ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยุคสมัยนี้ การเสริมความงามแบบไม่ต้องผ่าตัดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการฉีดสารเสริมความงาม ลดริ้วรอย เพิ่มความกระชับ หรือกำจัดไขมันส่วนเกิน อย่างเช่นการฉีดฟิลเลอร์, ฉีดโบท็อกซ์, ฉีดเมโสแฟต ฯลฯ
ทำให้ธุรกิจบริการด้านความงามเป็นช่องทางทำเงินเกิดการลักลอบให้บริการโดยผิดกฎหมาย ของกลุ่มคนที่เรียกว่า “หมอกระเป๋า” หรือ “หมอเถื่อน” ที่ไม่ได้เป็น “แพทย์จริง” แต่เรียนรู้วิธีการแบบครูพักลักจำ ลักลอบให้บริการเสริมความงาม ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีกรณี “คลินิกเถื่อน” ซึ่งมีแพทย์จริงเข้าตรวจและให้บริการ โดยไม่รู้ว่าคลินิกดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อมูลจากงานวิจัย Nonvascular Complications of Injectable Fillers เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Indian Journal of Plastic Surgery ปี 2563 ระบุว่าในทศวรรษที่ผ่านมามีข้อบ่งชี้ในการใช้ฟิลเลอร์ฉีดในความงามบนใบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (ISAPS) ผู้คนทั่วโลกนิยมฉีดโบท็อกซ์ เป็นอันดับ 1 มากที่สุดถึง 6 ล้านครั้ง และนิยมฉีดฟิลเลอร์ มากถึง 3.7 ล้านครั้ง เป็นอันดับ 2
ขณะที่ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดความงามของไทยเติบโตด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.447 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับปี 2565 ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่าการฉีดสารเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็นฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะต้องให้บริการโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และกระทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่มีการเดินสายให้บริการนอกสถานพยาบาล หากพบเห็นการให้บริการฉีดสารเสริมความงามนอกสถานที่ ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่า เป็นหมอเถื่อน หมอกระเป๋า และการฉีดสารเสริมความงามด้วยบุคคลที่มิใช่แพทย์ อาจมีความรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้ จากการที่สารเสริมความงามรั่วไหลเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด หรือเกิดการติดเชื้อ
นอกจากนี้ บทความวิชาการของ ผศ.พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้อธิบายผลข้างเคียงของการฉีดสารเสริมความงาม โดยยกตัวอย่างผลข้างเคียงจากฟิลเลอร์เอาไว้ว่า แม้ไม่รุนแรงถึงชีวิตแต่ก็เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ และอาจกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ไม่น้อย แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ผลข้างเคียงในระหว่างการฉีด คือทำให้เส้นเลือดอุดตัน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย และสารฟิลเลอร์อาจเข้าไปสู่เส้นเลือดที่เลี้ยงดวงตาทำให้ตาบอดได้ รวมถึงมีภาวะฟกช้ำที่เกิดจากเข็มผ่านเส้นเลือด 2. ผลข้างเคียงในระยะแรก คือมีลักษณะบวม นูน เป็นก้อนและขรุขระ เกิดการติดเชื้อเฉียบพลัน และ 3. ผลข้างเคียงในระยะยาว คือเกิดตุ่ม ก้อน และบวมในภายหลังจากการแพ้หรือติดเชื้อ มีหนองหรือน้ำเหลือง ซึมจากการใช้ฟิลเลอร์ถาวร
อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนและนำสู่การจับกุมหมอกกระเป๋าอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงมีการลักลอบทำผิดกฎหมาย มิหนำซ้ำยังปรากฏหมอกระเป๋าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดอีกต่างหาก
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจกองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พร้อมด้วยตัวแทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการหลังได้รับการร้องเรียนว่า มีบุคคลแอบอ้างตัวเป็นแพทย์หลอกเสริมความงาม ให้บริการประชาชนในหลายจังหวัด นำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย รวม 8 จุด รวบผู้ต้องหาได้ 8 ราย ตรวจยึดของกลาง 836 รายการ
1. บ้านเลขที่ 134/62 ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม จับกุม น.ส.ธนัศร (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ในความผิดฐาน "ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา" โดยจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอาศัยประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาก่อน ซึ่งทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
2. มินท์มันตรา คลินิกเวชกรรม เลขที่ 2/2 (ชั้น 1) ซอยรามอินทรา 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.ศรีษุณี (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี (ทำการรักษานอกเวลาที่ขออนุญาต) ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” โดยจบการศึกษาระดับชั้น ปวส. และทำมาแล้วประมาณ 6 ปี
3. อาร์ซีเอ คลินิกเวชกรรม เลขที่ 25/20 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. จับกุม น.ส.ณปาภัทร (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี ในความผิดฐาน "ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รัอนุญาต" จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะพยาบาลศาสตร์ โดยทำมาแล้วประมาณ 5 ปี
4. โรเซ่ คลินิกเวชกรรม เลขที่ 16 ซ.สันติสุข แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จับกุม นายจิรัฏฐ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ในความผิดฐาน "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ,ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา" จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
5. ห้องเลขที่ 32/18 อาคาร C ไอวี่รัชดาคอนโด ซ.รัชดา 20 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร น.ส.ศศิพัชร์ (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน "ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต" จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะพยาบาลศาสตร์ โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
6. ใจอารีย์ คลินิกเวชกรรม เลขที่ 49/37 หมู่ที่ 14 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายกรกรต (สงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี ในความผิดฐาน "ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต" จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเคยมีประสบการณ์การทำงานในคลินิกมาก่อน จากนั้นมาเปิดคลินิกและตรวจรักษาเอง
7. ร้านพาซาลอน เลขที่ 148/51หมู่ที่ 5 ซอยนาเกลือ 19 ถ.พัทยา-นาเกลือ ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี น.ส.บุญพา (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี ในความผิดฐาน "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา" จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยศึกษาวิธีการฉีดเสริมความงามด้วยตนเองจากช่องทาง YouTube จากนั้นสั่งยาต่าง ๆ จากช่องทางออนไลน์ และทดลองฉีดหน้าตนเองก่อนในช่วงแรก
8. ร้านต่อขนตา By มะปราง ห้องเลขที่ 104 หมู่ที่ 12 ต.ดอนหัวฬอ อ.เมืองชลบุรี จว.ชลบุรี น.ส.อังคนาง (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา" จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีประสบการเคยเป็นผู้ช่วยแพทย์มาก่อน และทำมาแล้วประมาณ 3 เดือน
จะเห็นว่าผู้ต้องหาบางรายจบปริญญาตรีสาขาที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่อาศัยว่าเคยทำงานในคลินิกเสริมความงาม จึงออกมาลักลอบเปิดบริการ บางรายจบการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่อาศัยประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาก่อน บางรายศึกษาวิธีการฉีดเสริมความงามด้วยตนเองจากช่องทาง YouTube
หรือล่าสุดมีการจับกุมหมอเถื่อนเปิดให้บริการผ่าตัดฝังมุกเสริมซิลิโคนและฉีดฟิลเลอร์ที่อวัยวะเพศชาย มีผู้เสียหายแผลเกิดการอักเสบและติดเชื้อรุนแรง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าเคยทำงานเป็นผู้ช่วยหมอในคลินิก แล้วเรียนรู้ด้วยวิธีครูพักลักจำจากนั้นจึงออกมาลอบเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ ในส่วนของ “ผู้บริโภค” เองนั้น การเข้ารับบริการเสริมความงามจำเป็นต้องตรวจสอบ 5 ประการ คือ 1. ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 2. แสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก เลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก 3. แสดงใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล 4. แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน และ 5. แสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ
สำหรับอุตสาหกรรมความงามมีการเติบโตในทุกๆ ปี กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 สถานบริการเสริมความงามทั้งในโรงพยาบาลและคลินิก มีสัดส่วนลูกค้าลดลงประมาณ 30 - 40% โดยคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงปี 2566
สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการจัดอันดับธุรกิจดาวรุ่ง ระบุว่าธุรกิจการแพทย์และความงามยังคงมาแรงเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี ยังคงแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประเมินว่าหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญต่อความงามมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความงามก็จะเติบโตตามไปด้วย เช่น ยา อาหารเสริม เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือมีค่าเฉลี่ยระบุว่า ผู้คนเริ่มตัดสินใจหันมาดูแลตัวเองอายุยังน้อย จากสมัยก่อนจะเริ่มดูแลผิวหน้าเมื่ออายุประมาณ 25 - 30 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันประมาณ 18 ปี เริ่มดูแลตัวเองให้ดูดีกันแล้ว
สุดท้ายแม้ทางการจะมีการกวาดล้าง “หมอกระเป๋า” อย่างต่อเนื่อง แต่หากมีอุปสงค์ย่อมมีอุปทาน ทำให้เกิดการลักลอบสวมรอยแสวงหาผลประโยชน์ในธุรกิจความงานของคนบางกลุ่ม ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ของผู้บริโภคหากต้องการรับบริการเสริมความงาม ต้องศึกษารายละเอียดพิจาราณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่เชื่อเพราะคำโฆษณาเชิญชวนเท่านั้น