ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเร่งรัดก่อสร้าง “กำแพงกันคลื่น” เพื่อการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของรัฐ ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติของระบบนิเวศชายฝั่ง เกิดข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมโดยเฉพาะการทำกระบวน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA กลับมาใช้กับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ตลอดชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามันไทย
ย้อนกลับปี 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2556 ) ลงวันที่ 11 พ.ย.2556 สาระสำคัญคือ ยกเลิก EIA โครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งทุกขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 200 เมตร ส่งผลให้โครงการดังกล่าว ไม่ต้องมีกระบวนการศึกษา และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยรัฐให้เหตุผลว่า EIA ทำให้เกิดการก่อสร้างล่าช้า เป็นการลดขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อป้องกันความเสียหายผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนริมชายฝั่ง
ขณะที่ก่อนหน้านี้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำ EIA เพราะหากไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน กำแพงกันคลื่นจะเป็นตอของปัญหาทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเสียเอง โดยข้อมูลวิชาการระบุชัดถึงผลกระทบของกำเเพงกันคลื่น จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามมา โดยเฉพาะบริเวณด้านท้ายน้ำช่วงสิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น เกิดการสะท้อนกลับของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะหน้ากำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับหอบนำทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปในทะเล นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดอีกด้วย
ทั้งนี้ กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดทั่วทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก ได้เฝ้าติดตามการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของ “กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย” พบว่า ชายหาดถูกคุกคามทำลายและแทนที่ด้วยกำแพงปูนด้วยงบประมาณกว่า 6,694 ล้านบาทและ เกิดโครงการกำแพงกันคลื่นกว่า 107 โครงการทั่วประเทศ โดยนับตั้งแต่กำแพงกันคลื่นถูกถอดจากโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA กรมโยธาธิการได้ใช้ข้อยกเว้นทางกฎหมายจัดสร้างอย่างต่อเนื่อง ไม่สนใจข้อเท็จจริงทางวิชาการ และบทเรียนความล้มเหลวในการป้องกันแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญที่สุดก็คือกรมโยธาธิการไม่เคยทบทวนนโยบายการดำเนินงานของกรมเลยแม้แต่น้อย
เฉกเช่นเดียวกับ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็มิได้ปฏิกิริยาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว รวมถึง “เดอะท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่แม้จะให้สัมภาษณ์แสดงความห่วงใยหลายครั้งหลายครา แต่ภาคประชาสังคมก็ยังคงตั้งคำถามถึงว่า “นิ่งนอนใจเกินไป” หรือไม่
ภายในวงเสวนาเรื่อง “ชายหาดไทยกำลังหายไป เพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น” สะท้อนผลกระทบจากการดำเนินโครงการสร้างกำแพงกันคลื่น โดย นายอดิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือกรมโยธาฯ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างโดยไม่ต้องพึ่ง EIA ซึ่งทำให้กรมโยธาฯ ควานหาการสร้างกำแพงกันคลื่น เช่น หาดม่วงงาม และหาดอ่าวน้อย โดยอ้างเหตุผลเรื่องของการป้องกันความเสียหาย และความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็น เพราะเป็นหาดท่องเที่ยวที่สำคัญ หากมองการแก้ไขปัญหาการป้องกันชายฝั่งในต่างประเทศ จะเห็นว่าเขาเริ่มจากยาเบาไปหายาแรง แต่รัฐไทยโดยกรมโยธาฯ เริ่มใช้ยาแรงตั้งแต่แรก คือการสร้างกำแพงกันคลื่นทุกชายหาด ซึ่งมองว่าการสร้างกำแพงนั้น เมื่อสร้างไปถึงที่ไหนชายหาดที่นั่นก็ตายทันที
“เราไม่ได้มีปัญหากับกำแพงกันคลื่น กำแพงไม่ใช่ผู้ร้าย เรามีปัญหากับกระบวนการการเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่น และหน่วยงานที่ไปผลักดันกำแพงกันคลื่น มันอยู่ที่เรามากกว่าว่าเราหยิบมันมาใช้ มีกระบวนการที่รอบคอบหรือไม่ เราต้องการมีส่วนร่วม และมีการใช้งานที่ถูกต้อง เราพยามจัดการโครงสร้างกำแพงกันคลื่นให้ถูกต้อง”
นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ระบุว่าการทำ EIA เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรจะทำ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่ทำ เพราะรัฐมักจะอ้างถึงความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ซึ่งพอยกเลิกไปก็เริ่มเห็นปัญหาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่หากทำ EIA โครงการกำแพงกันคลื่น ก็จะไม่ได้เยอะขนาดนี้ รวมทั้งงบประมาณที่หน่วยงานกรมโยธาฯ และกรมเจ้าท่า ได้รับก็จะไม่ถูกเทมาเยอะในการสร้างกำแพงขนาดนี้
“การถอด EIA ที่ทำให้การสร้างกำแพงกันคลื่นเป็นไปอย่างสะดวก เหมือนเป็นเรื่องเดียวกับการถอนผังเมือง และทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งไม่สามารถถูกโซนนิ่งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้อีกแล้ว เพราะไปถอนผังเมือง เปลี่ยนสีเขียวเป็นสีม่วง เหมือนกรณีนี้ ที่ทำให้โครงการที่เป็นปัญหากับธรรมชาติ และเป็นโครงสร้างแข็งเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน”
ด้าน ไวนี สะอุ ตัวแทนประชาชนชาวตำบลสะกอม จังหวัดสงขลา กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา ตนเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยวิธีการก่อสร้างโครงสร้างแข็งหรือนำหินขนาดใหญ่มาตั้งเพื่อหวังลดการปะทะของคลื่น แต่การป้องกันดังกล่าวอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะตั้งแต่เห็นมา กำแพงกันคลื่นเป็นสิ่งเร่งทำลายชายหาดมากกว่าปกป้อง หากในอนาคตประเทศไทยจะเร่งสร้างแต่กำแพงกันคลื่น แล้วจะเหลือชายหาดไว้ให้ลูกหลานได้อย่างไร จึงรู้สึกเสียดายหากเป็นเช่นนั้น
“ชายหาดที่สะกอมเคยสวยงาม จนกระทั่งมีฆาตกรที่ชื่อว่ากำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นมา รู้ไหมชายหาดเกิดมาจากไหน ชายหาดก็มาจากคลื่น ก่อตัวพัดพาทรายกลายมาเป็นชายหาด เมื่อถึงฤดูกาลก็จะลากคลื่นและทรายกลับไป ทั้งหมดเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา จริงอยู่ที่บางพื้นที่อาจถูกกัดเซาะไปในมรสุม บางช่วง เป็นการกัดกินตามธรรมชาติ แต่วันนี้ด้วยโครงสร้างแข็งที่ชื่อว่าฆาตกรกำแพงกันคลื่นได้ทำลายล้างไปเยอะมาก และไม่สามารถทวงคืนได้อีกต่อไป”
ไวนีเสริมอีกว่า กระบวนการยกเลิก EIA ที่ไว้สำหรับตรวจสอบการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นถูกยกเลิกไป เท่ากับว่ารัฐเป็นผู้เร่งทำลายชายหาดเสียเอง และไม่ฟังเสียงของประชาชน
ปริดา คณะรัฐ กลุ่ม Saveหาดม่วงงาม กล่าวไม่ต่างจากตัวแทนประชาชนชาวตำบลสะกอมว่า แต่ก่อนหาดม่วงงามมีความสวยงาม จนกระทั่งมีเสาโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นเริ่มก่อสร้าง จึงแสดงความเป็นกังวลว่าชายหาดจะหายไปเหมือนหาดที่อื่นๆ และได้รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านกำแพงกันคลื่น ถึงขั้นมีการฟ้องร้องให้ศาลตัดสินในกรณีดังกล่าว
ด้าน “เฉลิมศรี ประเสริฐศรี” มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีของหาดม่วงงามว่า ในช่วงนั้นอยู่ระหว่างเหตุการณ์โควิด-19 มีการตอกเสาเข็มต้นแรกลงไป ด้วยเหตุผลว่าหาดมีการกัดเซาะชายฝั่ง ความกังวลดังกล่าวนำไปสู่การศึกษา พบว่าหาดอ่าวน้อยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่รัฐก็มีการดำเนินโครงการทั้งที่ชายหาดดังกล่าวเป็น ‘หาดสมดุลสถิต’ คือมีการกัดเซาะและเติมทรายอย่างเป็นธรรมชาติตามฤดูกาล หรือแม้แต่บางหาดมีทั้งเอกสารของราชการและนักวิชาการ รวมทั้งเอกสารของผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องการกัดเซาะ แต่ก็ยังมีการดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่น
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาด ทำให้ชายหาดนั้นหายไปอย่างถาวร ดังที่เกิดขึ้นกับชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดแหลมเสด็จ จังหวัดจันทบุรี หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ชายหาดเหล่านี้ได้รับความเสียหายจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ทั้งสิ้น และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในหลายพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เช่น หาดชะอำ หาดปราณบุรี ได้สร้างความเสียหายให้การท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการร้านค้าในแถบหาดท่องเที่ยวนั้นรายได้สูญลงอย่างชัดเจน
