xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ท่องเที่ยว” หนุน “เศรษฐกิจฟื้นตัว” ห่วงหนี้เสียล้นทะลัก ค่าไฟฟ้าขึ้นไม่หยุด เศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือเครื่องยนต์เดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศที่อยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้นหลังทนทุกข์จากการระบาดของโรคโควิด-19 มายาวนาน ดูทรงจะมีสัญญาณดีเพราะตอนนี้เข้าสู่ไฮซีซั่นการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก แต่ในข่าวดีก็มีข่าวร้ายเพราะส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกำลังซวนเซจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย 

ในภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีแต่ยังเปราะบาง ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงประเมินว่าปีหน้า 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี จะเติบโต 3-3.5% จากปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.2% โดยการส่งออกขยายตัว 1-2% ลดลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโต 7.25% ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 2.7-3.2% จากปีนี้ยืนในระดับ 6.2% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน ภายใต้ข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

 นายสนั่น อังอุบลกุล  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุม กกร.เผยว่า เศรษฐกิจปี 2565 เป็นไปตามกรอบที่ประเมินจากอานิสงส์การส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ส่งออกก็เริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน และจะกระทบถึงปีหน้า 2566 จากภาวะเงินตึงตัวและเงินเฟ้อ

 “...เศรษฐกิจไทยปี 66 จะเหลือเครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 20 ล้านคน เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และยังมีสัญญาณเปราะบาง” นายสนั่นว่าไว้อย่างนั้น

ความน่าห่วงกังวลอีกประการหนึ่งของภาคเอกชนคือ  ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น  โดยค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นปรับขึ้น 3 แนวทาง คือ ค่าไฟเฉลี่ยจะเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย 5.70 บาทต่อหน่วย และ 6.03 บาทต่อหน่วย ซึ่ง กกพ.จะเคาะในเร็วๆ นี้นั้น กกร. มองว่า การปรับขึ้นค่าไฟจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อค่าครองชีพและต้นทุนภาคธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมทั้งภาคผลิตและบริการกำลังจะฟื้นตัว จึงอยากขอให้คงค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไว้เท่าปัจจุบันที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความห่วงกังวลในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่เช่นกันว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศมีโอกาสลดลงอีก จากปี 2565 ที่ไทยถูกจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง 5 อันดับ มาอยู่ที่ 33 ของโลก เนื่องจากค่าไฟฟ้าแพง หากเทียบกับคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนามพบว่ามีค่าไฟอยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ยังไม่รวมกับข้อได้เปรียบอื่นของเวียดนาม เช่น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA มากกว่าไทย ฯลฯ ค่าไฟที่เพิ่มจะดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศของไทยลดลง

สำนักข่าว The Business Times รายงานเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา อ้างนายจอห์น วูดส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน (เอเชีย-แปซิฟิก) ของเครดิต สวิส คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน-6 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะลดลงเหลือ 4.4% ในปี 2566 จากที่คาดการณ์ไว้ 5.6% ในปีนี้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 หมดไป

ด้าน Andrew Tilton หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Goldman Sachs ชี้ว่า ประเทศไทยอาจเป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พยุงแนวโน้มการชะลอตัว โดยคาดการณ์จีดีพีของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 4% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ในปี 2565 การเติบโตดังกล่าวน่าจะมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักเที่ยวที่เดินทางมาไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนในปี 2566 จากประมาณ 10 ล้านคนในปีนี้ และการเพิ่มขึ้นของการขนส่งระหว่างประเทศ การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ขณะที่ นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 4.5% ในปี 2566 และ 2567 ส่วนในปี 2565 คาดการณ์เติบโตในอัตรา 3.3% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยจะค่อยไปฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดปีหน้า จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญและมีสัดส่วนร้อยละ 15 ของจีดีพีประเทศ ประกอบกับคาดว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นปัจจัยภายในประเทศที่ประเทศไทยเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

ที่สำคัญนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2566 โดยจะเห็นได้จากเงินลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์)ไหลเข้าตลาดทุนในปีนี้สูงเกือบ 2แสนล้านบาท รวมถึงตลาดตราสารหนี้(บอนด์)ที่มีฟันด์โฟลว์ก็มีทิศทางเดียวกัน และเชื่อว่าในปี 2566 ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าต่อเนื่อง ด้วยมุมมองเชิงบวกในตลาดประเทศเกิดใหม่(EM) ตลาดเอเชีย และตลาดไทย ที่กำลังการฟื้นตัวขึ้นขณะที่ตลาดในกลุ่มสหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักรสู่ภาวะถดถอย รวมถึงการกลับมาของท่องเที่ยวไทยและนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นไทยที่จะมีขึ้นในช่วงปี 2566 เชื่อว่ามีน้ำหนักน้อยมากสำฟรับการตัดสินใจของนักลงทุน

