xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ของขวัญปีใหม่จาก “ซานต้าตู่” ขึ้นค่าไฟฟ้า 5 บาทกว่าต่อหน่วย กลุ่มทุนร้องจ๊าก!จ่อขยับราคาสินค้า 5-12%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เขย่าขวัญใกล้สิ้นปีข่าวไม่ดีจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่เตรียมขยับราคาสินค้าขึ้น 5-10% ถ้าหากว่ารัฐบาลยังจัดการกับปัญหาค่าไฟฟ้าที่จะพุ่งทะลุขึ้นกว่า 5 บาทต่อหน่วย เพราะความผิดพลาดและการบริหารพลังงานบกพร่องจากการปล่อยให้ไฟฟ้าสำรองในระบบมากล้นเกิน และการส่งมอบก๊าซฯจากอ่าวไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านไม่เป็นไปตามสัญญา  


การเปิดหน้าชนรอบนี้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมจะไม่ทน เพราะที่ผ่านมาก็ส่งเสียงเรียกร้องต่อรัฐบาลมาเป็นระยะ เพราะไม่อยากผลักภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าแพงไปยังผู้บริโภค แต่สุดท้ายเมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณไฟเขียวให้ขึ้นค่าไฟฟ้า โดยไม่มีการชะลอออกไปก่อนตามคำขอ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเผยว่า หากรัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันเฉลี่ยค่าไฟรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเฉลี่ย 5-12%

ไม่เพียงแต่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นเท่านั้น การขึ้นค่าไฟฟ้ายังจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังตัดสินใจย้ายฐานการผลิต ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอีกด้วย

 “เราต้องยอมรับว่าปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอยแต่ละประเทศมีการแข่งขันกันสูงขึ้นทั้งการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ไทยเรามีจุดเด่นหลายอย่างแต่ค่าไฟที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่อยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วย ส่งผลต่อขีดแข่งขันของเรายิ่งลดต่ำลงไปอีก จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่าค่าไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสูงและเมื่อต้องเสนอเรื่องเข้าบอร์ดบริษัทแม่มักจะไม่ผ่านในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการบั่นทอนการตัดสินใจการลงทุนของต่างชาติ” นายเกรียงไกร สะท้อนปัญหาจากค่าไฟฟ้าแพงเกินของประเทศไทย 

สำหรับต้นทุนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้ามากน้อยเพียงใดนั้น นายเกรียงไกรบอกว่ามากน้อยต่างกันไปตามแต่ละประเภทอุตสาหกรรม โดยภาคการผลิตที่ใช้ไฟสูง เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เยื่อกระดาษ ปูนซีเมนต์ กระจก ฯลฯ ที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าเอฟทีก่อนหน้านั้นมีผลกระทบต่อต้นทุนราว 5-12% หากขยับค่าไฟฟ้าขึ้นไปอีกคาดว่าต้นทุนเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าไฟที่ปรับเพิ่ม และจะนำไปสู่การปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการทยอยปรับ ส่วนจะปรับมากหรือน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่แต่ละภาคการผลิต

ประธาน ส.อ.ท. เรียกร้องต่อรัฐบาลมาโดยตลอดว่าให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ออกไปก่อนเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประกอบกับที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งจากค่าพลังงาน วัตถุดิบ ค่าแรง ต่างทยอยปรับขึ้น ส.อ.ท.ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา และ กกร.ต่างเห็นด้วยที่จะเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดใหม่ออกไปก่อน

เบื้องหลังข้อเสนอของ ส.อ.ท. ที่ กกร. เห็นด้วยว่ารัฐบาลน่าจะต้องชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 66) ออกไปนั้น  นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  รองประธาน ส.อ.ท. ชี้ว่ามีเหตุผล 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1.ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 65) ถูกปรับขึ้นมามากแล้วถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการผลิตอยู่แล้ว หากปรับขึ้นอีกในงวดถัดไป (ม.ค.-เม.ย. 66) ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น 3 แนวทาง ซึ่งจะขยับเป็น 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย ถือเป็นการปรับขึ้นแบบรุนแรงสองงวดติดต่อกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงมากจนทุกภาคส่วนยากจะปรับตัวจนอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาดได้

2.กกพ.ได้ประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากการผลิตก๊าซในอ่าวไทยมากขึ้นและราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะลดลงสู่ระดับปกติ จึงมองว่าควรเป็นโอกาสให้ชะลอการขึ้นค่า Ft งวดใหม่ไว้ก่อน เมื่อต้นทุนค่าไฟลดลงต่ำกว่าค่า Ft แล้วจึงบริหารค่า Ft อย่างเหมาะสมเพื่อชดเชยและลดภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทนประชาชนผู้ใช้ไฟในปัจจุบัน

