xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หอมมะลิ105” ไทย พ่าย “ผกาลำดวน” แขมร์พิษร้าย “ประกันราคา” แช่แข็งชาวนายากจน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ความพ่ายแพ้ของข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยที่เสียแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลกในปีนี้ให้กับข้าวหอมมะลิผกาลำดวนของกัมพูชา บ่งบอกถึงความถดถอยในทุกด้านทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ การผลิต การส่งออก ที่เจอคู่แข่งแซงหน้าไปไกล ขณะที่ “รัฐบาล” หลายยุคหลายสมัยมุ่งเน้นอยู่กับการสร้างคะแนนนิยมจากใช้เงินหลายแสนล้านประกันราคาอันนำมาซึ่งคำถามว่า มีประโยชน์กับชาวนามากน้อยแค่ไหน จนไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้มีความยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันพร้อมทั้งนั่งบริหารงานในกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

นับเป็นข่าวคราวที่ตื่นตะลึงกันพอสมควรกับผลการจัดประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2565 หรือ The World’s Best Rice 2022 ระหว่างการจัดประชุมข้าวโลก ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิของกัมพูชา ชื่อ “ผกาลำดวน” ได้รับรางวัลชนะเลิศ เฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิ 105 แชมป์เก่าจากไทยไปหวุดหวิดเพียงคะแนนเดียว ถือเป็นการเสียแชมป์คาบ้าน โดยก่อนหน้านี้ข้าวหอมมะลิ 105 เคยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวโลกถึง 2 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2563-2564

 นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์  นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เล่าถึงเบื้องหลังการเสียแชมป์ว่า กรรมการผู้ตัดสินที่เป็นเชฟชาวอเมริกันบอกว่าข้าวหอมมะลิไทยแพ้ข้าวกัมพูชาตรงที่กลิ่นหอมน้อยกว่า เวลาหุงหอมมะลิกัมพูชาจะมีกลิ่นหอมมากกว่า ส่วนตัวคุณภาพข้าว รสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน

ปีนี้ไทยได้คัดเลือกข้าวที่ดีที่สุดในนามสมาคมฯ ส่งไปประกวดแค่ 1 ตัวอย่างจากข้าวที่ส่งประกวดทั้งหมด 20 ตัวอย่างจากหลายประเทศ ทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐฯ จีน โดยข้าวไทยแพ้กัมพูชาไปแค่ 1 คะแนน ส่วนอันดับ 3 เป็นข้าวจากเวียดนาม และอันดับ 4 ข้าวหอมมะลิจาก สปป.ลาว

“…..หลายคนก็พูดว่าปีนี้ข้าวไม่ค่อยหอม อาจจะน้ำเยอะไป ฝนตก กลิ่นหอมหายหมด แต่ปีหน้าสมาคมฯ ตั้งใจจะส่งข้าวเข้าไปประกวดเพื่อทวงแชมป์คืน” นายชูเกียรติ กล่าว

ด้าน  “นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์”  อธิบดีกรมการข้าว ชี้แจงว่า พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ครองความนิยมในใจของผู้บริโภคมานาน 60 ปี นับตั้งแต่ผ่านการรับรองพันธุ์ นอกจากรูปลักษณ์ที่เป็นข้าวสุกขาว นุ่มแล้ว ยังมีเสน่ห์ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ แม้มีพันธุ์ข้าวหอมใหม่ๆ รับรองพันธุ์ แต่ยังไม่อาจเทียบเท่า แต่ต่อมาในระยะหลัง มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า ทำไมข้าวหอมในปัจจุบันมีความหอมน้อยลง หรือในบางครั้งได้มีคำถามว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกมีคุณภาพดีเหมือนเดิมหรือไม่ ดังนั้นจึงได้เร่งรัดกองวิจัยและพัฒนาข้าวร่วมกับกองเมล็ดพันธุ์ข้าวหาสาเหตุ โดยพบว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เป็นเมล็ดพันธุ์แท้จากกรมการข้าว ไม่มีความแปรปรวนของลักษณะสรีระและทางพันธุกรรม รวมทั้งลักษณะทางการเกษตรแต่อย่างใด เมื่อพิสูจน์ความหอมแล้ว ยังมีความหอมเหมือนเดิม ไม่น้อยลง

ส่วนข้าวหอมมะลิในตลาดที่ลดลง พบว่า มาจากคุณภาพเมล็ด โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีความแปรปรวนทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และความหอมของพันธุ์ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการในแปลงนาและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