 ดร.เสาวณี จันทะพงษ์  จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงปี ค.ศ.2023 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2022 ธปท. คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2021 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.3% ของ GDP ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2023 ธปท.คาดขยายตัว 3.7% สอดคล้องกับสภาพัฒน์ ซึ่งประเมินไว้ที่ 3.0% - 4.0% สภาหอการค้าไทย คาดว่าจะเติบโต 3.5%-4.0% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินอยู่ที่ 3.7% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ASEAN-5 ที่โต 4.9%

ทั้งนี้ ภาคส่งออกไทยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา หลังโควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่าภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและเป็นอีกแรงหนุนเศรษฐกิจ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 โดยในปี 2022 คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ตามเป้าหมาย และในปี 2023 ททท. ประมาณการว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 11-30 ล้านคน โดยกรณีปีฐานอยู่ที่ 18 ล้านคน หากไม่มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น รายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นแรงเสริมกับภาคส่งออกเหมือนเช่นในอดีต


อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่ากังวลต่อทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2023 ซึ่งเมื่อเจาะลึกข้อมูลล่าสุดภาวะการค้าไทย 10 เดือนปี 2022 มีมูลค่า 243.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 9.1% เทียบกับปีก่อนหน้า แต่ในมิติของตลาดส่งออกในคู่ค้าสำคัญจะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในตลาดสหภาพยุโรป (สัดส่วนตลาด 7.9%) ไม่โตในตลาดญี่ปุ่น (8.6%) และเริ่มหดตัวในตลาดจีน (12%) ตามลำดับ

เมื่อวิเคราะห์ประเภทสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว แต่สินค้าส่งออกกลุ่มสินค้าคงทนมีหดตัวในหมวดสินค้ารถยนต์ และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อรายได้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ล่าสุด ธปท. และสภาพัฒน์ คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยปี 2023 จะโต 1% จากปี 2022

ความหวังฟื้นเศรษฐกิจของไทยจึงฝากไว้ที่การท่องเที่ยว เครื่องยนต์เดียวที่ยังมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งสมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้านโรงแรม ที่พัก จำนวน 113 แห่ง ระหว่างวันที่ 11 - 27 พฤศจิกายน 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 59% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นและการเตรียมจัดประชุมเอเปค ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และคาดว่าอัตราการเข้าพักเดือนธันวาคม 2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 59%

อย่างไรก็ตาม โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่สิ้นสุดลง กระแสไทยเที่ยวนอก และค่าครองชีพที่สูง ส่งผลให้จำนวนลูกค้าชาวไทยลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนที่สูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงแรม มีการจ้างงานเฉลี่ย 73% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดด้านแรงงานที่ยังหายาก สาเหตุหลักมาจากปัญหาความสามารถไม่ตรงกับงานของแรงงาน โดยพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 81% ต้องการแรงงานเพิ่ม และต้องการไม่เกิน 10% ของแรงงานในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร

ในรายงานของสภาพัฒน์ ยังเสนอประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในปีหน้า 2566 หลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

สำหรับจำนวนลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง จากการเปิดเผยของ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า มีอยู่กว่า 3 รายล้าน ซึ่งทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าจัดมหกรรมแก้หนี้ทั่วประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะช่วงดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในทิศทางขาขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ

ทั้งนี้ ตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage2) หรือหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.27 ต่อสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 20,093 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.80% จากไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.11% ของสินเชื่อรวม แต่ปรับลดลง 9.87% หากเทียบจากไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 7.77% มูลหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs/Stage3) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาท ลดลง 4.78 แสนล้านบาท จากไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 5.27 แสนล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 6,872 ล้านบาท หรือ 1.38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.95 แสนล้านบาท

ขณะที่สมาคมธนาคารไทยห่วงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกว่า 3 ล้านราย ซึ่งเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ แต่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร ที่ครอบคลุมทั้งแบงก์พาณิชย์และน็อนแบงก์ มีข้อมูลลูกหนี้ที่น่าห่วงมากกว่า 5.5 ล้านราย เลยทีเดียว

 นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี ประมาณ 16.7 ล้านล้านบาท แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนได้ผ่านจุดเลวร้ายระดับ 90% ของจีดีพี แต่ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของจีดีพี ยังคงถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ซึ่งตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติต้องการให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 70% ของจีดีพี ที่น่าห่วงคือ ใส้ในของหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านล้านบาท โดยประมาณ 28% เป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค กู้มากินมาใช้ 


