xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โจทย์ยาก! พิทักษ์ 14 ตัวสุดท้าย โลมาอิรวดีแห่งทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ของวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย สำหรับภารกิจพิทักษ์ “โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย แห่งทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง”  ซึ่งจัดเป็นสัตว์ทะเลสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ท่ามกลางขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์ ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน

แต่ภารกิจพิทักษ์โลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายของไทยนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้มีการทำคลอดแผนอนุรักษ์ แต่ยังเผชิญกับอุปสรรคแวดล้อมที่ยากจะหลีกเลี่ยง รวมทั้ง หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติก่อสร้าง  “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และสะพานเชื่อมเกาะลันตา”   ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลผลกระทบโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง

อีกทั้งเสียงสะท้อนจาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เกี่ยวกับการหั่นงบประมาณอนุรักษณ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาของรัฐ เสนอแล้วโดนตัดจากขั้นตอนต่างๆ ทำให้หลายฝันไปไม่ถึงเป้าหมาย กล่าวง่ายๆ คือบางอย่างโดนหั่นเยอะไปจนทำแค่นั้นมันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งทาง ดร.ธรณ์ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่ออนุรักษ์โลมา เปิดให้องค์กรต่างๆ และผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยได้ นั่นหมายถึงว่าจะมีเงินมากขึ้นกว่าเงินงบประมาณปกติ

สำหรับ “โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา”  มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 มีมติเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว แม้พื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งบริเวณทางด้านทิศเหนือของโครงการห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กม. เป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี 1 โดยพื้นที่หากินของโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ประมาน 100 ตร.ม. โลมาอิรวดีส่วนใหญ่อาศัยตรงกลางร่องน้ำส่วนลึก สำหรับขอบเขตพื้นที่หากินของโลมาอิรวดีด้านล่างนั้นห่างจากพื้นที่ดำเนินกิจกรรมก่อสร้างแนวสะพานประมาณ 6 กม. ในช่วงดำเนินการก่อสร้างแนวสะพานคาดว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดีในระดับต่ำ

ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง - สงขลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง) ประกาศ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2561

ส่วน  “โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา”  แม้จะมีความจำเป็นเนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่ ต.เกาะกลาง และเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ จะต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์สามารถบรรทุกรถยนต์ได้น้อยทำให้เกิดปัญหาของความล่าช้า ผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ซึ่งโครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณา รายงาน EIA โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศได้พิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว แต่คาดว่าจะนำเสนอ กก.วล. ลำดับถัดไป

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณเกาะลันตาเป็นบริเวณที่พบโลมาปากขวด (Tursiops aduncus) และโลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างฐานรากสะพาน อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมา

ทั้งนี้ การก่อสร้างจะหลีกเลี่ยงการก่อสร้างฐานรากสะพานในฤดูมรสุมช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมาปากขวดและโลมาหลังโหนก และหากพบเห็นโลมาและสัตว์หายากเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง ให้หยุดก่อสร้างในส่วนที่ก่อให้เกิดเสียงดังหรือสั่นสะเทือนสูง รวมทั้งได้ออกแบบการก่อสร้างตอม่อสะพานในทะเลเป็นเสาเข็มเจาะ โดยก่อสร้างหลีกเลี่ยงแนวปะการังและหญ้าทะเล แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของโครงการอาจส่งผลกระทบทางอ้อมให้กับแนวปะการังและหญ้าทะเลบริเวณใกล้เคียงแนวเส้นทางโครงการ หากตะกอนและการฟุ้งกระจายที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมสร้างฐานราก

การดำเนินการก่อสร้างฯ แสดงให้เห็นว่ากระทรวงคมนาคมตระหนักความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนต่างๆ หวังลดผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศโดยรวม

ด้าน  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เร่งหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อนำสู่การอนุรักษ์คุ้มครองและขยายพันธุ์โลมาอิรวดี ตลอดจนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทะเลสาบสงขลาให้เหมาะสมและยั่งยืน โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ในบริเวณทะเลสาบสงขลา ระหว่างกระทรวงคมนาคม (คค.) กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยมีคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงความมือ (MOU)

ในประเด็นนี้ ดร.ธรณ์โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat แสดงความคิดต่อการสร้างสะพานสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง ความว่า

“สะพานมีประโยชน์ต่อผู้คน ร่นระยะทางได้กว่า 80 กม. ลดเวลาได้ราว 2 ชั่วโมง (ตัวเลขจากกรมทางหลวงชนบท) ทำให้คนชายทะเลและชายทะเลสาบเชื่อมต่อกัน ทว่า เราเป็นห่วงโลมา เพราะเหลือน้อยเต็มที หากเป็นอะไรมันจะยากมากที่ทดแทนได้ (ยากมาก = เป็นไปแทบไม่ได้) แม้สะพานจะไม่ทับแหล่งหลักที่เจอโลมา แต่พวกเธออาจว่ายผ่านมาได้ ยังหมายถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับปลาที่เป็นอาหาร ฯลฯ เรื่องแบบนี้จึงต้องรอบคอบครับ

“เมื่อโครงการผ่าน ครม. กรมทางหลวงชนบทกับกรมทะเลจึงทำงานร่วมกัน โดยกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาโลมาใกล้สูญพันธุ์ในทะเลสาบสงขลา คณะดังกล่าวมีท่านอธิบดีทั้งสองกรมเป็นประธานร่วม มีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน รวมถึงกรมประมง และมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก เป้าหมายไม่ใช่แค่ดูผลกระทบจากสะพาน ยังกว้างกว่านั้น นั่นคือหาทางว่าเราจะช่วยโลมาได้อย่างไรในทุกวิถีทาง เพราะปัจจุบันมีผลกระทบด้านต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อกรณีนี้กลายเป็นที่สนใจและเป็นตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงแหล่งทุนโลก จะทำอะไรต้องรอบคอบ...”

ทั้งนี้ ตามรายงานศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบการเกยตื้นตายของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2549 - มี.ค. 2565 ทั้งหมด 94 ตัว และในช่วงปี 2550-2555 อัตราการตายของโลมาอยู่ที่ 10 ตัวต่อปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลมาอิรวดีตายเป็นจำนวนมาก เป็นผลกระทบจากทำประมงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังปี 2545 มีโลมาอิรวดีติดเครื่องมือประมงมากถึงร้อยละ 60 ซึ่งการทำประมงที่เติบโตในห้วงเวลานั้น ยังส่งผลให้สัตว์น้ำแหล่งอาหารของโลมาลดลง รวมทั้ง ยังเกิดอุบัติเหตุโลมาชนใบพัดเรือ และการเพิ่มขึ้นของตะกอนที่ถูกชะล้างมาจากบก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยโลมาเปลี่ยนแปลง และภาวะการผสมพันธุ์เลือดชิด

ประเด็นโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายแห่งทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง ไม่เพียงสร้างความตระหนักรู้ปลุกจิตสำนึกแก่ทุกภาคส่วน ยังเกิดการขับเคลื่อนแผนงานอนุรักษ์อย่างเต็มกำลัง ภายใต้กำกับของ  นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาตราการเชิงรุกในการพิทักษ์ปกป้องสัตว์หาทะเลหายาก แก้โจทย์ใหญ่ระดมความคิด เพื่อพิทักษ์โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย มีชีวิตอยู่รอดในทะเลสาบสงขลาต่อไป โดยมีเป้าหมายเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีให้เป็น 30 ตัว ภายใน 10 ปี

สำหรับแผนระยะสั้น ปี 2565-2566 มี 5 แผนงาน ประกอบด้วย การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี และจัดทำพื้นที่หวงห้ามการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย และการช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น

ส่วนแผนระยะยาว ปี 2566 -2570 ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย

ทั้งนี้ สถานะของ “โลมาอิรวดี” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 รวมถึง เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2546 โดยประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวนลำดับต่อไปของไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น