xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าขบวนการทุนจีนสีเทาทำลายทุเรียนไทย “เกษตร-พาณิชย์-ปชป.” อย่าลูบหน้าปะจมูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องบอกว่าอยู่ในสภาพไส้เดือนถูกขี้เถ้ากันเลยทีเดียวทั้งนักการเมืองและแก๊งค้าทุเรียนอ่อน-ทุเรียนสวมสิทธิ หลังกระแสเปิดโปงขบวนการทำลายตลาดทุเรียนไทยขยายวงกว้างขึ้น

เป็นแรงกระเพื่อมจากผลพวงในการย้ายมือปราบทุเรียนอ่อน  นายชลธี นุ่มหนู  จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) เข้ามาเป็นผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งวันนี้ไม่ว่าตำแหน่งไหนก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะนายชลธีทิ้งชีวิตราชการ ออกมาทำสวนทุเรียนและเตรียมตั้ง  “ฟรุ้ตบอร์ดภาคประชาชน”  เดินหน้าพิทักษ์ทุเรียนไทยไม่ให้ขบวนการทุนสีเทาจีนรวมหัวกับนักการเมือง ล้ง เจ้าของสวน ทำลายทุเรียนไทยด้วยการตัดและส่งออกทุเรียนอ่อน

เมื่อขบวนการทำลายทุเรียนไทยเดินเกมงัดนายชลธีพ้นจากตำแหน่ง กลุ่มสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทยและพันธมิตรทั่วประเทศ 16 องค์กร ก็เคลื่อนไหวร้องเรียนคัดค้านการโยกย้าย จุดกระแสจากพื้นที่จันทบุรี เมืองหลวงทุเรียนไทย ลามไปทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และทั้งประเทศ เพราะผลงานช่วงสองปีที่ผ่านมา  “ทีมเล็บเหยี่ยว”  ที่นายชลธี จัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายของกรมวิชาการเกษตร เรียกความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทยที่ดีขึ้น กระทั่งมูลค่าการส่งออกทะลุแสนล้านบาท แซงหน้าการส่งออกข้าวเลยทีเดียว

แม้การเคลื่อนไหวปกป้องมือปราบทุเรียนอ่อนไม่บรรลุผล สุดท้ายก็ต้องอำลาชีวิตราชการ แต่ขบวนการทำลายทุเรียนไทยก็อยู่ไม่เป็นสุข และนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังก็คงมีหนาวๆ ร้อนๆ กันบ้าง ด้วยว่ากลุ่มสมาคมทุเรียนไทยและเครือข่ายพันธมิตร คงไม่หยุดเคลื่อนไหวและคงไม่ปล่อยให้ขบวนการทำลายทุเรียนไทยลอยนวล

และปรากฏการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยคือการออกมาแฉของ  นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เจ้าของรายการ “Sondhi Talk ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง” ซึ่งร่ายถึงขบวนการค้าทุเรียนอ่อนที่กำลังทำลายตลาดส่งออกทุเรียนไทย โดยมีต้นตอจากความโลภของเจ้าของสวน ล้ง และนักการเมืองบางรายที่หนุนหลังล้งส่งออกแอบยัดใส้ทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อีกทั้งเปิดโปงเบื้องหน้าเบื้องหลังคำสั่งย้ายฟ้าผ่านายชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 ซึ่งร่ำลือกันทั้งวงการว่าสาเหตุสำคัญมาจากการเข้ามาขวางทางทำมาหากินของกลุ่มผู้ค้าทุเรียนอ่อนที่สูญเสียผลประโยชน์มหาศาล

หลังรายการดังกล่าวเผยแพร่ผ่านช่องข่าว News1 และการไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มผู้ค้าทุเรียนทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ว่าเป็นข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นจริง

