ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังไม่เป็นที่แน่ชัด สำหรับเส้นทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีกระแสข่าวหนาหูว่า เตรียมตัวออกไปสร้างดาวดวงใหม่กับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” สานฝันเป็นนายกฯ สมัยที่ 3 โดยทิ้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่เป็นฐานการเมืองปัจจุบันให้เป็นแค่อดีต
ข่าวลึกไปถึงว่า “นายกฯ ตู่” เดิน “สายมู” ดูฤกษ์งามดี ดีเดย์ 21 พฤศจิกายนนี้ จะประกาศการเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ
รับกับท่าทีของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” คนปัจจุบัน ที่กล่าวถึงกระแสข่าวการเปลี่ยนแบรนด์ไปใช้พรรคอื่น และอาจนำพา ส.ส.พลังประชารัฐกลุ่มใหญ่ไปด้วย
“ก็แยกไปไม่เป็นไร ไม่เป็นไร การเมืองก็ว่ากันไป ไปเลย ไปไหนก็ไป ไม่ว่าอะไร ใครอยากไปไหนเป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ห้าม ไม่ห้ามใครทั้งนั้น”
โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “ไปเลย ไปไหนก็ไป” ฟังดูไม่ต่างจาก “ขับไส” แบบไม่เหลือเยื่อใยต่อกัน ก็ยิ่งทำให้กระแสข่าวหนาหู และยิ่งน่าเชื่อขึ้นไปอีก
ตอกลิ่มความแตกแยกขัดแย้งภายใน “พี่น้อง 3 ป.” อันหมายรวมไปถึง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่อ่านทางไม่ยากว่า ถือหาง “น้องตู่” อย่างชัดเจน
กระทั่งต้องมีการปล่อยภาพ “เอ็กซ์คลูซีฟ” ขณะ “พี่ป้อม-น้องตู่” นั่งชิลล์ทอดอารมณ์ ช่วงก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ออกมา เพื่อยืนยันสายสัมพันธ์ของ “พี่น้อง คสช.” ยังคงดีกันอยู่
ตามด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” หลังการประชุม ครม.ที่แม้จะเลี่ยงให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมือง แต่เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามว่าข่าวการโยกย้ายพรรค ก็กล่าวเพียงว่า “อ๋อ ยัง ไม่ย้งไม่ย้ายทั้งนั้นแหละ”
กับ “บิ๊กตู่” อาจจะใช้คำว่า “ย้าย-ไม่ย้าย” ไม่ถูกนัก เพราะในความเป็นจริง แม้ตอนเลือกตั้งปี 2562 จะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่เคยเข้าเป็นสมาชิกพรรคแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การไม่ตอบรับ และก็ไม่ได้ปฏิเสธ ทำให้คิดได้ว่า แนวคิดการย้ายสังกัดไปให้พรรคการเมืองอื่นสนับสนุนเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีอยู่
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาณจาก “ทีมบิ๊กตู่” ที่เคยออกมาในหลายวาระถึงอนาคตทางการเมืองว่า จะมีความชัดเจนภายหลังการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้
พูดง่ายๆ ว่า ยังมีเวลาคิดใคร่ครวญอีกเยอะ
มองได้ว่า ข่าวคราวการโยกย้ายสังกัดของ “ลุงตู่” นั้นก็ไม่ต่างจากการ “โยนหิน” เพื่อ “ถามทาง” ปัจจัยอาจจะไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ของ “พี่น้อง 3 ป.” ที่ง่อนแง่น ตามที่ “คนนอก” คิดกันไปเอง
หากแต่เป็นเพราะสภาพ “ค่ายหลวงพ่อป้อม” พรรคพลังประชารัฐ อาจจะไม่เหมาะกับการเป็น “นั่งร้าน” สู่เก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 3 โดยเฉพาะความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายภายใน ตั้งแต่สมัยที่มี “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งยังฝังลึกมาจนปัจจุบัน
ผนวกกับ “เรตติ้ง” คะแนนความนิยมผ่านการสำรวจของสำนักโพลทั้งบนดิน-ใต้ดิน ที่ “บิ๊กตู่” มีเหนือ “ค่ายพลังประชารัฐ” อย่างมี “นัยสำคัญ”
เห็นได้จากการสำรวจความนิยมทางการเมืองของ “นิด้าโพล” ที่น่าจะเป็นโพลบนดินที่พอจะอ้างอิงได้มากที่สุดในชั่วโมงนี้ ที่มีการไล่สำรวจหัวข้อ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ” รายภูมิภาค ทั้งภาคอีสาน-ภาคใต้-กทม. และล่าสุดที่ภาคเหนือ อันสรุปได้ว่า คะแนนนิยมส่วนตัวของ “ลุงตู่” ที่ว่ากันว่าอยู่ในช่วงขาลง ยังคงมีอยู่พอสมควร สวนทางกับคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ในสภาพกู่ไม่กลับ
กล่าวคือในการสำรวจโพลความนิยมภาคอีสาน ของ “นิด้าโพล” เมื่อเดือน ต.ค.2565 ที่ผ่านมานั้น “นายกฯตู่” ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 4 ที่ 9.85% แต่ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกเป็นอันดับ 5 ของพรรคการเมือง ด้วย 5.30% ในส่วนของ ส.ส.เขต และ 5.25% ในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนโพลใน กทม.พบว่า “บิ๊กตู่” ได้รับเลือกมาเป็นที่ 2 ด้วย 15.20% แต่พรรคพลังประชารัฐมาเป็นที่ 3 ด้วย 9.50% สำหรับ ส.ส.เขต และเป็นที่ 4 ด้วย 9.15% ในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่ที่ภาคเหนือ “บิ๊กตู่” มาที่ 4 กับ 12.65% ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็มาที่ 4 ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ แต่ได้เพียง 8.05% และ 7.20% ตามลำดับ
ชัดเจนที่สุดคงเป็นโพลคนที่ใช้ของ “ชาวปักษ์ใต้” ที่เลือก “ลุงตู่” มาเป็นที่ 1 ด้วย 23.94% แต่พรรคพลังประชารัฐ กลับมาเป็นอันดับ 3 ที่ 12.09% สำหรับ ส.ส.เขต และอันดับ 5 ที่ 11.89% สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
จากผลโพลเกือบทั่วประเทศ ขาดแต่เพียงภาคกลาง ที่น่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน ชี้ให้เห็นได้ว่า คะแนนนิยมส่วนตัวของ “บิ๊กตู่” เหนือกว่าคะแนนพรรคอยู่พอสมควร เป็นจุดที่ “ทีม เสธ.” ชี้เปรี้ยงว่า “ค่ายพลังประชารัฐ” ในวันนี้อาจไม่เหมาะกับการเป็นฐานของ “บิ๊กตู่” ในการไล่ล่าเก้าอี้นายกฯ สมัยที่ 3 อีกต่อไป
ประกอบกับการถอดบทเรียนช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาในฐานะนายกฯ จากการเลือกตั้ง ซึ่งมักถูก กลุ่ม-ก๊วนการเมือง ในพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ในอาณัติ “หัวหน้าป้อม” สร้างปัญหา และกดดันการทำงานของรัฐบาลในหลายวาระ
เป็นผลให้ “นายกฯ ตู่” เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “นั่งร้าน” ของตัวเอง ไม่ยืมจมูก “พี่ป้อม” หายใจมากจนเกินไป
หนักกว่านั้นในระยะหลัง นอกเหนือจาก “ผู้กองธรรมนัส” ที่แยกทางออกไปอยู่ที่พรรคเศรษฐกิจไทยร่วมปีแล้ว ก็ยังมีกระแสข่าวเนืองๆถึง “ป.ที่ 4” อันหมายไปถึง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และน้องชายร่วมสายเลือดของ พล.อ.ประวิตร เข้ามามีบทบาทในพรรคมากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงที่ “นายกฯ ตู่” ถูกแบนการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว และเป็น “ลุงป้อม” ที่รักษาการแทน ก็มีข่าวออกมาเช่นกันว่า มีความพยายามจาก “ป.ที่ 4” ในการเดินเกมเพื่อให้ “พี่ชาย” ได้เป็น “นายกฯ ตัวจริง”
ก็ยิ่งทำให้ “ค่ายพลังประชารัฐ” ไม่เป็นบ้านที่อบอุ่นอีกต่อไป ด้วยรู้ว่า “พี่ป้อม” คงไม่สามารถตัด “น้องชายร่วมสายเลือด” ออกไปจากสมการอำนาจได้
แต่ความสลักสำคัญในทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีอยู่ เพราะแม้คะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่เหมาะสมกับผู้สมัคร ส.ส.ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่เรตติ้งของ “บิ๊กตู่” ต่ำที่สุด มีไม่ถึง 10%
เป็นไปได้ว่า ค่ายพลังประชารัฐ ที่ยังมี “หัวหน้าป้อม” เฝ้าอยู่ จะปรับบทบาทจาก “พรรคหลัก” เป็น “พรรครอง” เพื่อรองรับบรรดานักเลือกตั้งเขี้ยวลาก และมวลหมู่ “บ้านใหญ่” ที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องตาม “บิ๊กตู่” ไปที่พรรคใหม่
ต้องไม่ลืมว่า บรรดานักเลือกตั้งในพรรคพลังประชารัฐนั้นล้วนแล้วแต่เป็นอดีตลิ่วล้อของ “ขั้วตรงข้าม” หากไม่มีพรรคในเครือข่ายรองรับก็อาจตัดสินใจพลิกขั้วกลับไปเติมแต้มให้ฝ่ายตรงข้าม เป็นอุปสรรคของการต่อท่ออำนาจของ “พี่น้อง 3 ป.” จึงจำเป็นต้องมี พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “บิ๊กป้อม” ในการ “ตรึง” ไม่ให้บรรดานักเลือกตั้งพลิกข้าง-ย้ายขั้ว และปล่อยให้ “น้องตู่” ไปสร้างดาวดวงใหม่ แล้วค่อยมาว่ากันใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา “หัวหน้าป้อม” ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีพอสมควร
แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า “บิ๊กตู่” จะไปสร้างดาวดวงใหม่ที่พรรคไหน แต่นาทีนี้ต้องยกให้ “รวมไทยสร้างชาติ” ของ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ที่สวมหมวกอีกใบเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย มีความเหมาะสมที่สุด
ชื่อพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ก็ถอดมาจากมอตโต้ที่ “นายกฯ ประยุทธ์” ขึ้นคิดเป็นโปรเจ็กต์ของรัฐบาลนั่นเอง
โดย “พีระพันธุ์” เองก็ไม่ได้ออกอาการเหนียม ออกตัวทันทีว่า ยินดีต้อนรับให้ “บิ๊กตู่” มา ร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยระบุว่า “พล.อ. ประยุทธ์อยู่ที่ไหนก็ดีกับที่นั่น การที่คนดีๆ มาทำงานให้กับบ้านเมืองถือว่าดีทั้งนั้น ถ้าท่านอยากจะมาทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ทางพรรคก็พร้อมที่จะต้อนรับ”
และก็ไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญที่อีเวนท์ก่อนการประชุม ครม. ซึ่งตามปกติจะเป็นระดับ “รัฐมนตรี” จัดมาเพื่อโชว์ผลงานต่อ “นายกฯ ตู่” แต่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับต้องเปิดฟลอร์ให้ “พีระพันธุ์” นำผู้เสียหายจากเหตุก่อสร้างสะพานข้ามถนนพระราม 2 ซึ่งได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามข้อร้องเรียน พร้อมญาติ เข้าพบ “บิ๊กตู่” เพื่อขอบคุณ
กลายเป็นอีเวนท์ที่เพิ่มน้ำหนักการเตรียมไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติของ “บิ๊กตู่” มากขึ้นไปอีก
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เตรียมแห่เทียบเชิญมาหา “นายกฯตู่” ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงหลังเสร็จสิ้นภารกิจประชุมเอเปก ที่เผอิญตรงกับ “ฤกษ์ดี” ของ “นายกฯ ตู่” พอดิบพอดี
และเป็นที่สังเกตว่า ตั้งแต่ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติขึ้นมา ความเคลื่อนไหวของพรรคก็คล้ายกับพยายาม “ปรับเคมี” ให้ตรงกับ “ลุงตู่” มาตลอด โดยเฉพาะการบ่ายหน้าลงไปปักธงที่พื้นที่ภาคใต้ “บิ๊กตู่” ยืนหนึ่งผลโพลภาคใต้ ที่มี ส.ส.เขตให้ช่วงชิง 58 ที่นั่ง
เบื้องต้นพรรครวมไทยสร้างชาติวางเป้าหมายช่วงชิงพื้นที่ภาคใต้เป็นฐานที่มั่นสำคัญ ตั้งเป้ากวาดทั้ง จ.ชุมพร, กระบี่, สุราษฏร์ธานี, พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นอาทิ
แน่นอนว่า การลงไปปักหมุดที่แดนด้ามขวาน ก็ไป “เหยียบตาปลา” อย่างจังกับ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งว่ากันตามตรง “ขุนพลรวมไทยสร้างชาติ” ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “อดีตคน ปชป.” แทบทั้งสิ้น จนถูกขนานนามว่าเป็น “ประชาธิปัตย์ สาขา 2”
ตั้งแต่ “หัวหน้าตุ๋ย-พีระพันธุ์”, “เสี่ยขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค, “เสี่ยน้อย” วิทยา แก้วภราดัย, “บังมาด” สามารถ มะลูลีม, วิสุทธ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัทลุง, นพ.ปรีชา มุสิกุล, เจือ ราชสีห์, โกวิทย์ ธารณา, พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี และน.ส.รัดเกล้า สุวรรณคีรี บุตรสาว นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และยังมีกลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกช้าง-ลูกหมี ที่นำโดย ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร ซึ่งติดคดีชุมนุม กปปส. และ นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ด้วย
ซึ่งครั้งหนึ่ง “พีระพันธุ์” ก็เคยกระแทกหมัดตรงถึงสังกัดเก่าว่า “หมดวัฒนธรรมส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้ง” เหน็บความยิ่งใหญ่ในอดีตของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยถึงขั้นส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงก็ชนะเลือกตั้ง
กระทั่ง “นายหัว” ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้นำจิตวิญญาณของ “ค่ายสะตอ” ต้องออกโรงมาสะบัดมีดโกนอาบน้ำผึ้งว่า กำลังมีพรรคใหม่จ้องดูด ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ และเตือนลูกพรรค แถมบูลลี่พรรคเกิดใหม่ว่าย้ายไปอยู่ “พรรคเฉพาะกิจพรรคชั่วคราว” จะมาสู้อะไรกับพรรคที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่า ความเข้มขลังของ “ค่ายสีฟ้า” ในพื้นที่ภาคใต้นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หม้คะแนนิยมของพรรคตาม “นิด้าโพล” ยังมาเป็นที่หนึ่ง แต่ตัวผู้นำอย่าง “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กลับตกต่ำสุดขีด มีคะแนนนิยมตามหลัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ด้วยซ้ำ
หรือสมัยเลือกตั้งซ่อม 2 เขต ที่ จ.ชุมพร-สงขลา เวทีฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ต่างโหน “ลุงตู่” กันเต็มที มากกว่าจะพูดถึง “หัวหน้าจุรินทร์” ด้วยซ้ำ ต่างจากเวทีพรรคพลังประชารัฐ ที่คุมโดย “ธรรมนัส” เลี่ยงที่จะพูดถึง “นายกฯ ตู่”
อันเป็นผลให้พรรคประชาธิปัตย์คว้าชัยชนะทั้ง 2 สนามได้แบบสบายๆ
กระทั่งล่าสุด “ดร.สามสี” ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมืองผู้มากประสบการณ์ ประกาศแยกทางจากพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแทบจะทันที ก็คล้ายสารภาพว่า “ทีมลุงตู่” คิดอ่านประการใดอยู่
ในข้อความทิ้งทวนก่อนลาออกจากพรรคก็ชัดเจนในตัว ที่ดูจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่อวย “บิ๊กตู่” มากกว่าความผูกพันที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์เสียอีก
เดาไม่ยากว่า เส้นทางของ “ไตรรงค์” ก็ไม่พ้นจะมาบรรจบกับ “พีระพันธุ์” ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งกำลังแต่งตัวรอพระเอกอย่าง “บิ๊กตู่”
กลายเป็นดรีมทีม “3 ต.” อันประกอบด้วย “ตู่-ตุ๋ย-ไตรรงค์” ที่มองตามเนื้อผ้าแล้วถือว่าครบเครื่องทั้งบู๊-บุ๋น
จากพื้นฐานที่น่าจะไปได้ดีในภาคใต้ พอขายได้ใน กทม. บวกกับขุมข่ายการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมย้ายมาเสริมทัพอีกเพียบ
ไม่ทันไรก็มี “ส.ส.ปุ้ย” พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรามราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะยังไม่ลาออก แต่แจ้งความจำนงค์กับพรรคที่จะย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับ “เจ๊โอ๋” รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก็ไม่ปิดบังว่าคิดที่จะย้ายพรรคเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมี พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม สมาชิกกลุ่มเลือดใหม่, “ส.ส.จ๋า” วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ลูกสาวนายชุมพล กาญจนะ รวมถึงสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ และอดีต ส.ส.ตรัง ที่แจ้งความประสงค์ต่อพรรคว่าจะลงเขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ตรัง แต่ผู้บริหารพรรคให้ทำโพลสำรวจความนิยมเขต 4 จ.ตรัง ผลโพลออกมาแพ้ท่ามกลางข้อสงสัยความโปร่งใส และได้รับการทาบทามจากพรรครวมไทยสร้างชาติ