3.ภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนราว 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้กฟผ.สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้นและยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปีโดยวิธีการต่างๆ ได้ เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น

4.ในสถานการณ์ค่าไฟสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัวกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติจนผู้ใช้ไฟต้องแบกรับภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูงถึง 30,665 ล้านบาท (งวด ก.ย.-ธ.ค. 65) และ 32,420 ล้านบาท (งวด ม.ค.-เม.ย. 66) จึงควรให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เร่งตัดทอนการลงทุนอย่างเข้มข้นเพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยลดค่าไฟฟ้าเนื่องจากเป็นเงินซึ่ง 3 การไฟฟ้าได้เรียกเก็บไว้ในค่าไฟฟ้าฐานล่วงหน้าอยู่แล้ว

นายอิศเรศ ยังชี้ว่า จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แสดงให้เห็นว่าสาเหตุหลักที่ค่าพลังงานและค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสูงกว่าประเทศใกล้เคียง เป็นเพราะประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป และยังขาดแผนสำรองที่ดีในการบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ส่งผลให้การผลิตก๊าซฯ ต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยต่ำกว่าแผนมาก อีกทั้งประเทศเมียนมาร์ลดการส่งก๊าซฯ ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซฯ เหลวแบบสัญญาจร หรือ Spot LNG ที่มีราคาสูงมากกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเข้ามาเสริม



นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 นอกจากนั้น ภาครัฐยังคาดการณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงเกินไป และเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น จนทำให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบล้นเกินถึง 52% จากที่ควรสำรองไฟฟ้าเพียง 15% กลายเป็นภาระต้นทุนของประเทศในระยะยาว รวมทั้งนโยบายพลังงานของประเทศไทย ยังขาดกลไกตลาดเสรีที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่ง/จำหน่ายไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสายส่ง/จำหน่ายของ 3 การไฟฟ้า อีกด้วย 

นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 เป็นต้นมา ส.อ.ท. ได้ทำหนังสือยื่นข้อเรียกร้องถึงกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้หาทางแก้ไขต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ชะลอการปรับขึ้นค่าเอฟที และแก้ปัญหาสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯสำหรับภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐแต่อย่างใด

ปัจจุบันราคาพลังงานมีความผันผวนและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและครัวเรือนเป็นกลุ่มหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

แรงกดดันจากภาคเอกชนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. เผยว่า กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนและผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาปรับค่าเอฟทีงวด 1/2566 ซึ่งจะประกาศบังคับใช้ให้ทันในวันที่ 1 ม.ค. 2566

ประเด็นสำคัญที่สุดตามที่เลขาธิการ กกพ. บอกกล่าวคือสถานการณ์ราคาก๊าซฯ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2566 และไทยขาดแคลนก๊าซฯ บวกกับ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้ามามากจนไม่ไหวแล้ว และต้องให้ บมจ.ปตท. ช่วยจัดสรรวงเงินมาเป็นส่วนลดค่าก๊าซฯที่ขายให้กับ กฟผ.

 และในที่สุด เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ออกมาเปิดเผยผลการประชุม กกพ. ครั้งที่ 58/2565 (ครั้งที่ 825) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ซึ่งพิจารณาเห็นชอบผลการคำนวณค่า Ft ที่ กฟผ. เสนอตามแนวทางที่ กพช. เห็นชอบ ประจำงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย 

ปัจจัยหลักที่กระทบค่า Ft ในรอบนี้มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ ตามการประมาณการปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคิดค่า Ft ในรอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 และภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้ Ft กฟผ.

ก่อนที่จะเคาะตัวเลขค่าเอฟทีดังกล่าวออกมา กกพ.ได้ปรับปรุงแนวทางการคำนวนค่าเอฟที โดยให้ ปตท. ทบทวนการประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับมติ กพช. และแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน เช่น เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนการนำเข้า LNG ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกและความสามารถในการขนส่งน้ำมันดีเซลให้กับโรงไฟฟ้า, เพิ่มปริมาณก๊าซในอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้าโดยลดปริมาณก๊าซอ่าวไทยเข้าโรงแยกก๊าซ แล้วส่งมาผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในสหภาพพม่า, ปรับปรุงสมมุติฐานราคานำเข้า LNG Spot อ้างอิงตามแนวโน้มที่ดีขึ้น และยังให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 ที่ปลดแล้วตามความจำเป็น เป็นต้น

การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ประมาณการราคา Pool Gas ลดลงจาก 552 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 493 บาทต่อล้านบีทียู ต่อมาจึงคำนวณโดยแบ่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าให้บ้านอยู่อาศัยก่อน ทำให้บ้านอยู่อาศัยสามารถใช้ก๊าซในราคา 238 บาทต่อล้านบีทียู และจัดสรรก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยส่วนที่เหลือรวมกับก๊าซจากสหภาพพม่าและ LNG สำหรับผู้ใช้ก๊าซรายอื่น ๆ (Pool Gas ส่วนเหลือ) ในราคา 542 บาทต่อล้านบีทียู

นอกจากนั้น กกพ. ยังให้ กฟผ. ปรับสมมุติฐานราคาเชื้อเพลิงตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานและมติ กพช. โดยปรับการคำนวณ Ft ใหม่ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ในราคา 238 บาทต่อล้านบีทียูทดแทนราคาก๊าซธรรมชาติเดิมสำหรับการคิดค่า Ft ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย และใช้ราคาก๊าซธรรมชาติส่วนที่เหลือ (Pool Gas ส่วนเหลือ) ในราคา 542 บาทต่อล้านบีทียู ทดแทนราคาก๊าซธรรมชาติเดิมสำหรับสำหรับการคิดค่า Ft ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ

 ส่วนภาระการเงินและภาระหนี้สินสะสมของ กฟผ. กกพ. มีมติให้มีการทยอยจ่ายคืนหนี้ Ft คงค้างเพื่อไม่ให้เป็นภาระปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ. และไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป โดย กฟผ.ขอเสนอให้เฉลี่ยยอดหนี้ ณ เดือน ส.ค. 2565 จำนวน 122,257 ล้านบาท โดยเฉลี่ยการเรียกเก็บเป็นเวลา 2 ปี 

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรม และผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นนอกเหนือจากครัวเรือนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นแล้ว หันมามองในส่วนของผู้ใช้น้ำมันในระยะเดือนที่ผ่านมาก็ถูกผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ และกองทุนน้ำมันร่วมมือกันล้วงเงินจากผู้บริโภคกันอย่างไม่บันยะบันยัง แถมผู้ใช้น้ำมันเบนซินยังถูกรีดหนักกว่าผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นๆ อีกด้วย

ประเด็นนี้  นางสาวรสนา โตสิตระกูล  อดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งศึกษาและติดตามปัญหาพลังงานของประเทศไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า มีการเก็บเงินจากแก๊สโซฮอล์เข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะลดราคาเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ถามว่าเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันหรือไม่

 ระยะเดือนที่ผ่านมา ทั้งผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ และกองทุนน้ำมันร่วมมือกันล้วงเงินจากผู้บริโภคกันอย่างไม่บันยะบันยัง เพราะน้ำมันตลาดโลกราคาลดลงจนเนื้อน้ำมันเบนซิน 95 ราคาเหลือเพียง 19.32 บาท แต่ราคาขายปลีกหน้าปั๊ม ยังสูงถึง 41.56 บาท/ลิตร สูงกว่าต้นทุนเนื้อน้ำมัน ถึงลิตรละ 22.24 บาท !! 


นอกจากภาษีสรรพสามิต 6.50บาท/ลิตร และภาษีอื่นๆ แล้ว มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จากลิตรละ 7.8 บาท ในเดือนพ.ย เป็นลิตรละ 9.38 บาท ซึ่งสูงกว่าภาษีสรรพสามิตที่มีกฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ 7 บาท/ลิตร ส่วนกองทุนน้ำมันแม้ไม่มีการกำหนดเพดาน แต่ไม่ควรถือโอกาสเก็บเท่าใดก็ได้ตามใจชอบ ทำให้เป็นภาระเกินสมควรต่อประชาชน

การเก็บเงินจากคนใช้น้ำมันเบนซิน 95 ที่สูงมากทั้งภาษี และกองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีกหน้าปั๊มสูงถึง 41.56 บาท/ลิตร เป็นช่องทางในการถ่างราคาของเบนซินกลุ่มแก๊สโซฮอล์ให้มีราคาแพงเกินสมควรไปด้วย