ยกตัวอย่างเช่น “สมชาย โฉมดี”  เกษตรกรผู้คลุกคลีในการทำสวนทุเรียน จากอำเภอวังจันทร์ ระยอง ที่บอกว่า ““สิ่งที่คุณสนธิพูดในรายการ ชาวสวนทุเรียนเห็นดีด้วย ไม่อยากให้ย้าย ผอ.ชลธี เพราะถ้าเราย้ายคนดี ๆ แบบนี้ ต่อไปทุเรียนเราเป็นแสน ๆ ล้าน ๆ ตันเราจะทำอย่างไรกับมัน เพราะทุเรียน ต้องแก่ถึงจะขายได้ราคาดี ทุเรียนอ่อนราคาถูก รอบแรกมันจะซื้อเราราคาแพง ไปสักเที่ยวสองเที่ยวจะตีกลับ ทีนี้ทุเรียนจะราคาลงทันที ดังนั้นเราอยากได้ทุเรียนมีคุณภาพส่งต่างชาติเขา

“การโยกย้ายมองแล้วไม่เป็นธรรม แบบนี้ ถ้ามีคนแบบคุณชลธี นุ่มหนู เราจะอยู่รอด เพราะท่านเสี่ยงตายนะ ไปผ่าทุเรียนอ่อน ๆ ลูกปืนทั้งนั้นนะ เขาเจ๊งกันไม่ใช่น้อยๆ ทีนี้ผลประโยชน์ของล้ง ของทุน มันมหาศาลไง แบบนี้ไม่ไหว เกินไป ไปทำกับประชาชนอย่างนี้ ผอ.ชลธี ท่านดูแล ระยอง จันท์ ตราด ชาวสวนทุเรียนมายื่นหนังสือคัดค้านการลาออกของท่านกันเยอะมาก ส่วนข้อครหาว่า ผอ.ชลธี จะไปรู้เรื่องอะไร เพิ่งมาอยู่เมืองจันท์ได้ 2-3 ปี แต่ท่านเป็นคนจันท์ ผมถามว่าคนใหม่มาเนี่ย 6 เดือน เพิ่งมาจะรู้อะไร ผมเชื่อว่ามีการเมืองแอบแฝง 100% เพราะวันที่ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้าน คนไปเยอะแยะ ผู้ว่าฯ ยังไม่ไปเลย”

ขณะที่ชาวสวนทุเรียนทางภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ก็กำลังลำบาก จากปัญหาเดียวกัน เพราะระยะนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต “ทุเรียนทวาย” หรือ ทุเรียนนอกฤดูกาล เพื่อการส่งออก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ท่าศาลา อ.นบพิตำ และใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตทุเรียนคุณภาพของ จ.นครศรีธรรมราช สร้างรายได้ให้พื้นที่ และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกให้ประเทศไทยหลายหมื่นล้านบาทต่อปีแต่ล่าสุด ได้เกิดปัญหาทุเรียนราคาตกต่ำอย่างมาก จากปัญหาที่เกษตรกรเชื่อว่าเป็นเพราะทุเรียนไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์

 “นายวิชิต ดำมี” ผู้ผลิตทุเรียนทวายรายใหญ่ ระบุว่า เมื่อช่วงต้นการเก็บเกี่ยวทวายรอบนี้ ผลผลิตทุเรียนระยะแรกจากหลายแหล่งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คือถูกตัดเก็บตั้งแต่ 90 วัน 100 วัน (จากมาตรฐานการตัดที่ 120 วัน) ทำให้เนื้อทุเรียนเป็นลักษณะ  “เนื้อใบจาก” คือยังอยู่ในลักษณะทุเรียนอ่อน ไม่เข้าเกณฑ์แก่จัด ตามการควบคุมคุณภาพ ทำให้ราคาตกลงมาอย่างรุนแรงจาก 250-260 บาท ปัจจุบันเหลือแค่ 90-120 บาทไม่พอค่าปุ๋ยค่าปลูกของชาวสวน ซึ่งหากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้จะพังทั้งระบบ

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มชาวสวนทุเรียนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า มีความเชื่อมโยงกับคำสั่งการโยกย้าย ผอ.ชลธี นุ่มหนู เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ผอ.ชลธี เป็นผู้ที่ควบคุมเข้มงวดคุณภาพมาตรฐานการส่งออก รับผิดชอบเขต 6 จนสร้างความเชื่อมั่นให้วงการเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม จ.จันทบุรี ซึ่งถือเป็นประตูการรวบรวมทุเรียน และมังคุดส่งออกไปยังประเทศจีน เพราะทุเรียนภาคใต้จะไหลไปรวมที่นั่น ก่อนเข้าสู่กระบวนการส่งออก ทำให้อยู่ในอำนาจการควบคุมของพื้นที่เขต 6

