ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เพราะอยู่ในฤดูกาลหาเสียง นักการเมืองจึงเมามันขายฝันกันใหญ่กับคำสัญญาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ล่าสุดพรรคก้าวไกลเกทับถ้าได้เป็นรัฐบาลขึ้นทันที 450 บาทต่อวัน ขณะที่ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นคือคนตกงานกันเป็นเบือ เอาเฉพาะปริญญาตรีว่างงานเกือบ 2 แสนคน สะท้อนสภาพว่าค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ปรับขึ้น งานการก็ยังหายากจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี
ส่วนกระแสต่อเนื่องที่ “คุณหนูอุ๊งอิ๊ง” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เปิดประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท นั้น “ว่าที่แคนดิเดต” นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ออกมาหนุนช่วยว่า เมื่อเศรษฐกิจดีย่อมเป็นไปได้ ยังมีเวลาตั้ง 4 ปีกว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งดรามากัน
“วันนี้ผมเป็นเอกชน ถ้ารัฐบาลทำงานให้คุณดี 800 ผมก็จ่ายได้ แต่ถ้าเกิดคุณเลือกเขากลับมาใหม่ จีดีพี 2.5% มันก็ไม่ได้ 600 พูดตรง ๆ ถ้าคุณเลือกคนที่ถูก พรรคที่ถูก นโยบายที่ดี 600 บาท ผมว่าเป็นไปได้” บิ๊กบอสแสนสิริ เชื่อมั่น พร้อมเขย่าต่อว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปคือจุดเปลี่ยนประเทศไทย
ไม่แต่เพื่อไทยที่พยายามเลี้ยงกระแสให้สังคมกล่าวขานถึงนโยบายของพรรค ซึ่งแน่นอนย่อมมีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทางพรรคก้าวไกลที่พยายามขายนโยบายให้คนรุ่นใหม่มาหลายเรื่องแต่ก็ยังไม่โดนใจ ไม่สามารถสร้างความฮือฮาสักทีก็ขอโดดเกาะขบวนรถไฟปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย โดยเคาะตัวเลข 450 บาทต่อวัน ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะปรับขึ้นทันทีไม่ต้องฝันกลางวันรอยาวไปแบบเพื่อไทย เรียกว่าเกทับบลัฟแหลกช่วงชิงคะแนนนิยมกันทุกเม็ด
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังกล่าวในการจัดประชุมใหญ่เครือข่ายผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยว่า ไม่เพียงแต่จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แต่ยังจะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงานด้วย เช่น ชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สิทธิวันหยุด สิทธิลาคลอดที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ พร้อมโปรยยาหอมพรรคยืนยันจะต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน ดูแลคนทำงานทุกคนในประเทศนี้ เพราะเชื่อว่าพวกเราทุกคนคือคน 99% ที่เป็นผู้ใช้แรงงานที่สร้างสรรค์สังคม
แต่ช้าก่อน พรรคการเมืองทั้งหลายที่ขายนโยบายประชานิยมขึ้นค่าแรง ค่าจ้าง หันมาดูความจริงในเวลานี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศไทยจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สงบลง แต่ภาวะการว่างงานยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ถ้ามีการปรับค่าแรงขึ้นไปอีกก็ต้องดูว่าจะส่งผลกระทบรอบด้านเช่นใด
ล่าสุด สถานการณ์การจ้างงาน ณ ไตรมาส 3/2565 ตามที่ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าการจ้างงานมีการขยายตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 4.3% สาขาที่ขยายตัวได้ดี คือ การผลิต การค้าส่งค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ในแง่แรงงานภาคการท่องเที่ยวยังมีปัญหา
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานหลักปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งในส่วนภาคเอกชนอยู่ที่ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 หรืออยู่ในระดับเดียวกันก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงว่าขณะนี้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ มีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นแล้ว ส่วนผู้เสมือนว่างว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.2 ล้านคน และผู้ทำงานล่วงเวลาก็มีมากขึ้นที่ 6.8 ล้านคน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.3 ล้านคน ด้านค่าจ้างแรงงาน แม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัวลงเล็กน้อย
สำหรับอัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 1.23% ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบซึ่งลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2565 มาอยู่ที่ 2% ทั้งกรณีผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการว่างงานจากระดับการศึกษา พบว่า แม้การว่างงานจะลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ต้องจับตาการว่างในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีอัตราสูงที่สุดที่ 2.49 % หรือว่างงานอยู่กว่า 185,410 คน แม้ลดลงแต่ยังอยู่ระดับที่อาจต้องมีการเข้าไปดูแลเพิ่มเติม
“ผู้ว่างงานอุดมศึกษา ประมาณ 66% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน นั่นหมายถึงว่าเป็นเด็กจบใหม่ ส่วนอีก 33.4% เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ที่ว่างงานระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จบสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ประมาณกว่า 60% ที่เหลือเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เป็นความต้องการประมาณ 10%” นายดนุชา กล่าว
ในภาพรวมเศรษฐกิจ เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่าแม้จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ภาระค่าครองชีพของแรงงานจะต้องเข้าไปดูแล แม้จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในระบบไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่ยังมีแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ราว 50% โดยเฉพาะกลุ่มภาคเกษตรที่ยังมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประมาณ 84% จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาหรือว่าเทียบเท่ามัธยมศึกษา ต้องนำเขาเข้ามาในระบบและเพิ่มทักษะ ส่วนอีกกลุ่มคือแรงงานภาคท่องเที่ยวที่ยังขาดแคลน ถ้าสามารถนำแรงงานนอกระบบเข้าไปได้จะช่วยบรรเทาปัญหาแต่ต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานก่อน
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังสะท้อนความเห็นต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ของบางพรรคการเมืองด้วยว่า หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องปรับค่าแรงสำหรับแรงงานฝีมือด้วย ซึ่งภาระจะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการจะรับไหวหรือเปล่า และถ้าปรับขึ้นจริงหากภาคอุตสาหกรรมหันไปใช้หุ่นยนต์แล้วปลดคนทำงานออกก็จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำน่าจะเน้นเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้นซึ่งเอกชนรับได้มากกว่า
สำหรับการปรับเงินเดือนเด็กจบใหม่ ถ้าขึ้นเงินเดือนจะกระทบทั้งเอกชนและภาครัฐ อย่างคราวที่แล้วที่ขึ้นมาเป็น 15,000 บาท รัฐบาลต้องปรับฐานขึ้นกลายเป็นภาระงบประมาณ ตอนนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ผลพวงที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ยังมีข้อจำกัดในแง่ฐานะการคลังของประเทศ
ขณะที่เสียงสะท้อนจากนักวิชาการผ่านสื่อต่างๆ ต่อประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่ต้องการให้ดูผลที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยปรับขึ้นด้วย แม้ว่าแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจากข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าเนื่องจากต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการอาจปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตหันมาใช้หุ่นยนต์แทนที่ ปลดคนงานออก แรงงานก็ตกงาน กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่แบกรับต้นทุนค่าแรงไม่ไหวก็ล้มหายตายจากไป
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือ ทีดีอาร์ไอ มองว่าหลักคิดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ถือเป็นเป้าหมายในอุดมการณ์รัฐสวัสดิการที่ใส่ใจชีวิตแรงงานที่ดี หากดำเนินการตามกรอบ 4-5 ปี แต่ต้องระวังโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับได้แค่ไหน เพราะเวลานี้ค่าแรงอยู่ที่ 323-354 บาท หากจะขึ้นไปที่ 600 บาท ต้องขึ้นปีละ 12.7% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจากโควิด-19 เติบโตได้อย่างมากปีละ 3.7% ที่สำคัญธุรกิจจะรับได้แค่ไหน จะผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อ หรือถ้ารับไม่ไหวก็ต้องเลิกกิจการ
ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก้าวกระโดด คือควรขึ้นค่าจ้างแรงงานกลุ่มเศรษฐกิจโมเดิร์นรวมถึงบริการภาคท่องเที่ยว เช่น สปา พนักงานโรงแรม ซึ่งควรได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นโดยแบ่งผลตอบแทนจากผลกำไรของธุรกิจให้มากขึ้น โดยค่าแรงที่เพิ่มควรมาพร้อมกับการพัฒนาทักษะ
ทางด้าน นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ เห็นว่าในทางเศรษฐศาสตร์มองการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่วันละ 600 บาท ในระยะ 4 ปี เป็นไปได้ยาก แต่ในทางการเมืองไม่แน่ และจะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี อาจเห็นเอสเอ็มอีปิดกิจการ เลิกจ้างงาน
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ อดีตผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ มองว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน ภายในปี 2570 เป็นสิ่งที่ทำได้และจะช่วยเพิ่มความสามารถในการบริโภคให้กับแรงงาน แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับโครงสร้างค่าจ้างของแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งมีต้นทุนค่าแรงงานไม่เท่ากัน
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าตอนนี้ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท/วัน การจะขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท/วัน ให้ได้ใน 5 ปี ต้องขึ้นค่าแรงให้ได้เฉลี่ยปีละ 50 บาท ถือว่ามีอัตราสูงแบบก้าวกระโดด แต่พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้ หากทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตปีละ 10% ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะขณะนี้การทำให้เศรษฐกิจโตปีละ 5% ก็ถือว่ายากแล้ว อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีการสำรวจค่าครองชีพของแรงงานที่เหมาะสม ควรอยู่ที่คนละ 600–700 บาท/วัน ถึงจะช่วยทำให้แรงงานสามารถใช้ชีวิตได้เหมาะสมกับค่าครองชีพ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าถ้ายกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว ถือเป็นจุดอันตรายและเป็นประเด็นที่หลายคนกังวลตอนนี้ เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการส่งสัญญาณที่จะทำให้ค่าจ้างแท้จริงเฉลี่ยโดยรวมปรับขึ้นด้วย ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องมาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้นและประสิทธิภาพแรงงานสูงขึ้น
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในรอบ 5 ปี และน่าจะมาจากการมองเฉพาะมุมเพิ่มค่าครองชีพทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น ลดความเลื่อมล้ำ หาก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง นายจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอาจปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราดังกล่าวได้ หากจะปรับขึ้นต้องประเมินโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ โครงสร้างแรงงาน สัดส่วนแรงงานแต่ละพื้นที่ การพัฒนาทักษะแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มนุษย์ค่าจ้างมี 18 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเอกชน 14 ล้านคน ภาครัฐ 8 ล้านคน โดยแรงงานไทย 1 คน ต้องเลี้ยงดูอย่างน้อย 3 คน และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับเป็นค่าแรงเลี้ยงคนเดียว ส่วนลักษณะการทำงานแรงงานไทยมีความมั่นคงทางอาชีพค่อนข้างต่ำ เราจะถูกปลดจากงานเมื่อใดก็ได้ ต่อให้เพิ่มค่าแรงขึ้น 5% แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้น 65% ดังนั้น ค่าแรงขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนในประเทศจึงน้อยลง และไม่สามารถทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้นได้
เมื่อมองเรื่องค่าแรง นายณรงค์ ชี้ว่าควรมอง 4 ประเด็นหลัก ต้นทุนค่าครองชีพลูกจ้าง ความสามารถที่นายจ้างจะจ่ายได้ การเปรียบเทียบค่าจ้างของประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจคล้ายกัน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเศรษฐกิจมหาภาค
“หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสากลแล้วนั้น การขึ้นค่าแรงในไทย แรงงาน 1 คน ดูแลคน 3 คน จะต้องขึ้นถึง 712 บาท ต้องเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ไม่ใช่เพียงชีวิตคนทำงานเท่านั้น อีกทั้งการขึ้นค่าแรง อยากให้ตั้งคำถามกับบริษัทใหญ่หรือบริษัทต่างชาติ ทำไมประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งบริษัทสามารถจ้างแรงงานสูงๆ ได้ แต่ทำไมพอมาจ้างแรงงานไทยถึงจ่ายไม่ได้ รัฐบาลต้องมองในเรื่องนี้ร่วมด้วย” นายณรงค์ ตั้งคำถาม
