คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
2 คณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
องค์กรนี้เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง และผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมามักจะเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งหลัง “สมัชชา 20” สีจิ้นผิงก็ยังคงดำรงตำแหน่งนี้เป็นสมัยที่สาม
โดยทั่วไปแล้วชาวคอมมิวนิสต์มักถือกันว่า การปฏิวัติไม่ว่าจะของประเทศใดก็ตาม จะสำเร็จได้นอกจากจะต้องมีพรรคที่เข้มแข็งและเป็นผู้ชี้นำทางปัญญาแล้ว ก็ยังต้องมีกองทัพเป็นของตนเองอีกด้วย พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่รับเอามรดกทางความคิดนี้มาใช้ด้วย
พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงมีฐานะอยู่เหนือกองทัพมาโดยตลอด เหตุฉะนั้น การที่จะมีหน่วยงานหรือองค์กรจัดตั้งซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทหารจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
คณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (จงกว๋อก้งฉานต่างจงยางจวินซื่อเหว่ยหยวนฮุ่ย) ถือเป็นองค์กรที่ขึ้นต่อพรรคตามแนวคิดดังกล่าว ที่มาขององค์กรนี้มาจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (the People’s Liberation Army) ขึ้นมา ในระหว่างที่ยังดำเนินสงครามปฏิวัติอยู่
พรรคการเมืองนี้ได้กำหนดให้กองทัพขึ้นต่อคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของพรรคมาก่อน ครั้นในเดือนเมษายน 1949 ก็ได้เปลี่ยนชื่อคณะกรรมาธิการชุดนี้เป็น “คณะกรรมาธิการทหารประชาชนนักปฏิวัติแห่งประเทศจีน” (The People’s Revolutionary Military Commission of China)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะ จนสามารถสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แล้ว ในปี 1954 คณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคจึงได้ปรับเปลี่ยนองค์กรทหารดังกล่าว มาเป็นคณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ
โดยให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ขึ้นตรงกับตนและสำนักเลขาธิการพรรค
แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐธรรมนูญฉบับแรกของจีนก็ได้กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ และเป็น ประธานสภากลาโหมแห่งชาติ (the National Defense Council) ที่ขึ้นต่อรัฐบาลอีกด้วย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสองนี้ในขณะนั้นคือ เหมาเจ๋อตง
การกำหนดเช่นนี้ทำให้ประธานาธิบดีมีตำแหน่งทางการทหารสูงสุดสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน คือทั้งในส่วนของพรรคและของรัฐ
ต่อมาในปี 1959 เหมา ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และ หลิวส้าวฉี (1898-1969) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้แทน หลิวจึงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ และประธานสภากลาโหมฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไปด้วย
ตอนนี้เองที่ปัญหาได้เกิดขึ้น เมื่อเหมายังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกลางการทหารของพรรค ซึ่งตามธรรมนูญพรรค (คนละฉบับกับรัฐธรรมนูญที่กล่าวไปข้างต้น) ถือว่าเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพด้วย
ตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดจึงมีอยู่สองคนซ้อนกัน และทำให้เกิดความลักลั่นในการบริหารขึ้นมา แต่เนื่องจากต่อมาได้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) ขึ้น ปัญหานี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการแก้ไข
จนกระทั่งในระหว่างปี 1975 ถึง 1978 รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติใหม่ว่า ให้ประธานคณะกรรมาธิการกลางการทหารของพรรค เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว และได้ยุบสภากลาโหมฯ ไป
แต่ครั้นถึงปี 1982 คณะกรรมาธิการกลางการทหารชุดนี้จึงได้รับการปฏิรูปให้เป็นระบบมากขึ้น คือนอกจากจะมีประธานคณะกรรมาธิการแล้ว ก็ยังมีรองประธาน เลขาธิการใหญ่ ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่ โดยให้สำนักเลขาธิการใหญ่จัดตั้งสภาประจำของคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อดูแลงานรายวัน
พอถึงปี 1993 สำนักเลขาธิการใหญ่ก็ถูกยุบเลิกไป แล้วปรับให้สภาประจำที่มีอยู่แต่เดิมมาเป็น สภาประจำแห่งคณะกรรมาธิการกลางการทหาร (the Standing Council of the Central Military Commission) เพื่อทำหน้าที่แทน สภาประจำนี้จึงมีตำแหน่งประธาน รองประธาน และกรรมาธิการจำนวนหนึ่งขึ้นมารองรับการทำหน้าที่นั้น
และในปี 1982 เช่นกัน ที่ได้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี คณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งรัฐ (the Central Military Commission of the State) ขึ้นมาต่างหากอีกชุดหนึ่ง โดยระบุให้มีหน้าที่บัญชาการทหารสูงสุด
ต่อมาคณะกรรมาธิการกลางการทหารของพรรค ก็กลายเป็นองค์กรเดียวกันกับคณะกรรมาธิการกลางการทหารของรัฐมาจนทุกวันนี้
กล่าวกันว่า การปฏิรูปกลไกทางการทหารครั้งนี้เป็นความคิดและการผลักดันของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งในขณะนั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของจีนแล้ว
เหตุดังนั้น แม้องค์กรนี้จะยังคงมีอยู่ในพรรคก็ตาม แต่ก็เป็นการมีอยู่เพื่อตอกย้ำว่าพรรคยังอยู่เหนือกองทัพตามแนวคิดที่มีมาแต่เดิม คือรัฐเป็นผู้บริหารและพัฒนาด้านการทหาร แต่พรรคเป็นผู้กำหนดทิศทางและตัดสินปัญหาที่สำคัญ
กรรมาธิการขององค์กรนี้มาจากการรับรองของคณะกรรมการกลางพรรค มีภารกิจในการดูแลกองทัพของประเทศ ส่วนองค์ประกอบด้านบุคลากรจะมาจากการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกลางพรรคกับกลุ่มพรรคประชาธิปไตยที่มีอยู่แปดกลุ่มพรรค โดย แปดกลุ่มพรรค นี้ ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลมาเป็นกรรมาธิการแต่อย่างใด
จากนั้นจึงขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง
ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ ก็เพราะว่า บุคคลคณะนี้เป็นคณะเดียวกับคณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งรัฐ อันเป็นคณะบุคคลที่ขึ้นตรงต่อสภาผู้แทนฯ อีกชั้นหนึ่ง
อนึ่ง แปดกลุ่มพรรคนี้หมายถึง พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรวิชาชีพ เป็นต้น ที่มีมาก่อนปี 1949 หรือก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะปฏิวัติสำเร็จ ครั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้ในปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงให้แปดกลุ่มพรรคนี้มีอยู่ต่อไป
แต่การมีอยู่ของแปดกลุ่มพรรคนี้มีในฐานะแนวร่วมของพรรค ไม่มีอำนาจหรือบทบาททางการเมืองใด ๆ นอกจากให้คำปรึกษาในยามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการ ไม่มีแม้แต่สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงในยามที่ประชุมร่วมกับสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ จนเรียกได้ว่า เป็นแนวร่วมจริง ๆ
หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็นองค์กร “ไม้ประดับ”