"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ภาคกลางเป็นเขตที่ไม่มีพรรคการเมืองใดเป็นพรรคการเมืองเด่นที่ได้รับคะแนนนิยมนำขาดเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ ดังในภาคเหนือ อีสาน และใต้ มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีที่นั่งในภาคกลาง ชัยชนะในระดับเขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคกลางขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัครว่าพรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรและอิทธิพลมากน้อยเพียงใด รวมทั้งระบบการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ความนิยมในตัวผู้นำและนโยบายพรรคแม้จะมีผลต่อชัยชนะในระดับเขตเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่ก็น้อยกว่าปัจจัยตัวผู้สมัคร ดังนั้น พรรคใดจะได้ที่นั่งมากหรือน้อยในภาคกลาง ขึ้นอยู่กับว่านักการเมือง “บ้านใหญ่” ในจังหวัดนั้นสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคใดระหว่างการเลือกตั้ง
ความนิยมในตัวผู้นำการเมือง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดดุจเดียวกับในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่คะแนนนิยมในภาคกลางของเธอต่ำกว่าทั้งสองภาคอยู่บ้าง รองลงมาก็ยังคงเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งได้รับความนิยมเหนือลำดับสามอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่เล็กน้อย ส่วนผู้นำการเมืองคนอื่น ๆ ที่เหลือก็ได้รับคะแนนนิยมลดหลั่นลงมา มีแบบแผนเดียวกับภาคเหนือ และก็เป็นภาคเดียวที่มีชื่อของ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา ปรากฏในตารางสำรวจความนิยมของนิด้าโพลด้วย แม้ว่าจะได้รับเพียงร้อยละ 1.6 ก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังได้มากกว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
แม้ว่าจะไม่ได้รับคะแนนนิยมนำขาดดังในภาคอีสานและภาคเหนือ แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังคงมีคะแนนนำเหนือพรรคอื่น ๆ ในภาคกลาง คนภาคกลางประมาณหนึ่งในสามหรือประมาณร้อยละ 32.5 ระบุเลือกพรรคเพื่อไทยทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เขตปริมณฑลพรรคก้าวไกลได้รับความนิยมใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยมาก เรียกว่าหายใจรดต้นคอทีเดียว ขณะที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งครองแชมป์ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วถอยลงมาเป็นลำดับสาม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ทำได้ค่อนข้างดีในเขตภาคกลางตอนล่าง ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนายังคงเหนียวแน่นในจังหวัดสุพรรณบุรี ด้านพรรคภูมิใจไทยซึ่งได้ที่นั่งมากเป็นลำดับสามของภาคกลางในคราวเลือกตั้งครั้งที่แล้ว กลับได้รับความนิยมน้อยมากในการสำรวจ
ภาคกลางตอนล่าง 1 อันประกอบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี เป็นกลุ่มที่ประชาชนเกือบทั้งหมดหรือมากกว่าร้อยละ 95 ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด พรรคเพื่อไทยนำพรรคอื่น ๆ ค่อนข้างห่างพอสมควร ในจังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยนำพรรคคู่แข่งอย่างประชาธิปัตย์ ก้าวไกล และพลังประชารัฐค่อนข้างมากทีเดียว จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทยก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว และอาจช่วงชิงที่นั่งของพรรคชาติไทยพัฒนาได้ ส่วนจังหวัดราชบุรี คาดว่าจะเป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ เพราะคะแนนนิยมของพรรคทั้งสี่ห่างกันไม่มากนัก
ภาคกลางตอนล่าง 2 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร เป็นกลุ่มจังหวัดที่ประชาชนเกือบทั้งหมด ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ในภาพรวมพรรคเพื่อไทยก็ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นก้าวไกล พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ตามลำดับ สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุด คู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดนี้คือ พรรคก้าวไกล ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ส่วนสมุทรสงครามมีพรรคที่สมรรถนะในการแข่งขันพอ ๆ กัน 3 พรรคคือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และก้าวไกล ทั้งสามพรรคได้รับคะแนนนิยมสูสีกันมาก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในจังหวัดนี้เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นทีเดียว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คะแนนนิยมลดลงไปมาก และอาจไม่ใช่พรรคที่อยู่ในแถวหน้าของการแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ด้านเพชรบุรี ก่อนการกำเนิดของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 เพชรบุรีเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อพลังประชารัฐเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ก็กวาดที่นั่งในจังหวัดนี้ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจคะแนนนิยมในภาคกลางของนิด้าโพล ข้อมูลที่เก็บจากจังหวัดเพชรบุรีบ่งบอกว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น ปรากฏว่า พรรคที่ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดกลับเป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำค่อนข้างห่างจากลำดับสองอย่างประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ส่วนพรรคก้าวไกลก็มีคะแนนนิยมอยู่บ้างในจังหวัดนี้ แต่ไม่มากนัก เพชรบุรีจึงเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยอาจปักธงและได้ที่นั่ง ส.