ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ได้เวลา “พรรคเล็ก-พรรคใหม่” ตะเกียกตะกายหนีตาย หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านทุกด่าน เตรียมใช้เป็นกติกาเลือกตั้งใหม่ หลักใหญ่คือ บัตรสองใบ แบ่งบัตรพรรค-บัตรคน พร้อมสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) หาร 100 โดยที่จำนวน ส.ส.เขตเพิ่มเป็น 400 และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน
ก็เลยได้เห็นนักเลือกตั้งออกอาการพล่านกันยกใหญ่ ตามสูตรที่ตกผลึกแล้วว่า มี 2 โมเดล "ควบรวม" และ "สู้ต่อ" เพื่อให้ตัวเองกลับมานั่งเก้าอี้ผู้ทรงเกียรติ ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
โมเดล “หนีตาย” ยอดนิยมคือการ “ยุบพรรค- เลิกกิจการ” แล้วย้ายไปอยู่กับ พรรคการเมืองใหญ่ ถนนพรรคเล็กมุ่งไปที่พรรคพลังประชารัฐ โดยก่อนหน้านี้มี 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชานิยม ของ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์, พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และพรรคประชาธรรมไทของ พิเชษฐ สถิรชวาล
แต่ในห้วงเวลานี้ “ค่ายหลวงพ่อป้อม” พรรคพลังประชารัฐ คงปิดประตูไม่รับ “พรรคเล็ก” เข้ามาเพิ่มความรำคาญใจให้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกต่อไป
ทำให้ “พรรคเล็ก” ต้องดิ้นอีกรอบคิดโมเดล "การควบรวมกันเอง” โดยล่าสุด “หมอระวี” นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เปิดดีล 20 พรรคการเมือง ทั้งที่เป็นพรรคที่มี ส.ส.ในสภาปัจจุบัน เช่น พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ของ “ครูปรีดา” ปรีดา บุญเพลิง, พรรคพลเมืองไทย ของ “เสี่ยติ่ง” สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ และพรรคนอกสภาอีกจำนวนหนึ่ง
แต่แนวคิดดังกล่าวยังไม่มีการตกผลึกที่ชัดเจน ในแนวทางเดินหน้า เพราะด้วยกติกาของการทำพรรคการเมือง จำเป็นที่แต่ละพรรค ต้องฟังเสียงของกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคก่อนตัดสินใจใดๆ
อย่าง “ครูปรีดา” บอกว่าในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ กรรมการบริหารพรรคจะหารือถึงประเด็นควบรวมพรรค หากมีมติอย่างไร จะจัดประชุมพรรคเพื่อขอมติจากสมาชิก ส่วนแนวโน้มยังเป็น 50:50 ระหว่าง "เดินหน้าสู้ต่อ" หรือ “ควบรวม"
อย่างไรก็ดีในพรรคเล็กที่ตัดสินใจ “เดินหน้า” สู้ศึกเลือกตั้ง ชัดเจนแล้ว มีทั้งพรรคไทยศรีวิไลย์ ของ “เต้ พระราม 7” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หรือพรรคประชาธิปไตยใหม่ของ สุรทิน พิจารณ์ เพราะมั่นใจใน “แสง” ของตัวเอง
“สุรทิน” พร้อมส่งผู้สมัครแบบเขต 250 คน และ บัญชีรายชื่อ 100 คน ขณะที่ ส.ส.ที่คาดหวังจะเข้าสภาฯ มั่นใจจะได้จาก “บัญชีรายชื่อ” ส่วนกลยุทธ์ที่หาเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้หว่านไปทั่ว แต่จะเน้นเจาะกลุ่มเดือดร้อน เข้าหา "แกนนำ-ผู้มีอิทธิพลของกลุ่ม”
ขณะที่พรรคประชาภิวัฒน์ของ สมเกียรติ ศรลัมพ์ และมี “เจ๊มันแกว” นันทนา สงฆ์ประชา ที่เพิ่งลาออกจาก ส.ส. พร้อมกับ “เฮียแดง” มณฑล สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ พบความเคลื่อนไหวที่จะย้ายสังกัดไปร่วมงานกับ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย
จากโมเดล “เลิกกิจการ” ไปสู่การ “ควบรวม” เป็น พรรคแนวร่วม อาจเป็นทางที่ “พรรคเล็ก-ส.ส.ปัดเศษ” คิดว่า “จะอยู่ให้รอด” ในกติกาเลือกตั้งใหม่ ที่ไม่เอื้อให้ “พรรคเล็ก-พรรคทางเลือก” อยู่ได้ แต่แนวทางที่คิดจะทำ ต้องวัดผลเอาข้างหน้าว่า “ฐานมวลชน” จะยังศรัทธาและกาคะแนนให้ เป็นแต้มที่พอ ต่อการส่ง ส.ส.เข้าสภาฯหรือไม่
ข้ามฟากมาที่ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนี้ร้อนระอุ แม้จะปิดข่าวให้เงียบภายใน แต่เหยียบไว้ไม่มิด หลัง “กลุ่มกบฏ” ต้องการโค่น “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้พ้นจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพราะระยะหลังกระแสพรรคไม่กระเตื้อง กระทั่งภาคใต้ยังร่อแร่
ผลสำรวจ “นิด้าโพล” บอกชัดคะแนนนิยมของ จุรินทร์ ตกเป็นรอง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แม้ยังไม่คอนเฟิร์มอย่างเป็นทางการว่าจะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ แต่ในทางลับดีลทุกอย่างจบเหมือนแล้ว “นายกฯ ลุงตู่” กำลังสนุกกับการขับเคลื่อนการเมืองด้วยตัวเอง
สวนทางกับ “จุรินทร์” คะแนนนิยมในพื้นที่ภาคใต้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน น้อยกว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เสียอีก ทำให้ “แกนนำค่ายสะตอ” ในสายบังคับบัญชาของ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค ต้องดิ้นรนคิดเกมเปลี่ยน “หัวหน้าพรรค” หวังฟื้นศรัทธาพรรค ที่ล้มเหลวจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นปรากฏการณ์ "กรุงเทพฯสูญพันธุ์ ภาคใต้ฟันหรอ"
แถมระดับความเชื่อมั่นของลูกพรรคต่อหัวหน้าก็ตกต่ำสุดขีด จนเกิดภาวะ “เลือดไหลออก” แกนนำ-ส.ส.ทยอยลาออกไปสังกัดพรรคอื่นเป็นแถว
โดย “บิ๊กเนม” ที่หันหลังให้พรรคในยุค “หัวหน้าอู๊ด” โดยส่วนใหญ่ต่าง “ทิ้งบอมบ์” ออกปากว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบยริหารพรรคทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ, กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม, กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม., นพ.ปรีชา มุสิกุล อดีต ส.ส.กำแพงเพชร อดีต รมช.สาธารณสุข,
วิฑูรย์ นามบุตร อดีต ส.ส.อุบลราชธานี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง อดีต รมว.วัฒนธรรม, ไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และอดีต ส.ส.สงขลา, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. อดีตแกนนำ กปปส., ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา หลายสมัย และอดีต รมช.คมนาคม, อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.กทม. 9 สมัย, ตระกูลเสนพงศ์, สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง และล่าสุด แนน บุณย์ธิดา สมชัย อดีต ส.ส.อุบลราชธานี
