xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บทบาทไทยใน COP27 กู้วิกฤต Climate Change หรือแค่วาทกรรมสวยแต่เปลือก?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านไปแล้วสำหรับการประชุมระดับสูงของ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 18 พ.ย. 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

กล่าวสำหรับ COP ย่อมาจาก Conference of Parties เป็นการประชุมภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีภาคีกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเป็นประจำทุกปี เพื่อหารือความร่วมมือและกำหนดทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก รวมถึงการนำเสนอแผนของแต่ละประเทศว่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกรวนนี้อย่างไร โดยแต่ละประเทศต้องรายงานความคืบหน้าทุก ๆ ปี

 สาระสำคัญของการประชุม COP27 คือการทำตามคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมายตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประชาคมโลก ต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ภายในปี 2100 

นอกจากนี้ บรรลุข้อตกลงสำคัญเพื่อมอบเงินสนับสนุนชาติที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ซึ่งในส่วนของรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนฯ ยังไม่มีการตกลงเกณฑ์ ใดๆ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจุดชนวนไปสู่ความขัดแย้งในที่ประชุมครั้งหน้า COP 28 เกิดประเด็นว่าประเทศใดควรจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ดังกล่าว

สำหรับบทบาทของของประเทศไทยใน COP27  นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ประกาศในที่ประชุม COP 27 ประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 โดยตั้งเป้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก จาก Maximum 388 ล้านตันต่อปี ลดลงเหลือ 120 ล้านตันต่อปี เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ

ประเทศไทยได้เร่งดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 ตลอดจนส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมทำความเย็น และอยู่ระหว่างนำร่องวิธีการปลูกข้าวทางเลือกแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ลงนามสัญญากับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศคู่แรกในโลกที่ได้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้เงื่อนไข ข้อ 6.2 ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้ง หารือร่วมกับประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซมีเทนถือว่ามีอานุภาพร้ายแรงกว่าก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ 26-28 เท่า โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการช่วยกันหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซมีเทนลง ปนะเทศไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ Biocircular Green Economy (BCG) ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

  “ประเด็นสำคัญในการประชุม COP27 ที่อยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ การส่งเสริมค่าเสียหายและการสูญเสีย (Loss and Damage)ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกใบนี้ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบลำดับที่ 9 ของโลก ดังนั้น หลายประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ไม่พัฒนาจึงตื่นตัวขึ้นมาให้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะ และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลงงบประมาณปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อนำไปช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาแลและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” นายวราวุธกล่าว 

ทว่า เกิดเสียงวิพากษ์จาก  นายนิติพล ผิวเหมาะ  ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล อ้างถึงกรณีนายวราวุธกล่าวในที่ประชุม COP27 เป็นวาทกรรมที่สวยแต่เปลือก เพราะข้างในไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสมการ เป็นเพียงการฟอกเขียวที่มีผลประโยชน์ของนายทุนซ่อนอยู่เป็นเนื้อในทั้งสิ้น และท้ายที่สุดจะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดต่อสภาพภูมิอากาศโลกหรือมลพิษทางอากาศของไทยเลย

ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตทางภูมิอากาศในหลายมิติ รวมถึงมลพิษทางอากาศจากการเผาพื้นที่เกษตรในภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน โดยมีฝุ่นพิษลอยข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นผลมาจากการปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่ทางการเกษตรต่างๆของไทยทำธุรกิจได้อย่างไร้ความรับผิดชอบ โดยไม่มีการผลักดันทางกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือคนไทยทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ต้องป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุด จากการสูดฝุ่นพิษ P.M.2.5 จากการเผาไหม้

เช่นเดียวกัน ด้านแหล่งกำเนิดมลพิษ กระทรวงทรัพย์ฯ กลับไม่คิดหาทางควบคุมแก้ไข ตรงนี้มีผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกมาก แต่ไม่พูดถึงเลย พอมาในด้านการดูดซับก็พยายามอ้างการเพิ่มพื้นที่ป่าและประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต แนวทางทั้งหมดประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เป็นเพียงการระบายสีเขียวบนแผนที่เพื่อเตรียมเอาไปประเคนให้นายทุน รวมถึงการใช้ข้ออ้างในการเอาคนออกจากป่าโดยเฉพาะผู้คนที่มีวิถีดั้งเดิม ทั้งที่พวกเขามีบทบาทมากในการดูแลผืนป่าให้ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง แทนที่จะหาวิธีพิทักษ์สิทธิ์ แต่กลับไม่รีบทำให้มีแผนที่ one map เพื่อพิสูจน์สิทธิการอยู่มาก่อนให้ประชาชน ใช้ความคลุมเครือทางกฎหมายเพื่อเป็นอาวุธขับไล่คนออกจากพื้นที่ที่ระบายสีไว้เตรียมมอบให้นายทุนหากินกับคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาท่าทีของรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ที่ผ่านมา ได้จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 ได้บรรจุประเด็น climate change ในนโยบายระดับประเทศ ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น 2 หมุดหมายที่ตอบสนองต่อประเด็น climate change โดยตรง

ขณะเดียวกัน กระทรวงทรัพย์ฯ กำลังเร่งผลักดัน  “ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….” ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ เพื่อก้าวไปสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

โดยก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี 2030 มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2065 ซึ่งการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้

ขณะที่ยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทยได้จัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก 2 องศาเซลเซียส และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขนส่งอย่างเร่งด่วน รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050

รวมทั้ง การดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) เช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรลดลง ทำให้มลพิษทางอากาศ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ PM 2.5 ลดลง โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น