ในมุมของลูกจ้าง นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ ในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความจริงค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเริ่มมีการใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2516 ผู้ใช้แรงงานสมัยนั้นได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 12 บาท ซึ่งถึงวันนี้ผ่านมา 47 ปี ก็ยังมีการพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำรายวันกันอยู่ ทั้งที่ถ้าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ยึดโยงโดยใช้เกณฑ์ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษกิจบวกอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีค่าครองชีพโดยอัตโนมัติ ป่านนี้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอาจจะมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นอยู่ปัจจุบันไปแล้วและไม่ต้องมาเรียกร้องกันทุกปี รวมทั้งพรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องเอามาโหนกระแสเพื่อชิงหาเสียง
อย่างไรก็ดี ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แข่งขันชิงคะแนนเสียงคนวัยทำงานด้วยนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นาๆ ตามมาไม่ขาดสาย ทั้งนักวิชาการด้านแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ต่างออกความเห็นเป็นห่วงกันยกใหญ่ว่าจะก่อให้เกิดผลกกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ต้องดูกันให้ดีๆ
ทางด้าน “นายกฯ ลุง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ชิ่งไปหาเสียงกับ “คนแก่” สอดรับกับสังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย ซึ่งคนไทยวัยเกษียณส่วนใหญ่เป็นพวก “จนตอนแก่” หรือ “สูงวัยไร้ตังค์” โดยที่ผ่านมารัฐบาลจัดสวัสดิการให้แค่เบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาทต่อคน เท่านั้น
โจทย์ใหญ่จะทำให้คนสูงวัยไม่ไร้ตังค์ หรือไม่ยากจนตอนแก่นั้น นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงศึกษามาดำเนินการในเรื่องนี้ เนื่องจากว่าปัจจุบันตัวเลขผู้สูงอายุมีปริมาณสูงขึ้น โดยปี 2565 ตัวเลขผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 12 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่าเป็นจุดสูงสุด และอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 28 นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ ศธ.ไปดูว่าจะจัดการศึกษาให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้มีงานทำมีเงินใช้ไม่ยากจน โดยจะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติที่สำคัญ
นอกจากกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ยังมีกลุ่มแรงงานที่ไม่มีสวัสดิการ และกลุ่ม NEED หรือกลุ่มที่ไม่เรียน และไม่ทำงาน กว่า 1.3 ล้านคน อายุตั้งแต่ 14-24 ปี ซึ่งจะกลายเป็นภาระทางด้านงบประมาณในอนาคต ศธ. ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้ทั้ง 3 กลุ่มเข้ามาสู่ระบบการศึกษาเพื่อให้มีงานทำ
ปลัดกระทรวงศึกษาฯ ปิ๊งไอเดียจัดตั้งอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกษียณอายุราชการ เข้าร่วมเป็น อส.ศธ. โดยมีผู้สมัครแล้วกว่า 28,000 คน จากเป้าหมายที่ต้องมี อส.ศธ. จำนวน100,000 คน เพื่อเข้าร่วมอบรมการสอนและทำงานเรื่องต่างๆ เพื่อดูแลคนทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว คาดว่า อส.ศธ. จะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายในเดือนมี.ค. 2566 นี้ ส่วนสวัสดิการในการดูแล อส.ศธ.นั้น อาจจะให้มีสวัสดิการเพื่อดูแลด้านสาธารณสุขเป็นการตอบแทน
ต้องดูว่า อส.ศธ.จะเวิร์กเหมือนอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ “หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชูบทบาทโดดเด่นขึ้นมาช่วยงานกระทรวงฯ ช่วงโควิด-19 ระบาดจนได้รับกล่าวขานไปทั่วโลก ด้วยงานอย่างนี้ภูมิใจไทยปูพื้นฐานมานานพอและรอเก็บเกี่ยวดอกผลในสมัยเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วน “นายกฯลุง” ที่ยังไม่รู้อนาคตการเมืองจะตีปี๊บการจ้างงานคนแก่ให้กลายเป็นกระแสได้สักกี่มากน้อยก็ต้องคอยดูกันต่อไป ส่วนเพื่อไทยกับก้าวไกลที่ชูนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็รู้ๆ กันว่าเป็นการขายฝันอันยาวไกลที่ยากจะไปถึง