ส่วนที่ใจไปแล้ว แต่ตัวยังอยู่ ก็มีอาทิ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช, “แม่เลี้ยงติ๊ก” นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ, รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม, พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม, วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
สภาพการณ์เช่นนี้ “เลขาฯต่อ” คงต้องได้ทำตามคำสัญญาที่ได้เอ่ยปากไว้ว่าจะเลิกเล่นการเมือง หากพรรคได้ ส.ส. น้อยกว่า 52 ที่นั่ง เพราะหากพื้นที่ภาคใต้โดน “ทีมลุงตู่” เจาะในหลายเขต โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะกวาด ส.ส. เหมือนสมัยก่อนน้อยลงทันที
แถมหากยังไม่ขยับทำอะไรแต่เนิ่น อาจต้องปิดตำนาน “พรรคแมลงสาบ” ในไม่ช้า
มีกระแสข่าวว่า “ลูกพี่ต่อ” สั่งการทางลับให้ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้ และ “เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส. นครศรีธรรมราช ปฏิบัติการรวบรวมเสียง กรรมการบริหารพรรค ให้ได้อย่างน้อยกึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด เข้าเงื่อนไข “ล้างไพ่” ปลดกรรมการบริหารรคยกชุดตามข้อบังคับพรรค เพื่อกดดันให้ “จุรินทร์” ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่
ปรากฎว่าเดินเกมเพียงไม่กี่วันก็ได้ตามเป้า มีกรรมการบริหารพรรค “เซย์เยส” เอาด้วยถึง 16 คน รอเพียง “กดปุ่ม” ยื่นใบลาออก ก็โป๊ะเชะตามแผน
โดยกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันเดิมทีมีทั้งสิ้น 37 คน แต่ได้ลาออกจากกรณี ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อช่วงเดือน เมษายน 2565 จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ปริญญ์, นก วงษ์ตระหง่าน อดีตรองหัวหน้าพรรค, อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีตกรรมการบริหารพรรค และ มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรค ก่อนที่จะมีการเลื่อน สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ และ ฮูวัยดียะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง ขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่างลง
และเมื่อวันที่ 8 ธันวคม 2565 สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล กรรมการบริหารพรรค ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากมีปัญหาการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.ใน จ.ตรัง
ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือกรรมการบริหารพรรค 34 คน หากต้องการให้กรรมการบริหารพรรคพ้นตำแหน่งทั้งหมด ก็ต้องให้กรรมการบริหารพรรคกึ่งหนึ่งหรือ 19 คนจากจำนวนเต็ม 37 คนลาออก เมื่อนับในส่วนที่ลาออกไปโดยไม่ได้แต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง 3 คน คือ ปริญญ์, กนก และ สมบูรณ์ ก็จะขาดอีกเพียง 16 คนเท่านั้น
โดยโพยรายชื่อ “ผู้สมคบคิด” ทั้งหมดอยู่ในมือของ “เสี่ยแทน” แต่สุดท้ายแผนแตก เพราะมี “มือดี” ที่เบี้ยวนัด “ฝ่ายก่อการ” ขอถอนชื่อออก 1 คน และ “พลิกเกม” ไปมอบตัวพร้อมสาธยายแผนการและรายชื่อผู้สมคบคิดทั้งหมดกับ “จุรินทร์”
ทำให้ทีมกบฏต้องล้มแผนปฏิบัติการทันที
