โดย
ดร.พท.ป.สุวรรณ ตั้งจิตรเจริญ
- ปี พ.ศ.2523 ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เนื่องจากเห็นว่าการแพทย์แผนโบราณตกต่ำ ไม่มีใครเหลียวแล โดยที่มูลนิธิได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์
- และเมื่อปี พ.ศ.2525 ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ก่อตั้ง โรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย(ชีวกโกมารภัจจ์) เพื่อรับแพทย์อายุรเวท ซึ่งเป็นแพทย์สายพันธุ์ใหม่ โดยที่ท่านได้ไปร่วมหารือกับสมาคมแพทย์แผนโบราณหลายแห่ง อาทิ วัดโพธิ์ วัดสามพระยา วัดปรินายก ฯลฯ ซึ่งแต่ละท่านก็เห็นด้วยกับการเริ่มฟื้นฟูแต่ยังคงต้องอนุรักษ์ของเดิมไว้ ท่าน ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ จึงยังคงธำรงไว้ซึ่งของเดิม ไม่ได้แยกแผน แต่เป็นอีกสายวิชาเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่ม และ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ให้ลูกหลานของแพทย์โบราณามาเรียน เพื่อปรับคุณวุฒิ ติดอาวุธทางปัญญา ก่อนก่อตั้ง ได้พูดคุยกับสมาคมแพทย์แผนโบราณต่างๆ และจะขอปรับหลักสูตร เงื่อนไขในการรับนักเรียนจากอ่านออกเขียนได้เป็นระดับ ม.ปลาย แต่ทางสมาคมแพทย์แผนโบราณไม่ยอม จึงได้ออกมาก่อตั้งวิชาชีพใหม่ขึ้น เป็นแพทย์ก้าวหน้า ส่วนอนุรักษ์นิยมก็ไม่แตะต้อง เรามิใช่ติ่งเนื้อหรือเนื้องอก เราได้พัฒนาการแล้ว โดยที่เราไม่ได้แตะต้องเปลี่ยนแปลงของเดิม แต่มีคณะบุคคลที่ต้องการล้มล้างเรา หาว่าเราเป็นส่วนเกิน เป็นเนื้องอก ซี่งเราได้รับการยอมรับ มีมาตราฐานในวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และขยายหลักสูตรสู่ระดับมหาวิทยาลัยแล้ว
- ต่อมาขอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมให้เป็น แพทย์อายุรเวท แต่ทางแพทย์ และสมาชิกรัฐสภา ไม่อนุมัติให้ใช้คำว่าแพทย์อายุรเวท ให้เป็นส่วนหนึ่งของแพทย์แผนโบราณและใช้ชื่อว่า แพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ ซึ่งมีการเรียนเป็นวิทยาศาสตร์ มีการใช้เครื่องมือในการตรวจ วินิจฉัย เพื่อการรักษา
- โรงเรียนเดิมได้ตั้งอยู่ที่บริเวณตรงข้ามวัดบวรนิเวศอาคารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เดิมเป็นโรงพิมพ์เก่าของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ด้วยความร่วมมือของนักเรียนรุ่นแรกช่วยกันปรับพื้นที่ และได้จัดตั้งเป็น “โรงพยาบาลบวรนิเวศโบราณเวชกรรม” ไม่ใช่แค่เพียงคลินิก ขณะทำการเคยรับผู้ป่วยใน มีลิฟท์อำนวยความสะดวก แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การดำเนินงานขาดสภาพคล่อง โดยมี ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร เคยบอกเล่าผ่านลูกชาย คือ ศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร ซึ่งเขียนเป็นบทความบทเรียนจากอดีตไว้ว่า “การทำเรื่องของแพทย์แผนไทยก็ดี แต่เมื่อผู้ที่ทำไม่อยู่แล้วก็จะเกิดเหมือนบทเรียนในอดีตก็จะไม่มีผู้สานต่อ” เพราะฉะนั้นอะไรคือบทเรียนในอดีต
- หลังการตั้งโรงเรียน ประสบปัญหาทางด้านกฎหมาย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ จึงต้องต่อสู้ในสภาผู้แทนราษฎร์ ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯรัฐมนตรี ต่อมาหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยช่วยเขียนให้ความเห็นไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลูของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า มีหมอโบราณดีกว่าไม่มี และได้รับการสนับสนุนจาก ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่มีทรงคุณวุฒิทั้งหลายแต่ก็ยังถูกต่อต้าน โดยถูกเขียนลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้า 1 ว่า “อ.อวยผลิตหมอเถื่อนกลางกรุง”
- ปีพ.ศ. 2530 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย พรบ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479 โดยให้มีแพทย์แผนโบราณทั่วไปและแพทย์แผนโบราณประยุกต์ ซึ่ง ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนี้ ไม่ได้อยากใช้คำว่าประยุกต์ แต่ควรเป็นคำว่าแพทย์อายุรเวท อายุระ = ชีวิตยืนยาว เวท = วิชา ซึ่งหมายถึง วิชาที่ทำให้อายุยืน ศ.นพ.เสม พริ้มพวงแก้วได้ปลอบใจอาจารย์หมออวยว่า "ยอมใช้ชื่อแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ไปก่อนแล้วค่อยขอแก้ไขในภายภาคหน้า แต่ก็ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" จึงเป็นความเข้าใจผิดของคนรุ่นต่อมาเนื่องจากไม่ทราบถึงรากฐานและเจตนารมณ์ของอาจารย์หมออวย ของวิชาตนเอง หากเราเข้าใจและรู้ถึงเป้าหมาย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ จะมีมุมมองที่ต่างจากตอนนี้
