xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดิ้นรนหนักเพื่อให้อยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 "โสภณ องค์การณ์"

 นักการเมืองและนักเลือกตั้งต่างอยู่ในสภาวะต้องดิ้นรนหนักเพื่อความอยู่รอด บางพวกแสวงหาชีวิตและโอกาสใหม่พร้อมตักตวงผลประโยชน์จากการเข้าสังกัดค่ายใหม่

บางพวกหวังเพียงแต่โอกาสจะได้ลงแข่งขัน บางพวกมีค่าตัวเป็นการสมประโยชน์ของทั้งเจ้าของค่าย และสมาชิกใหม่ พรรคย่อยรู้ตัวดีว่าถ้าไม่ควบรวมด้วยกันมีโอกาสสูญพันธุ์ ดังนั้นจึงต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

เหมือนการรวมไม้ไผ่เป็นกำย่อมแข็งแรงกว่าไผ่ก้านเดียว

ถ้าชนะการเลือกตั้งได้หลายเก้าอี้ ก็มีอำนาจต่อรองเป็นฝ่ายรัฐบาล นั่นหมายถึงการค้นพบขุมทรัพย์เพื่อการถอนทุนและค่ากำไรจากทรัพย์สินแผ่นดิน

การเมืองที่เน้นการเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการในสังคมการเมืองที่ไร้หลักการและจิตสำนึก ศีลธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

ชาวบ้านที่นักเลือกตั้งไปยกมือไหว้ประหลกๆ ช่วงหาเสียงจึงถูกมองว่าเป็นคนกาเบอร์มีสิทธิ์ไม่กี่วินาทีในคูหาเลือกตั้ง มอบสิทธิ์การกอบโกยให้คนตั้งรัฐบาล

การได้เป็นเสนาบดีจึงไม่ต้องหวั่นเกรงชาวบ้านอีกต่อไป ก่อนเลือกตั้งไปยกมือไหว้ชาวบ้าน หลังเลือกตั้งชนะได้เก้าอี้ในสภา ชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายยกมือไหว้ท่าน

จะเป็นนักเลือกตั้ง ไม่ต้องคำนึงถึงการไร้ยางอายที่จะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง จะต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง

 การแห่กันลาออกของกลุ่มนักเลือกตั้งเพื่อย้ายค่ายจึงเป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งคงจะเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด ทุกวันนี้สภาผู้แทนไม่ครบองค์ประชุม ท่านผู้ทรงเกียรติโดดร่ม อ้างนั่นนี่โน่น ล่มเกือบทุกวาระ ทำกันอย่างไม่อาย

 ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเกมการเมือง
การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นเดิมพันสูง ชิงกันระหว่าง 3-4 ขั้ว โดยท่านห้าวเป้งต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การสิ้นสุดอำนาจหมายถึงสภาวะลำบากที่จะมาเยือน

 ค่ายวัคซีนกัญชาบุรีรัมย์อยู่ในสภาพเหมือนเสือติดปีก มีนักเลือกตั้งย้ายค่ายไปอยู่ร่วม ทั้งที่ยอมเป็นเหยื่อการดูด และด้วยปัจจัยน้ำหนักระหว่าง 30-50 กก.

พวกมีโอกาสชนะเลือกตั้งจึงเป็นผู้มีราคาค่าตัวแพง ผู้ลงทุนต้องยอมเพื่อให้ได้อำนาจ มีการเจรจาต่อรองกันด้วยซ้ำว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

 บางค่ายระส่ำระสาย เหมือนค่ายแตกเพราะสมาชิกแปรพักตร์ ค่ายลุงป้อมพี่ใหญ่ถึงกับหลุดปากว่าถ้าไม่มีใครเหลือก็ดีเหมือนกัน “จะได้ปิดพรรค”

เป็นคำพูดที่สะท้อนสะท้านใจ เมื่อถูกพลังดูด ค่ายอื่นก็ไม่ต่างกัน ยามเศรษฐกิจมีปัญหาทุกชีวิตย่อมต้องดิ้นรน เอาตัวเองให้รอดก่อน ความจงรักภักดีมีไว้เพื่อขายให้ผู้จ่ายราคาสูงสุด เป็นที่พอใจ