เมื่อแผนแตก “ทีมกบฏ” ก็เปลี่ยนเกมบ้าง มายื่นข้อเสนอต่อรองกับ “หัวหน้าอู๊ด” โดยขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้ “แกนนำมุ้ง” หากกลับมาเป็นพรรครวมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ต้องการันตีเก้าอี้ให้ทันที
ซึ่งแน่นอนวันนี้เพื่อเอาตัวรอด “จุรินทร์” ก็จำเป็นรับปาก ส่วนถึงเวลาจะทำตามหรือไม่ก็อีกเรื่อง
ส่วน “มือดีคนงาม” ที่หักหลังกลุ่มกบฏ อาจจะได้รับการปูนบำเหน็จ ให้จัดลำดับบัญชีรายชื่ออยู่ในลำดับ 8-10 เพื่อการันตีเก้าอี้ ส.ส. เพราะมีการวิเคราะห์กันแล้วว่า “เซฟโซน” บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ตามกติกาใหม่ ไม่เกิน 10 ที่นั่งเท่านั้น
งานนี้ “มือดีคนงาม” ก็เลยฉวยจังหวะเอาหน้า เพราะรู้ตัวว่า มี “มาดามบางนา” ที่เพิ่งมาร่วมงานกับพรรค เข้ามาคุกคามความปลอดภัยในตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
น่าสังเกตว่า ข่าวคราวพรรคประชาธิปัตย์ที่ร้อนฉ่าองศาเดือดขนาดนี้ “ค่ายบางนา” ที่มักวิเคราะห์ทุกสถานการณ์การเมือง กลับมาหยิบมาเล่นเหมือนกรณีอื่นๆ คงเกรงว่าจะกระทบต่อสถานะของ “มาดามบางนา” ที่จดๆ จ้องๆ จะต่อรองของลำดับบัญชีรายชื่อไม่เกินลำดับที่ 10 เช่นกัน
ข่าว “กบฏค่ายสะตอ” แกนนำพรรคออกมาปฏิเสธกันมากหน้าหลายตา แม้ปฏิบัติการจะยุติลง แต่ความเคลื่อนไหวยังปรากฏ หลายคนเริ่มระแวงกันเอง มีแกนนำพรรคบางคนกระซิบกันว่า “คนปล่อยข่าว” คือ นิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย คนเคยรักกันดีกับ “เฉลิมชัย-เดชอิศม์”
โดยมองว่า จุดมุ่งหมายของ “นิพนธ์” ต้องการหาที่ปักหลักให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจ หวังจะโค่น “เฉลิมชัย” ให้พ้นจากเก้าอี้ “แม่บ้านพรรค” เพื่อส่งตัวเองเข้ามานั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคแทน ทำให้ “ทีมกบฏ” แค้นหนักมาก
ส่วนตัว “นิพนธ์” ไม่แคร์ทีมกบฏ ปรากฏตัวข้างกาย “จุรินทร์” ในงานประชุมพรรค เมื่อวัน 13 ธันวาคมที่ผ่าน โดยข้างกายของ “จุรินทร์” แทบไม่มี “ทีมกบฏ” ปรากฏตัวเลยแม้แต่คนเดียว
ดังนั้นฟันธงได้เลยว่าความสัมพันธ์ภายในแตกร้าวไปหมดทั้ง “ค่ายสะตอ” แม้ฉากจะจูบปากหวานชื่น ออกมาให้สัมภาษณ์พร้อมสนับสนุน “จุรินทร์” แต่ฉากหลัง “ซ่อนมีด-ซ่อนปืน” พร้อมชักธงรับกันตลอดเวลา
“ทีมจุรินทร์” ไม่มีทางไว้วางใจ “ทีมเฉลิมชัย” อย่างสนิทใจเหมือนเก่าก่อน เช่นเดียวกับ “ทีมเฉลิมชัย” คงไม่ไว้ใจ “นิพนธ์” ที่คิดจะโค่นล้มให้พ้นจากอำนาจ สถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์รอวันแตกหัก
เพียงแต่วันนี้จำเป็นต้องเข็น “จุรินทร์” ลงสนามเลือกตั้ง เพราะจะหาใครมาทดแทนคงไม่ทัน จะหักกันแบบไร้ปราณีก็เกรงจะเสียเครดิต ภาพลักษณ์ไม่ดี
ชั่วโมงนี้กูรูหลายสำนักมองว่า มีโอกาสริบหรี่ที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. มากกว่า 52 ที่นั่งที่ถือว่าต่ำมากแล้วในการเลือกตั้งปี 2562
ตามรูปการณ์นี้ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ก็คงได้เลิกเล่นการเมืองตามที่เดิมพันไว้
เว้นเสียแต่จะ “ใจเสาะ” สร้างดรามาพาตัวเองพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพื่อกล่าวอ้างไม่มีอำนาจบริหาร ปัดความรับผิดชอบในภายหลัง.