะที่พระชันษายังหนุ่มแน่น ผู้ซึ่งโดยธรรมชาติมีอัจฉริยภาพในการวินิจฉัยไตร่ตรอง ซึ่งแบจอร์ทเห็นว่า พระมหากษัตริย์แบบที่ว่านี้ถือเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานมา พระมหากษัตริย์แบบนี้ถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่หายากที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์ทั้งหลาย
ภายใต้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ที่มีคุณสมบัติธรรมดาๆ และไม่สนพระทัยที่จะทำอะไร พระองค์จะไม่มีอะไรให้เป็นที่จดจำในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์จะไม่ได้ทำอะไรที่ดีมากหรือแย่มาก และในรัชสมัยของพระองค์ คณะรัฐมนตรีในระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็จะทำงานไปไม่ต่างจากคณะรัฐมนตรีในระบอบการปกครองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์
ผู้เขียนเห็นว่า การที่แบจอร์ท กล่าวเช่นนี้ เท่ากับเป็นการเตือนให้เห็นว่า หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรง “งาน” แล้ว และปล่อยให้คณะรัฐมนตรีทำงานไป การมีหรือไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ดูจะไม่แตกต่างกัน !!
นอกจากนี้ แบจอร์ทยังกล่าวในภาษาละตินไว้ด้วยว่า corruptio optimi pessimo (การฉ้อฉลของสิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด) และเขาได้ขยายความว่า กรณีที่เป็นความชั่วร้ายที่สุดของการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์จะเลวร้ายยิ่งกว่าความชั่วร้ายที่สุดของการปกครองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์
ผู้เขียนตีความว่า ในสายตาของแบจอร์ท การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญถือเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด และหากเกิดการฉ้อฉลในการปกครองนี้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นจะเลวร้ายยิ่งกว่ารูปแบบการปกครองอื่นใด
ในปัจจุบัน ก็มีนักวิชาการที่เห็นว่า รูปแบบการปกครอง “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดที่มีอยู่” (ผู้สนใจโปรดดูได้จาก ข้อความตอนหนึ่งในปาฐกถานำหัวข้อ “บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” ของ ศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบและเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา, การเสวนา “บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน” เมื่อ 15 พ.ค.2564 จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ https://prachatai.com/journal/2021/05/93178)
แบจอร์ทอธิบายสิ่งที่เขากล่าวไปว่ามันไม่ยากที่จะจินตนาการถึงความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างเช่นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงพระปรีชาญาณแต่กลับแข็งขันและชอบที่จะแทรกแซง ที่มักจะทำในยามไม่ควรทำ และไม่ทำเมื่อควรทำ เช่น ยามที่รัฐมนตรีมีวิจารณญาณที่ดีในเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว ก็กลับจะไปตักเตือน ยามที่รัฐมนตรีมีนโยบายที่ไม่ฉลาดก็กลับสนับสนุน และพระมหากษัตริย์ในลักษณะนี้มักจะตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น คนโปรดของพระองค์จะชักนำพระองค์ บรรดานางสนมจะทำให้พระองค์เสียพระองค์ ราชสำนักที่เลวร้ายจะด้อยค่ารัฐบาลเสรี
แบจอร์ทได้กล่าวถึงตัวอย่างอันเลวร้ายและอันตรายต่างๆ ของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างกรณีพระเจ้าจอร์จที่สามที่วิปลาสและชอบแทรกแซง และเมื่อเกิดวิกฤตคราใด ก็ไม่ทรงสามารถใช้เหตุผลได้อย่างเต็มที่ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงมีแต่ความดันทุรังความดื้อรั้น เหมือนคนเสียสติ พระองค์ทรงเป็นคนดื้อรั้นและมีอิทธิพลชั่วร้าย พระองค์ไม่สามารถละจากสิ่งที่ไม่ควรทำหรือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างของบรรดาคนที่ความดีจะสูญสลายยามที่จากโลกนี้ไปตายไปกับพวกเขา แต่ความชั่วร้ายดำรงอยู่แม้จะตัวจะตายไปแล้วก็ตาม
แบจอร์ทกล่าว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ที่แข็งขันและกึ่งบ้า จะกลายเป็นการปกครองที่เลวร้าย เพราะความชั่วร้ายของพระมหากษัตริย์ที่เลวเป็นสิ่งที่ยากที่จะเยียวยา แต่ทว่าคุณประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ที่ดีนั้นก็แทบจะประเมินค่าไม่ได้