- หลังจากได้บรรจุเป็นวิชาชีพ จึงมีการสอบใบประกอบวิชาชีพ แพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2532 ท่านอาจารย์หมออวยยังแนะนำพวกเราให้ไปเรียนและสอบใบประกอบโรคศิลปะวิชาแพทย์แผนโบราณเภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทย เวชกรรมไทย (ซึ่งการนวดอยู่รวมอยู่ในวิชาเวชกรรมไทย)
- หลังจากนั้นได้เริ่มมีการเรียนการสอน และได้รับการรับรองเป็นหลักสูตร ปวส.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง แพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ขึ้นกับ สช.(สำนักงานการศึกษาเอกชน) จึงได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการถึงมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าในระดับวิชาชีพขั้นสูง โดยรศ.พญ.บุญเรือง นิยมพรเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอายุรเวทฯ ได้มีการแต่งตั้ง นพ.ยุทธนา ศุขสมิติ มาช่วยงานเป็นผู้จัดการ และมอบหมายให้ อาจารย์สุภาวดี ตั้งจิตรเจริญ ในตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนอายุรเวทฯ อาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ ได้ขายที่ดิน มูลค่า 10 ล้านบาท บริเวณพระโขนงและจากคำบอกเล่าของรศ.พญ.นันทพร นิลวิเศษ ผ่านอาจารย์ลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์ ได้เล่าว่า ศ.พญ.หม่อมราชวงศ์ส่งศรี เกตุสิงห์(ภรรยาของอาจารย์อวย) ให้เงินสนับสนุนจากการขายเครื่องเพชร และเครื่องประดับส่วนตัวส่วนตัว ร่วมสร้างเป็นโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย และได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่บริเวณสวนบัว เลขที่ 16 ซอยราชครู (พหลโยธิน 5)
- ต่อมาในปี พ.ศ.2546 โรงเรียนอายุรเวทฯ ได้โอนย้ายเข้ามาสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยได้ ศ.นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เป็นอธิการบดี และศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทรเป็นคณบดี และศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร เป็นผู้ให้รับการรับรอง และรศ.นพ.ทวี เลาหพันธ์มาเป็น หัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้รับโอนโรงเรียนรวมทั้งคลินิกให้บริการและหน่วยผลิตยา และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เข้ามาเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะ และจัดตั้งหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา คือสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทำหน้าที่รับผิดชอบและกำกับดูแลการดำเนินกิจการของโรงเรียนที่รับโอนมา โดยให้วางหลักการและแนวทางในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้มีความยั่งยืน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในระบบสุขภาพของประเทศอย่างกว้างขวาง ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามใหม่ให้โรงเรียนว่า “โรงเรียนอายุรเวทธำรง”
- ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า มาตราฐานการเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ได้มีทั้ง ICD 10 , cilnical practice guidelines(CPG) มีหน่วยกิต จะเห็นได้ว่าแพทย์แผนไทยประยุกต์กับแพทย์แผนไทยแยกกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแตกต่างกับการเรียนแบบแผนโบราณ เราไม่ใช่ติ่งเนื้อของแผนไทย เราเป็นคนละวิชาชีพ แพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนไทยประยุกต์(แพทย์อายุรเวท) โดยไม่ได้พึ่งพิง อิงอาศัยในหลักสูตรเดิม แต่พัฒนา โดยเป้าประสงค์ของอาจารย์อวยใช้ศาสตร์ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย เพื่อวิจัยและต่อยอด ส่วนหนึ่งคือการผลิต หมอพันธุ์ใหม่ให้รู้ เข้าใจเรื่องวิทยาศาตร์ ให้สื่อสาร ร่วมปฎิบัติงานกับ บุคคลากรทางการแพทย์และสหวิชาชีพอย่างทัดเทียม