เมื่อเนื้อน้ำมันเบนซินเหลือแค่ 19 บาทกว่า ราคาขายปลีกในอดีตอยู่ที่ประมาณ 26-27 บาท/ลิตร แต่ขณะนี้ผู้บริหารในกระทรวงพลังงานและผู้ค้าน้ำมันคิดว่าประชาชนเคยชินกับราคาน้ำมันลิตรละ 30 กว่าบาท ก็เลยทำทุกวิถีทางจะคงราคาที่เชื่อว่าผู้บริโภครับได้โดยไม่มีการโวย ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกลดลง แทนที่จะลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ก็จะเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 จากวันที่ 21 พ.ย. มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 แค่ 79 สต./ลิตร พอถึงวันที่ 29 พ.ย. มีการเก็บเพิ่มเป็น 1.40 บาท และ 6 ธ.ค. เพิ่มเป็น 1.60 บาท จากนั้น 9 ธ.ค. เพิ่มเป็น 2.10 บาท วันที่ 13 ธ.ค. เพิ่มเป็น 2.30 บาท และวันที่ 14 ธ.ค. เพิ่มเป็น 2.80 บาท ทั้งยังประกาศขึ้นราคาน้ำมันวันที่ 15ธ.ค. อีก30 สต./ลิตร แทนที่จะลดส่วนที่เก็บเข้ากองทุนฯลงไป มีความเป็นธรรมหรือไม่ 

การอ้างว่ากองทุนฯมีหนี้ ก็เป็นหนี้ของดีเซลและก๊าซหุงต้ม ซึ่งขณะนี้ก็รีดจากคนใช้ดีเซลถึงลิตรละ 6.03 บาท จึงไม่ควรรีดเงินจากผู้ใช้เบนซินเกินสมควรเช่นนี้ เพราะเงินจากคนใช้เบนซินไปชดเชยให้ดีเซลมาตลอด ทั้งที่เป็นการชดเชยข้ามผลิตภัณฑ์ โดยคนใช้น้ำมันเบนซินไม่เคยได้รับการชดเชยราคาจากเงินของตัวเองเลยเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น

กองทุนน้ำมันกำลังทำผิดกฎหมายหรือไม่ การนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยน้ำมันข้ามผลิตภัณฑ์ ด้วยการเอาไปชดเชยน้ำมันชีวภาพราคาแพงที่นำมาผสมในน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งกฎหมายให้ใช้เป็นการชั่วคราว และต้องลดลงในแต่ละปี แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ลดลง มีแต่เพิ่มมากขึ้น กองทุนน้ำมันจึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นกองทุนเพื่อประกันกำไรให้กลุ่มทุนพลังงานจากนโยบายรัฐ เฉกเช่นเดียวกับกรณีค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลเอื้อแต่กลุ่มทุนพลังงาน ใช่หรือไม่

กระบวนการล้วงกระเป๋าประชาชนโดยไม่คำนึงถึงภาระเกินสมควรของประชาชนนั้น มีความเป็นธรรมเพียงใด เป็นการดำเนินงานอย่างไร้ซึ่งกติกาหรือไม่

นางสาวรสนา เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานออกมาแถลงให้ชัดเจนว่ากติกาการขึ้นหรือลดราคาน้ำมันที่บอกว่าเป็นกลไกตลาดเสรีของพวกท่าน มันคืออะไรกันแน่ กองทุนน้ำมันควรมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตราสูงสุดเท่าไหร่ หรือเก็บตามใจชอบ ?! และค่าการตลาดที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ขอให้ชี้แจงออกมาให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจน อย่าเห็นประชาชนเป็นหมูในอวย หรือไก่ในเล้า คิดจะแล่เนื้อเถือหนังอย่างไรก็ได้

“ดิฉันขอเรียกร้องบรรดาผู้แทนราษฎรในรัฐสภา โปรดออกมาช่วยตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนบ้าง อย่าให้พฤติกรรมด้านได้ อายอด เป็นนโยบายในการบริหารพลังงานในประเทศนี้เลย” อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร เรียกร้องต่อผู้แทนของราษฎรให้ออกมาดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย

อย่าลืมว่าเทรนด์ราคาพลังงานของโลกยังเป็นขาขึ้น ยิ่งจีนเปิดประเทศ จะกระตุ้นการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันก็จะปรับขึ้นตาม และการประกาศของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) ที่ยังคงตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบเท่าเดิม แม้สหภาพยุโรปจะกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียก็ตาม ขณะที่ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลก ณ ปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวเป็นแนวโน้มผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นในอนาคต
 
ค่าพลังงานแพงจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล สุดท้ายแล้วคนทุกข์หนักคือประชาชนคนไทยตาดำๆ ที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ในการกำหนดราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำมัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น