จนกระทั่งเข้าสู่ เดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากการโยกย้ายเพียงเดือนเดียว จึงเกิดปัญหาการส่งออกทุเรียนทวายไม่ได้คุณภาพจนราคาตกรูด ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการโยกย้ายมีเบื้องหลัง ถึงขั้นอาจมีการลงขันวิ่งเต้นกดดันให้มีการโยกย้ายเพื่อความสะดวกในการส่งออกทุเรียน โดยมีมาตรการควบคุมคุณภาพที่คลายความเข้มงวดลงไปมาก

ขณะที่หน่วยงานรัฐและฟากฝั่งนักการเมืองเริ่มมีร้อนตัวว่าไม่เกี่ยวข้อง มีแต่หาทางช่วยชาวสวนและช่วยหาทางระบายทุเรียนออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

 นักการเมืองที่เรียงหน้าออกมาโต้กลับการออกมาแฉของนายสนธิก็คือ “เสี่ยต่อ-นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ “เสี่ยจ้อน-นายอลงกรณ์ พลบุตร” ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) 

นายเฉลิมชัย แก้ต่างเรื่องที่นายสนธิแฉทุนจีนสีเทาผูกขาดทุเรียนไทย และการโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู มือปราบทุเรียนอ่อนว่า กรมวิชาการเกษตรเล็งเห็นว่า ผอ.ชลธี มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะจันทบุรีที่มากกว่า 32 ปี จึงเหมาะที่จะนำประสบการณ์ไปขยายผลในระดับประเทศ ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตราฐานสินค้าพืช ซึ่งมีภารกิจหลักในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้าพืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วย

นายอลงกรณ์ก็ว่าการนำเสนอเรื่องดังกล่าวของนายสนธิ ทั้งคำแนะนำการป้องกันการผูกขาดและการค้าทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ ปัญหาล้งนอมินีที่อาจกระทบต่อทุเรียนไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต สอดคล้องกับข้อห่วงใยของฟรุ้ตบอร์ด ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนสามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนทำให้ผู้บริโภคชาวจีนเชื่อมั่นในคุณภาพ ส่งผลให้ราคาทุเรียนหน้าสวนและหน้าล้งดีขึ้นต่อเนื่องมากว่าสองปีแล้ว

สำหรับปีที่ 2564 ผ่านมาผลไม้ไทยถูกใจผู้บริโภคชาวจีนจนครองส่วนแบ่งตลาดในจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 40 ตามมาด้วยชีลิที่เป็นอันดับ 2 ร้อยละ 15 และเวียดนามครองอันดับที่ 3 ร้อยละ 6 โดยทุเรียนสดของไทยครองส่วนแบ่งในตลาดโลกกว่าร้อยละ 70 และครองส่วนแบ่งในตลาดจีนกว่าร้อยละ 90 ด้วยปริมาณการส่งออกไปตลาดจีนกว่า 8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สำหรับปี 2565 (1 ก.พ.-17 พ.ย.) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วกว่า 7 แสนตัน มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

นายอลงกรณ์ ยืนยันแข็งขันว่า นายเฉลิมชัย ในฐานะประธานฟรุตบอร์ด มุ่งมั่นปราบปรามทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพและทุเรียนสวมสิทธิ์อย่างเด็ดขาด ไม่มีลูบหน้าปะจมูกเช่นกรณีการแอบอ้างเป็นที่ปรึกษาหรือคนรู้จักกับฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านให้ดำเนินคดีให้หมดทุกราย และหากนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ทุจริตต่อหน้าที่โดยเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด

“ยืนยันว่าไม่มีฝ่ายการเมืองในกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนสีเทา....

