xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนเหนือนิยมใคร และตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพที่ 1 ความนิยมของคนเหนือต่อนักการเมือง (ร้อยละ)    หมายเหตุ ข้อมูลจากการสำรวจคะแนนนิยมรายไตรมาส และการสำรวจ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนเหนือ” ของนิด้าโพล

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


นักการเมืองที่คนเหนือนิยมชมชอบมีแบบแผนคล้ายคลึงกับคนอิสาน นักการเมืองแนวหน้า หรือนักการเมืองแถวแรกที่ได้รับคะแนนนิยมสูงกว่านักการเมืองคนอื่น ๆ จากการสำรวจความนิยมของนิด้าโพล มี 3 คนด้วยกัน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีคะแนนนิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามมาด้วยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง 3 คนได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 10 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม น.ส. แพทองธารมีคะแนนนิยมมากกว่านายพิธา และพลเอกเอกประยุทธ์ประมาณสองเท่า กล่าวได้ว่า คะแนนนิยมของ น.ส. แพทองธาร ในภาคเหนือเป็นการนำแบบขาดลอย

นักการเมืองแถวสอง ซึ่งมีคะแนนนิยมระหว่างร้อยละ 5 ถึง 10 มีสองคนคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส่วนนักการเมืองแถวสามหรือได้รับความนิยมระหว่างร้อยละ 1 ถึง 5 มี 5 คน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ นายชลน่าน ศรีแก้ว นายกรณ์ จาติกวณิช นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่วนนักการเมืองที่เหลือได้คะแนนนิยมไม่ถึงร้อยละ 1

ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงกลุ่มใดเป็นแฟนคลับของนักการเมืองแต่ละคนมากกว่ากัน ปรากฏว่านักการเมืองที่มีแฟนคลับในภาคเหนือเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ น.ส. แพทองธาร พลเอกประยุทธ์ คุณหญิงสุดารัตน์ และนายจุรินทร์ ส่วนนักการเมืองที่มีแฟนคลับเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือ นายพิธา พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ นายชลน่าน และนายสมคิด และนักการเมืองที่มีแฟนคลับเป็นชายและหญิงใกล้เคียงกันคือ นายกรณ์ และนายอนุทิน

ภาพที่ 1 ความนิยมของคนเหนือต่อนักการเมือง (ร้อยละ)    หมายเหตุ ข้อมูลจากการสำรวจคะแนนนิยมรายไตรมาส และการสำรวจ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนเหนือ” ของนิด้าโพล
 สำหรับการเลือกพรรคการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 คนภาคเหนือนิยมเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ นับจากนั้นความนิยมของคนเหนือต่อพรรคเพื่อไทยมีลักษณะค่อนข้างมั่นคงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในอดีต พรรคเพื่อไทยกวาดที่นั่งเกือบทั้งหมดในภาคเหนือตอนบน ส่วนภาคเหนือตอนล่างประชาธิปัตย์แทรกเข้ามาบ้างในบางจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 คนเหนือส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนเลือกพรรคอนาคตใหม่ และพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นถดถอยลงไปมาก การสำรวจคะแนนนิยมรายไตรมาสของนิด้าโพลก็บ่งบอกว่า รูปแบบการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองของคนภาคเหนือยังไม่เปลี่ยนแปลง และได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นจากการสำรวจ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนเหนือ” เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2565

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 จนถึงปลายปี คนเหนือมีแนวโน้มนิยมพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆอย่างชัดเจน และความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 33.15 เป็นร้อยละ 48.75 หรือ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคเพื่อไทยมาจากผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจในการสำรวจครั้งก่อน ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดจากภาพที่ 2 ที่แสดงสัดส่วนของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าสนับสนุนพรรคการเมืองใดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนคะแนนนิยมของพรรคการเมืองอื่น ๆ มีทั้งที่เพิ่มและลดลง แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การที่คนเหนือเกือบครึ่งตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย ทำให้โอกาสที่พรรคนี้จะชนะเลือกตั้งแบบท่วมท้นในภาคเหนือมีความเป็นไปได้สูงทีเดียว

คนภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วยเชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 57.07 ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทย เฉกเช่นเดียวกันกับคนภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน มากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 54.01 ก็ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทย หากแบบแผนการตัดสินใจของคนเหนือยังคงมีเสถียรภาพไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในภาคเหนือตอนบน ซึ่งสามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. เขตได้ทั้งหมดในจังหวัดเหล่านั้น

สำหรับภาคเหนือตอนล่าง 1 และตอนล่าง 2 แม้ว่าจะได้คะแนนนิยมไม่ถึงร้อยละ 50 แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังคงได้รับการสนับสนุนมากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ มากกว่าพรรคลำดับสองอย่างพรรคก้าวไกลประมาณ 3 เท่า และมากกว่าพรรคลำดับสามอย่างพรรคพลังประชารัฐประมาณ 5 เท่า อย่างไรก็ตาม การที่ได้รับคะแนนไม่ถึงครึ่งมีนัยว่า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะกวาดที่นั่ง ส.ส. ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างทั้งหมดนั้นมีความเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะจังหวัดและเขตเลือกตั้งที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐมีฐานเสียงแน่นหนา เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร นครสรวรรค์ เป็นต้น

คนเหนือประมาณร้อยละ 16 นิยมพรรคก้าวไกล และคนเหนือตอนบนมีแนวโน้มเลือกพรรคก้าวไกลมากกว่าคนเหนือตอนล่าง ส่วนแบบแผนของความนิยมของคนเหนือต่อพรรคก้าวไกลมีลักษณะค่อนข้างคงที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งบ่งบอกว่า กลุ่มคนเหล่านั้นความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกลอย่างเหนียวแน่น แต่อีกด้านหนึ่งก็บ่งบอกว่า ความสามารถในการขยายแนวคิด อุดมการณ์ และนโยบายของพรรคก้าวไกลในภาคเหนือยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยทีเดียว และแม้ว่าพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมค่อนข้างสูง แต่การแข่งขันช่วงชิงที่นั่ง ส.ส.ในระดับเขตเลือกตั้งยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีแนวทางการหาเสียงที่เน้นอุดมการณ์และนโยบายพรรค เพราะผู้เลือกตั้งไทยจำนวนมากยังคงยึดติดกับการแลกเปลี่ยนเชิงอุปถัมภ์กับนักการเมืองและหัวคะแนนในพื้นที่

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคนเหนือนิยมมากเป็นลำดับสาม และคนเหนือตอนล่างจะนิยมพรรคพลังประชารัฐมากกว่าคนเหนือตอนบนอยู่เล็กน้อย ส่วนแบบแผนความนิยมของคนเหนือที่มีต่อพรรคพลังประชารัฐมีความแปรผัน บางช่วงนิยมลดลง บางช่วงก็นิยมเพิ่มขึ้น พรรคที่มีแบบแผนความนิยมคล้ายคลึงกับพรรคพลังประชารัฐคือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีความแปรผันไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน แม้ว่า ทั้งสองพรรคได้รับคะแนนนิยมไม่มากนัก แต่ก็มีโอกาสช่วงชิงที่นั่ง ส.ส. ในระดับเขตเลือกตั้งหลายเขตทีเดียว เพราะนักการเมืองของสองพรรคนี้มีฐานเสียงเป็นจำนวนมาก ที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กกักบพวกเขาอย่างเหนียวแน่น

ส่วนพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมลำดับท้าย ๆ แต่มีแนวโน้มได้รับความนิยมจากคนเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าไม่มากนักก็ตามคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเสรีรวมไทย ส่วนพรรคที่มีคะแนนนิยมลดลงอย่างต่อเนื่องคือ พรรคไทยสร้างไทย แม้ว่าทั้งสามพรรคมีคะแนนนิยมอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับพรรคระดับแนวหน้าในสนามแข่งขันแล้ว พรรคทั้งสามมีสมรรถนะในการแข่งขันต่ำกว่ามาก โอกาสที่ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเหล่านี้ชนะในเขตเลือกตั้งจึงมีน้อย หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

 ภาพที่ 2 ความนิยมของคนเหนือต่อพรรคการเมืองช่วงมีนาคม - ตุลาคม 2565    หมายเหตุ ข้อมูลจากการสำรวจคะแนนนิยมรายไตรมาส และการสำรวจ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนเหนือ” ของนิด้าโพล

ภาพที่ 3 ความนิยมของคนเหนือต่อพรรคการเมืองที่มีสถานภาพการแข่งขันสูงจำแนกตามเขตปกครอง (ร้อยละ)    หมายเหตุ ข้อมูลจากการสำรวจ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนเหนือ” ของนิด้าโพล
ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566 สนามการเลือกตั้งภาคเหนือเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ เป็นหลัก ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ จะเป็นพรรคประกอบ อย่างไรก็ตามหากอนุมานเบื้องต้นจากผลสำรวจของนิด้าโพล มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคเพื่อไทยจะกวาดที่นั่ง ส.ส.ในภาคเหนืออย่างน้อย 50 ที่นั่งจากทั้งหมด 73 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม การเมืองของการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่มีความแปรผัน ในการเลือกตั้งจริง พรรคเพื่อไทยมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่จะได้ที่นั่งมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ผมประมาณการก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น