คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
หนังสือชื่อ the English Constitution (ค.ศ. 1867) ของ วอลเตอร์ แบจอจ์ท (Walter Bagehot) ถูกใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร ซึ่งแบจอร์ทย้ำว่า การปกครองของอังกฤษในสมัยของเขานั้นเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ซึ่งรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นจารีตประเพณีการปกครอง และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดโดยจารีตประเพณีการปกครองซึ่งเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการได้ตามยุคสมัยแบจอร์ทได้กล่าวว่า การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดอยู่แค่สามเรื่อง
นั่นคือ หนึ่ง พระราชสิทธิ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำ (the right to be consulted อันหมายถึง พระราชสิทธิ์ที่จะพระราชทานคำปรึกษาแนะนำ เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลขอ) สอง พระราชสิทธิ์ในการให้การสนับสนุนและให้ความมั่นใจ (the right to encourage) สาม พระราชสิทธิ์ในการเตือน (the right to warn) และพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาญาณจะไม่ใช้พระราชอำนาจเกินกว่าที่กล่าวไป
แบจอร์ทกล่าวว่า แม้พระราชสิทธิ์-พระราชอำนาจจะดูน้อยลง แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาและมีประสบการณ์ จะสามารถใช้พระราชสิทธิ์ที่มีไม่กี่ด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสามารถมีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อเวลาพระองค์ใช้พระราชสิทธิ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำและการเตือน
ดังนั้น แม้ว่า แบจอร์ทจะกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะมีพระราชอำนาจจำกัดลงไปมาก แต่เขาก็ยังกล่าวไว้ด้วยว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงปรีชาญาณและสั่งสมประสบการณ์จะสามารถใช้พระราชอำนาจอันจำกัดนั้นทำให้รัฐบาลเห็นชอบและนำไปปฏิบัติได้อยู่ดี แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นจะต้องทรงปรีชาญาณที่สุด โดยแบจอร์ทใช้คำว่า the wisest king
คำถามที่ผู้เขียนทิ้งไว้ในตอนที่แล้ว คือ แล้วพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงปรีชาญาณที่สุด แบจอร์ทได้กล่าวไว้หรือมีความเห็นอย่างไร ?
แบจอร์ทตั้งคำถามไว้ว่า เราจะสามารถคาดหวังที่จะมีพระมหากษัตริย์เช่นนั้น (ทรงพระปรีชาญาณที่สุด) ได้หรือไม่ ?
เราสามารถคาดหวังจากพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาญาณที่สุดทุกๆ พระองค์จากการสืบราชสันตติวงศ์ได้หรือไม่ ?
(But can we expect such a king,…. can we expect a lineal series of such kings ?....)
แบจอร์ทกล่าวว่า จักรพรรดิอาเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซีย (ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ผู้เขียน) ทรงตระหนักดีว่า คุณสมบัติความสามารถอันยิ่งใหญ่และพระราชปณิธานที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นตามการสืบสายต่อๆ กันในราชวงศ์ใดๆได้ พระองค์ตระหนักดีว่า คุณสมบัติเหล่านั้นไม่สามารถส่งผ่านทางการสืบสายโลหิตตามธรรมชาติของมนุษย์ (He well knew that the great abilities and the good intentions….never were continuously combined in any line of rulers. He knew that they were far out of reach of hereditary human nature.)
