xs
xsm
sm
md
lg

เตือนก่อนพังถ้า “กัญชา” จะเป็นยาเสพติดอีกในสัปดาห์หน้า? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับล่าสุดที่ลงโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕[1] เพื่อควบคุม “ช่อดอกกัญชา” นั้น ใครจะไปคิดว่าจะถูกขวางยังไม่ให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และนายกรัฐมนตรีให้กลับไปทบทวนเสียใหม่

ตามข่าวที่ปรากฏเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ รายงานว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า

“ขอให้นำกลับไปทบทวนใหม่ เพราะยังไม่รอบคอบว่าจะควบคุมอย่างไรบ้าง ห้ามซื้อขายช่อ ดอก ในพื้นที่ไหนบ้าง และให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้ในการสันทนาการ ห้ามนำเข้าและส่งออก เพื่อให้สังคมสบายใจถึงที่มาที่ไป โดยตนเองจะนำเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก่อน จึงยังไม่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา”[2]

ขณะที่ นายกฯ กล่าวเห็นด้วยว่า ให้นำกลับไปทบทวนและปรับแก้มาใหม่ให้ครบ เพื่อให้เกิดความรอบคอบชัดเจน และควรจะแก้ให้รวมในประกาศฉบับเดียว ควรอธิบายให้ชัดให้เห็นถึงที่มาที่ไปและผลของมัน ไม่ควรจะมีประกาศหลายตัวแบบนี้ เพราะประชาชนจะสับสน[2]

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะแจ้งให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข มาชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนเพิ่มเติมอีกครั้งใน ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยในวันเดียวกันนี้ นายอนุทิน ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ประเทศญี่ปุ่น[2]

ข้อสังเกตุในเรื่องนี้มี ๔ ประเด็นสำคัญ

ประเด็นที่หนึ่งในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามออก“ประกาศเท่าที่อำนาจมี”เพื่อมาควบคุมกัญชาให้ดีขึ้นกว่าเดิม“ในช่วงเวลาระหว่าง”ที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเตะถ่วงยังไม่พิจารณาหรือจะคว่ำกฎหมายใน วาระที่ ๒ ของ ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

แต่แทนที่รัฐบาลจะเร่งให้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับล่าสุด เพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ “การควบคุมกัญชาดีขึ้นกว่าเดิม” และเร่งให้แก้ไขและผ่านความเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อใหสมบูรณ์กว่าเดิม แต่นายกรัฐมนตรีและคณะกลับขวางและให้ชะลอการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวนใหม่ [2]

ประเด็นที่สองในขณะที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า“ควรจะแก้ให้รวมในประกาศฉบับเดียว” นั้น ในความจริงแล้วการควบคุมกัญชาจะอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวได้เตรียมไว้อยู่แล้วคือ ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังอยู่ในการพิจารณาวาระที่ ๒ ของสภาผู้แทนราษฎร

ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกัญชา จึงย่อมกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ หากรัฐบาลเห็นว่าการประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับไม่เหมาะสม ก็ควรจะเร่งให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขและให้ความเห็นชอบผ่าน ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญให้เร็วที่สุด

ยกเว้นเสียแต่ว่าการพูดเช่นนี้มีความหมายว่า รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมีความคิดจะให้กัญชาอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันคือ“กลับไปเป็นยาเสพติด”ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกครั้งเท่านั้น

ประเด็นที่สาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เป็นการอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็น“อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวนี้ ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นกองประกาศิต สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้มีอำนาจในการมีคำสั่งให้เพิกถอน ยกเลิก หรือห้ามไม่ให้ลงในประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ การขัดขวางไม่ให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จึงเข้าข่ายการการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗

ประเด็นที่สี่ มีข่าวว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้ง ๔/๒๕๖๕ ในวันอังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่ทำเนียบรัฐบาล พบว่ามีระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องพิจารณา ๒ เรื่อง คือ

๔.๑ แนวทางการดำเนินการกรณีฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชา (กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ป.ป.ส.) และ

๔.๒ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ (สำนักงาน ป.ป.ส.)

สำหรับประเด็นนี้แสดงให้เห็นการ “จัดลำดับ”วาระ ๔.๑ เรื่องการฟ้องศาลปกครองก่อน แล้วจึงพิจารณาวาระ ๔.๒ เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา)ตามหลัง

จึงมีความเสี่ยงที่ว่าเมื่อพิจารณข้อต่อสู้และความเสี่ยงทั้งหลาย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) อาจยกแม่น้ำทั้งห้าอ้างเหตุลผลต่างๆ เพื่อพิจารณาลงมติให้“กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก”เสียก่อนแล้วจึงค่อยไปพิจารณาวาระที่ ๒

เพราะเมื่อกัญชาได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ลงมติให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้ต้นกัญชาทุกส่วนออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภทที่ ๕ ตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕​ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น

ขอเตือนด้วยความปรารถนาดีเอาไว้ตรงนี้ว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ส. คิดและเชื่อว่ามติปลดล็อกกัญชาที่ผ่านมาเป็นการกระทำความผิด การลงมติย้อนกลับก็ไม่ได้ทำให้ “ความผิดสำเร็จ”ลบหายไปได้ และจะต้องเตรียมรับความผิดทางแพ่งและอาญาระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ จนถึงวันที่กลับมติตามมาหลังจากนั้นอย่างแน่นอน

ในทางตรงกันข้ามประชาชน“จำนวนมาก”ผู้ที่ปลูกกัญชาเพื่อรักษาตัวเอง หรือลงทุนเพื่อประกอบการค้าอย่างสุจริต ในฐานะสมุนไพรควบคุม จะกลายเป็นผู้เดือดร้อน เป็นผู้กระทำความผิดฐานผลิต ครอบครอง หรือจำหน่ายยาเสพติดทันที เชื่อได้ว่าหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) กลับมติยกเลิกการปลดล็อกกัญชา จะต้องถูกฟ้องทางแพ่งและอาญาตามมาจากประชาชนกลุ่มเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ในทางตรงกันข้ามหากคณะกรรมการป.ป.ส. คิดและเชื่อว่ามติที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการกระทำความผิดและเตรียมยืนหยัดข้อต่อสู้ให้ดีก็เท่ากับไม่เคยมีการกระทำความผิดใดๆเคยเกิดขึ้นทั้งสิ้น แล้วรีบลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับล่าสุดที่ลงโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เพื่อทำให้การควบคุมดีขึ้น และจะทำให้ข้อต่อสู้แข็งแรงขึ้นในศาลปกครองดีขึ้นเช่นกัน

โดยในความเป็นจริงแล้วประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลายฉบับที่ผ่านมา ​ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเจตนารมณ์ในการควบคุมกัญชา ในสถานการณ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ปลดล็อกกัญชาไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ และในสถานการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากพยายามรุมกินโต๊ะพรรคภูมิใจไทยโดยการเตะถ่วงและเตรียมคว่ำ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ แทนการ“แก้ไข”รายมาตรานั้น

สะท้อนให้เห็นว่าแทบทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องการให้กัญชาไม่มีกฎหมายที่ดีกว่ามาควบคุม

เพื่อที่คาดหวังจะทำให้กัญชาอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เพื่อเป็นเหตุอ้างในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก โดยยอมกลืนน้ำลายตัวเองกลับลำในมติต่างๆที่ผ่านมาทั้งหมดของทั้งรัฐบาลและรัฐสภา เห็นแก่ผลประโยชน์ทางการเมืองเหนือกว่าผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่?

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามแล้วที่จะควบคุมกัญชาภายให้อำนาจที่มีอยู่กล่าวโดยสรุปดังนี้

ประการแรก เป็นการยกเลิกประกาศให้“กัญชาทั้งต้น” เป็นสมุนไพรควบคุมในฉบับเก่า (ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕)[2] เป็นการประกาศเหลือเฉพาะ“ช่อดอก”ของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสมุนไพรควบคุม [1] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ดังนั้น ใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด จะไม่เป็นสมุนไพรควบคุมอีกต่อไป แปลว่าการจำหน่ายใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด หรือแม้แต่ต้นกัญชาที่ยังไม่มีช่อดอก ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการค้าหรือไม่ใช่การค้า จะไม่อยู่ในสถานภาพ“สมุนไพรควบคุม” อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามกัญชา และกัญชงได้ถูกประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้กำหนดให้กัญชา กัญชง เป็น “เมล็ดพ้นธุ์ควบคุม”ที่ความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ และความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๙ และต้องเก็บรักษาในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์[5]

เมื่อเป็น“เมล็ดพันธุ์ควบคุมแล้ว”ผู้ที่จะขายเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงจะต้องขออนุญาตทุกกรณีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ขายเมล็ดพันธุ์กัญชาจะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพปริมาณของเมล็ดพันธุ์ต่อเกษตรกร

โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องจัดทำป้าย ติดข้อมูลฉลาก การจัดเก็บตาม ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ขายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๔ และมีบทลงโทษตามมาตรา ๕๖ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไมเ่กิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีบทลโทษอื่นๆอีกมากเช่น การหลอกลวง การโฆษณาเกินจริง ฯลฯ [6],[7]

ประการที่สอง การศีกษา วิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชา“เพื่อการค้า”จะทำได้ต้องขออนุญาตทุกกรณี[1] ดังนั้นผู้ที่ทำการศึกษา วิจัย ช่อดอกกัญชาหรือใช้ส่วนตัวที่ไม่ใช่“เพื่อการค้า” ก็ไม่ต้องขออนุญาต (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่สาม ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป“ช่อดอกกัญชา”เพื่อการค้า จะต้องจัดทำข้อมูล“แหล่งที่มา, การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ในสถานประกอบการ” แล้วรายงานต่อกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ทราบ[1] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)




สำหรับประเด็นนี้เป็นไปเพื่อการดูแลแหล่งที่มาของช่อดอกกัญชา เพื่อควบคุมไม่ให้กัญชาในตลาดมืดที่ไม่รับผิดชอบต่อการปนเปื้อนสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งกัญชาใต้ดินที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตในการจำหน่าย วิธีดังกล่าวนี้เพื่อทำให้ผู้ประกอบการกัญชาใต้ดินได้มีโอกาสขึ้นมบนดี เพื่อปฏิบัติตัวให้ได้ตามมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค

ประการที่สี่ คุ้มครองคนกลุ่มเปราะบาง โดยห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร รวมถึง นิสิต หรือนักศึกษา[1] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่ห้า ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชา“เพื่อการสูบ” ใน“สถานที่ประกอบการ”เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน ทันตแพทย์ สัตวแพทย์(สำหรับรักษาสัตว์)[1] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

สำหรับประเด็นนี้ได้ยอมรับว่า“การสูบ” เป็นการสูบเป็น“กรรมวิธีการแพทย์แผนไทย”[8] และสอดคล้องไปกับผลการวิจัยการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมในประเทศแคนนาดานั้น กัญชาได้มีบทบาทสำคัญในการทดแทน ลด หรือเลิกยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction)ที่ก่อให้เกิดปัญหาในสังคม เช่น ยาบ้า แอลกอฮอล์ ฯลฯ[9]-[11]

รวมถึงงานวิจัยในมลรัฐโคโรลาโดที่มีการเปิดการใช้กัญชาในทางการแพทย์และนันทนาการกัญชาแล้วพบว่าเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 12-25 ปี ลดอัตราการสูบบุหรี่ ลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล และลอดอัตราการใช้ยาเสพติดอื่นๆลดลงอย่างชัดเจน[12]

นอกจากนั้นยังปรากฏความสำเร็จในการลดยาเสพติดที่รุนแรง อันนำไปสู่การลดอาชญากรรมจนคุกร้างในประเทศเนเธอร์แลนด์[13]-[14]

โดยสำหรับประเทศไทยนั้นได้พบกรณีศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ที่สอดคล้องกันกับงานวิจัยในต่างประเทศ คือ“การสูบกัญชา”ลดการลงแดงยาบ้า ทำให้เลิกยาบ้าและกัญชาได้[15]-[16]

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสูบยังมีการควบคุม จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา ๒๕ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้ การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณ ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ[17]

ตัวอย่างเช่น หากสูบกัญชาในที่สาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๗๔ ของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[18]

ประการที่หก ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาผ่านเครื่องขายอัตโนมัติ (Vending Machine)[1] อยู่ภายใต้หลักคิดที่ว่า เครื่องขายอัตโนมัติยังไม่สามารถเชื่อมั่นได้ดีพอว่า มีการวิเคราะห์หรือตรวจสอบกลุ่มเปราะบางได้ (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่เจ็ดห้ามโฆษณา“ช่อดอกกัญชา”เพื่อการค้า[1] ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่แปด ควบคุมสถานที่ห้ามจำหน่าย“ช่อดอกกัญชา” หรือสินค้าแปรรูปจากช่อดอกเพื่อการค้า ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (ทุกศาสนา) หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก[1] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่เก้าสำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป“กัญชาทั้งต้น” ในรูปแบบสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า “มาก่อนหน้านี้” ใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้[1] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น“ปลูกกัญ”ที่จะจำหน่ายกัญชาที่มีช่อดอก หรือช่อดอกกัญชาเป็นไปเพื่อการค้าจะต้องลงทะเบียนใหม่ในฐานะการจำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามประกาศฉบับดังกล่าวนี้ (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่สิบ การไม่ขออนุญาต“ช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า”ตามหลักเกณฑ์ของสมุนไพรควบคุมที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ มีบทลงโทษตามมาตรา ๗๘ ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[19] (แต่ประกาศฉบับดังกล่าวนี้ยังถูกขวางไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)

ประการที่สิบเอ็ด เมล็ดกัญชาและช่อดอกกัญชา ยังอยู่ในบัญชีให้เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย“เพื่อการผสมในอาหาร”ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒[20]

ส่วน เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบที่ไม่มีช่อดอกติดของกัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชาที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC)ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักไม่อยู่ในบัญชีต้องห้ามในอาหาร[20]

โดยผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือจำหน่ายช่อดอก “เพื่อการผสมอาหาร” ย่อมมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๒ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท[21]

ประการที่สิบสอง ทั้งกัญชาและกัญชงทั้งต้นจัดเป็น“สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕ ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐ หรือเพื่อการศึกษาของสถาบันการศึกษาและการวิจัย[22]
ดังนั้นผู้ใดลักลอบนำเข้า“สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า” จึงย่อมเป็นการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษตามมาตรา ๙๑ ของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[23]

ประการที่สิบสาม สำหรับการนำกัญชาที่แม้จะไม่ใช่ช่อดอก หรือที่ไม่ใช่สารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) เกินกว่าร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักมาผสมในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒[21]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในส่วนของ“กัญชา” และ“กัญชง”ที่ผสมในอาหารนั้น ได้กำหนดปริมาณของสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และ สารแคนนาบิไดออล (CBD) ของผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภทเอาไว้โดยละเอียดแล้ว[24]-[30]

นอกจากนั้นสำหรับร้านอาหารจะต้องแสดงป้ายที่นำกัญชามาประกอบอาหาร แสดงรายการเมนูที่มีกัญชา รวมถึงคำแนะนำความปลอดภัยในเรื่องกัญชา อันเป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕[31]

ดังนั้นอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร และการปรุงอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ส่วนที่มีผู้กระทำความผิดที่ผ่านมาเพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐให้โอกาสประชาชนปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้เท่านั้น

ประการที่สิบสี่ สำหรับการนำกัญชามาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แจ้งสรรพคุณ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒[23] และหากเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘[32] และประกาศกระทรวงสาธารณสุขการใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง[33]

ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ ฉบับลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นี้ เป็นการประยุกต์ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยมีความสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร

การออกประกาศฉบับนี้ ยังคงเป็นหลักประกันอีกด้วยว่า ไม่ว่าร่างพระราชบัญญัต กัญชา กัญชง พ.ศ…. ฉบับของคณะกรรมาธิการฯ จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเกมการเมืองอย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่ได้พยายามออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมตามอำนาจและกฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่แล้ว

แต่การ“ถูกขวางการควบคุมกัญชา”ทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕ รวมทั้งการตั้งธงเตะถ่วงและการคว่ำร่าง ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ฉบับของคณะกรรมาธิการฯ ประชาชนย่อมมองเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วนักการเมืองไม่ได้ต้องการกฎหมายควบคุมกัญชา แต่ต้องการไม่ให้มีการควบคุมเพื่อเป็นเหตุอ้างในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกใช่หรือไม่?

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, "อนุทิน" ลงนามแก้ประกาศ สธ.เพิ่มคุม "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม, เผยแพร่: ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๒๓ น.
https://mgronline.com/qol/detail/9650000108013

[2] ผู้จัดการออนไลน์, “บิ๊กตู่” ชี้ ประกาศคุมกัญชาไม่ควรมีหลายฉบับ “วิษณุ” ติงไม่รอบคอบ “อนุทิน” ติดภารกิจแจงภายหลัง, เผยแพร่: ๑๖ พฤศจิกายน 2565 ๑๑.๐๓ น.
https://mgronline.com/politics/detail/9650000109350

[3] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ ง, หน้า ๘
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๓๗ ง, หน้า ๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/137/T_0009.PDF

[5] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง, หน้า ๕
https://www.doa.go.th/ard/wp-content/uploads/2021/08/Q.6-Canabis-2564.pdf

[6] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
https://www.doa.go.th/nitikan/wp-content/uploads/2020/06/พระราชบัญญัติพันธุ์พืช-พ.ศ.-2518-และที่แก้ไขเพิ่มเติม.pdf

[7] กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, Presentation : พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
http://www.oard4.org/region4/images/Document/12-06-60/พรบ.พันธุ์พืช%202518..pdf

[8] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๕๖, ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง หน้า ๒๗, เอกสารแนบท้ายประกาศ หน้า ๒๒ จาก ๔๒ หน้า
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/162/T_0027.PDF

[9] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019). https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-6

[10] Janic Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH), Published Online: May, 2021
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[11] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[12] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/ors/docs/reports/2021-SB13-283_Rpt.pdf

[13] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ, ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15 น. ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568

[14] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295

[15] ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, บรรยายเสวนาเรื่อง การใช้กัญชาตามภูมิปัญญาไทย, ในงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” และการอบรมเรื่อง การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการส่งออก, ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ, วันที่ 15 มิถุนายน 2565, Facebook กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, คลิปวีดีโอชั่วโมงที่ 1:11:42 -1:12:60
https://www.facebook.com/dtam.moph/videos/760289735130337

[16] มติชนออนไลน์, เปิดใจ! อดีตขี้ยาเลิกยาบ้าใน 7 วัน ด้วยกัญชา แนะรัฐให้ความรู้ ปชช.ใช้ถูกต้อง, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 - 15:51 น.
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3674865

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควัน กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ, ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/Law_T0002_150665.pdf

[18] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A136/%A136-20-9999-update.pdf

[19] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๔๙-๖๙
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF

[20] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๕ ง, หน้า ๓๒ และ บัญชีท้ายประกาศหน้า ๓ และ ๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/045/T_0032.PDF

[21] เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒
http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=393573&ext=pdf

[22] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง, หน้า ๒๑
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/T65_0021.pdf

[23] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒, ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๖ ก, หน้า ๑๒๑-๑๖๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0121.PDF

[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง, ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๒-๒๔
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0022.PDF

[25] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนชนิดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล และสารแคนนาบิไดออล, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๘ ง, หน้า ๒๕-๒๖
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0025.PDF

[26] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๘) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๑-๓๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/251/T_0031.PDF

[27] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๕) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ดกัญชง, ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๙ ง, หน้า ๑-๗
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P425.PDF

[28] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๗) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีน จากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบ ของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีน จากเมล็ด กัญชง (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๒๙-๓๐
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P437.PDF

[29] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๙) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ, ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ง, หน้า ๙-๑๑
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P429.PDF

[30] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ ๒), ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๔
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P439.PDF

[31] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๙) พ.ศ. ๒๕๖๕, เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/198/T_0006.PDF

[32] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๕๘, ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๘๖ ก, หน้า ๕-๒๕
https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared%20Documents/Laws/พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง%20พ.ศ.%202558.pdf

[33] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชงในเครื่องสำอาง พ.ศ. ๒๕๖๔, ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๐๕ ง, หน้า ๒-๓
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2021/05/PK64MOPH-CosmeticsHemp-180564.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น