xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตื่นๆ มีเรื่องแล้ว! ราคาก๊าซ LNG-น้ำมันขึ้นยาวถึงปีหน้า สำรองไฟฟ้าทะลุ 51% บังคับ “ปิด-เปิดไฟ” แก้ปลายเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การเตรียมบังคับปิดไฟฟ้าในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน ป้ายโฆษณา และอื่นๆ ที่จะตามมา ถ้าหากว่าราคาเชื้อเพลิงเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าคือก๊าซแอลเอ็นราคาพุ่งทะลุ 50 เหรียญ/ล้านบีทียู ต่อเนื่องกันสองสัปดาห์ ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายว่านี่ใช่การบริหารจัดการพลังงานที่ชาญฉลาดหรือสักแต่โยนภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการแบกรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความจริงฟ้องว่าเวลานี้ปริมาณสำรองไฟฟ้ามีอยู่มากล้นในระบบถึง 51%  

คำว่า  “ไฟฟ้าสำรอง” ก็คือ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีไว้เพื่อกันเหนียว ซึ่งไม่ต้องมากมายขนาดนั้น โดยควรมีเพียง 15% ก็เพียงพอแล้วตามหลักสากล เพราะนั่นเป็นต้นทุนที่นำมาคิดคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัติโนมัติหรือค่าเอฟที (FT) ที่มาเรียกเก็บเอาจากผู้ใช้ไฟฟ้า

จึงไม่น่าแปลกใจที่พอ  คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เคาะมาตรการจ่อบังคับกำหนดปิด-เปิดไฟฟ้าออกมาปัง และนำร่องให้ประชาชนคนไทยทำใจว่าค่าเอฟทีงวดหน้า (ม.ค.-เม.ย. 66) ไม่แน่ว่าจะขยับขึ้นหรือไม่ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาดักคอว่าอันที่จริงรัฐบาลควรพิจารณาปรับลดค่าเอฟที โดยการทบทวนปริมาณการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินมากกว่า ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทิศถูกทาง และแก้ไขที่ต้นตอมากกว่าการแก้ที่ปลายเหตุอย่างที่  “รัฐบาลลุง” กำลังคลำทางออกจากวิกฤตราคาพลังงานในเวลานี้

อย่าลืมว่าตอนนี้ทุกภาคส่วนกำลังช่วยกันบูทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ ทั้งภาคการผลิต การส่งออก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ต้องการการสร้างสรรค์บรรยากาศไฮซีซันให้สว่างไสวซึ่งน่าดึงดูดมากกว่าเมืองที่มองไปทางไหนก็มืดตึ้ดตื๋อไปหมด

ที่สำคัญการที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยในเวลานี้สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ยังลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศอื่นๆ ไม่นับว่าขีดความสามารถในด้านอื่นๆ ของไทยยิ่งมาก็ยิ่งถดถอยตกอันดับอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

สำหรับผลการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามที่  นายกุลิศ สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงมีเนื้อหาสาระสำคัญหลักๆ สองส่วน ส่วนแรก คือกพช.ได้พิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และดีเซลที่ยังคงผันผวนและปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท จึงเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 2565 เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในปี 2566

มาตรการที่ออกมา เช่น การให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนก๊าซฯ แต่หากราคา LNG ลดต่ำลง ซึ่งขณะนี้อยู่ระดับ 26-29 เหรียญต่อล้านบีทียูก็จะมีการนำเข้ามาสำรองไว้ให้มากขึ้น การจัดหาแหล่งก๊าซฯ ในประเทศที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) อีก 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 8 ซื้อไฟระยะสั้นจากพลังงานทดแทนจากผู้ผลิต SPP-VSPP เป็นต้น มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบค่าไฟปี 2566 แต่ที่สุดแล้วค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 จะลดลงหรือคงเดิมอย่างไรอยู่ที่ต้นทุนรวมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณา

ส่วนที่สอง มาตรการขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจในการประหยัดพลังงาน เช่น เปิดแอร์อุณหภูมิ 27 องศาฯ เปิดไฟป้ายโฆษณาเป็นเวลา ปิดไฟส่องสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น และพร้อมยกระดับเป็นมาตรการบังคับทันทีหากราคา LNG เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญต่อล้านบีทียู เป็นต้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู โดยมาตรการบังคับที่จะออกมา เช่น กำหนดเปิด-ปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