จากฐานข้อมูลของ NCB ที่มีสมาชิกทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) รวมทั้งสิ้น 126 ราย ระบุข้อมูลหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนลูกหนี้ 32 ล้านคน โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 3/65 พบว่า มีตัวเลขหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล คือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.4% หรือจำนวนลูกหนี้ประมาณ 5-5.5 ล้านคน เป็นกลุ่มที่กู้แล้วผ่อนหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถกู้เพิ่มได้

สิ่งที่น่าจับตาคือกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน ที่เรียกว่าเป็นสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) คือกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่เกือบเป็นหนี้เสียมีประมาณ 3.1% ดังนั้นหากรวมกับตัวเลขเอ็นพีแอลกับ SM ก็จะเห็นโอกาสหนี้เสียกลายเป็น 11.5%


ต้องไม่ลืมว่า ช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มฐานราก โดยคิดดอกเบี้ย 1% วงเงินเฉลี่ย 5,000-30,000 บาท ทำให้กลุ่มนี้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 15 ล้านบัญชี คิดเป็น 5-6 ล้านคน ซึ่งจะครบกำหนดชำระในปี 2566 ก็ต้องรอดูว่าจะเกิดเป็นหนี้เสียเท่าไหร่ แต่คาดกันว่าจะเป็นเอ็นพีแอลครึ่งต่อครึ่ง ขณะที่ตัวเลขเอ็นพีแอลไม่ได้ลดลง เพราะปรับโครงสร้างหนี้แล้วยังมีหนี้เสียกลับมาอีก แนวโน้มเอ็นพีแอลปีหน้ายังจะขยับขึ้นต่อ กลุ่มฐานรากที่แบกหนี้จึงน่าห่วง

ฐานข้อมูลของ NCB ยังพบว่าหนี้ครัวเรือนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน รวมถึงบัตรเครดิต ผู้บริโภคกลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) คือกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด และมีแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของจำนวนบัญชีและวงเงินหนี้ โดยหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภคและกำลังลามไปที่สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น

คนกลุ่มนี้เป็นวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง หากกลุ่มนี้เป็นหนี้เอ็นพีแอลจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยกลุ่มเจนวายกลายเป็นหนี้เสียสินเชื่อพีโลน 2.98 ล้านบัญชี (มูลหนี้ 1.18 แสนล้านบาท) จากสิ้นปี 2563 มีจำนวน 1.81 บัญชี (มูลหนี้ 7.99 แสนล้านบาท)

ส่วนประเภทสินเชื่อที่น่ากังวลมากที่สุด คือ สินเชื่อส่วนบุคคล มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาส 3/65 ตัวเลขเอ็นพีแอลอยู่ที่ราว 10.3% และตัวเลขที่กำลังจะเสีย (SM) อีก 2.9% หากรวมกันจะเพิ่มเป็น 13.2% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง โดยผลิตภัณฑ์ที่จะมีปัญหาบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later)

บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ศึกษาข้อมูลบัญชีลูกหนี้ธุรกิจ จากฐานข้อมูลสถิติของ NCB จำนวน 1.75 ล้านบัญชี ระบุว่าภาคธุรกิจได้ผ่านช่วงที่แย่ที่สุดจากผลกระทบโควิด-19 แล้ว โดยยอดคงค้างหนี้ธุรกิจที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ปรับตัวลงจาก 506,193.52 ล้านบาท ในไตรมาส 3/63 มาอยู่ที่ระดับ 441,319.55 ล้านบาท ในไตรมาส 1/65 แต่กลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋วยังเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการฟื้นตัว โดยกลุ่มธุรกิจไมโคร (วงเงินสินเชื่อ 5-20 ล้านบาท) และซูเปอร์ไมโคร (วงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 5 ล้านบาท) มีหนี้ค้างชำระระยะสั้นระหว่าง 1-30 วัน และมากกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2564

กลุ่มธุรกิจไมโคร มีสัดส่วนยอดหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน 18.4% และธุรกิจซูเปอร์ไมโคร มีสัดส่วนยอดหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน 34.8% สวนทางกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวของคุณภาพหนี้ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/64 ตามอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ สำหรับธุรกิจจิ๋วที่ยังมีการฟื้นตัวไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจขายส่งและขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยาน ก่อสร้าง ภาคการผลิต รวมไปถึงภาคการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า

 หนี้เสียที่ล้นทะลัก ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นไม่หยุดซึ่งส่งผลกระทบรอบด้าน ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว นับเป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายอย่างยิ่งในปลายสมัย “รัฐบาลลุง” 



กำลังโหลดความคิดเห็น