ที่สำคัญคือ การรับมือการกัดเซาะกับพื้นที่ชายฝั่ง จะต้องตรวจสอบสาเหตุและแก้ปัญหาให้ถูกจุด ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีรักษาหาดทรายที่เป็นมิตรขึ้นหลายวิธี เช่น การกำหนดระยะถอยร่น (Setback) เพื่อแบ่งเขตชุมชนและเขตหาด, การทำแนวรั้วดักทราย (Sand facing), การติดตั้งกำแพงกันคลื่นแบบทุ่นลอย (Floating breakwater), กำแพงกันคลื่นแบบรูพรุนเล็ก (Small porous breakwater) และการปลูกหญ้าทะเล (Seagrass building) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานคลื่น (Wave energy) และพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal wave) ผนวกรวมโครงสร้างบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่งและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้าด้วยกัน เป็นกำแพงกันคลื่นใต้น้ำติดตั้งใบพัดผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
จากข้อมูลการใช้งบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง ด้วยการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าหลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น 125 โครงการทั่วทุกชายหาดในประเทศไทย ใช้งบประมาณในการดำเนินการรวม 8,487,071,100 บาท โดยกรมเจ้าท่าดำเนินการโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 1,792,171,000 บาท ในส่วนกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น 107 โครงการ ใช้งบประมาณ 6,694,899,400 บาท รวมระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการ 70.413 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง จากตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากที่สุดต่อเนื่องทุกปี แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุในการทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องประชาชนภายในชุมชนที่กรมโยธาธิการฯเข้าไปดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อ คือ 1.ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการ (เดิม) ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรชายหาด ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อทำลายชายหาด
2. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
และ 3.ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิมนั้น
ขณะที่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ออกมาชี้แจ้งว่ากระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีหน้าที่แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล มีคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ที่มีคณะกรรมการมาจากนักวิชาการ ภาคประชาชน NGO และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการที่จะก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา จะต้องเสนอต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อไปยังสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ จะเห็นได้ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นกลไกที่ใช้พิจารณาการของบประมาณในปัจจุบันในการกลั่นกรองโครงการ และมีหน่วยตรวจสอบดูแลที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ก่อนเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 นั้น ในปีงบประมาณ 2565 เป็นปีแรกที่พิจารณา โดยมีหน่วยงานเสนอโครงการฯ มาทั้งหมด 64 โครงการ ผ่านคณะทำงานกลั่นกรองจำนวน 17 โครงการ แต่ได้รับงบประมาณเพียง 7 โครงการเท่านั้น
ส่วนในปี 2566 หน่วยงานเสนอโครงการทั้งหมด 68 โครงการ คณะกรรมการฯเห็นชอบ 17 โครงการ และปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2566 โดยที่ผ่านมาโครงการที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานฯ จะไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาตัดโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ข้างเคียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ถึงตรงนี้ ยังคงต้องติดตามสำหรับบทสรุปของการนำกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA กลับมาใช้พิจารณาโครงการกำแพงกันคลื่นอีกครั้ง เพราะดูเหมือนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ “กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ” มีบทสรุปเอาไว้ว่า “กลไกกลั่นกรอง ดูผลกระทบปัจจุบันดีพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA”
ทว่า ก็พอจะมี “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์(เล็กๆ)” อยู่บ้าง โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ตกลงในเบื้องต้นว่าจะยินยอมให้มีการตั้ง “คณะกรรมการศึกษา” โดยมีสัดส่วนจากภาคประชาชน นักวิชาการจากภาคประชาชน 3 คน นักวิชาการจากหน่วยงานรัฐ 3 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเลขานุการ พร้อมทั้งกำหนดกรอบเวลาการทำงานไม่เกิน 90 หรือ 120 วัน ก่อนเสนอผลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป.