ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ปัญหา “แรงงานแพลตฟอร์ม” ปรากฏอย่างต่อเนื่อง เกิดข้อเรียกร้องของ “กลุ่มไรเดอร์” ไม่ว่าจะเป็น Grab Food, Line Man, Food Panda, Lalamove ฯลฯ ตบเท้าออกมาชุมนุมประท้วงขอความเป็นธรรมกันไม่จบไม่สิ้น จนเกิดคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้น และโดนเอารัดเอาเปรียบเต็มคาราเบลจริงหรือ?
สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นอีกครั้งที่ “ไรเดอร์” หรือพนักงานส่งอาหารแอปพลิเคชัน Grab จำนวนมาก ออกมารวมตัวปิดถนนบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ Grab ในกรุงเทพฯ บริเวณถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อระบบใหม่ของ Grab การจองเวลาการทำงานส่งอาหาร ที่ให้ “ไรเดอร์” ต้องเลือกเวลาทำงานลักษณะเดียวกับงาน “พนักงานประจำ” นอกจากระบบจะไม่เป็นอิสระเหมือนช่วงแรกเริ่ม ยังไม่มีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเรียกร้องให้ Grab ยกเลิกระบบการรับออเดอร์ซ้อน ซึ่งทำให้เพื่อน “ไรเดอร์” รายอื่นๆ ขาดรายได้
ส่วนที่ต่างจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ก็มีกลุ่มไรเดอร์กว่า 100 คนรวมตัวแสดงพลังเรียกร้องเช่นกัน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และแสดงพลังเรียกร้องขอปรับขึ้นราคาค่ารอบในการส่งอาหารให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อกลุ่มคนขับแกร็บส่งอาหารมากขึ้น
ขณะที่ แกร็บ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สรุปรวมความได้ว่า บริษัทฯ จะพยายามอย่างยิ่งที่จะบริหารจัดการประเด็นดังกล่าวอย่างดีที่สุด โดยจะทบทวนมาตรการต่าง ๆ พร้อมพิจารณาหาแนวทางใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงการรักษาสมดุลทางธุรกิจและสร้างประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ “กลุ่มไรเดอร์” แรงงานแพลตฟอร์มหลายสังกัดได้ออกมาประท้วงกันอยู่หลายครั้ง เช่น กลุ่มไรเดอร์ลาลามูฟรวมตัวเรียกร้องให้ บริษัทลาลามูฟ อีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนและปัญหาของระบบที่ไม่เป็นธรรมต่อไรเดอร์ ตาม 3 ข้อเรียกร้อง คือ1. ขอให้บริษัทฯยกเลิกการตัดค่าบริการ 33 บาท 2. ขอให้บริษัทยกเลิกการหักค่าบริการถอนเงิน 8 บาท/ครั้ง และ การถอนเงินควรเข้าภายในวันที่ถอน 3. ขอให้บริษัทยกเลิกงานเหมาชั่วโมง 475 บาท ที่ไม่อ้างอิงจากระยะทางจริง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “แรงงานแพลตฟอร์ม” กำลังเผชิญ
ต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนกระทบกับโครงสร้างตลาดแรงงานทั่วโลก รายงาน World Employment and Social Outlook 2021: The role of digital labour platforms in transforming the world of work ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เก็บข้อมูลจากคนทำงานผ่านแพลตฟอร์มกว่า 12,000 คน จาก 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าในรอบ 10 ปี ระหว่างปี 2010 - 2020 แพลตฟอร์มทั่วโลกขยายตัวกว่า 5 เท่า โดยเพิ่มจาก 142 แพลตฟอร์มในปี 2010 เป็น 777 แพลตฟอร์มในปี 2020
ในส่วนธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในเมืองไทยมีอยู่หลากหลาก อาทิ กลุ่มให้บริการรถสาธารณะและรับส่งอาหาร Grab, Line Man, Foodpanda, Lalamove, Robinhood ฯลฯ กลุ่มให้บริการที่พักอาศัยชั่วคราว Airbnb, Agoda, Booking, Traveloka, Traveligo ฯลฯ กลุ่มให้บริการลูกจ้างทำความสะอาดบ้านและสำนักงาน BeNeat, Ayasan, Seekster ฯลฯ
และการขยายตัวของแรงงานกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “แรงงานแพลตฟอร์ม” ส่งผลให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะประเด็นเอารัดเอาเปรียบจากเงื่อนไขของแพลตฟอร์มต่างๆ อีกทั้ง ที่ผ่านมารัฐไม่มีแนวทางควบคุมใดๆ กล่าวคือบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถเอาเปรียบแรงงานได้อย่างไร้กรอบกำหนด
ทั้งนี้ การใช้แรงงานผ่านแพลตฟอร์มตามกฎหมายจัดเป็น “แรงงานอิสระ” หรือ “แรงงานนอกระบบ” หมายความว่า “ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม” จึงไม่มีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงาน ในขณะที่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
ส่งผลให้กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมตามมาตรา 33 (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ การว่างงาน) ขาดการดูแลจากกองทุนทดแทน (ความเจ็บป่วยและอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน) สิทธิประโยชน์วันลา วันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง การชดเชยการเลิกจ้าง การดูแลสภาพการทำงาน เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม
บทความเรื่อง “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (3): คุณภาพชีวิตแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” โดย ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ the101.world ระบุตอนหนึ่งความว่าแรงงานบนแพลตฟอร์มอาจเจอสภาพปัญหาที่คล้ายกับแรงงานแบบดั้งเดิม อย่างการขาดความมั่งคง และการขาดอำนาจการต่อรอง แต่เมื่อมองลึกลงไปยังรายละเอียด จะเห็นว่าแรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่างกัน ก็เผชิญสภาพการทำงานและสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้ลักษณะการแก้ปัญหานั้นต้องแตกต่างกันไปด้วย
โดยเสนอแนะบทบาทรัฐต่อการแก้ปัญหาแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีกับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งมีอย่างน้อย 2 ช่องทาง
“ช่องทางแรก คือการแสวงหาสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนให้กับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยในปัจจุบันประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกยังไม่มีกฎหมายแรงงานที่เหมาะสมกับแรงงานที่มีลักษณะการทำงานแบบใหม่นี้ ขณะที่บางประเทศเริ่มมีความพยายามจะให้สถานะทางกฎหมาย รวมถึงกฎหมายในด้านอื่นเพื่อรองรับบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เห็นความพยายามนี้เกิดขึ้นเท่าไรนักในประเทศไทย
“ช่องทางที่สอง คือการสร้างระบบสวัสดิการเพื่อรองรับแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม แม้ว่าในปัจจุบัน ปัญหาการขาดหายไปของสวัสดิการที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตแรงงานจะถูกจัดการเองผ่านการที่แพลตฟอร์มเองเข้ามีบทบาทให้การประกันภัยและสิทธิประโยชน์อื่นกับแรงงานที่ทำงานได้ปริมาณมาก แต่การจัดการเช่นนี้ยังอาจเกิดขึ้นผ่านสมดุลทางอำนาจที่ไม่ทัดเทียมและขาดความยั่งยืน การเข้ามีบทบาทของรัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ผ่านการหาช่องทางให้แรงงานในแพลตฟอร์มได้เข้าถึงระบบสวัสดิการได้จึงยังเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น”
สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแพลตฟอร์ม ที่ผ่านมา “กลุ่มไรเดอร์” ตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มได้เรียกร้องไปยังรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เกี่ยวกับการออกกฎหมายดูแลสวัสดิภาพแรงงานนอกระบบไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้จ้าง ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐโดยกระทรวงแรงงาน ที่มี “นายสุชาติ ชมกลิ่น”นั่งแท่นเจ้ากระทรวงฯ มีความพยายามจัดการแก้ไขปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มมาโดยตลอด มีการขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy)
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่ารัฐอยู่ระหว่างผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....”เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ได้อนุมัติหลักการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้แรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นองค์กร ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีสัญญาการทำงานที่เป็นธรรม เช่น ไม่กำหนดเงื่อนไขทำให้ต้องเร่งรีบทำงานอย่างมีความเสี่ยง หรือต้องทำงานหนักเกินปกติจนเสียสุขภาพ ผลตอบแทนที่เป็นธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดสวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งกองทุนเพื่อแรงงานนอกระบบ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินผู้ได้อย่างเหมาะสม สิทธิในการอุทธรณ์ การสอบสวน การพักงาน
รวมทั้งสิทธิในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานแพลตฟอร์ม โดยต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อบังคับต่อหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งนี้ ที่น้องแรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประกันสังคมเพื่อดูแลในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทางเลือกที่พี่น้องแรงงานเลือกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
โดยกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ จะช่วยให้แรงงานนอกระบบที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคเอกชน มีทุนกู้ยืมสำหรับประกอบอาชีพ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการจ่ายค่าสมาชิก เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มแรงงานนอกระบบด้วยกันเอง รวมทั้ง มีงบประมาณในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบในการประกอบอาชีพการพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองสภาพการทำงานที่เหมาะสม และการสร้างหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง
สุดท้าย ต้องติดตามว่า “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....” ที่รัฐเตรียมทำคลอดเร็วๆ นี้ กฎหมายจะกำกับดูแลสถานการณ์ปัญหาแรงงานในธุรกิจแพลตฟอร์มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างครอบคลุมหรือไม่?