กระนั้นก็ดีการเสียแชมป์ข้าวหอมที่ดีที่สุดในโลกของข้าวหอมมะลิไทย นับเป็นภาพสะท้อนความตกต่ำของข้าวไทยในหลายมิติ อย่างเรื่องของความหอมที่ทำให้พ่ายแพ้ต้องตะหนักกันว่าข้าวหอมมะลิไทยเจอคู่แข่งขันที่น่าหวั่นใจไม่น้อย เพราะข้าวหอมมะลิผกาลำดวนกำลังไล่กวดมาติดๆ และมีโอกาสแซงหน้าได้ไม่ยากเย็น เพราะชื่อชั้นของข้าวหอมผกาลำดวนก็ถือว่าไม่ธรรมดา

เพจเฟซบุ๊ก “เรื่องเล่า ข่าวเกษตร” ระบุว่า ข้าวหอมมะลิ “ผกาลำดวน” ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการประกวดข้าวโลก แต่เคยได้แชมป์มาแล้ว 4 ครั้ง รวมครั้งนี้เป็นแชมป์ 5 ครั้ง ส่วนหอมมะลิจากไทย เคยเป็นแชมป์มาแล้ว 7 ครั้ง ผกาลำดวนไม่ใช่ข้าวโนเนมหากแต่เป็นข้าวที่สร้างชื่อเสียงและเม็ดเงินเข้ากัมพูชามาโดยตลอดและรัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นพัฒนาผกาลำดวนอย่างเต็มกำลัง

 สำหรับที่มาที่ไปของข้าวหอมมะลิ “ผกาลำดวน” เป็นข้าวที่สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรของกัมพูชา (Cambodian Agricultural Research and Development Institute) ได้แจกจ่ายพันธุ์นี้ให้เกษตรกรใช้ปลูกในปี 2542 หลังจากพัฒนาและทดลองมาสิบปี กัมพูชาได้ส่งผกาลำดวนเข้าประกวด และกวาดรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน ระหว่างปี 2555-2557 จากนั้นคว้าอันดับ 2 ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ช่วงปี 2558-2560 ก่อนจะกลับมาทวงบัลลังก์คว้าแชมป์ได้ในปี 2561 ในการประกวดที่เวียดนาม และปีนี้คว้าแชมป์โลก เป็นครั้งที่ 5 

ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยครองแชมป์โลก 7 ครั้ง ในรอบ 13 ปี (2552-2565) โดยครองอันดับหนึ่งในปี 2552 -2533 ส่วนปี 2557 ครองแชมป์ร่วมกับกัมพูชา และปี 2559-2560 จากนั้นตกอันดับไปสองปี ก่อนกลับมาทวงแชมป์ในปี 2563-2564

อย่างไรก็ดี การตกอันดับของข้าวหอมมะลิ 105 ที่สร้างชื่อเสียงอันดับหนึ่งของโลกหลายสมัย เป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์ของข้าวไทยในโลกของการแข่งขันไม่สู้จะดีนัก ด้วยว่าวงการข้าวของไทยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและเพียงพอที่จะสู้กับประเทศอื่นที่นับวันมีพัฒนาการก้าวหน้าทั้งในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต การตลาดและการส่งออก แทบจะเรียกได้ว่าข้าวไทยถูกแซงหน้าในทุกเรื่อง

ถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตะหนักถึงปัญหาที่เป็นอยู่และมองเห็นแนวโน้มตกต่ำลงของวงการข้าวหรือไม่

ต้องบอกว่ารู้กันดี รู้แน่อยู่แก่ใจ แต่เมื่อรัฐบาลซึ่งเป็นผู้กุมทิศทางและนโยบายของประเทศมุ่งปั้นโครงการประชานิยมไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว หรือโครงการประกันราคา มาช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ในแต่ละฤดูกาลผลผลิตเพื่อหาคะแนนนิยมมากกว่า นักการเมืองก็ชอบ ชาวนาเองก็ติดเงินแจก จนกลายเป็นว่าถลุงงบหมดกันหลายแสนล้านบาทในยุครัฐบาลลุงแต่ชีวิตชาวนาก็ยังย่ำอยู่กับที่

ดังที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สะท้อนว่าการเสียแชมป์ข้าวโลกครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าไทยจะต้องกลับมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง เช่น จะทำอย่างไรให้มีกลิ่นหอม มีรสชาติดีกว่าเดิม เพราะเข้าใจว่าข้าวของกัมพูชาจะเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาก แต่ข้าวไทยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว ตอนนี้ข้าวหอมผกาลำดวนของกัมพูชาราคาถูกกว่าไทยมาก อยู่ที่ 720 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ที่ 750 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งนั่นหมายถึงการแข่งขันตลาดข้าวหอมน่าจะรุนแรง และไทยอาจต้องลดราคาลงแข่ง