“เราจะไม่ยอมให้ใครมาผูกขาดทุเรียนไทย โดยเฉพาะตนยืนคนละฝั่งกับกลุ่มทุนผูกขาดไม่ว่าใหญ่แค่ไหนไม่เคยกลัวอย่าว่าแต่ทุนใหญ่ต่างด้าวเลยแม้แต่ยักษ์ใหญ่ในประเทศก็ชนมาแล้ว ” นายอลงกรณ์ ลั่นวาจา


ผู้คนในวงการฟังแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกันว่า มีความย้อนแย้งกันอยู่ หากตั้งเป้าหมายปราบทุเรียนด้อยคุณภาพและทุเรียนสวมสิทธิ์จริง เหตุไฉนต้องโยกย้ายข้าราชการที่สร้างผลงานโดดเด่นด้านการปราบทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่โดยอ้างเหตุผลอยากให้ไปคุมมาตรฐานผักผลไม้ระดับประเทศแทน

ที่น่าสังเกต นายอลงกรณ์ยังยอมรับกลายๆ ว่ามีรายการทำมาหารับประทานในวงการค้าทุเรียนที่แอบอ้างนักการเมืองอยู่จริง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แวดวงทุเรียนไทยยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการย้ายนายชลธี นุ่มหนู ไม่หยุด และตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเรื่องนี้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน คือ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เนื่องจากผู้มีอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ ได้โยนลูกการสั่งย้ายนายชลธี ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ แต่ทว่าเรื่องนี้คนในวงการทุเรียนรู้กันดีว่าใครเป็นคนสั่งย้ายและเชื่อว่าปัญหานี้จะไม่จบง่ายๆ อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นแล้ว การโยกย้ายนายชลธีอาจเกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง ซึ่งนายชลธี นุ่มหนู เป็นน้องชายของ นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จ.ตราด พรรคก้าวไกล

หากสืบสาวประวัติ นายชลธี นุ่มหนู เกิดเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2510 เป็นชาว จ.ตราด อายุ 55 ปี เริ่มรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเกษตร 1 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2529 เป็นลูกหม้อกรมวิชาการเกษตร ทำงานมา 36 ปี เหลืออายุราชการอีก 5 ปี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกมีผลวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ตามที่เคยประกาศไว้ว่าหากมีคำสั่งย้ายก็จะลาออก

อย่างที่ว่า ในช่วงฤดูกาลผลิตทุเรียนปี 2564 ที่ผ่านมา นายชลธี ซึ่งจัดตั้งทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย วางเครือข่ายเฝ้าระวังการตัดทุเรียนอ่อนตั้งแต่ต้นทางที่สวน มือมีดกลุ่มตัด และล้งที่ออเดอร์ พร้อมกับตะลุยตรวจสอบบุกตรวจค้นทุกล้งส่งออกทุเรียนให้อยู่ในมาตรการเดียวกัน สร้างความเจ็บแค้นให้กับขบวนการค้าทุเรียนด้อยคุณภาพไม่น้อย โดยปีที่ผ่านมาทีมเล็บเหยี่ยวฯ จับกุมผู้ค้าทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิ์ 4 คดี ทำให้ขบวนค้าทุเรียนอ่อนที่มีทั้งคนไทยและจีนเสียประโยชน์จากส่วนต่างรายได้จากการค้าทุเรียนอ่อนที่หดหายไปเกือบ 70%

 เว็บไซต์ เรื่องเล่าข่าวเกษตร โดย “เสก บูรพา” อ้างข้อมูลจากผู้ค้าทุเรียนส่งออกว่า กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาทำทุเรียนจากไทยส่งออกไปต่างประเทศ มีทั้งหมด 5 กลุ่ม ภายใต้ตัวย่อ คือ กลุ่มแรก “HJ” กลุ่มสอง “THK” กลุ่มสาม “YK” กลุ่มสี่ “HZ” กลุ่ม 5 “K” และมีกลุ่มที่ 6 ที่พยายามผงาดขึ้นมาเทียบแต่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่ คือ “TFH” โดย 5 กลุ่มแรก เป็นทุนต่างชาติ เงินหนา ใจถึง สายสัมพันธ์แน่นทั้งการเมือง(บางกลุ่ม) ข้าราชการ(บางกลุ่ม) และกลุ่มคนไทยที่ร่วมทำธุรกิจด้วย โดย 5 กลุ่มทุนนี้ร่วมมือกับคนไทย ดำเนินการจัดหาทุเรียนและผลไม้อื่นๆ ที่ประเทศปลายทางต้องการ 

