คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในบทที่สามและบทที่สี่ของหนังสือชื่อ the English Constitution (ค.ศ. 1867) ที่เขียนโดย วอลเตอร์ แบจอจ์ท (Walter Bagehot) กล่าวถึง “ราชาธิปไตย” หรือ Monarchy และสองบทที่ว่านี้ มักจะถูกใช้อ้างอิงในการทำความเข้าใจสถานะ บทบาท อำนาจหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะในสองบทที่ว่านี้ แบจอร์ทกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองที่เรียกว่า constitutional monarchy
อนึ่ง คำว่า Monarchy นี้ ถ้าอิงกับความหมายดั้งเดิมในภาษากรีกโบราณจะหมายถึง การปกครองที่อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว ไม่ได้แปลว่า การปกครองโดยคนๆเดียวที่สืบสายโลหิต หรือที่เรียกว่าการปกครองโดยกษัตริย์หรือราชาธิปไตย เพราะในภาษากรีกโบราณจะมีคำว่า basilues สำหรับ กษัตริย์ และ basilea สำหรับการปกครองโดยกษัตริย์หรือ kingship แต่เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้ว การปกครองโดยคนๆ เดียวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรปคือ การปกครองโดยคนๆ เดียวที่สืบสายโลหิต และมีการใช้คำว่า monarchy กับการปกครองโดยกษัตริย์ จึงทำให้คำว่า monarchy กลายเป็นมีความหมายที่แคบลงและใช้เรียกการปกครองราชาธิปไตย
หนังสือเล่มนี้มีทั้งสิ้น 9 บท ได้แก่
หนึ่ง - The Cabinet (คณะรัฐมนตรี), สอง - เงื่อนไขต่างๆ ของการปกครองโดยคณะรัฐมนตรี และรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในอังกฤษ (The Prerequisites of Cabinet Government, and the Peculiar Form Which They Have Assumed in England), สาม - ราชาธิปไตย (Monarchy), สี่ - ราชาธิปไตย (ต่อ) (Monarchy continued), ห้า - สภาขุนนาง (the House of Lords), หก - สภาสามัญ (the House of Commons), เจ็ด - ว่าด้วยการเปลี่ยนกระทรวง (On Changes of Ministry), แปด - การตรวจสอบและถ่วงดุลที่ควรเป็น (Is Supposed Checks and Balances), เก้า - ประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญอังกฤษและผลของประวัติศาสตร์—บทสรุป (Its History, and the Effects of That History – Conclusion)
ถ้าพิจารณาในเชิงปริมาณ จะเห็นว่า จะด้วยความบังเอิญหรือเป็นเพราะเป็นสถาบันที่สำคัญในการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ แบจอร์ทได้เขียนบทที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและราชาธิปไตยถึงสองบท นั่นคือ บทที่หนึ่งและสอง และบทที่สามและที่สี่
และเช่นกัน จะด้วยความบังเอิญหรือเป็นเพราะเป็นสถาบันที่สำคัญในการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ บทที่สามและสี่เป็นบทที่มีความยาวที่สุด นั่นคือ 33 หน้า รองลงมาคือ สภาล่าง 27 หน้า, ว่าด้วยการเปลี่ยนกระทรวง 26 หน้า สภาสูง 25 หน้า, การตรวจสอบและถ่วงดุลที่ควรเป็น และประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญอังกฤษและผลของประวัติศาสตร์ 21 หน้าเท่ากัน, คณะรัฐมนตรี และ เงื่อนไขต่างๆ ของการปกครองโดยคณะรัฐมนตรี และรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในอังกฤษ รวมแล้ว 19 หน้า
ในบทที่ว่าด้วย ราชาธิปไตย อันเป็นบทที่มีความยาวมากที่สุดในหนังสือ แบจอร์ทจะย้ำกับผู้อ่านเสมอว่า เขากำลังกล่าวถึง monarchy ของการปกครองของอังกฤษ และเขาก็กล่าวย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า การปกครองของอังกฤษที่ว่านี้คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ constitutional monarchy หรือใครจะแปลไทยว่า ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็น่าจะตรงตัวกว่า พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตรงตัวในภาษาอังกฤษคือ constitutional monarch
ดังนั้น constitutional monarchy จึงน่าจะหมายถึง ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่ถ้าแปลไทยว่า ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญตรงตัวกับคำว่า constitutional monarchy จะมีความหมายที่ต่างไปจาก พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยทันที ! เพราะอะไร ?
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ จะหมายถึงการปกครองที่อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่การใช้พระราชอำนาจถูกกำกับไว้โดยรัฐธรรมนูญ ส่วนพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะหมายถึงแต่เพียงองค์พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการปกครองที่อำนาจยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ และที่พึงสังเกต ไม่ว่าจะแปลอย่างไรก็ตาม ก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่อย่างที่รับรู้กันทั่วไปว่า อังกฤษมีรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี ดังนั้น มันจะมี constitutional monarchy ในอังกฤษได้อย่างไร ?!
ประเด็นนี้ ควรต้องโทษคนอังกฤษคนแรกที่เรียกการปกครองของตัวเองว่า constitutional monarchy ทั้งๆ ที่คำๆ นี้ก็ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยคนอังกฤษ แต่คำว่า ‘constitutional monarchy’ มาจากคำในภาษาฝรั่งเศส ‘La monarchie constitutionalle’ ถูกใช้ครั้งแรกโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ W. Dupre ในปี ค.ศ. 1801 ซึ่งเป็นเวลา 2 ปีหลังจากที่นโปเลียน โบนาปาร์ตทำการรัฐประหารยึดอำนาจและตั้งตนเป็นผู้ปกครองของฝรั่งเศสในตำแหน่งกงสุล (แบบโรมัน) และจักรพรรดิในเวลาต่อมา แต่การปกครองของนโปเลียนต้องยุติลง และเกิดการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์บูร์บองกลับขึ้นมาอีกในปี ค.ศ. 1814
เนื่องจากผู้เขียนไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส อีกทั้งยังหาหลักฐานต้นฉบับที่ W. Dupre ใช้คำๆ นี้ไม่ได้ จึงไม่รู้ว่า Dupre ใช้คำนี้เพื่อหมายถึงรูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสในช่วงเวลาไหน แต่สันนิษฐานว่า ก่อนเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789” ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จำกัดโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1791 และเพียงปีเดียว คณะบุคคลคณะหนึ่งอาศัยเงื่อนไขความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากฝูงชนไร้ระเบียบฉีกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทิ้งลง และประกาศยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้นเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นโปเลียนพ่ายแพ้สงครามและต้องลี้ภัยไปในปี ค.ศ. 1814 ฝรั่งเศสได้ถูกบังคับจากประเทศที่ชนะสงครามอย่างอังกฤษให้สถาปนาการปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น แต่เนื่องจาก Dupre ใช้คำนี้ในปี ค.ศ. 1801 จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะใช้คำนี้เพื่อหมายถึงรูปแบบการปกครองที่สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1814
ส่วนคนอังกฤษที่น่าจะเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่ไปคำว่า ‘La monarchie constitutionalle’ มาถอดเป็นภาษาอังกฤษว่า constitutional monarchy และใช้เรียกการปกครองของอังกฤษ คือ โทมัส มาควาเลย์ (Thomas Babington Macaulay) ผู้เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์และนักการเมือง และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม
มาควาเลย์ได้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์อังกฤษ” (History of England) ในปี ค.ศ. 1855 และเรียกการปกครองของอังกฤษว่า constitutional monarchy โดยก่อนหน้านี้ อังกฤษยังไม่ได้ใช้คำนี้เรียกรูปแบบการปกครองของตน แต่จะใช้คำว่า King and Parliament หรือ King in Parliament ซึ่งเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1660 หลังจากที่สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษได้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1649 และกลับมาฟื้นฟูสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1660
การใช้คำว่า King and/in Parliament (พระมหากษัตริย์และรัฐสภา หรือ พระมหากษัตริย์ในรัฐสภา) เพราะต้องการบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ ค.ศ. 1660 เป็นต้นไป พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ได้ก็ต่อเมื่อต้องมีรัฐสภากำกับควบคู่กันไป หรือจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อการใช้พระราชอำนาจนั้นเกิดขึ้นในหรือผ่านรัฐสภาเท่านั้น และเมื่ออังกฤษได้ผ่านช่วงที่เรียกว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (the Glorious Revolution) ในปี ค.ศ. 1688 มาควาเลย์ได้เรียกการปกครองของอังกฤษในช่วงนั้นว่า ‘parliamentary government’ การปกครองโดยรัฐสภา และต่อมาเขาได้เรียกการปกครองของอังกฤษในสมัยของเขาว่า constitutional monarchy ที่น่าสังเกตคือ มีการเรียกการปกครองของอังกฤษว่า Constitutional Monarchy เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1855 ขณะเดียวกัน แบจอร์ทได้เขียนหนังสือ the English Constitution ขึ้นในปี ค.ศ. 1867 หลังจากมาควาเลย์ตีพิมพ์ “History of England” 12 ปี และในหนังสือของแบจอร์ทได้อ้างอิงมาควาเลย์ และกล่าวชื่นชมการอธิบายการทำงานของรัฐสภาของมาควาเลย์ที่เขียนไว้ใน History of England ดังนั้น จึงพอจะกล่าวได้ว่า งานของมาควาเลย์มีอิทธิพลต่อการเขียน the English Constitution ของแบจอร์ท ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ทั้งงานของมาควาเลย์และของแบจอร์ทเขียนขึ้นหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติ “ปฏิรูปใหญ่” ค.ศ. 1832 (The Representation of the People Act 1832) หนังสือของมาควาเลย์ออกหลังจากพระราชบัญญัติดังกล่าว 23 ปี ส่วนของแบจอร์ทออกหลังพระราชบัญญัติฯ 35 ปี
กล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการการปกครองของอังกฤษ ถึงขนาดที่ทำให้มาควาเลย์เห็นว่าควรเรียกการปกครองของอังกฤษว่า constitutional monarchy และแบจอร์ทก็รับลูกไปเขียนอธิบายสถานะ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของราชาธิปไตยหลังจากการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่เป็นผลจากพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งขณะนั้น อังกฤษอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ผู้ทรงครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1837-1901 เป็นเวลา 64 ปี
และมีผู้ถึงกับกล่าวว่า สถานะ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียในช่วงครึ่งหลังรัชสมัยของพระองค์แตกต่างอย่างยิ่งไปจากครึ่งแรก และความแตกต่างที่ว่านี้นี่เองที่ทำให้แบจอร์ท เขียนหนังสือ the English Constitution ออกมาในปี ค.ศ. 1867 อันเป็นช่วงต้นของครึ่งหลังของรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย และคงจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมเขาถึงต้อง “ย้ำกับผู้อ่านเสมอว่า เขากำลังกล่าวถึง monarchy ของการปกครองของอังกฤษ และเขาก็กล่าวย้ำอยู่บ่อยๆว่า การปกครองของอังกฤษที่ว่านี้คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ constitutional monarchy” เพราะเขาได้เห็นถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการปกครองในบ้านเมืองของเขา
วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง หากไม่เข้าใจแล้ว ก็ไม่ควรริอ่านจะนำแบบแผนการปกครองของอังกฤษมาลอกเลียนและใช้อย่างหยาบและมักง่าย และที่แบจอร์ทย้ำแล้วย้ำอีกตลอดหนังสือทั้งเล่มของเขาก็คือ การปกครองของอังกฤษนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอย่างยิ่ง อาจจะถึงพิสดารเลยก็ว่าได้ !