นอกจากนั้นแล้ว ในอนาคตข้าวหอมมะลิของประเทศเพื่อนบ้าน สามารถจะพัฒนามาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยได้ทั้งหมด อย่าง สปป.ลาว ปีนี้ส่งแข่งขันและครองอันดับที่ 4 ซึ่งเตือนว่าไทยต้องพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง ให้มีพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลต้นทุนผลิตให้ลดลง และผลผลิตต่อไร่ต้องมีมากขึ้น และต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย เช่น สายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ที่เวียดนามกำลังครองตลาดเอเชียอยู่ เพราะตอนนี้ชาวเอเชียชอบข้าวขาวพื้นนุ่มมากทั้งในจีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สมาคมฯพยายามผลักดันให้รัฐมาสนใจ แต่รัฐบาลจะสนใจแต่เรื่องราคาเป็นหลัก




สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวไทยปี 2565 น่าจะทำได้ถึง 7.5 ล้านตัน ส่วนปีหน้าน่าจะแตะ 8 ล้านตัน เพราะปีนี้ผลผลิตมีมาก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ นาปรังไม่มีปัญหา อีกทั้งค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไปอยู่ที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ข้าวไทยราคาไม่ห่างจากคู่แข่งมากนักเมื่อเทียบกับอดีต ปัจจุบันราคาข้าวไทยประมาณ 410-450 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวเวียดนาม 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวอินเดีย 390 เหรียญสหรัฐต่อตัน

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยังสะท้อนว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องการเห็นคืออยากให้รัฐบาลหันมาพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดจะเน้นดูแลแค่เรื่องราคา เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการจำนำข้าว ใช้เงินไปนับแสนล้านบาท แต่ไม่ส่งผลดีระยะยาวต่อสายพันธุ์ข้าวเลย

แน่นอนว่าโครงการจำนำข้าวและประกันราคาข้าว เป็นโครงการประชานิยมเอาใจชาวนาที่ไม่ได้มีส่งผลต่อการพัฒนาวงการข้าวอย่างยั่งยืน แม้กระทั่งกับตัวชาวนาเองที่ชอบรอคอยเงินชดเชยส่วนต่าง เข้าทางนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชูนโยบายประกันราคา เพื่อหาคะแนนเสียงกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา แทนที่จะเอางบประมาณมหาศาลที่ใช้ในการประกันราคามาทุ่มเทพัฒนาและปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิต เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาชาวไร่ลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริง

สำหรับการทุ่มเม็ดเงินประกันราคาข้าว ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติประกันราคาข้าวฤดูกาล 65/66 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 นับเป็นการประกันราคาข้าวต่อเนื่องเป็นเฟสที่ 4 โดยใช้งบประมาณกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน เป็นการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง (ราคาตลาด) และราคาประกันรายได้ (10,000 -15,000 บาทต่อตัน ตามชนิดข้าว) วงเงิน รวม 18,700.13 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ รวม 7,482.69 ล้านบาท ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 7,107.69 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 375 ล้านบาท และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป้าหมายเพื่อดูดซับ 4 ล้านข้าวเปลือก เก็บสต็อกไว้อย่างน้อย 60-180 วัน (2-6 เดือน) นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ใช้จ่ายจากงบปกติของกรมการค้าภายในหรือเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

อีกทั้งยังมีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงิน 55,083.09 ล้านบาท

 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยก่อนที่ครม.จะเคาะตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอข้างต้นว่า เห็นใจเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพราะทวงถามกันมาระยะเวลาพอสมควรแล้ว ขณะนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วทั้งในส่วนกระทรวงพาณิชย์กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้การลดวงเงินลงมาแต่อย่างใด

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ย  อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้อนุมัติราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 1-6 รวดเดียว 6 งวด โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบางชนิด และข้าวบางชนิดไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง เพราะราคาข้าวสูงขึ้นกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้ โดยหลังจากเคาะราคาส่วนต่างแล้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โอ่ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการประกันรายได้ปี 4 หลังประสบความสำเร็จมาแล้ว 3 ปี และนี่คือผลของการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ “ทำได้ไว ทำได้จริง” และทำได้มาจนถึงปีที่ 4