วิธีการ 5 กลุ่มทุนต่างชาตินี้ คือ ประสานผ่านคนไทยจัดส่งทุเรียนไปปลายทาง โดยจะมีออเดอร์สั่งมาและระบุวันที่จัดส่งต้องถึงปลายทาง การโอนเงินก็จะโอนเงินสดมาให้ก่อนตามราคาที่ตกลงกัน จากนั้นก็จะส่งของไปตามความต้องการภายใต้สัญญาที่ทำร่วมกัน

สำหรับกลุ่มแรกใช้ตัวย่อ คือ “HJ” กลุ่มนี้สายสัมพันธ์แน่นทั้งการเมือง (บางกลุ่ม) ข้าราชการ (บางกลุ่ม) และคนไทย (บางกลุ่ม) อีกทั้งยังมีคนต่างชาติที่ชื่อ “A-U” เข้าออกประเทศไทยเพื่อจัดหาทุเรียนส่งไปที่ประเทศปลายทางอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญกลุ่มนี้ยังตั้งคนไทย (บางกลุ่ม) เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีอำนาจ และข้าราชการ (บางกลุ่ม) ในการอำนวยความสะดวกการส่งผลไม้ (ทุเรียน) ให้ออกจากประเทศไทยง่ายขึ้น และยังตั้งอดีตผู้จัดการธนาคารเป็นที่ปรึกษา และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่ายที่รับบรรจุทุเรียน-ลำไยส่งออก หรือที่เรียกกันว่า มือปืนรับจ้าง ในเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 40 รายอีกด้วย

กลุ่มที่ 2 ใช้ตัวย่อ “THK” ลักษณะการทำธุรกิจคล้ายกลุ่มแรก แต่สายสัมพันธ์ทางการเมือง (บางกลุ่ม) ยังไม่แน่นมากพอ จะอาศัยโซ่ข้อกลางซึ่งเป็นคนไทยดำเนินการจัดหาทุเรียน-แพค-ส่งออก และอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้ กลุ่มนี้มีผู้ประกอบการที่จัดหา-รับบรรจุ แพคทุเรียนส่งออก หรือที่เรีกกันว่า มือปืนรับจ้างอยู่ในเครือราวๆ 30 ราย

กลุ่มที่ 3 ใช้ตัวย่อ “YK” กลุ่มนี้สายสัมพันธ์ทางการเมือง (บางกลุ่ม) แน่นปึ้ก เมื่อมีปัญหาในทางธุรกิจโดยเฉพาะการถูกตรวจสอบมักจะถูกกล่าวอ้างว่ารู้จักสนิทกับกลุ่มการเมือง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการอำนวยความสะดวกและยังเป็นผู้ริเริ่มสัญลักษณ์ที่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกทุเรียนไปยังปลายทาง หรือที่รู้จักกันวงใน คือ “ส่วย” เพราะหากใครมีสัญลักษณ์นี้ปรากฏบนตู้ส่งออกทุเรียน จะได้รับการอำนวยความสะดวกทั้งฝั่งไทย และประเทศปลายทางที่สำคัญกลุ่มนี้มีผู้ประกอบการที่จัดหา-รับบรรจุ แพคทุเรียนส่งออก หรือที่เรียกกันว่า มือปืนรับจ้าง อยู่ในเครือข่ายราวๆ 30 -40 ราย

และยังมีคนไทยในวงการทุเรียนที่เรียกกันว่า “น” เป็นผู้ร่วมทุน ว่ากันว่า “น” คนนี้สามารถจัดการเคลียร์ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะนอกจากสายสัมพันธ์การเมือง (บางกลุ่ม) จะแน่นแล้ว ยังมีสายสัมพันธ์ดีกับข้าราชการ (บางกลุ่ม) และ “น” คนนี้ ยังนำทุเรียนต่างประเทศเข้ามาแปรรูปด้วย