แบจอร์ทตั้งคำถามอีกว่า แล้วคุณสมบัติความสามารถอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะสามารถสืบสานต่อๆ กันทุกรัชกาลได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ “I am afraid it cannot.” (ข้าพเจ้าเกรงว่า จะไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้)
แบจอร์ทได้ยกตัวอย่างสนับสนุนคำกล่าวข้างต้นของเขา โดยกล่าวว่า
“ถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า เฉพาะในรัชกาลนี้เท่านั้นที่ (รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (เริ่มครองราชย์ พ.ศ. 2362 และหนังสือของแบจอร์ทตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2410/ผู้เขียน) พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้เหมาะสมดี แต่พระเจ้าจอร์จทั้งสองพระองค์ (George I ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2257-2270 และ George II ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2270-2303/ผู้เขียน) ทรงไม่รู้เรื่องในกิจการบ้านเมืองของอังกฤษ (เพราะพระเจ้าจอร์จที่หนึ่งทรงเป็นเจ้าชายจากต่างแดนส่วนพระเจ้าจอร์จที่สองทรงประสูติและเจริญพระพรรษาในต่างแดน/ผู้เขียน) และไม่ทรงสามารถที่จะมีคำแนะนำให้แก่ประเทศได้เลย ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือไม่ดี เป็นเวลาหลายปีในรัชสมัยของทั้งสองพระองค์ ที่ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากจะต้องบริหารจัดการเรื่องราวในรัฐสภาแล้ว ยังจะต้องบริหารจัดการสตรีที่มี
อิทธิพลต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ไม่ว่าสตรีนั้นจะเป็นสมเด็จพระราชินีหรือนางสนม ส่วน พระเจ้าจอร์จที่สาม (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2303-2363/ผู้เขียน) พระองค์ทรงแทรกแซงอย่างไม่หยุดหย่อน และสร้างสร้างความเสียหายไม่หยุดหย่อนด้วย ส่วนพระเจ้าจอร์จที่สี่ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2363-2373/ผู้เขียน) และพระเจ้าวิลเลียมที่สี่ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2343-2380/ผู้เขียน) ไม่ทรงพระราชทานคำแนะนำได้อย่างสม่ำเสมอ และพระพลานามัยของทั้งสองพระองค์ยังเป็นอุปสรรคอีกด้วย ขณะเดียวกัน ในยุโรปภาคพื้นทวีป ในประเทศชั้นนำอย่างฝรั่งเศส สเปนและเบลเยี่ยม พระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เกินหนึ่งชั่วคน......ดังนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงไม่มีเหตุผลที่จะคาดหวังว่าในการสืบสายโลหิตในระบอบพระมหากษัตริย์พระราชอำนาจจำกัด เราจะได้พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างต่อเนื่อง”
จากข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ทำไมแบจอร์ทสามารถเขียนประเมินและวิจารณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ในอดีตได้โดยไม่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่พระเจ้าจอร์จที่หนึ่งและสอง และพระเจ้าจอร์จที่สี่และพระเจ้าวิลเลียมที่สี่ ?
คำตอบน่าจะอยู่ที่ สิ่งที่เขากล่าวนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นที่รับรู้กันในสังคมอังกฤษไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พระเจ้าจอร์จที่หนึ่งและพระเจ้าจอร์จที่สอง ที่มีพื้นเพเป็นเจ้าต่างแดน หรือเกิดและโตในต่างแดน จึงไม่รู้เรื่องราวบ้านเมืองของอังกฤษที่ตนมาเป็นพระมหากษัตริย์ หรือในกรณีที่ทั้งสองพระองค์อยู่ภายใต้อิทธิพลของสมเด็จพระราชินีหรือนางสนม เป็นต้น
และที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่เจตนาในการวิจารณ์พระมหากษัตริย์ของแบจอร์ท ด้วยเขาต้องการชี้เห็นถึงความจริงที่ว่า ในประวัติศาสตร์ ยากที่จะคาดหวังให้พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ติดต่อกันเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งต่อเนื่องทุกรัชกาล ซึ่งข้อวิจารณ์ของเขาเป็นส่วนหนึ่งของความจริงที่เขาต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจในสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ควรจะคาดหวังอะไรที่เกินความเป็นจริง นอกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว แบจอร์ทยังชวนมองในทางทฤษฎีอีกด้วย โดยเขาได้กล่าวว่า
“ถ้าเรามองในทางทฤษฎี ยิ่งมีเหตุผลน้อยที่จะคาดหวังเช่นนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นประโยชน์เมื่อพระองค์ทรงสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และปฏิบัติได้ผลอย่างแท้จริงแก่บรรดารัฐมนตรีของพระองค์ แต่แน่นอนว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีได้นั้นก็จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถมากที่สุดในช่วงเวลาของพวกเขา พวกเขาจะต้องดำเนินกิจการของรัฐสภาให้เป็นที่พอใจของรัฐสภา และพวกเขาจะต้องแถลงหรืออภิปรายในรัฐสภาได้อย่างเป็นที่พอใจของรัฐสภา ภารกิจดังกล่าวของรัฐมนตรีจะไม่สามารถสำเร็จได้ยกเว้นบุคคลนั้นจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถมากและมีความสามารถรอบด้านด้วย และคนที่จะขึ้นมาเป็นถึงรัฐมนตรีได้จะต้องเรียนรู้และผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมามากพอสมควร”
แบจอร์ทตั้งคำถามว่า แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ผ่านทางสายโลหิตเล่า พระองค์จะต้องต่อสู้ เรียนรู้ และฟันฝ่าด่านต่างๆ อย่างคนที่ไต่มาจนเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ ?