xs
xsm
sm
md
lg

วิถีอำนาจ อนาคต 3 ป. และทิศทางการเมือง / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เมื่อได้ลิ้มรสอำนาจ เพียงไม่นาน คนจำนวนลุ่มหลงอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ให้ยาวนานที่สุด หลักการจริยธรรมถูกละทิ้งดังสิ่งชำรุด ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนไร้ความหมายให้กล่าวถึง อุดมการณ์ไม่หลงเหลือในความทรงจำ อัตลักษณ์แห่งความเป็นมนุษย์ผู้หลอมละลายกลายเป็นวานร และเพื่อธำรงวิถีแห่งอำนาจ ผู้คนจำนวนมากยอมขายวิญญาณให้กับปีศาจ

การเมืองไทยกำลังเดินเข้าไปสู่การเลือกตั้ง นักการเมืองจำนวนมากตัดสินใจเลือกเดินในวิถีที่พวกเขาประเมินว่า เป็นการสร้างโอกาสเพื่อให้ได้มาและธำรงอำนาจเอาไว้ สำหรับวิถีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกคือ การแยกทางกับพรรคพลังประชารัฐ และไปเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดของการแยกทางคือ พลเอกประยุทธ์ปรารถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งปีหน้า แต่พรรคพลังประชารัฐไม่อาจตอบสนองความปรารถนานี้ได้เต็มที่ดังการเลือกตั้งปี 2562

ในคราวนั้น พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นหลักประกันที่มั่นคงในการได้รับตำแหน่ง แต่ในคราวนี้ พรรคพลังประชารัฐมีแนวโน้มเสนอบุคคลสามรายชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค ยิ่งกว่านั้น ยังไม่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐจะเสนอพลเอกประยุทธ์เป็นรายชื่อแรก สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่ออัตตาของพลเอกประยุทธ์อย่างรุนแรง ทั้งยังไม่มีหลักประกันใดว่า เมื่อถึงเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาแล้ว พลเอกประยุทธ์จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง ด้วยมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา มากกว่าจะเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ ดังนั้น ผู้ที่มีความคิดแยบยลในวิถีแห่งอำนาจดังพลเอกประยุทธ์ ย่อมไม่ทำให้อนาคตทางการเมืองของตนเองตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ การตัดสินใจละทิ้งพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การแยกตัวของพลเอกประยุทธ์ทำให้พรรคพลังประชารัฐอ่อนแอลง เพราะความนิยมของพรรคพลังประชารัฐมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐที่ปราศจากพลเอกประยุทธ์ จะเป็นพรรคที่คะแนนนิยมหดหายไปอย่างมหาศาล ( ประมาณ 3 ใน 4 ของผู้เลือกพรรคพลังประชารัฐนิยมพลเอกประยุทธ์) ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และเพิ่มระดับความยากลำบากมากขึ้นในการหาเสียงระดับเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคใต้ และในบางเขตของกรุงเทพมหานครที่ผู้เลือกตั้งจำนวนมากยังคงนิยมพลเอกประยุทธ์

ขณะที่หากพลเอกประยุทธ์ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ เขามีโอกาสสูงมากที่จะได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคแต่เพียงผู้เดียว นอกจากพรรครวมไทยสร้างชาติสามารถตอบสนองอัตตาที่สูงส่งของพลเอกประยุทธ์ได้แล้ว ก็ยังเป็นหลักประกันอย่างมั่นคงว่าไม่มีความพลิกผันใดเกิดขึ้นในการเสนอชื่อเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในปัจจุบัน พรรครวมไทยสร้างชาติมีสมรรถนะการแข่งขันในการเลือกตั้งต่ำมาก ตำแหน่งในสนามการแข่งขันเลือกตั้งอยู่ลำดับท้าย ๆ ของพรรคการเมือง (พรรคมีคะแนนนิยมประมาณ 0.26 % หรือประมาณ 9 แสนเสียง) แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์เข้าร่วมพรรค จะทำให้สมรรถนะการแข่งขันของพรรคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยสามปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ จะมีการถ่ายโอนความนิยมของพลเอกประยุทธ์ไปสู่คะแนนเสียงพรรค คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ที่รวมทุกภาคอยู่ที่ประมาณ 14 % ซึ่งอนุมานเป็นคะแนนเสียงได้ประมาณ 4-5 ล้านเสียง

ในปัจจุบัน จากผู้ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ทั้งหมด ครึ่งหนึ่งสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในสี่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เหลือเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจและกระจายไปยังพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ หากพลเอกประยุทธ์ไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติก็มีความเป็นไปได้สูงว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์จะหันมาสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐลดลง หากคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์สามารถถ่ายโอนไปให้พรรครวมไทยสร้างชาติทั้งหมด จะทำให้พรรคนี้มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 10 -14 ที่นั่ง

ปัจจัยที่สอง จะมี ส.ส. อดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานเสียงส่วนบุคคลหนาแน่นในเขตเลือกตั้ง ที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติมากขึ้น เพราะบุคคลเหล่านั้น นอกจากต้องการอาศัยความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์เป็นทรัพยากรในการหาเสียงเพื่อเพิ่มโอกาสชนะมากขึ้นแล้ว ยังคาดหวังถึงโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ขณะเดียวกัน ทั้งพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ก็คงพยายามรั้งตัวบุคคลที่มีฐานเสียงแน่นหนาให้อยู่กับพรรค ดังนั้น ก่อนการเลือกตั้ง สถานการณ์ช่วงชิงนักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนาเพื่อให้สังกัดพรรคตนเองก็จะเป็นไปอย่างเข้มข้น ส่วนนักการเมืองเหล่านั้นจะตัดสินใจอย่างไรก็ขึ้นกับเงื่อนไขที่แต่ละพรรคเสนอทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง แต่ด้วยความที่นักการเมืองแต่ละคนเป็นผู้ที่มีเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น การตัดสินใจของพวกเขาจึงมีแนวโน้มจะเลือกพรรคที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดและสร้างความพึงพอใจมากที่สุดแก่พวกเขา

ปัจจัยที่สาม จะได้รับการสนับสนุนทรัพยากรในการหาเสียงจากกลุ่มทุนขนาดยักษ์มากขึ้น เพราะกลุ่มทุนเหล่านั้นเกื้อหนุนรัฐบาลประยุทธ์มาโดยตลอด และในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากพวกเขาประเมินว่า พลเอกประยุทธ์มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็ย่อมถูกมองว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนขนาดยักษ์ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียว หากแต่กระจายไปหลายพรรค ส่วนการสนับสนุนพรรคใดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเมินของพวกเขาว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นมีโอกาสเป็นพรรครัฐบาลมากน้อยเพียงใด การมีทรัพยากรทางการเงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการหาคะแนนเสียงย่อมสร้างการได้เปรียบในการแข่งขัน ยิ่งในเขตเลือกตั้งใดที่คะแนนนิยมของพรรคและผู้นำพรรคต่ำ ผู้สมัครก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้เงินหาคะแนนมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการชนะเลือกตั้ง

หากพรรครวมพลังสร้างชาติไทยสามารถดึงนักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนาในพื้นที่ และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน ก็จะทำให้สมรรถนะการแข่งขันในระดับเขตเลือกตั้งเข้มแข็งขึ้นเป็นอย่างมาก และนั่นหมายความว่า มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตมากขึ้น ในปัจจุบัน นักการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนาในภาคตะวันออก บางคนในจังหวัดของภาคกลางและภาคใต้ ที่เคยอยู่พรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ได้ย้ายและกำลังย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติประมาณ 25-30 คน ดังนั้น โอกาสที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ที่นั่ง ส.ส.รวมทั้งหมดประมาณ 35 – 44 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอในการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะในเขตเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติจะแลกมาด้วยความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย เพราะทั้งสามพรรคมีฐานคะแนนเสียงทับซ้อนกันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนล่าง และบางเขตของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งการขยายพื้นที่เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมจากพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยและก้าวไกลก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง สถานการณ์ช่วงชิงที่นั่งกันเองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในภาพรวมของพรรคร่วมรัฐบาลไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

การประเมินในภาพรวมโดยอิงกับฐานการสำรวจคะแนนนิยมของนิด้าโพล ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านมีคะแนนนิยมรวมกันประมาณ 60 % พรรคร่วมรัฐบาลมีประมาณ 22 % ไม่ตัดสินใจ 11 % และที่เหลือเป็นพรรคเล็กอื่น ๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีโอกาสสูงที่จะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือจะได้ประมาณ 280-300 ที่นั่ง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันบวกพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.ประมาณ 200-220 ที่นั่ง สถานการณ์แบบนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน ยกเว้นเสียแต่ว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยมจะใช้อุบายทางกฎหมาย ทำให้พรรคฝ่ายค้านถูกยุบก่อนหรือระหว่างการเลือกตั้ง แต่หากเหตุการณ์ยุบพรรคเกิดขึ้นจริง ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นตามมา และนำไปสู่ความรุนแรงได้

ฉากทัศน์ของการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นภายใต้สมมติฐานที่ฝ่ายค้านไม่ถูกยุบและได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรนี้มี 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก มีการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ และผู้แข่งขันคือ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย กรณีนี้ พลเอกประยุทธ์ จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการสนับสนุนของ ส.ส. ประมาณ 200 - 220 เสียง และ ส.ว. อีกประมาณ 220-240 เสียง แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง อาจถึงขนาดล้มตั้งแต่วันแถลงนโยบายในสภาผู้แทนราษฎร ยกเว้นเสียแต่ว่าใช้ “การแจกกล้วย” แก่ “ส.ส. งูเห่า” ทุกครั้งในการลงมติ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และการแจกกล้วยจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลอย่างรุนแรง

ประการที่สอง มีการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะทำให้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และพรรคเพื่อไทยยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อพลเอกประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี คู่แข่งขันในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นพลเอกประวิตร กับ พลเอกประยุทธ์ กรณีนี้พรรคก้าวไกลอาจงดออกเสียง ส่วนพรรคเล็ก ๆ ที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันมีแนวโน้มสนับสนุนพลเอกประวิตร ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพรรคเล็ก ๆ บางพรรคอาจจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ การชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจึงขึ้นอยู่กับเสียง ส.ว. และคะแนนแพ้ชนะจะสูสีกันมาก แต่พลเอกประวิตรดูเหนือกว่าอยู่เล็กน้อย เพราะหากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้

ประการที่สาม มีการจับมือกันระหว่างพรรคการเมืองทั้งหมด เพื่อโดดเดี่ยวพรรค 2 ป. (พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ) เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทย และประชาชาติรวมกันได้เสียงเกิน 376 เสียง และสนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็จะเป็นการปิดฉากการเมืองแห่งยุค 3 ป. อย่างสมบูรณ์ และเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า อำนาจอธิปไตยของปวงชนได้รับชัยชนะเหนืออำนาจคณาธิปไตยของกลุ่ม 3 ป. แต่ฉากทัศน์นี้เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะพรรคการเมืองบางพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลกับกลุ่ม 3 ป. คงไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะแตกหักอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่ม 3 ป.

 การเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2566 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระบอบประชาธิปไตยไทยจะถอยหลัง ย่ำอยู่กับที่ หรือก้าวไปข้างหน้า ในไม่ช้าก็คงจะได้เห็นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น