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและโครงการสนับสนุนต้นทุนฯ 3 ฤดูกาล (3 เฟส) ที่ผ่านมา นับจากฤดูกาลผลิต 2562/2563 จนถึงปีการผลิต 2564/2565 รัฐบาลอนุมัติสรรงบอุดหนุนชาวนาโดยตรง (ไม่รวมมาตรการคู่ขนาน) รวมแล้ว 321,245 ล้านบาท ได้แก่ ปีการผลิต 2562/63 รัฐอนุมัติงบอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ รวม 76,049 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 รัฐอนุมัติงบอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ รวม 106,740 ล้านบาท ปีการผลิต 2564/65 รัฐอนุมัติงบอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ รวม 138,456 ล้านบาท

แต่ทว่าแม้รัฐบาลจะทุ่มเทงบประกันราคาหลายแสนล้านบาท แต่ชีวิตชาวนาไม่ได้ดีขึ้นแม้แต่น้อย ซ้ำยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรในปี 2564 อยู่ที่เฉลี่ย 262,317 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 225,090 บาท/ครัวเรือน และเพิ่มขึ้น 18.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 มีครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 221,490 บาท/ครัวเรือน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาจนถึงโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลลุง ภายใต้การผลักดันและบริหารจัดการของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คุมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการทุ่มเทงบไปกว่า 1.2 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ชีวิตชาวนาหาได้ดีขึ้นแต่อย่างใดไม่

 รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย สะท้อนผ่านสื่อว่าภาพรวมประกันรายได้เกษตรกรที่ทำมาต่อเนื่อง 4 ปี เป็นโครงการที่ถูกใช้หาเสียงเป็นหลัก ไม่ได้มองในแง่ของการแข่งขัน หรือทำให้เกษตรกรยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ นโยบายประกันรายได้ จึงเป็นการแช่แข็งเกษตรกรให้ติดกับดักมีรายได้ต่ำ เห็นได้จากเกษตรกรมีการแตกครัวเรือนเพิ่มเพื่อรับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้ จากข้อมูลปี 2557 มีชาวนาอยู่ 3.4 ล้านครัวเรือน แต่ปี 2565 มีชาวนาเพิ่มเป็น 4.675 ล้านครัวเรือน ผลตามมาคือ ผลผลิตข้าวไทยยังตํ่า ยังสู้เวียดนามไม่ได้ เพราะนโยบายนักการเมืองทำให้ต้องเร่งปลูก

หากมองย้อนกลับไปในรอบ 10 ปี โครงการจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกร ทำให้รัฐต้องควักจ่ายรวมกันไปแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลประยุทธ์ 6 แสนล้านบาท ระยะเวลา 4-5 ปี ส่วนโครงการจำนำข้าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ระยะเวลา 3 ปี งบประมาณ 6 แสนล้านบาท ความเสียหายเหมือนกัน อุตสาหกรรมข้าวไม่ได้ดีขึ้น เกษตรกรไม่ได้รวยขึ้น อ่อนแอทั้งระบบ เนื่องจากนโยบายประชานิยมไปครอบงำระบบราชการและเกษตรกร สิ่งที่น่ากลัวในอนาคตคือนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรแบบไม่มีเงื่อนไขจะสร้างหายนะให้กับภาคเกษตรไทย

 นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์  นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กระทุ้งให้รัฐบาลมองเห็นเช่นกันว่าขณะนี้คู่แข่งของไทยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตต่ำ จำเป็นที่ไทยต้องพัฒนาเพื่อการแข่งขัน โดยมองว่างบประมาณปีละเป็นแสนล้านบาท หากใช้ได้ถูกทิศถูกทางจะทำให้ภาคอีสานมีพื้นที่ชลประทานครบ ชาวนาปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องการให้เกษตรกรให้ความสำคัญว่ามีโครงการประกันรายได้ จำนำข้าวก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องการให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อพัฒนายกระดับการแข่งขันข้าวไทย หากชาวนาซึ่งมีกว่า 20 ล้านเสียง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมข้าวไทยก็เชื่อว่าจะแข่งขันได้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น

 นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว ยังย้ำว่าโครงการประกันรายได้ชาวนาไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาปรับตัว ทำให้ช่วงหลายปีชาวนายังปลูกข้าวแบบเดิมที่ให้ผลผลิตเพียง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไม่มีทางรอดแล้ว แข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ วันนี้ต้องได้ผลผลิตตันกว่าๆ ต่อไร่แล้วและต้นทุนต้องต่ำที่สุด เพราะทุกประเทศเขาไปถึงขนาดนั้นแล้ว อย่างหอมมะลิเราปลูกได้ 350 กิโลกรัมต่อไร่ แม้จะให้ราคาประกัน 20,000 บาทต่อตันก็สู้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่ปลูกได้ตันกว่าๆ แต่ขายกันที่ 5,000-6,000 บาท ไม่ได้เลย 

พร้อมกับยกตัวอย่างอินเดียเมื่อก่อนส่งออกน้อย สู้ไทยไม่ได้เพราะปลูกข้าวบาสมาติซึ่งให้ผลผลิต 300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่ออินเดียหันไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงทำให้อินเดียส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ปีที่แล้วส่งออกถึง 20 ล้านตัน ส่วนไทยเรายังไม่ไปไหนเลย


ในขณะที่เวียดนามทุ่มงบวิจัยพันธุ์ข้าวอย่างเดียว ปีละ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,000-9,000 ล้านบาท แต่กรมการข้าวของไทยกลับได้รับอนุมัติจัดสรรงบเพียงปีละ 400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเงินเดือนและงบประจำ เหลือเป็นงบวิจัยพันธุ์ข้าวไม่เท่าไหร่ และทุกวันนี้ไทยแทบไม่มีนักวิจัยพันธุ์ข้าวรุ่นใหม่เลย

แต่ก็อย่างว่า ชาวนามีน้ำก็ทำนา และถึงฤดูกาลผลิตก็ก้มหน้าก้มตาทำไป แล้วกู้ธ.ก.ส. ถึงเวลาก็ใช้หนี้ หมุนหนี้เป็นวิถีของชาวนา คำถามคือ รัฐบาล นักการเมืองที่คุมนโยบาย และบริหารกระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร มีสติปัญญาคิดหาทางให้ชาวนาชาวไร่หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ ลืมตาอ้าปากได้สักกี่มากน้อย

ทางด้าน  ดร.นิพนธ์ พัวพงศก นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลจะต้องลดจำนวนเงินอุดหนุนชาวนาลง ทั้งโครงการประกันรายได้ฯ และโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตแล้วนำงบที่รัฐประหยัดได้ไปสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น ลดการใช้น้ำ และลดการใช้สารเคมี ชาวนาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมและมีความยั่งยืนขึ้น การที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนโดยชาวนาไม่ต้องทำอะไรแล้วได้กำไร ทำให้ขณะนี้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยต่ำที่สุดในเอเชีย ต่ำกว่ากัมพูชา ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ และอินเดีย เนื่องจากในขณะที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยทรงตัว แต่ผลผลิตของประเทศอื่นเพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวและนักวิชาการที่ติดตามเรื่องข้าวมายาวนาน สะท้อนความอ่อนแอของอุตสาหกรรมการค้าข้าวและชีวิตชาวนาไทย แต่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับแสดงความพอใจต่อการพัฒนาศักยภาพของชาวนาไทยและการส่งออกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 และยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยโอ่ว่า 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 65) ประเทศไทยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 5.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 39.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 2,796.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ 95,233 ล้านบาท โดยราคาเฉลี่ยในเดือนก.ย. 65 อยู่ที่ตันละ 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7-8 ล้านตัน ทำให้ประเทศไทยกลับมาผงาดขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

“ขอบคุณชาวนาไทยทุกคนทุกครัวเรือนและทุกภาคีภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานอย่างหนักจนขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยเพิ่มขึ้น ยังมีปัญหาที่ค้างคาสะสมมานานโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินรวมทั้งความท้าทายใหม่ ๆ โอกาสใหม่ๆ ที่เรายังต้องเผชิญในวันข้างหน้าโดยมีเป้าหมายที่จะต้องเพิ่มรายได้ให้ชาวนาแก้ไขปัญหาหนี้สินความยากจนและเพิ่มศักยภาพข้าวไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายเฉลิมชัย ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้าการประชุมข้าวโลกที่ภูเก็ตหนึ่งวัน ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับผู้ส่งออกและมุมมองของนักวิชาการที่ยังไม่พอใจในผลงานการพัฒนาอุตสาหกรรรมข้าวและชีวิตของชาวนาไทยของภาครัฐ

 “หอมมะลิ105” พ่าย “ผกาลำดวน” จึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของวงการข้าวไทยที่นับวันมีแต่ตกต่ำลง เพราะชาวนาเสพติดโครงการประชานิยม จำนำข้าว ประกันราคาข้าว ที่นักการเมืองใช้หลอกล่อจนติดกับดัก และสร้างความอ่อนแอตลอดห่วงโซ่การพัฒนาสายพันธ์ การผลิตยันส่งออก 


กำลังโหลดความคิดเห็น