xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

องค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ณ มหาศาลาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค. 2022 เป็นเหตุการณ์สำคัญของพรรคฯจัดทุกๆ 5 ปี มีผู้แทนพรรคฯทั่วประเทศกว่าสองพันคนเข้าร่วมประชุม  (ภาพ เอพี)
คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในการประชุม “สมัชชา 20” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมาได้สำเร็จจบสิ้นโดยเรียบร้อย การประชุมครั้งนี้ พคจ. ได้คณะผู้บริหารชุดใหม่ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าในชุดใหม่นั้นมีคนหน้าเก่าอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง เช่น สีจิ้นผิง เป็นต้น

แต่มีรายละเอียดหนึ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวหรือปรากฏแต่เพียงเล็กน้อยคือ เมื่อ พคจ. ได้บุคคลคณะหนึ่งที่เรียกว่า คณะกรรมการกรมการเมือง ที่ใน “สมัชชา 20” นี้มีอยู่ 25 คน ซึ่งมีเท่ากับ “สมัชชา 19” และได้ระบุชื่อว่าประกอบไปด้วยใครบ้างนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่มีรายงานข่าวของบางสำนักกล่าวว่า บางบุคคลใน 25 คนนี้จะไปดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรต่างๆ ของ พคจ.

องค์กรต่างๆ ของ พคจ. นี้ภายใน พคจ. จะเรียกกันว่า องค์กรพรรค

หลังจากนั้นรายงานข่าวก็จะไม่ให้รายละเอียดอีกว่า บุคคลใดใน 25 คนนี้มีใครไปดำรงตำแหน่งใดในองค์กรพรรคเหล่านั้นบ้าง แต่เข้าใจว่าในจีนเองคงมีการรายงานเรื่องนี้เป็นปกติ

องค์กรพรรคคืออะไร มีอยู่กี่องค์กร แต่ละองค์กรทำอะไรบ้าง และฐานะขององค์กรพรรคเหล่านี้เป็นอย่างไร ฯลฯ ล้วนเป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นโครงสร้างการทำงานของ พคจ. ว่าแตกต่างจากพรรคการเมืองในโลกเสรีอย่างไรบ้าง

ในที่นี้จะได้กล่าวถึงองค์กรพรรคของ พคจ. ตามสมควร

พคจ. ก็ไม่ต่างกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่น (ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ) ที่จะมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการที่มีภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง และด้วยวัตถุประสงค์ที่แน่นอน

โดยทั่วไปแล้วหน่วยปฏิบัติการนี้มักเรียกกันว่า “จัดตั้ง” (จู่จือ, 组织) และมีฐานะเป็นกลไก (จีโก้ว, 机构) ที่มีความจำเป็นยิ่งของพรรค ด้วยเหตุนี้ ชาวคอมมิวนิสต์จึงมีธรรมเนียมการใช้ภาษาทางการเมืองเฉพาะตนผ่านคำว่า “จัดตั้ง” อยู่เสมอ

เช่น การขึ้นต่อจัดตั้ง การเชื่อฟังจัดตั้ง เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาถึงภารกิจหรือบทบาทหน้าที่ของ “จัดตั้ง” เหล่านี้แล้ว ก็จะพบว่าไม่ได้ต่างไปจากคำว่า “องค์กร” ดังที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมากนัก การที่ “องค์กร” ถูกเรียกว่า “จัดตั้ง” นี้ หากจะใช้ถ้อยคำหรือภาษาอย่างเคร่งครัดแล้ว คำว่า คณะกรรมการกลางพรรค คณะกรรมการกรมการเมือง หรือคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ฯลฯ ก็คือ “จัดตั้ง” หนึ่งของพรรคที่กรรมการแต่ละคนจะต้องเคารพเชื่อฟัง

แต่คงเนื่องจากเป็นองค์กรที่มีคณะบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงไม่นิยมเรียกว่าจัดตั้ง

ดังนั้น คำว่าจัดตั้งในธรรมเนียมของชาวคอมมิวนิสต์ ในด้านหนึ่งจึงหมายถึงหน่วยบริหารเล็ก ๆ ที่อาจมีสมาชิกในกลุ่มเพียงไม่กี่คนก็ได้ โดยหน่วยจัดตั้งเหล่านี้จะขึ้นต่อหน่วยที่สูงกว่าตนอีกชั้นหนึ่ง

ยิ่งหากพรรคคอมมิวนิสต์กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ปฏิวัติด้วยแล้ว หน่วยจัดตั้งเล็ก ๆ เหล่านี้จะมีผู้ประสานงานที่ทำหน้าที่คล้ายเป็นหัวหน้าหน่วย และอาจเป็นเพียงคนเดียวที่รู้ว่าหน่วยที่สูงกว่าตนคือใคร