ค่ายตั้งใหม่ ยังไม่มี ส.ส. ยังหาทางควบรวมเพื่อให้ได้เก้าอี้ เลือกตั้งครั้งต่อไปจะเห็นการทุ่มอย่างหนัก ถ้าเป็นนักประหยัดจะเสี่ยงกับการสูญเปล่า แม้จะทุ่ม ไม่ได้รับประกันชัยชนะ เมื่อการทุ่มต้องอาศัยชื่อชั้น เป็นคนที่ชาวบ้านรู้จัก

ยิ่งเป็นผู้แทนสายเปย์ ใจถึงพึ่งได้ มีบารมีขั้นป๋า ก็ยิ่งได้เปรียบ

 ท่านห้าวเป้ง ผู้กุมอำนาจรัฐถูกประเมินว่าได้เปรียบ มีทุนใหญ่เจ้าสัวหนุนหลัง

 แม้กระนั้นก็ยังต้องลุ้นหนัก ความนิยมในโพลแต่ละครั้งน่าชวนให้ลงทุนร่วม ถ้าเป็นสินค้าก็เหมือนใกล้หมดอายุ เจ้าสัวต้องคิดหนักเมื่อต้องลงทุนมาก

แต่ละค่ายไม่มีอะไรแตกต่าง มีนโยบายประชานิยม แจกสะบัด สัญญาว่าจะให้นั่นนี่โน่น ชาวบ้านที่จัดในกลุ่มบ้องตื้นดีใจ หารู้ไม่ว่านั่นก็เงินภาษีตัวเองทั้งนั้น

เป็นทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีทางอ้อม ซ้ำร้ายยังมีประเภทเงินกู้มาเพื่อโกงผ่านโครงการต่างๆ สร้างหนี้สินให้ชาวบ้านต้องใช้คืนถึงรุ่นลูกหลาน

ไม่มีสัญญาณหรือเค้าแห่งความหวังว่าการเมืองจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น กว่า 8 ปีภายไต้การนำของท่านห้าวเป้งมีแต่หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ไร้ความสามารถในกาทำให้งบประมาณแผ่นดิลสมดุล ถ้าอยู่ต่อไปก็ต้องกู้ ใช้เงินเก่ง หาเงินไม่เก่ง

โครงการขายแผ่นดินให้คนต่างชาติก็เจอแรงต้านอย่างหนัก ข้าราชการหลายหน่วยงานมีส่วน *“ขายสัญชาติ” พร้อมบัตรประชาชน ไร้จิตสำนึก

การบริหารแผ่นดินบนพื้นฐานของการทุจริต คอร์รัปชันทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ โครงสร้างประเทศเสื่อมทรุด กระบวนการยุติธรรมไร้ความน่าเชื่อถือ ขาดการปฏิรูป

มีความวิตกถึงสภาวะว่างงานของผู้รับปริญญา สะสมตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดและเศรษฐกิจถดถอย ปรากฏว่าประกาศหาคนทำงานไม่ได้ผล

งานธรรมดาคนบ้านเราไม่ยอมทำ อ้างว่ารายได้ไม่พออยู่รอด คนรุ่นใหม่นิยมค้าขายสินค้าออนไลน์ ไม่ต้องการเป็นมนุษย์เงินเดือน งานระดับล่างอยู่ในมือของแรงงานเพื่อนบ้านสะสมเงินเพียงพอจนเป็นเจ้าของธุรกิจรายย่อย

การปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจ ดูเหมือนดี ในระยะยาวถือว่าเป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับกลุ่มต่างชาติ เจ้าของประเทศเป็นเพียงลูกจ้าง

จะให้ทำอย่างไรได้ เมื่อผู้กุมอำนาจรัฐทั้งมาจากรัฐประหาร การเลือกตั้ง ล้วนไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ เพิกเฉยต่อชะตากรรมของประชาชน ขาดวิสัยทัศน์ จิตสำนึกของความรักชาติ แต่ละยุคมุ่งสะสมความมั่งคั่ง

  เชื่อว่าถ้าบ้านเมืองเผชิญวิกฤติ หรือเสี่ยงต่อการหายนะ ตัวเองยังมีสมบัติ ความล้าหลังเพื่อนบ้านไม่ได้กระตุ้นต่อมสำนึกของผู้กุมอำนาจ ชาวบ้านก็หวังพึ่งพาใครไม่ได้ คนดีไม่มีโอกาสได้กุมอำนาจ อนาคตประเทศจึงดูวังเวงที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น