กลุ่ม 4 “HZ” เป็นกลุ่มทุนใหม่ กลุ่มนี้สายสัมพันธ์ทั้งการเมือง (บางกลุ่ม) และข้าราชการ (บางกลุ่ม) ยังไม่เหนียวแน่นมากนัก ยังต้องใช้คนไทย (บางกลุ่ม) เป็นตัวเชื่อมในการอำนวยความสะดวก กลุ่มนี้มีผู้ประกอบการในเครือข่ายราวๆ 20-30 ราย สำหรับการจัดหา บรรจุ/แพค และส่งออกทุเรียนไปประเทศปลายทาง

ส่วนกลุ่มที่ 5 ใช้ตัวย่อ “K” กลุ่มนี้จะไม่เน้นทุเรียนมากนัก แต่จะเน้นไปที่ผลไม้มังคุดเป็นหลัก และยังมีกลุ่มที่ 6 ที่พยายามผงาดขึ้นมาเทียบแต่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่ คือ “TFH” กลุ่มนี้ยังเข้ามาแบ่งสัดส่วนในตลาดส่งออกทุเรียนไม่มากนัก

โดยทั้ง 6 กลุ่มที่จะมีนายหน้า-มือมีดเป็นผู้ประสานงานโดยตรงกับสวนเพื่อจัดหาทุเรียนเข้าล้ง ด้วยการทำสัญญาในลักษณะเหมาสวน และจะมีคนบางกลุ่มใช้วิธีตัดรูดในครั้งเดียวเนื่องจากทำสัญญาไว้หลายสวน หากจะย้อนกลับมาตัดทุเรียนที่รอให้เนื้อได้พอดีจึงไม่คุ้ม

 นายชลธี นุ่มหนู

 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

 นายอลงกรณ์ พลบุตร
เสียงลือเสียงเล่าขานถึงขบวนการค้าทุเรียนอ่อนที่ทำลายทุเรียนไทยยังกระหึ่มวงการ และต้องการการปราบปรามอย่างจริงจังและเด็ดขาด เพราะต้องไม่ลืมว่าขณะนี้เวียดนามส่งออกทุเรียนเข้าจีนได้แล้ว และกลายเป็นคู่แข่งขันที่ไทยจะประมาทไม่ได้
 นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ตัวแทนกลุ่มชาวสวนทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน เปิดเผยว่า ทุเรียนภาคตะวันออกใน 4-5 เดือนข้างหน้า ผลผลิตจะออกสู่ตลาดแล้ว ตอนนี้เปรียบเสมือนกับการเผชิญกับศึกนอก คือคู่แข่งทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และศึกในที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง 3 ฟันเฟืองหลักคือ การย้ายมือปราบทุเรียนอ่อนที่มีผลวันที่ 1 ธ.ค. 2565 รวมถึงผู้ว่าฯจันทบุรีคนใหม่ และตำแหน่งเกษตรจังหวัดจันทบุรีที่ยังว่างอยู่ รวมทั้งพาณิชย์จังหวัดที่โยกย้ายมาใหม่ด้วย

ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันของตลาดส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้ประกาศลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 อนุญาตให้ประเทศเวียดนาม ส่งทุเรียนผลสดเข้าจีนได้เป็นประเทศที่สอง ซึ่งเวียดนามถือเป็นคู่แข่งทางการค้าที่มีข้อได้เปรียบสูงเนื่องจากมีพรมแดนติดกับจีน มีระยะทางขนส่งใกล้กว่าไทย สามารถตัดทุเรียนแก่ที่มีคุณภาพและรสชาติได้ดีกว่า ทำให้ราคาถูกกว่าทุเรียนจากไทย ขณะที่ไทยยังตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นปัญหามาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนและอาจมีการลดการนำเข้าในอนาคตหากมีทางเลือกที่ดีกว่า

