xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เก็บภาษีขายหุ้น ตั้งใจรีด “เม่า” อุดคลังถังแตก? FETCO ค้าน ตลาดผันผวน เสี่ยงวอลุ่มหดหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์  นับว่า “รัฐบาลลุง” กล้าตัดสินใจในระดับเสี่ยงสุดซอยที่เคาะเก็บภาษีขายหุ้น รีดบรรดาแมงเม่าเอาเงินเติมเข้าคลังอุดถังแตก เพราะช่วงปลายสมัยรัฐบาลอะไรที่จะกระทบต่อคะแนนนิยมก็มักไม่ทำกัน ยิ่งนักลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งถือว่าเป็นคนมีตังค์ เสียงดังกว่าชาวบ้านร้านตลาด ทั้งต่างชาติซึ่งพร้อมเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังตลาดที่จูงใจกว่า ขณะที่ตลาดหุ้นยังเผชิญกับความผันผวนหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจชาติมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ซบเซา ยังดีที่การซื้อขายหุ้นในวันถัดมาไม่ไหลรูดเหมือนคราวก่อนที่พอแพลมจะเก็บภาษีหุ้นดัชนีก็ดิ่งนรก 

แต่ก็อย่างว่า ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการมายาวนาน และการจัดเก็บภาษีหุ้นก็ได้รับการยกเว้นมานมนานร่วม 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น ถึงตอนนี้กระทรวงการคลัง จึงเห็นว่าควรแก่เวลาที่ภาครัฐจะเข้ามาเก็บภาษีในส่วนนี้แล้ว ขณะที่กระแสเสียงจากนักลงทุนรายใหญ่ โบรกเกอร์ กลับเห็นต่างยังอยากยืดเวลาออกไปอีก เนื่องจากว่าความคึกคักของตลาดหุ้นไทยมาจากแรงซื้อแรงขายของนักลงทุนรายย่อย หรือ  “เม่าน้อย” ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกรีดภาษี ส่วนนักลงทุนขาใหญ่อย่างกองทุนต่างๆ ที่เป็นมาร์เก็ตเมกเกอร์ได้รับการยกเว้น

อาจเป็นเพราะเสียงคัดค้านดังกว่าเสียงเชียร์หรือไม่ กำหนดการที่  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงรายละเอียดที่กระทรวงการคลัง ในช่วงบ่ายของวันที่ 29 พ.ย. 2565 หลังจากครม.เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่... พ.ศ...(การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) จึงถูกยกเลิกไปโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล

ประกอบกับมีกระแสข่าวกระเส็นกระสายว่าในที่ประชุมครม.ก็ซักไซร้ไล่เรียง “ขุนคลัง”  กันยกใหญ่ นับจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ย้ำว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ และต้องให้สังคมเข้าใจเพราะใกล้ปีใหม่แล้วและใกล้จะครบวาระของรัฐบาลแล้วด้วย

เสริมต่อด้วย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ที่ว่าอยากให้รอบคอบเพราะแม้ผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่มาก แต่เป็นนักลงทุนที่เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อมาก มีเงินมาก การออกมาเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้จะมีพลังมากไปด้วย ซึ่งนายอาคมชี้แจงว่า กระทรวงการคลัง ได้ศึกษามาดีแล้วโดยเปรียบเทียบกับฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งฝรั่งเศสกระทบเพียงสั้นๆ ส่วนอิตาลี ไม่กระทบกับการซื้อขายหุ้นเลย

การเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในอัตรา 0.10% โดยเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10% (อัตราตามมาตรา 91/6(1)) ของมูลค่าที่ขาย

 ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้ โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาส 2/2566 โดยในปีแรกถึงสิ้นธ.ค. 2566 จะจัดเก็บภาษีอัตรา 0.055% แบ่งเป็นภาษีขายหุ้น 0.050% และภาษีท้องถิ่น 0.005% จากนั้นจะจัดเก็บเต็มอัตราที่ 0.10% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป  

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.รับหลักการแล้ว ยังต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบก่อน ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเก็บจริง ดังนั้นหากไม่มีอะไรเกิดพลิกล็อกทุกอย่างก็คงเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้

สำหรับรายละเอียดเหตุผลของการจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่กระทรวงการคลัง นำเสนอต่อครม.นั้น มีสาระสำคัญนอกจากอัตราภาษีที่จัดเก็บดังกล่าวข้างต้นแล้ว คลังยังประเมินว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินมากว่า 40 ปีแล้ว ปัจจุบันตลาดฯ เติบโตอย่างมาก มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน จึงเห็นควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง เห็นควรคงการยกเว้นภาษีให้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กองทุนบำนาญซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ

 สำหรับ market maker ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ต่าง ๆ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนเพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมให้สำนักงานประกันสังคม หรือกองทุนอื่น ๆ (ข้างต้น) 

กระทรวงการคลัง ยังประเมินว่า การจัดเก็บภาษีหุ้น ซึ่งต้องการเพิ่มความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ครั้งนี้ อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจาก 01.7% เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและการขาย) แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่ามาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่สูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย

“จะเรียกเก็บตั้งแต่บาทแรกที่มีการขายหุ้นเกิดขึ้น โดยคาดว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นหากเก็บเต็มปีจะสร้างรายได้ให้รัฐบาล 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในฐานอัตราเรียกเก็บที่ 0.10%” นายอาคม กล่าว

“ขุนคลัง” ยังอธิบายว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้นมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนที่กังวลว่าผู้ขายหุ้นจะขายขาดทุนต้องมาถูกเก็บภาษีขายหุ้นอีกนั้น ผู้ขายไม่ต้องนำมาคิดรวมเพราะหลักเกณฑ์ในการซื้อขายหุ้น หลักการของธุรกิจเฉพาะจะเสียภาษีเพียงครั้งเดียว และไม่ต้องกลับมารายงานให้สรรพากรแต่อย่างใด เชื่อว่ากฎหมายการเก็บภาษีขายหุ้นจะไม่มีผลกระทบกับตลาดหุ้นมากนัก เนื่องจากเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว โดยการจัดเก็บภาษีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) จะเป็นคนรวบรวมภาษีเพื่อจัดส่งกรมสรรพากร

 นายภากร ปีตธวัชชัย  กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยในการเตรียมกระบวนการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำและมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงจะเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรม

สำหรับภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax (FTT) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เดิมประเทศไทย เคยมีการเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.1% มาตั้งแต่ปี 2521 ขณะนั้นเรียกว่าภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และได้มีการยกเว้นไปในปี 2525 ก่อนจะกลับมาเก็บอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 ภายใต้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 โดยมีบทบัญญัติให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คิดจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของการขายหลักทรัพย์ และได้มีการยกเว้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2535 และลากยาวมา 30 ปี เพราะเมื่อจะมีการปัดฝุ่นเก็บภาษีหุ้นก็มีข้อถกเถียงกันทุกครั้งว่าจะกระทบต่อตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติหอบเงินหนี ก่อนที่ล่าสุด “ครม.ลุง” จะเคาะให้จัดเก็บอีกครั้ง

แน่นอน เสียงสะท้อนที่ว่าจะตลาดทุนจะได้รับผลกระทบย่อมตามมาดังคาด  นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ นักลงทุนมีต้นทุนที่สูงขึ้นในการซื้อขายหุ้น และปริมาณการซื้อขายจะลดลง แต่จะมากน้อยแค่ไหนต้องรอหลังมีประกาศบังคับใช้ 3 เดือน โดยคาดการณ์ว่าหุ้นที่จะได้รับผลกระทบแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หุ้นที่มี PE สูง จะมีรอบซื้อขายน้อยลง ส่วนหุ้นในกลุ่มโบรกเกอร์ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากผลประกอบการที่ลดลง และหุ้นที่มีการใช้มาร์จินในการซื้อขายสูง

 นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้นไม่ได้เป็นปัจจัยใหม่ นักลงทุนไม่ได้ตื่นตระหนก แต่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายและบรรยากาศการซื้อขายแน่นอน เพราะมีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นผลกระทบซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนมากอยู่แล้ว อาจเห็นดัชนีหุ้นร่วงลงในไตรมาส 2/2566 ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีการเก็บภาษีหุ้นจะเห็นปริมาณการซื้อขายลดลงกว่า 20%

 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล  กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ออกมาโพสเฟซบุ๊ก แสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีหุ้นของรัฐบาล โดยย้ำจุดยืนที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 และทักท้วงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เนื่องจากตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมาจนบัดนี้ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่งในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่อย่างคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและประเมินว่าจะผันผวนไปอีกระยะ

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศ และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO
 “ขอยืนยันว่า ช่วงนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้ ครับ #FETCO” นายกอบศักดิ์ ระบุ  

สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกถึงขุนคลังก่อนหน้านี้ FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะจัดเก็บภาษีหุ้นเพราะจะกระทบรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมทั้งด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอีก 17 ล้านคน ที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ กระทบต่อการเก็บออมของประชาชน

นอกจากนั้น อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว

อีกทั้งยังกระทบต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน

 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เคยคำนวณก่อนหน้านี้ว่าหากจัดเก็บภาษีขายหุ้น จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าซื้อขายหุ้นในตลาดฯลดลงประมาณ 30-40% เหลือเฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากฐานตัวเลขเฉลี่ยตอนนั้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่ตัวเลขมูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยรวมปัจจุบันค่อนข้างเบาบางเหลือเพียง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน ทั้งที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีหุ้น

เช่นเดียวกันกับ นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก  กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอกการลงทุน จำกัด สะท้อนว่าแปลกใจมากที่มีการออกกฎหมายมาเก็บภาษีหุ้นในช่วงนี้ ซึ่งมีแต่เสมอตัวกับเสียหายต่อตลาดทุน เพราะตลาดหุ้นไทยเติบโตมาจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในประเทศ มีเฉพาะสองปีนี้เท่านั้นที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อ ถ้าดูสถิติ 40 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ คนเล่นรายใหญ่คือนักลงทุนรายย่อย และตามมาด้วยนักลงทุนสถาบันในประเทศ การเก็บภาษีทำให้ต้นทุนนักลงทุนเพิ่มขึ้นมาก ที่แน่นอนที่สุดคือนักลงทุนรายบุคคลจะลดลงไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกบทวิเคราะห์เรื่องภาษีการขายหุ้น โดยชี้ว่าอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% (ภาษีขายหุ้น) ที่จะเรียกเก็บไม่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอัตราที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% เปรียบเทียบกับอัตราภาษี 0.1% แล้วเป็นอัตราส่วน 5:1 เท่า ขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อัตราค่าคอมมิชชั่นโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมลดลง เหลือเพียง 0.08% เท่านั้น

ดังนั้น หากภาครัฐยังจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่ระดับ 0.1% รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% คิดเป็น 0.11% จะทำให้อัตราส่วนระหว่างค่าคอมมิชชั่นและภาษีจะเป็น 0.7:1 เท่า ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ในการให้บริการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าภาษีธุรกิจเฉพาะเสียอีก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเกินเท่าตัว และจะกระทบต่อสภาพคล่อง การตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกลุ่มรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนต่าง ๆ และผู้ลงทุนต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มยังมีการเสนอให้จัดเก็บภาษีจากผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์แทนการเก็บภาษีจากการขายหลักทรัพย์ และเก็บเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนถือครองหลักทรัพย์ต่ำกว่าช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 ปี เมื่อขายหุ้นแล้วได้กำไร จึงจะถูกจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรดังกล่าว โดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ เช่น ประเทศในโซนยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย ไม่มีการเก็บภาษีจากผลกำไรส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ และในบางประเทศไม่มีการเก็บภาษีเงินปันผลอีกด้วย เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ อย่าง นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร  นักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีขายหุ้น เพราะมีผลกระทบต่อมูลค่าซื้อขายของตลาดหุ้นไทยหายไป และน่าจะเป็นลบต่อตลาดหุ้น เพราะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นตลาดเก็งกำไร ถ้าการเก็งกำไรหายไป อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยเงียบเหงา ราคาหุ้นที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นดีก็อาจลดลง ส่งผลให้ค่าพี/อีไม่ค่อยสูง และนักลงทุนต่างชาติอาจมองข้ามตลาดหุ้นไทยไป การที่ภาครัฐคาดว่าจะมีรายได้จากการเก็บภาษีปีละประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท หากวอลุ่มหายไปก็อาจไม่ได้ตามที่คาดคิดไว้

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ในทำนองเดียวกันว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้น แม้ประเมินจะทำให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้น 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่จะส่งผลลบต่อตลาดทุนไทย โดยภาษีการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) หรือ FTT จะทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดลดลง เพราะ FTT จะลดแรงจูงใจในการเทรดของนักลงทุน โดยเฉพาะธุรกรรมในกลุ่ม high-frequency trading ความนิยมในการซื้อขายหุ้นในตลาดที่ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือค่า PE ของหุ้นและตลาดต่ำลง ต้นทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น และลดแรงจูงใจในการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทย ถ้าค่า PE ไม่น่าจูงใจ


 ไม่ว่าจะเกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้น จนทำให้ความหวังจัดเก็บภาษีขายหุ้นไม่ได้ดังหวังหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อ “รัฐบาลลุง” สั่งลุยโดยไม่หวั่นว่านักลงทุนขาใหญ่ หรือ “เม่าน้อย” จะสะเทือน ความนิยมในตัวนายกฯ ลุง ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะอยู่จะไปจะถดถอยแบบบ่ยั่น ก็ได้แต่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป 



กำลังโหลดความคิดเห็น