ส่วนคนอื่น ๆ ในหน่วยนั้น โดยมากแล้วจะไม่รู้อะไร นอกจากภารกิจที่ถูกมอบหมายให้ทำ

สำหรับ พคจ. แล้ว ทั้งก่อนและหลังยึดอำนาจได้ในปี 1949 ได้มีการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยต่าง ๆ ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังปี 1949 ไปแล้ว องค์กรหรือหน่วยบริหารเหล่านี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย คือมีทั้งที่พัฒนาไปจากเดิม และที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับใช้พรรคในสถานการณ์ใหม่

อย่างไรก็ตาม องค์กรพรรคหรือหน่วยบริหารของ พคจ. มีอยู่หลายสิบหน่วย แต่ที่มีบทบาทสำคัญจะมีอยู่สิบกว่าหน่วย ในที่นี้จะไม่ยกมากล่าวทั้งหมด แต่จะเลือกเฉพาะองค์กรที่มีความสำคัญมากล่าวถึงพอให้ได้รู้จักเท่านั้น ดังนี้

1. สำนักเลขาธิการแห่งศูนย์กลางพรรค

สำนักเลขาธิการแห่งศูนย์กลางพรรค (จงก้งจงยางซูจี๋ชู่, 中共中央书记处) เป็นหนึ่งในกลไกการจัดตั้งที่สำคัญของพรรค องค์กรนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1934 จากมติในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ เต็มคณะ ครั้งที่ 5 ของ “สมัชชา 6”เพราะฉะนั้นแล้ว องค์กรพรรคองค์กรนี้จึงเกิดก่อนที่การปฏิวัติของ พคจ. จะประสบความสำเร็จในปี 1949 และเกิดก่อนที่จะเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นในปี 1937

สำนักนี้มีเรื่อยมาแม้หลังปี 1949 ไปแล้ว ในเวลานั้นทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคอยู่ แต่ก็มิใช่ตำแหน่งสูงสุดของพรรคดังในปัจจุบัน เพราะขณะนั้นตำแหน่งสูงสุดคือ ประธานพรรค ซึ่งก็คือ เหมาเจ๋อตง (1893-1976)

สำนักนี้ได้ถูกยุบเลิกไประหว่างสมัย “สมัชชา 9” ถึง “สมัชชา 11” สาเหตุประการหนึ่งที่ถูกยุบเลิกก็เพราะผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในขณะนั้นคือ เติ้งเสี่ยวผิง (1904-1997) ซึ่งภายหลังเมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในปี 1966 ได้ไม่นาน เติ้งเป็นผู้นำคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกลัทธิแก้และเป็นผู้เดินหนทางทุนนิยม

ข้อกล่าวหานี้ทำให้เขาถูกลงโทษด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่งนี้ในปี 1967 และครั้นถึง “สมัชชา 9” ในปี 1969 สำนักนี้จึงถูกยุบเลิกไปอย่างเป็นทางการ

สำนักเลขาธิการฯ ยังคงไม่มีต่อไป จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ เต็มคณะ ครั้งที่ 5 ของ “สมัชชา 11” ในปี 1980 สำนักนี้จึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การรื้อฟื้นครั้งนี้มีมติให้ยุบเลิกตำแหน่งประธานพรรค

และให้เลขาธิการพรรคเป็นตำแหน่งสูงสุดของพรรคนับแต่นั้นมา

ผลจากการนี้ได้ทำให้สำนักเลขาธิการฯ มีความสำคัญขึ้นมา โดยบุคคลที่เป็นกรรมการของสำนักนี้จะมาจากการเสนอชื่อของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ชื่อเหล่านี้จะถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ เต็มคณะ เพื่อผ่านความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่ง

สำนักเลขาธิการฯ นี้มีเลขาธิการพรรคเป็นผู้บริหารสูงสุด ตำแหน่งนี้มีวาระเท่าสมัชชาใหญ่ คือ 5 ปีต่อ 1 วาระ และเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ

ส่วนภารกิจหลักก็คือ การปฏิบัติงานรายวันร่วมกับคณะกรรมการกรมการเมืองและคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ดังนั้น ที่ตั้งของสำนักงานนี้จึงอยู่ในที่เดียวกันกับสำนักงานของกรรมการทั้งสองคณะนี้เพื่อความคล่องตัว

จากลักษณะการทำงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สำนักเลขาธิการพรรคฯ เป็นองค์กรพรรคที่มีขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในองค์กรนี้จึงมีอยู่จำนวนมาก

และทำให้เห็นว่า เลขาธิการ พคจ. นั้น มีความสำคัญมากกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองในโลกเสรีอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น