xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผู้เลือกตั้งไทย: ลักษณะและความเชื่อทางการเมือง / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


                      ภาพที่ 1  คะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจำแนกตามภาค      ที่มา   รวบรวมจากการสำรวจคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของนิด้าโพล
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การเลือกตั้งเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง และการตัดสินใจผู้เลือกตั้ง การจำแนกประเภทผู้เลือกตั้งสามารถทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการจำแนกตามความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง ในสังคมไทยสามารถจำแนกผู้เลือกตั้งได้เป็นสี่กลุ่มหลัก คือกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้น (hardcore conservative group) กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างอ่อน (soft conservative group) กลุ่มก้าวหน้า (progressive group) และกลุ่มปฏิบัตินิยม (pragmatic groups)

กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นมีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์มีธรรมชาติไม่เท่าเทียมกัน และต้องการให้ความไม่เท่าเทียมดำรงอยู่ตลอดกาล พวกเขายอมรับและสนับสนุนการคงอยู่ของระบบอภิสิทธิ์ทางการเมือง เช่น ยอมรับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คนกลุ่มนี้มีความผูกพันทางอารมณ์อย่างแรงกล้ากับสถาบันเชิงจารีตดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ในสังคม และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางที่ทำให้สถาบันเหล่านั้นมีอำนาจทางการเมืองลดลง

ลักษณะที่สำคัญอีกประการของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นคือ การเชื่อว่าโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจของระบบราชการเป็นสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ตลอดไป ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบราชการที่รวมศูนย์เป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ ทั้งยังมีเจตนาแรงกล้าในการปกปักรักษาการบริหารราชแผ่นดินส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของการบริหารราชการส่วนกลางไว้อย่างเหนียวแน่น และไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจที่แท้จริงสู่ท้องถิ่น

กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นมองว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ขยายสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองให้แก่ประชาชนเป็นสิ่งคุกคามระเบียบของสังคม โดยทั่วไป พวกเขาไม่ชอบการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในรูปแบบการชุมนุมประท้วงที่เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง แต่กระนั้น พวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน และเข้าร่วมการประท้วง หากการประท้วงนั้นมีเป้าประสงค์ในการปกป้องสถาบันที่พวกเขาเทิดทูน หรือสร้างโอกาสให้เกิดการรัฐประหาร เพื่อเปิดทางให้ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเข้ามามีอำนาจทางการเมือง

ผู้นำทางการเมืองที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นนิยมชมชอบคือ บุคคลที่มีภาพลักษณ์ความจงรักภักดี และตั้งใจปกป้องสถาบันดั้งเดิมของสังคม มีความเข้มแข็งในการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่พวกเขามองว่าเป็นปกปักษ์ทางการเมือง ด้านพรรคการเมืองที่กลุ่มนี้ให้การสนับสนุนเป็นพรรคที่อยู่ภายใต้การผู้นำของบุคคลที่มีจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมเข้มข้น

ในการเลือกตั้งปี 2562 กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นส่วนใหญ่ เลือกพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และบางส่วนเลือกพรรคเล็ก ๆ ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ส่วนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คนส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้มีแนวโน้มสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ (พลเอกประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคนี้) บางส่วนอาจเลือกเล็กอื่น ๆ ที่มีแนวทางขวาจัด เช่น พรรคไทยภักดี เป็นต้น ในกรณีที่ไม่มีผู้นำการเมืองอนุรักษ์นิยมที่โดดเด่น คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มหันกลับไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์

ผู้เลือกตั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 (อนุมานสัดส่วนของกลุ่มที่นิยมพลเอกประยุทธ์อย่างมั่นคงต่อเนื่องในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา จากการสำรวจคะแนนนิยมรายไตรมาสของนิด้าโพล) ผู้เลือกตั้งที่มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย รองลงมาเป็นภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคกลางตอนล่าง 2 แถบจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสัดส่วนพอประมาณ ในภาคตะวันออกมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย และที่น้อยที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 
ผู้เลือกตั้งกลุ่มที่สองเป็น กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างอ่อน กลุ่มนี้มีความเชื่อและต้องการปกป้องรักษาสถาบันและวัฒนธรรมดั้งเดิมเหมือนกลุ่มแรก แต่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในบางระดับ สนับสนุนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีความเชื่อและสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้ง แต่ด้านหนึ่งยังคงยอมรับอำนาจและความไม่เท่าเทียมทางการเมืองความตามเชื่อแบบดั้งเดิมของสังคม กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างอ่อนให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจของการเมือง ความเชื่อหลักของพวกเขา คือ “ความเชื่อแบบประชาธิปไตยกินได้” หรือ การเมืองต้องเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มนี้มีแนวโน้มยอมรับอำนาจเผด็จการได้ เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบเข้มข้น หากระบอบเผด็จการทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีชีวิตทางเศรษฐกิจดีขึ้น

ผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้นิยมผู้นำทางการเมืองที่มีภาพลักษณ์เรื่องความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และเป็นนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์ รวมทั้งนิยมผู้บริหารที่มีความเข้มแข็งเด็ดขาดในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมอย่างเรื่องยาเสพติด สำหรับในสังคมไทย ผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้มีแนวโน้มเลือกพรรคเพื่อไทย กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 40 ของผู้เลือกตั้งในสังคมไทย กระจายตัวอยู่มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนภาคใต้มีสัดส่วนค่อนข้างน้อย

กลุ่มที่สามเป็นผู้เลือกตั้งที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมือง กลุ่มนี้เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมทางสังคมและการเมือง ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และเพศสภาพ ผู้เลือกตั้งก้าวหน้ามีแนวโน้มสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยทั้งในมิติรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งหมายความว่า สนับสนุนการเลือกตั้งและระบอบการเมืองแบบตัวแทน พร้อม ๆ กับสนับสนุนการขยายสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางเมืองของประชาชนในทุกระดับและทุกมิติ ต้องการปฏิรูปโครงสร้างระบบบริหารราชการให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ และการปฏิรูปสถาบันบันดั้งเดิมให้มีความทันสมัยเป็นสากลมากขึ้น

ผู้เลือกตั้งที่ก้าวหน้าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คัดค้านระบอบเผด็จการทั้งปวง ทั้งเผด็จการทหาร และเผด็จการรัฐสภา ในทางเศรษฐกิจ ผู้เลือกตั้งที่ก้าวหน้าสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสวัสดิการและสวัสดิภาพของประชาชน รวมทั้งต่อต้านการผูกขาดทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ผู้เลือกตั้งที่ก้าวหน้าสนับสนุนผู้นำทางการเมืองที่มีภาพลักษณ์ผสมผสานระหว่างการมีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจกับการมีเจตจำนงทางการเมืองในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจ และขยายเสรีภาพในการแสดงความคิดและการกระทำทางการเมืองแก่ประชาชน

พรรคการเมืองที่ผู้เลือกตั้งที่ก้าวหน้าสนับสนุนในปัจจุบันคือ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนและความคิดทางการเมืองสอดคล้องกับพวกเขา กลุ่มผู้เลือกตั้งที่ก้าวหน้ามีอยู่ประมาณร้อยละ 20 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด (อนุมานจากผู้ที่ตัดสินใจเลือกพรรคก้าวไกล) มีความหนาแน่นจากมากไปหาน้อยคือ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคใต้
 

         ภาพที่ 2 คะแนนนิยมพรรคก้าวไกลจำแนกตามภาค      ที่มา   รวบรวมจากการสำรวจคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของนิด้าโพล
กลุ่มสุดท้ายคือ ผู้เลือกตั้งเชิงปฏิบัตินิยม ผู้เลือกกลุ่มนี้ไม่มีความเชื่อทางการเมืองที่แน่นอน การตัดสินใจมีความแปรผัน ไม่แน่นอน ลักษณะทางการเมืองของพวกเขาขึ้นอยู่กับสี่ปัจจัยคือ ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเครือข่ายหรือกลุ่มทางสังคมที่พวกเขาสังกัด ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ได้รับ อารมณ์และความชมชอบส่วนตัว และกระแสทางการเมือง ผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 25-30 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด ในภาคกลางจะมีความหนาแน่นมากกว่าภาคอื่น ๆ ผู้เลือกตั้งปฏิบัตินิยมมีสองกลุ่มหลัก คือกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มชนชั้นกลาง

หากเป็นชาวบ้านที่อยู่ในระบบนิเวศทางการเมืองแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท และอยู่ภายใต้บริบทวัฒนธรรมอุปถัมภ์เข้มข้น การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองจะเลือกพรรคตามการชี้นำของผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์ และผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ได้รับ ซึ่งมักจะเป็นพรรคการเมืองแบบชนชั้นนำอุปถัมภ์ท้องถิ่น หรือพรรคที่มีนักการเมืองประเภทบ้านใหญ่สังกัด ผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้จะไม่ยึดติดหรือจงรักภักดีกับพรรคการเมืองใด พร้อมจะเลือกพรรคใหม่พรรคใดก็ได้ ที่นักการเมืองบ้านใหญ่สังกัด ตัวอย่างพรรคการเมืองประเภทนี้ในสังคมไทย เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบัน และ พรรคเล็กอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

หากกลุ่มปฏิบัตินิยมเป็นกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง พวกเขามีแนวโน้มเลือกผู้นำและพรรคตามอารมณ์ รสนิยมของตนเอง และอิงอยู่กับกระแสสังคม ผู้นำการเมืองที่พวกเขานิยมชมชอบมักจะเป็นผู้นำที่มีอัตลักษณ์พิเศษหรือมีความโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เป็นคนที่มีความกล้าในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต หรือกล้าต่อสู้กับผู้มีอำนาจ หรือ กล้าแสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นคนเด่นของสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น