ในระดับแกนนำค่ายสีฟ้า ก็ยังมีชื่อทั้ง “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกระแสข่าวมาเนิ่นนานแล้ว, “แม่เลี้ยงติ๊ก” ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สนิทสนมส่วนตัวกับ “จุติ-พีระพันธุ์” อาจรวมไปถึง “หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เนื้อหอมอยู่ในยามนี้
ผนวกกับซุ้มการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งกลุ่ม “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, กลุ่ม “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กลุ่มสามมิตรของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน, กลุ่ม ส.ส.ใต้ตลอดจน ส.ส.กทม. อาทิ “ส.ส.วัน” ภาดา วรกานนท์ ส.ส.เขตพญาไท-จตุจักร, “ส.ส.โอ๋” ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ, “เจ๊น้อง” กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา
โดยภาพรวมถือว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ดูเป็นรูปเป็นร่าง แนวโน้มแน่นปึ้กสมเป็น “นั่งร้านใหม่” ของ “ลุงตู่”
ทว่า นอกเหนือจาก “ดรีมทีม 3 ต.” และขุนพลการเมืองที่ว่าไปแล้ว ก็ยังมีเงาลางๆของ “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลัง อยู่ด้วย
ทั้งการที่ “ลูกขิง-เอกณัฏ” บุตรบุญธรรมของสุเทพ หักด่านคู่เทียบหลายรายคว้าเก้าอี้เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ และต้องไม่ลืมสายสัมพันธ์ของ “สุเทพ” กับ “นายกฯประยุทธ์” รวมไปถึงกับ “พีระพันธุ์” ที่ว่ากันว่าเมื่อครั้งลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เดินเกมภายใต้การสนับสนุนของ “สุเทพ” นี่เอง
แม้แรกเริ่มเดิมที พรรครวมไทยสร้างชาติ จะออกหน้าโดย “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ ที่ต้องเฟดตัวออกไปหลังมีวีรกรรมฉาวโฉ่เกี่ยวกับวงการลอตเตอรี่ แต่ลึกๆ คนในวงการเมืองรู้ดีว่า “แรมโบ้อีสาน” ไม่ใช่คีย์แมนหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติ แค่รับบทเป็น “หนังหน้าไฟ” เคลื่อนไหวบนดิน เพื่ออำพราง “บิ๊กเนม” ที่อยู่ฉากหลังเท่านั้น
ขนาดข้อมูลจดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติที่ปรากฎชื่อ “ร.ท.ไกรภพ นครชัยกุล” เป็นหัวหน้าพรรคนั้น ก็เป็นอดีตผู้สมัครเลือกตั้ง จ.นครพนม เขต 2 ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย (เดิม) เมื่อครั้งเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 โดยที่ “สุเทพ” ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไปช่วยหาเสียงด้วย
จึงไม่แปลกหากว่า “ค่ายพญานาค” พรรครวมพลัง ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้การกำกับของ “กำนันเทือก” จะมาควบรวมที่พรรครวมไทยสร้างชาติ
ด้วยเหตุดังกล่าว “ดรีมทีม 3 ต.” นอกจาก “ตู่-ตุ๋ย-ไตรรงค์” แล้วยังอาจแปรสภาพเป็น 3 ต.+1 ในอีกไม่ช้า หรือกลายเป็น 4 ต.เลยก็ได้ เพราะบวกหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาก็ล้อกันเล่นว่าคือ “เทพเตือก” นั่นเอง
ส่วนจะส่งผลดี หรือผลลบต่อแบรนด์ “รวมไทยสร้างชาติ” นั่งร้านใหม่ของ “ลุงตู่” หรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป.