ผู้จัดการสุดสะปดาห์ - ประเด็นชั่วโมงการทำงานหนักหนาสาหัสของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย เป็นปัญหาที่มีการพูดคุยกันมาอย่างยาวนานแต่ยังไร้ทางออกที่ชัดเจน
แพทย์ที่ทำงานกับรัฐจำนวนมากมีชั่วโมงทำงานสัปดาห์ทำงานกว่า 120 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยวันละ 17 ชั่วโมง และยังพบว่ามีแพทย์ลาออกระหว่างเรียน 8% ทำงานหลังจากจบ 66.5% และลาออกจากระบบปีละ 3.2% โดยเฉพาะแพทย์อินเทิร์นลาออกมากที่สุด ส่วนพยาบาลทำงานเฉลี่ย 71 - 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นับเป็นชั่วโมงทำงานที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดเป็นเท่าตัว
ผลพวงดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของบุคลากรทางการแพทย์ เกิดความเครียด ความกดดัน และความที่ร่างกายเหนื่อยล้า ไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย เกิดกลายเป็นปัญหาฟ้องร้องตามมา ทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาแพทย์หนีออกจากระบบ “เกิดภาวะหมดไฟ” หากไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องชั่วโมงทำงานอย่างเป็นรูปธรรม จะมีแพทย์ทะยอยลาออกเรื่อยๆ
อ้างอิงจากการสำรวจในปี 2562 เรื่อง “ภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย” โดย รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ที่มีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถามมากถึง 1,105 คน พบว่าแพทย์กว่าร้อยละ 60 ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์กว่าร้อยละ 30 ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์หลายคนต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดต่อกันนานกว่า 40 ชั่วโมง โดยไม่มีเวลาพักผ่อน
ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแพทย์โดยตรง หลายคนลาออกเนื่องจากไม่สามารถฝืนทำงานภายใต้แรงกดดันด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแรงได้ ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนเป็นค่าเวร แต่แพทย์ส่วนมากไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่เวรหรือไม่ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีตำแหน่งแพทย์ไม่เพียงพอ
รศ.นพ.เมธีสะท้อนปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ที่ต้องใช้ทุนในโรงพยาบาลของรัฐว่า เป็นปัญหาสะสมมาไม่ต่ำกว่า 40 - 50 ปี โดยในปี 2562 ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างบุคลากรสาธารณสุข 5 กลุ่ม ทั้งสิ้น 8,829 คน ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ และทำงานล่วงเวลาข้ามคืน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องจัดเวร อดนอน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และนักรังสีเทคนิค ทั่วประเทศ
พบว่ากลุ่มแพทย์และพยาบาลมีภาระงานมาก โดยกลุ่มแพทย์ จะเป็นแพทย์จบใหม่มีภาระงานมากสุด ทั้งช่วง 3 ปีแรก และช่วงที่เพิ่งจบแพทย์ประจำบ้านและกลับมาทำงาน ส่วนพยาบาลหนักมาก หนักตั้งแต่จบการศึกษามาใหม่ๆ จนยันเกษียณ ซึ่งหากนับเวลาการทำงานเกินของแพทย์จะอยู่เวรเกิน 24 ชั่วโมงมากกว่าพยาบาล แต่ของพยาบาล จะมีประกาศสภาพยาบาลออกมา รพ.ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่พยาบาลมีความถี่การทำงานมากกว่าแพทย์ แต่ควงเวรติดต่อกันจะไม่เท่ากับแพทย์
ขณะที่ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ที่อยู่ในระบบและทำงานภายในกระทรวงฯ มี 18,280 คน จำนวน 906 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และยังมีแพทย์ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี อยู่ประมาณ 890 คน เมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์ทั้งหมดมีประมาณ 5% ซึ่งแพทย์อายุมากกว่า 55 ปี ทางแพทยสภาออกแนวทางว่า ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ
เทียบสัดส่วนแพทย์กับประชากรปี 2563 แบ่งออกเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ แพทย์ 1 คนต่อสัดส่วนประชากร 1,794 คนส่วนสัดส่วนของประชากรต่อแพทย์ 1 คนในหน่วยงานภาครัฐ 2,358 คน และสัดส่วนของประชากรต่อแพทย์ 1 คนในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 3,377 คน
ทั้งนี้ การอยู่เวรของแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) จะมีการจัดแพทย์ในแผนก ไม่น้อยกว่า 4 - 5 แผนก อายุรกรรมต้องมีแพทย์ 24 ชั่วโมง กุมารแพทย์ หมอสูติฯ หมอศัลย์ หมอกระดูก ต้องมีแพทย์ 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล แต่จำนวนแพทย์ที่มีอยู่เป็นปัญหาว่าจะจัดอย่างไรให้พอดี เพราะเวลาเช้า 1 เวร และบ่ายดึกต้องมีอีก ยกตัวอย่าง แผนกอายุรกรรม ต้องมีแพทย์ 1 คนอยู่ไอซียูต้องอยู่ตลอด และหอผู้ป่วยใน ถ้าเตียงเยอะต้องมีแพทย์ขึ้นเวร และหากมีให้คำแนะนำข้ามแผนกอีก รวมทั้ง ยังมีกรณีผ่าตัดอีก คือ ภาระงานเยอะ
รศ.นพ.เมธี เปิดเผยต่อไปว่าปัญหาไม่ใช่ผลิตแพทย์พยาบาลไม่พอ แต่ปัญหาคือคนไม่อยู่ในระบบ ผลิตเท่าไหร่ก็ออกหมด เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด กล่าวคือไทยผลิตแพทย์ปีละ 3,000 -4,000 คน ตอนนี้มีแพทย์กว่า 60,000 คน ปัญหาไม่ใช่แพทย์ไม่พอ หากผลิตด้วยอัตราปัจจุบัน จะเจอปัญหาแพทย์ล้นในอนาคต เหมือนฟิลิปปินส์ที่เคยเจอแพทย์ไม่มีงานทำ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด ต้องแก้ปัญหาเรื่องการกระจายแพทย์ ไม่ใช่ผลิตแพทย์ ต้องมีระบบสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาทำงาน แต่หากไม่ทำอะไร ปัญหาก็จะวนลูปไปเรื่อย ไม่จบ
ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาภาระงานโหลดของแพทย์ คือ ต้องกระจายแพทย์ให้เหมาะสมด้วยการเพิ่มเข้ามาในระบบ มีแรงจูงใจให้เหมาะสม ไม่เน้นการผลิตแพทย์อย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2565 แพทย์รุ่นใหม่รวมตัวก่อตั้ง “สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” สืบเนื่องจากปัจจุบันบุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาล มีจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่สูงมากทั้งในเวลาและเวรนอกเวลาราชการ เมื่อรวมแล้วมีจำนวนชั่วโมงสูงกว่ามาตรฐานในกฎหมายแรงงานทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขผลักดันกฎหมายคุมชั่วโมงทำงานแพทย์
ที่ผ่านมาเคยมีการทำข้อเสนอเพื่อควบคุมชั่วโมงเวลาการทำงานของแพทย์และมีการหารือหลายครั้งเพื่อพยายามแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่เคยมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการหรือมีการกำหนดเป็นกฎหมายควบคุมการทำงาน มีเพียงประกาศของแพทยสภาเรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ซึ่งก็จะมีคำแนะนำว่าแพทย์ควรทำงานการอยู่เวรไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาแนวทางให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ได้มีเวลาพักอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากออกเวรดึก คือเวลา 00.00 - 08.00 น. และหลังจากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง รวมทั้ง ขอชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการปฏิบัติงานในวันต่อไป และลดโอกาสความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย รวมถึงเพื่อรักษาสุขภาพของบุคลากรเองด้วย
สมาพันธ์แพทย์ฯ จึงพยายามขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้การกำหนดเวลาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้จริง ซึ่งทางด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ อาจารย์ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และหนึ่งในผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุว่าการกำหนดเวลาการทำงานแพทย์ ต้องออกเป็นกฎหมาย คล้ายๆ ชั่วโมงการบิน ถ้าไม่มีกฎหมายก็ใช้ไม่ได้
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังการหารือประเด็นแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน และตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน(สพง.) ร่วมด้วยตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect
ประเด็นแรก กระทรวงสาธารณสุขรับทราบปัญหาเป็นอย่างดีและมีทีมในการแก้ไขมาตลอด แพทย์ของไทยมีประมาณ 3.8 หมื่นคน หากเทียบกับประเทศอื่นมีประชากรระดับเดียวกันมีแพทย์เป็นแสนคน ดังนั้น การทำงานที่ต้องทำร่วมกันหลายส่วน ทั้งผู้ดูแลกำลังภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ แพทยสภา หารือและแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะมีการรวบรวมและวางแผนแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
สำหรับระยะสั้น จะมุ่งไปแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์น จบปีที่ 1 ซึ่งผลการศึกษาปี 2565 พบว่า ประมาณ 50% ของรพ. 65 แห่งใน 117 แห่ง ยอมรับว่าทำงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะให้ทางเขตสุขภาพต่างๆ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ลงไปดูว่า เป็นการกระจุกหรือกระจายตัวของร พ.ใด และจะสามารถกระจายอย่างไรต่อไปได้ นี่คือระยะสั้นที่จะทำโดยเร็ว
ส่วนระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 จะมีการเก็บข้อมูลกำลังคน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาอัตรากำลัง ภาระงาน ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป
ประเด็นต่อมา ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นว่าปัญหาดังกล่าวชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้เกิดขึ้นทุกแห่ง ดังนั้น การจะออกกฎระเบียบออกไปว่า ไม่ให้แพทย์ทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็อาจกระทบต่อบุคลากรอื่นๆ ที่ต้องการทำก็ได้
พอจะสรุปได้ว่ายังไม่สามารถตั้งกฎระเบียบว่า ห้ามแพทย์พยาบาลทำงานควงเวรติดต่อกันเกิน 40 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีเพียงข้อแนะนำจากแพทยสภา โดยทางแพทยสภาระบุว่าไม่สามารถบังคับทางกฎหมาย แต่เป็นข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานเรื่องชั่วโมงการทำงาน ทั้งนี้ การออกกฎใดๆ ต้องคำนึงถึงการบริการประชาชนต้องไม่กระทบ
ซึ่งทาง สธ. ระบุว่าระบบสาธารณสุขไทยมีเขตสุขภาพ ซึ่งก็จะมีการแก้ปัญหาโดยการเกลี่ยบุคลากร ซึ่งทาง ก.พ. ให้ทาง สธ.ทำเป็นแซนบ็อกซ์ ซึ่งมีการดำเนินการแล้วตั้งแต่ปีที่แล้วในเขตสุขภาพที่ 1 เขต 4 เขต 9 และเขตสุขภาพที่ 12 พร้อมกันนี้ได้พิจารณาประเด็นการปรับค่า FTE ภาระงานแพทย์ อยู่ระหว่างนำเสนอต่อ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขยายกรอบอัตรากำลังเพิ่ม เนื่องจากภาระงานเพิ่ม
ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง สำหรับการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่ง “กระทรวงสาธารณสุข” ที่มี “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” นั่งแท่นรัฐมนตรีฯ ทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดี แม้มีความพยายามแก้ปัญหาต่อเนื่อง แต่คุณภาพชีวิตแพทย์พยาบาลของรัฐยังสะท้อนเป็นกราฟแนวดิ่ง