นายชลธี นุ่มหนู อดีตผอ.สวพ.6 ให้สัมภาษณ์สื่อสะท้อนความห่วงใยอนาคตทุเรียนไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่า ส่งออกทุเรียนไทยจะน่าเป็นห่วงมากขึ้น โดยปี 2566 ทุเรียนภาคตะวันออกมีปริมาณเกิน 1 ล้านตันแน่นอน และต้องแข่งกับเวียดนาม และการทำงานของ สวพ.6 เสมือนแม่ทัพที่อยู่ในสภาวะสงครามที่ต้องรบกับขบวนการสอดใส้ค้าทุเรียนอ่อน

อดีตหัวหน้าทีมเล็บเหยี่ยว มือปราบทุเรียนอ่อน ยังเล่าถึงขบวนการทำลายทุเรียนไทยและการสวมสิทธิว่า การส่งออกทุเรียนอ่อนมีทั้งที่เป็นกลุ่มเจตนาและไม่เจตนา ทุเรียนอ่อนล้งใหญ่ๆ เจตนาทำเพื่อส่งออกไปตลาดปลายทางจีนทำให้ราคาตกเรียกว่า  “ทุบราคาชาวสวน” ส่วนที่ไม่เจตนาคือ ดูทุเรียนไม่เป็น มอบหน้าที่ให้คนตัดและคนคัดทุเรียนดำเนินการจัดหาทุเรียนส่งออกไปให้

ส่วนการสวมสิทธิมีกระบวนการทำเป็นเครือข่าย หลายล้งร่วมมือกับผู้ส่งออกและเจ้าหน้าที่ทุจริตต่อหน้าที่ ด่านตรวจพืชมุกดาหารเคยจับทุเรียนสวมสิทธิ 2 ตู้ที่คลองนารายณ์ จ.จันทบุรี คดีไม่คืบ ยกเลิกใบอนุญาตก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเปิดซื้อเหมือนเดิมและที่ด่านตรวจพืชมุกดาหารกับด่านนครพนมจับได้ ที่ จ.ชุมพร 2 ตู้เป็นเครือข่ายเดียวกัน กระบวนการจะเตรียมทุเรียนไว้เป็นตู้รอใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านชายแดนสวมและเปลี่ยนตู้และวิ่งวนกลับมาทำซ้ำ 2-3 รอบ ซึ่ง สวพ.6 ได้ขึ้นทะเบียนแบล็กลิสต์ไว้แล้ว

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ออกบทวิเคราะห์ “จับชีพจรทุเรียนไทย จะโดนโค่นบัลลังก์หรือไม่? หลังศึกแย่งชิงตลาดจีนดุเดือด” เมื่อเดือนต.ค. 2565 โดยประเมินว่า ตลาดส่งออกทุเรียนไทยไปจีนจะขยายตัว 19.3% (2565-2573) เป็น 22,162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ในปี 2573 จากปัจจุบันที่ราว 1.2 แสนล้านบาท จากความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก 95.9% ในปี 2564 เหลือ 90.4% และ 88.1% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ จากการที่จีนสามารถปลูกทุเรียนได้เองและการส่งออกทุเรียนของประเทศคู่แข่งไปจีนมากขึ้น ได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนประมาณ 1.7-5.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2568-2573

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภายในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนของไทยจะแซงหน้าอินโดนีเซีย และในปี 2573 ผลผลิตทุเรียนของไทยอาจเพิ่มขึ้นถึง 4.2 เท่าสู่ระดับ 5.05 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามมีแนวโน้มอยู่ที่ 4.05 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 3 เท่า) 0.72 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า) และ 3.44 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 5.4 เท่า) ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตทุเรียนโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกรุนแรงมากขึ้น

เห็นแนวโน้มในอนาคตแล้วบอกได้คำเดียวว่าน่าห่วงอย่างยิ่ง ถ้ายังปล่อยให้ขบวนการทำลายทุเรียนไทยลำพองอยู่ต่อไป

 ที่สำคัญก็คือไม่เพียงแต่ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ต้องร้อนใจ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ก็ควรต้องร้อนใจ และต้องเร่งแก้ไขอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูก หรือเกิดเรื่องทีก็แก้ที เพราะทั้ง 2 กระทรวงก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในความรับผิดชอบของ “พรรคประชาธิปัตย์” ทั้งสิ้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น