"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การสำรวจคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของนิด้าโพลในแต่ละภาคระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในภาพรวมทั่วประเทศ ผู้ที่ตอบแบบสำรวจสำรวจร้อยละ 89 ระบุว่าได้ตัดสินใจแล้วว่าเลือกพรรคการเมืองใด ส่วนอีกร้อยละ 11 ยังไม่ได้ตัดสินใจ หากถามว่า ผู้ที่ตัดสินใจแล้วว่าตนเองเลือกพรรคการเมืองใด จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจหรือไม่ เมื่อมีการลงคะแนนจริงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในต้นปีหน้า คำตอบก็คืออาจมีบ้างแต่ไม่มากนัก ในช่วงสามถึงสี่เดือนที่เหลือก่อนการเลือกตั้ง คาดว่าผู้เลือกตั้งเกือบทั้งหมดจะลงคะแนนตามที่ได้ตอบในแบบสำรวจ และตัวแปรสำคัญในการสร้างความผันแปรต่อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองคือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ
ในแต่ละภาคกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกพรรคการเมืองใดมีสัดส่วนไม่เท่ากัน ภาคตะวันออกมีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมากที่สุด หรือร้อยละ 16.24 ของผู้ตอบแบบสำรวจในภาคนั้น รองลงมาเป็นภาคกลาง ร้อยละ 14.28 ตามาด้วยภาคใต้ร้อยละ 12.54 ภาคเหนือร้อยละ 11.55 กรุงเทพมหานครร้อยละ 10.15 และที่น้อยที่สุดคือภาคอีสาน ร้อยละ 9.1
ข้อมูลจากทะเบียนบ้านของกระทรวงมหมาดไทยปี 2564 ระบุว่ามีคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 50,216,955 คน หากใช้สัดส่วนของผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งมีผู้ไปใช้สิทธิร้อยละ 74.67 เป็นฐานในการประมาณการจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป คาดว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2566 ประมาณ 37,500,00 คน เมื่อนำตัวเลขนี้เป็นฐาน โดยอนุมานจากผลสำรวจของนิด้าโพล ตัวเลขของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดอยู่ที่ประมาณ 4.2 ล้านคน
การที่ยังไม่ตัดสินใจ ด้านหนึ่งหมายความว่า กลุ่มนี้พร้อมที่จะเลือกพรรคการเมืองใดก็ได้ ที่พวกเขาเห็นว่าสมควรเลือกในวันเลือกตั้ง และอีกด้านหนึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองทุกพรรคก็ยังมีโอกาสช่วงชิงการสนับสนุนจากกลุ่มคนเหล่านี้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ปมปัญหาของผู้บริหารและนักยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็คือ การคิดค้นกลยุทธ์และนโยบายการหาเสียงแบบใดที่มีพลังมากเพียงพอในการโน้มน้าวจูงใจผู้เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจให้มาเลือกพรรคตนเอง หรือถ้าจะดียิ่งกว่าคือ สามารถคิดค้นกลยุทธ์ที่ทรงพลังมหาศาลจนทำให้ผู้ที่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองอื่นหันมาเลือกพรรคตนเอง
สำหรับกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกพรรคการเมืองใดในแต่ละภาคมีแบบแผนบางอย่างที่น่าสนใจควรแก่การวิเคราะห์เพิ่มเติม เริ่มจากภาคใต้ สัดส่วนของกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจสูงที่สุดคือ กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง และมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ขณะที่ภาคกลางสัดส่วนมากที่สุดของกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจก็ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีรายได้สูง และมีอาชีพเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นอาชีพที่แตกต่างจากกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจในภาคใต้ สองภาคนี้ในเรื่องการศึกษาและรายได้มีแบบแผนที่คล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างกันในเรื่องอาชีพ น่าสนใจในแง่ที่ว่า กลุ่มที่มีการศึกษาสูงและรายได้สูงของทั้งสองภาคมีผู้ที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นอาจเป็นเพราะกลุ่มเหล่านี้กำลังแสวงหาและประมวลข้อมูล รอรับฟังนโยบายของแต่ละพรรค เฝ้าสังเกตสถานการณ์และทิศทางการเมืองให้ชัดเจนเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจ
ในกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจในแต่ละระดับการศึกษามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างไร ด้านสัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่ยังไม่ตัดสินใจมากที่สุด ที่โดดเด่นออกมาคือ กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสากิจ ซึ่งเหมือนกับภาคกลาง เป็นไปได้ว่าข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในภาคกลางและกรุงเทพฯอาจรอดูสถานการณ์และทิศทางการเมืองให้ชัดเจนเสียก่อนว่าพรรคการเมืองใดมีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งและมีโอกาสสูงที่จะได้เป็นพรรครัฐบาล จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเกณฑ์ ในเรื่องรายได้ ปรากฏว่ามีความน่าสนใจมาก เพราะมีลักษณะที่ดูเหมือนเป็นทวิลักษณ์ของสองขั้ว นั่นคือ กลุ่มที่ไม่มีรายได้ กับกลุ่มที่มีรายได้สูง มีสัดส่วนของการยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ขณะที่คนรายได้กลาง ๆ ส่วนใหญ่มีท่าทีที่ชัดเจนแล้วว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด แต่คนจนและคนรวยจำนวนมากในกรุงเทพฯยังรอดูท่าที สิ่งที่กำลังเฝ้ารอ อาจเป็นนโยบายที่โดนใจ หรือผลประโยชน์ที่ใช้ได้ในชีวิตจริงก็ได้
สำหรับภาคตะวันออก กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจมีลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามมากคู่ยิ่งกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก นั่นคือ ทวิลักษณ์ทั้งในแง่การศึกษาและรายได้ คู่แรกคือ กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี กับกลุ่มที่จบประถมและมัธยมศึกษา มีสัดส่วนที่ยังไม่ตัดสินใจสูงพอ ๆ กัน และสูงกว่ากลุ่มที่จบปริญญาตรีค่อนข้างมาก การที่กลุ่มที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด เหตุผลก็คงไม่แตกต่างจากผู้เลือกตั้งที่มีการศึกษาสูงในภาคอื่น ๆ นั่นคือ การรวบรวมและประมวลข้อมูลของพรรคการเมืองยังได้ไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ไม่ชัดเจน จึงเกิดความลังเลในการตัดสินใจ ส่วนกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำที่ยังไม่ตัดสินใจอาจเป็นเพราะว่า มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองน้อย ไม่อาจตัดสินใจได้ว่าควรจะเลือกพรรคการเมืองใดดี ความชัดเจนของข้อมูลคงมีมากขึ้นในช่วงที่มีการรณรงค์เลือกตั้ง เพราะแต่ละพรรคจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งในเชิงนโยบายและผลประโยชน์ในชีวิตจริงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาพิจารณาตัดสินใจได้ ในเรื่องรายได้ก็มีแบบแผนคล้ายคลึงกับการศึกษานั่นคือ กลุ่มที่ไม่มีรายได้ กับกลุ่มที่มีรายได้สูง มีสัดส่วนของการยังไม่ตัดสินใจพอ ๆ กัน และสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างมาก ส่วนเรื่องอาชีพ ปรากฏว่ากลุ่มแม่บ้าน/พ่อบ้าน เกษตร และประมงมีสัดส่วนของการยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกพรรคการเมืองใดสูงที่สุด การที่กลุ่มอาชีพเหล่านี้มีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ยังมีโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับพรรคการเมืองทุกพรรคและผู้สมัครทุกคนที่จะระดมใช้กลยุทธ์นานาประการเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงให้แก่ตนเองและพรรคที่สังกัด
ภาคอีสานและภาคเหนือมีแบบแผนของกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเหมือนกันนั่นคือ ในเรื่องการศึกษา กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจกระจายในแต่ละระดับการศึกษาใกล้เคียงกัน ส่วนอาชีพที่ยังไม่ตัดสินใจมากที่สุดคือ พ่อบ้าน/แม่บ้านและผู้ว่างงาน และในเรื่องรายได้ กลุ่มที่ไม่มีรายได้เป็นกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจมากที่สุด ในสองภาคนี้ผู้เลือกตั้งที่พอจะเป็นเป้าหมายให้พรรคการเมืองช่วงชิงคะแนนเสียงได้คือ กลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน ผู้ว่างงาน และมีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนความนิยมของพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของสองภาคนี้แล้ว โอกาสที่พรรคการเมืองอื่น ๆ จะเอาชนะพรรคที่มีคะแนนนิยมนำอยู่ในขณะนี้ได้มีค่อนข้างน้อย เพราะว่า พรรคที่มีได้รับคะแนนนิยมนำเป็นลำดับหนึ่งนั้นนำพรรคการเมืองอื่น ๆ 3-4 เท่าตัว ภายใต้สถานการณ์ที่พรรคหนึ่งมีคะแนนนิยมนำพรรคอื่น ๆ แบบขาดลอยเช่นนี้ ยากที่จะมีนโยบายหรือกลยุทธ์หาคะแนนเสียงแบบใดมีพลานุภาพที่จะพลิกผันสถานการณ์ได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียงสามหรือสี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง
จากแบบแผนข้างต้นที่กล่าวมา เราสามารถจำแนกกลุ่มผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจออกเป็นสองกลุ่มหลักคือ กลุ่มชนชั้นกลางระดับค่อนข้างสูง (มีการศึกษาสูง รายได้สูง และอาชีพเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานเอกชน) กับ ชาวบ้าน (มีการศึกษาต่ำ รายได้ต่ำ มีอาชีพเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน เกษตร ประมง และว่างงาน) สองกลุ่มนี้มีชุดของความคิดและเหตุผลในการเลือกตั้งแตกต่างกัน การโน้มน้าวจูงใจผู้เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจเหล่านี้ ให้เกิดความนิยมชมชอบและลงคะแนนเสียงแก่พรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง ย่อมต้องใช้กลยุทธ์และนโยบายหาเสียงต่างกัน กลุ่มชนชั้นกลางระดับค่อนข้างสูงมีแนวโน้มให้น้ำหนักกับนโยบายในสามประเภทหลักคือ นโยบายเศรษฐกิจภาพรวมที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ นโยบายสังคมที่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ และนโยบายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมเชิงนามธรรมที่เชื่อมโยงกับจริยธรรมและอุดมการณ์ที่พวกเขายึดถือ ส่วนชาวบ้านมีแนวโน้มจะให้น้ำหนักกับกลยุทธ์สองประการคือ นโยบายเศรษฐกิจเชิงประชานิยมที่เป็นรูปธรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม และกลยุทธ์การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จับต้องได้จริงในสถานการณ์เลือกตั้ง
ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเป็นตัวแปรที่สำคัญมากในสนามการเลือกตั้งของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพราะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่า สามารถสร้างความพลิกผันเกี่ยวกับผลลัพธ์การเลือกตั้งในหลายจังหวัดของภาคเหล่านี้ได้ แต่มีความสำคัญพอประมาณในกรุงเทพมหานครและภาคเหนือ ซึ่งอาจสร้างความพลิกผันในบางเขตและบางจังหวัดที่ผู้สมัครมีคะแนนนิยมสูสีกัน ส่วนในภาคอีสาน ผู้ยังไม่ตัดสินใจเป็นตัวแปรที่สำคัญน้อย และไม่สามารถพลิกผันผลลัพธ์การเลือกตั้งได้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งสามารถดึงการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ยังไม่ตัดสินใจได้ทั้งหมด ก็ยังมีคะแนนไม่เพียงพอที่จะเอาชนะพรรคการเมืองที่มีคะแนนนำเป็นลำดับหนึ่งอยู่ในขณะนี้ได้นั่นเอง หากจะมีบ้างก็มีเพียงหนึ่งหรือสองจังหวัดเท่านั้น