นอกจากนั้น กพช.ยังเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก และเห็นชอบการทบทวนกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2554-2558 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม เรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเรียกเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย

เสียงสะท้อนจาก สอท. ต่อมาตรการประหยัดไฟรับมือกับวิกฤตพลังงานนั้น นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานแถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนต.ค.2565 เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ส.อ.ท.เสนอให้รัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนม.ค. – เม.ย. 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รวมทั้งเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งโดยการทบทวนปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ขณะนี้สูงถึง 51% ทำให้เป็นภาระที่ต้องนำมาควณในค่า Ft โดยขอให้พิจารณาอัตราที่เหมาะสมเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน

เช่นเดียวกับ  นายทวี ปิยะพัฒนา  รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.กล่าวว่า กรณีค่าไฟฟ้าไทยเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วยถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนและเห็นว่าสำรองไฟฟ้าไทยค่อนข้างสูงไปทำให้เกิดภาระต่อระบบ

ส่วนการพึ่งพาตัวเองของประชาชนด้านพลังงาน รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. สะท้อนว่า ขณะนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟทอป) เพื่อพึ่งพาตนเอง รัฐควรจะลดอุปสรรคต่างๆ เพราะยังค่อนข้างยุ่งยากอยู่

ถ้อยแถลงของ ส.อ.ท.ในวันดังกล่าว ยังระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนต.ค. อยู่ที่ 93.1 ปรับขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 82.1 และปรับขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากมีการยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ บวกการส่งออกที่เติบโตและการท่องเที่ยวที่ต่างชาติทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้แรงขึ้นผู้ประกอบการจึงเสนอให้รัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท้ายปี เช่น โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี 30,000 บาท โครงการคนละครึ่งเฟส 6 วงเงินขั้นต่ำ 3,000 บาท รวมทั้งเพิ่มจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็น 2 ล้านสิทธิ์ ฯลฯ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวลดลง จาก 101.8 ในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไปได้

 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) และในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวมากขึ้นจากภาคการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลยังต้องดำเนินมาตรการดูแลผลกระทบด้านพลังงานบางส่วนอยู่เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ โดยเฉพาะการขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ย. 2565 ต่อไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นปี หากรัฐไม่ดูแลดีเซลจะขยับขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร ซ้ำเติมค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ความเสี่ยงของราคาพลังงานโลกที่ผันผวนยังคงเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญไปถึงปีหน้า นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าวิกฤตราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่มี.ค. 2563 จนถึงเดือนก.ย. 2565 รัฐบาลต้องใช้งบช่วยเหลือไปแล้วรวมกว่า 242,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2566 ราคาน้ำมันดิบน่าจะยังทะลุ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคานี้จะทำให้รัฐต้องควักเงินอุดหนุนดีเซล ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร ทำให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบอยู่กว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งต้องกู้มาจ่ายคืนผู้ค้าน้ำมันและเสริมสภาพคล่อง

 ส่วนราคาก๊าซแอลเอ็นจี ปีหน้าคาดว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 38% ในจำนวนนี้ 70% นำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อจึงมีการคาดการณ์กันว่า ราคา LNG จะขยับไปสูงถึง 50-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีขยับขึ้นไปเป็นหน่วยละ 7 บาท จากปัจจุบันที่ค่า FT อยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท 

สำหรับประเด็นเรื่องการกู้เงินของกองทุนน้ำมันนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลในเรื่องการหาเงินมาชำระหนี้กองทุนน้ำมัน เพราะยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาพลังงานจะลดลงมา และอาจจะกระทบต่อวินัยการเงินคลังของประเทศได้

 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การขอให้กระทรวงการคลังมาค้ำเงินกู้ ซึ่งหมายถึงการขอให้ประชาชนค้ำเงินกู้ด้วย และเงินกู้ครั้งนี้มีวงเงินสูงถึง 150,000 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการชี้แจงว่า กู้ไปทำอะไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ รวมถึงแผนการการใช้หนี้ คำถามในภาพใหญ่หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะเป็นเท่าไหร่ เพราะหากกองทุนน้ำมันกู้เงินและกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำหรือไม่ค้ำก็จะตกไปเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท จาก 10 ล้านล้านบาท เป็นภาระหนี้ของคนไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ พ.ร.ก. ด้วยคะแนนเสียง 239 เสียง ต่อ 166 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า มอร์แกน สแตนลีย์ ประเมินว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาในปี 2566 และ 2567 โดยมองว่าความต้องการเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นของยุโรปทำให้การแข่งขันด้านอุปทานทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้น 


ทว่า รายงานของ โกลด์แมน แซคส์ เมื่อสัปดาห์ก่อนคาดราคาก๊าซยุโรปร่วง 30% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยระบุว่า ดัชนีราคา Dutch Title Transfer Facility (TTF) ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาก๊าซธรรมชาติหลักของยุโรป มีการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 120 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในวันอังคาร (1 พ.ย.) แต่โกลด์แมน แซคส์คาดว่าดัชนีดังกล่าวจะร่วงสู่ระดับ 85 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียและผลกระทบที่ตามมาได้สร้างแรงกดดันต่อพลังงานยุโรป จนทำให้ราคาพลังงานพุ่งทะลุ 340 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนราคาก๊าซที่ชะลอตัวลงในช่วงหลังมานี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การกักเก็บก๊าซของยุโรปที่เต็มความจุแล้วสำหรับฤดูหนาวนี้ รวมถึงอุณหภูมิในฤดูใบไม้ร่วงมีความอบอุ่นกว่าที่คาด ทำให้ช่วงเวลาที่ประชาชนจะเริ่มใช้พลังงานอย่างหนักนั้นชะลอออกไป นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ช่วยฉุดราคาก๊าซคือภาวะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ล้นตลาด

ทางด้านธนาคารโลก เปิดเผยรายงานแนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Markets Outlook) ฉบับล่าสุดเมื่อวันพุธ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลง 11% ในปี 2566 หลังจากที่พุ่งขึ้น 60% ในปี 2565 เนื่องจากรัสเซียส่งกำลังทหารเข้าทำสงครามในยูเครน และคาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19 ในจีน อาจจะส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวลงรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยในปี 2566 จะอยู่ที่ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล และจากนั้นจะลดลงสู่ระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2567 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนยอดการส่งออกน้ำมันของรัสเซียอาจลดลงมากถึง 2 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากสหภาพยุโรป (EU) คว่ำบาตรผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ประกอบกับข้อจำกัดด้านการประกันภัยและการขนส่ง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ธ.ค.ปีนี้

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่า ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินจะปรับตัวลงในปี 2566 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 แต่คาดว่าราคาถ่านหินในออสเตรเลียและราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯจะพุ่งขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีภายในปี 2567 และคาดว่าราคาก๊าซในยุโรปจะพุ่งขึ้นเกือบ 4 เท่า

 ด้านนายฟาทิธ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ กล่าวว่า ในปี 2566 โลกจะเผชิญภาวะการเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ของทวีปยุโรปท่ามกลางวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีความต้องการนำเข้ากระเตื้องขึ้น และปริมาณก๊าซ LNG ทั่วโลกตึงตัว ซึ่งจะมีปริมาณก๊าซ LNG ใหม่เพียง 20 ล้านคิวบิกเมตตริกตันเท่านั้น 

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มโอเปกพลัส ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า ตัดลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือว่าเป็นมติที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากการประเมินของไออีเอ พบว่า ความต้องการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลกในปีนี้เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันมากกับปริมาณที่กลุ่มโอเปกพลัสลดการผลิตลงที่วันละ 2 ล้านบาร์เรล

ไออีเอ สะท้อนว่า วิกฤตพลังงานแท้จริงทั่วโลกที่เกิดขึ้นมาถึงขณะนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของพลังงานสะอาด โดยคาดการณ์ว่า การขยายตัวของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปี 2022 จะเพิ่มเป็น 20% เมื่อเทียบกับปีผ่านมา จากเดิมที่ขยายตัวเพียง 8%

 ความไม่แน่นอนของราคาพลังงานที่ยังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น จึงต้องการรัฐบาลที่มีวิชั่นกว้างไกลมองการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างทั้งระบบมิใช่สักแต่เพียงลูบหน้าปะจมูกไปวันๆ เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ที่สำคัญคือการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีความหวัง 



กำลังโหลดความคิดเห็น