ส. แต่ก็คงต่อสู้อย่างเข้มข้นกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ (หากพลเอกประยุทธ์ เข้าร่วมกับพรรคนี้) เพราะคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ในจังหวัดนี้แม้จะได้รับเป็นลำดับสองรองจากแพทองธาร แต่ก็ตามอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฐานที่มั่นหลักของ ปชป. ในภาคกลาง การเลือกตั้งปี 2562 ได้ 2 ที่นั่งจาก 3 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็กำลังเกิดขึ้น และดูเหมือนคุกคามความมั่นคงของ ปชป.ในจังหวัดนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว ตัวเลขการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองจากการสำรวจล่าสุดของนิด้าโพล พรรคเพื่อไทยนำประชาธิปัตย์อยู่เล็กน้อย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความดุเดือดเข้มข้นมาก ใครแพ้ ใครชนะในจังหวัดนี้ยากที่จะคาดการณ์ได้ คาดว่าต่างฝ่ายต่างก็พยายามใช้ยุทธวิธีทุกอย่างในการสร้างชัยชนะ ส่วนพรรคก้าวไกลไม่มีสถานภาพการแข่งขันในระดับเขตเลือกตั้ง แต่ก็มีคะแนนนิยมในตัวพรรคอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ภาคกลางตอนบน ซึ่งประกอบด้วยชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่ประชาชนจำนวนมากหรือประมาณหนึ่งในสี่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ซึ่งหมายความว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคยังคงมีโอกาสแพ้และชนะพอ ๆ กัน ในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมพรรคเพื่อไทยก็นำเป็นลำดับหนึ่ง รองลงมาเป็นพรรคก้าวไกล และพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐประสบชัยชนะในจังหวัดชัยนาท อย่างไรก็ตาม การสำรวจการตัดสินใจเลือกส.ส.ครั้งล่าสุด ผู้ที่เป็นตัวอย่างของการสำรวจเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุด และเป็นการนำห่างจากพรรคลำดับสองอย่างพลังประชารัฐและก้าวไกลประมาณสองเท่า อย่างไรก็ตาม ส.ส. แบบแบ่งเขตของจังหวัดนี้ผูกขาดโดยตระกูลนาคาศัย กับสงฆ์ประชา หากนักการเมืองสองตระกูลนี้ลงสมัครพรรคการเมืองใด ก็จะทำให้พรรคนั้นมีโอกาสชนะสูง ดังนั้น แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนนิยมสูงแต่การเอาชนะในเขตเลือกตั้งยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อย
พระนครศรีอยุธยา เพื่อไทยนำเป็นลำดับหนึ่ง เป็นการนำที่ค่อนข้างห่างจากลำดับสองอย่างพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม ความนิยมของพรรคก้าวไกลในจังหวัดนี้มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว ได้ประมาณร้อยละ 21 ส่วนพรรคลำดับสามคือพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้ที่นั่ง ส.ส.ของจังหวัดนี้ในบางเขต แต่ในแง่คะแนนนิยมของพรรคอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ด้านลพบุรี เป็นจังหวัดที่ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมีสูงมากเกือบร้อยละ 50 ทีเดียว สำหรับผู้ตัดสินใจแล้วเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุด แต่ก็ถือว่าเป็นจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมต่ำที่สุดกลุ่มจังหวัดนี้ พรรคที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือก้าวไกล กับเสรีรวมไทย สำหรับผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีพรรคการเมือง 3 พรรคแบ่งที่นั่งกันคือ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และเพื่อไทย กระนั้นก็ตาม พรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐมีคะแนนนิยมพรรคต่ำมาก
สระบุรี เช่นเดียวกันกับลพบุรี มีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกพรรคใดประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้ที่ตัดสินใจแล้วเลือกพรรคเพื่อไทยมากเป็นลำดับหนึ่ง รองลงมาก็ยังเป็นพรรคก้าวไกล ขณะที่พลังประชารัฐตามมาเป็นที่สาม พรรคเพื่อไทยเคยครองที่นั่งทั้งหมดของสระบุรีในปี 2554 แต่ในปี 2562 สูญเสียที่นั่งให้แก่พรรคพลังประชารัฐสองที่นั่ง ยังรักษาไว้ได้หนึ่งที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคเพื่อไทยจึงมีโอกาสสูงที่จะทวงที่นั่งในจังหวัดสระบุรีคืนกลับมาได้ ส่วนสิงห์บุรี เพื่อไทยมีคะแนนนำสูงมากในการสำรวจ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตอบแบสำรวจ ซึ่งเท่ากับคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้ในการเลือกตั้งปี 2554 ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล และพลังประชารัฐ แต่การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้แก่พรรคพลังประชารัฐ สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสสูงที่จะทวงที่นั่งกลับคืนมาได้ในจังหวัดนี้ จังหวัดสุดท้ายในกลุ่มนี้คืออ่างทอง เช่นเดียวกัน เพื่อไทยยังนำห่างในระดับร้อยละ 41 รองลงมาก้าวไกลซึ่งมีคะแนนนิยมร้อยละ 21 ส่วนลำดับสามเป็นพลังประชารัฐอยู่ที่ร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม จังหวัดอ่างทอง อยู่ภายใต้การผูกขาดของตระกูลปริศนานันทกุล ซึ่งได้รับการเลือกอยู่เสมอไม่ว่าบุคคลในตระกูลนี้สังกัดพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด คนตระกูลนี้สังกัดพรรคภูมิใจไทย ก็ทำให้พรรคได้ที่นั่งในจังหวัดนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ คะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทยต่ำกว่าพรรคพลังประชารัฐเสียอีก ได้เพียงร้อยละ 8.7 แต่กระนั้นคะแนนนิยมที่พรรคภูมิใจไทยได้รับในจังหวัดอ่างทอง สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคะแนนนิยมที่พรรคได้รับในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลาง
กลุ่มปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วยนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ เป็นกลุ่มจังหวัดที่ประชาชนยังไม่ตัดสินใจค่อนข้างมากพอสมควร ประมาณร้อยละ 16.5 รองจากภาคกลางตอนบน พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมสูสีกันมาก เพื่อไทยนำก้าวไกลเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น ส่วนลำดับสามยังคงเป็นพรรคพลังประชารัฐ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทยในจังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ส่วนพรรคเพื่อไทยนำในจังหวัดนครปฐมและปทุมธานี ในจังหวัดนนทบุรี เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคเพื่อไทยครองที่นั่งได้เกือบทุกเขต แพ้เพียงเขตหนึ่งเพียงเขตเดียวให้แก่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โอกาสในการที่พรรคเพื่อไทยจะกวาดที่นั่งได้ทั้งจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็มีสูงมาก แม้ว่าคะแนนนิยมพรรคเป็นรองพรรคก้าวไกลอยู่เล็กน้อยก็ตาม ส่วนจังหวัดปทุมธานี พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมสูงสุด ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเพื่อไทยกวาดเก้าอี้ ส.ส. เกือบครบทุกที่นั่ง แพ้เพียงเขตเดียวให้กับพรรคอนาคตใหม่ ส่วนในการเลือกตั้งครั้งหน้าคาดว่าแบบแผนยังคงเป็นเช่นเดิม
จังหวัดนครปฐมมีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดประมาณหนึ่งในสาม สำหรับผู้ที่ตัดสินใจแล้ว ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย และตามมาด้วยพรรคก้าวไกล ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยเคยครองพื้นที่จังหวัดนี้มาก่อนในปี 2554 แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร จึงเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ช่วงชิงที่นั่งมาครองได้ ซึ่งมีทั้งหมด 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ สำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้า คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงส่งผู้สมัครลงแข่งขันอย่างแน่นอน และก็มีโอกาสทวงที่นั่งกลับคืนมาได้ในบางเขต
จังหวัดสมุทรปราการ พรรคก้าวไกลนำเพื่อไทยอยู่เล็กน้อย ในอดีตจังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย แต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยตัดคะแนนกันเอง จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งเกือบทั้งจังหวัด มีเพียงเขตเดียวเท่านั้นที่พรรคอนาคตใหม่ชนะ อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งหน้า การแข่งขันจะเป็นการแข่งระหว่างสองพรรคคือ ก้าวไกล กับเพื่อไทย ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้น ณ ปัจจุบันไม่มีสมรรถนะในการแข่งขันแล้วในจังหวัดนี้ และโอกาสที่จะเป็นตาอยู่ดังการเลือกตั้งปี 2562 ก็มีน้อย เพราะว่าหากพิจารณาคะแนนนิยม ณ ปัจจุบันของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยรวมกันมีสูงถึงประมาณร้อยละ 63.4 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเลือกตั้งรวมของสองพรรคที่ได้ร้อยละ 49 ในการเลือกตั้งปี 2562 ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐเหลือเพียงร้อยละ 12.3 ซึ่งเป็นคะแนนนิยมที่ต่ำกว่าที่เคยได้รับเมื่อการเลือกตั้งปี 2565 มาก (เคยได้ ร้อยละ 31.3 )
กล่าวโดยสรุป พื้นที่ภาคกลางถือว่าเป็นพื้นช่วงชิงของพรรคการเมือง ผู้เลือกตั้งภาคกลางยกเว้นจากกลุ่มจังหวัดปริมณฑล มีแนวโน้มเลือกบุคคลมากกว่าเลือกพรรค ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หากนักการเมืองเจ้าถิ่น ที่นิยมเรียกกันว่าบ้านใหญ่ สังกัดพรรคการเมืองใด ก็ทำให้พรรคการเมืองนั้นมีโอกาสได้ที่นั่งในจังหวัดนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในแง่ของพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมจากคนภาคกลางมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ รองลงมาคือพรรคก้าวไกล ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มชนะอย่างท่วมท้นชัดเจนแล้วในภาคอีสานและภาคเหนือ ก็เหลือแต่เพียงภาคกลางเท่านั้นที่ยังมีความไม่แน่นอน หากเพื่อไทยสามารถช่วงชิงและกวาดที่นั่งในภาคกลางได้มากขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสชนะแบบแลนด์สไลด์ในภาพรวมได้ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจะชนะแบบแลนด์สไลด์ได้หรือไม่ คำตอบจึงอยู่ที่ภาคกลาง