ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า “งงในงง” เลยก็ว่าได้ เพราะเพียงแต่ข้ามวันหนังก็ออกมาคนละม้วน จนประชาชีสับสนอลหม่านว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพิ่งอนุมัติหลักการเพื่อปลดล็อกการผลิตสุราเพื่อการค้าและเพื่อการบริโภค วัดถัดมาสภากลับมีมติ “ไม่รับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ไปด้วยคะแนนเฉียดฉิว จนสังคมถึงกับต้องร้อง “เอ๊ะ”
อารมณ์ของสังคมออกมาในโทนที่ค่อนข้างผิดหวังสวนทางกับถ้อยแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่โอ่ว่ากฎกระทรวงที่ออกมาเป็นการปลดล็อกการผลิตสุราเพื่อการค้าและเพื่อการบริโภคไปเสียอย่างนั้น
คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วทั้งสองเรื่องต่างกันที่ตรงไหน?
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. .... ปลดล็อกการผลิตเพื่อการค้าและการผลิตเพื่อบริโภค ควบคู่กับการคุ้มครองสินค้าสุราให้ได้คุณภาพมีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราในปัจจุบันให้มากขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1)ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิต “กรณีสุราแช่” เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
ในส่วนของ “กรณีสุรากลั่น” เช่น สุราขาว ยังเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้าหรือใช้คนงานน้อยกว่า 50 จากเดิมที่มีขนาดเครื่องจักร ไม่เกิน 5 แรงม้าหรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือโรงงานไซร์ “S” ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะทำให้กำลังการผลิตและคุณภาพดีขึ้น
(2)ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์ จากที่กำหนดกำลังต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี เป็น โดยให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศ แต่ยังให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำตามเดิม ในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตร/วัน และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาวและองค์การสุรา ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตร/วัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานโดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้
โฆษกรัฐบาลยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการผ่อนคลายความเข้มข้นของ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการหารือหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจ และธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐ ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสินค้าสุราที่ผลิตได้คุณภาพมีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อการบริโภค ครอบคลุมการดูแลสุขภาพ การดูแลสังคม ป้องกันอุบัติเหตุที่มาจากการดื่มสุรา รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตสุราด้วย
จากนั้น ในคืนวันที่ 1 พ.ย. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ดังกล่าว โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กฎกระทรวงที่ปรับปรุงนี้โดยหลักไม่ได้เอื้อเฉพาะนายทุนแต่พิจารณาถึงชุมชน ประชาชนให้ผลิตสุราได้ง่ายขึ้น แต่มีมาตรฐานความปลอดภัย ความรัดกุมเรื่องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องชิงไหวชิงพริบตัดหน้าอะไรกับสภาฯ เป็นเรื่องที่ต้องการให้มีกฎเกณฑ์เพื่อผ่อนปรนให้สามารถผลิตสุรา โดยเฉพาะสุราที่ไม่ได้มีเพื่อการค้าอย่างสุราพื้นบ้าน เนื่องจากมองว่าเป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน กฎกระทรวงฯ นี้ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง และผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุรา สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปขออนุญาตหรือเป็นภาระแก่ประชาชน
ที่น่าสนใจคือ กฎกระทรวงข้างต้น ครม.เคาะออกมาตัดหน้าร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2-3 ในวันถัดมาคือ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ทำเอาพรรคก้าวไกล ที่ผลักดันร่างกฎหมายนี้อย่างแข็งขันถึงกับเสียรังวัด
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล คล้ายอยู่ในอาการควันออกหู ออกมาตอบโต้หลังครม.มีมติว่าการแก้กฎกระทรวงการผลิตสุราว่าคือความจงใจใช้เป็นข้ออ้างล้มกฎหมาย#สุราก้าวหน้า เพราะเชื่อว่าร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่จะเข้าสู่สภาฯ มีแนวโน้มว่า “ผ่าน” ทว่า อยู่ดีๆ ครม. กลับมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราออกมาตัดหน้าเพียงหนึ่งวัน
นายพิธาระบุว่าร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ก่อนที่จะเดินทางมาถึงการลงมติครั้งสุดท้ายของสภาในวันที่ 2 พ.ย. 2565 ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ได้ทำงานมาแล้ว 6 ปี ตั้งแต่ก่อนมีพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อเข้าสู่สภาก็พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้กฎกระทรวงฉบับนี้คู่ขนานไปกับการผลักดันร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า แต่สิ่งที่ได้รับคือมีแต่ความเงียบ ความหวังสุดท้ายของการปลดล็อกธุรกิจสุราไทยให้เป็นของประชาชนมีเพียงหนทางเดียวคือกฎมายสุราก้าวหน้า ที่ส.ส.จากหลายพรรคสนับสนุนจนเดินมาถึงการลงมติในวาระ 2 -3
ประเด็นที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลตอกย้ำคือ กฎกระทรวงที่รัฐบาลออกมา “ไม่ใช่การปลดล็อกธุรกิจสุราให้เป็นของประชาชน” แต่เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ที่ยังมีผลในการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นการยังคงเพดานไม่ให้ผลิต “เพื่อการค้า” หรือผลิตมากกว่า 200 ลิตร ต่อปี แต่ไม่ว่าจะผลิตเพื่อการค้าหรือไม่ ก็ต้อง “ขออนุญาต” จากกรมสรรพสามิต ทั้งๆ ที่ในกฎหมายสุราก้าวหน้า เพียงแค่ “จดแจ้ง” และใครที่ต้องการผลิตเพื่อการค้าต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วน
นอกจากนี้ ต้องมีกำลังการผลิต 5 แรงม้า คนงาน 7 คน ให้ครบ 1 ปี ก่อน ถึงจะขยับขยายไปผลิต 50 แรงม้าได้ โดยโรงเบียร์ที่ทำการขาย ณ สถานที่ผลิตหรือ Brewpub ต้องมีใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่ต้องการขายแบบบรรจุขวด ต้องผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งต้นทุนในการทำสูงมาก 3-5 ล้านบาท ส่วนการผลิตสุรากลั่นชนิดพิเศษ วิสกี้ ยิน บรั่นดี ยังคงกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อปี สุรากลั่นอื่นยังคงต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อปี และต้องมีใบอนุญาตโรงงาน
พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าทางออกของการปลดปล่อยธุรกิจสุรา ต้องเป็นกฎหมายสุราก้าวหน้าเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่การใช้อำนาจของคนไม่กี่คนเปลี่ยนกฎกระทรวง
ความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในเรื่องดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นสงครามชิงไหวชิงพริบ ช่วงชิงมวลชน ช่วงชิงคะแนน ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ จะเข้าสภาฯ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา
มองในทัศนะรัฐบาลอธิบายได้ว่า กระทรวงที่แก้ไขใหม่มี “ความก้าวหน้ากว่าเดิม” คือขออนุญาตได้ง่ายขึ้น เพียงแต่อาจไม่ “ขั้นสุด” เหมือนกฎหมายที่พรรคก้าวไกลผลักดัน เพราะยังคงมีความวิตกกังวลเรื่องมาตรฐาน ขณะที่พรรคก้าวไกลเห็นว่า ไม่ใช่ “การปลดล็อก” แต่คือ “การเปลี่ยนล็อก”
ด้วยเหตุดังกล่าว การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. หรือร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. เขต 22 พรรคก้าวไกล จำนวน 7 มาตรา ในวาระ 2 และวาระ 3 จะมีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้น ส.ส.จำนวนมากแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 3 เกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นขออนุญาตผลิตสุราที่กรรมาธิการฯ ไม่ให้กำหนดเรื่องกำลังการผลิต กำลังแรงม้า และทุนจดทะเบียน
นายเท่าพิภพอภิปรายว่า ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเป็นคนละฉบับกับกฎกระทรวง แม้กฎกระทรวงจะปลดล็อกเรื่องหนึ่ง แต่ไปล็อกอีกเรื่อง เช่น การให้โรงงานทำเบียร์ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งที่ไม่มีความจำเป็นหากเป็นโรงผลิตเบียร์ขนาดเล็ก ในกฎกระทรวงไม่มีการปลดล็อกเรื่องกำลังแรงม้า กำลังการผลิตสุรา ต่างจาก ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ เรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม แม้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่มีกฎหมายอื่นบังคับควบคุมอยู่แล้ว
ขณะที่นายพิธาอภิปรายว่า กฎกระทรวงที่ ครม. เพิ่งออกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 เป็นแค่เปลี่ยนล็อกจาก “ล็อกเก่า” ไป “ล็อกใหม่” ยังมีการควบคุมการผลิตในรายละเอียด บังคับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัท ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพผู้ประกอบการผลิตไทย ต่างจากเนื้อหาพ.ร.บ.ที่ปลดล็อกการผลิตสุราอย่างปลดปล่อยศักยภาพผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่จำกัดเรื่องกำลังแรงม้า กำลังการผลิต ป้องกันการถูกรีดไถ ยิ่งการขอผลิตสุราที่ต้องยื่นขออนุญาตเป็นเรื่องยากมาก
ด้าน นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนการออกกฎกระทรวงว่า ไม่ติดใจเนื้อหาในกฎกระทรวงที่ให้ขออนุญาตผลิต แต่เป็นห่วงการผลิตสุราที่ไม่ได้รับอนุญาตจะไม่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านมาการผลิตสุราไม่ชอบด้วยกฎหมายทำในบ้าน สกปรกไม่ได้มาตรฐาน ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านข้างเคียง จึงเห็นด้วยกับการขออนุญาตผลิตต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง
หลังจากที่ ส.ส.อภิปราย มาตรา 3 อย่างเข้มข้นนานร่วม 2 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบมาตรา 3 ด้วยคะแนน 178 ต่อ 4 งดออกเสียง 175 ไม่ลงคะแนน 3 ขณะที่มาตราอื่น อาทิ มาตรา3/1 มาตรา3/2 มาตรา 4 มาตรา 5 ก็มีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีคะแนนงดออกเสียงใกล้เคียงกับคะแนนเห็นด้วย มีผลต่างห่างกันไม่เกิน 10 เสียง หลังจากที่ประชุมพิจารณาครบทั้ง 7 มาตราแล้ว
กระทั่งเวลา 14.45 น. ที่ประชุมลงมติ วาระ 3 ร่างกฎหมายทั้งฉบับ ปรากฏว่า ที่ประชุมกลับมีมติไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ด้วยคะแนน 177 ต่อ 174 งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 4 โดยคะแนนงดออกเสียงในรายมาตราพลิกกลับมาลงคะแนนไม่เห็นด้วย ทำให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม
แต่ก็อย่างที่ว่าร่างกฎหมายนี้สู้กันมันหยด จะให้มีการยอมรับความพ่ายแพ้ง่ายๆ ก็ใช่เรื่อง เมื่อผลการลงคะแนนสูสีกันแบบหายใจรดต้นคอ ทางนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ขอใช้สิทธิตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 85 กรณีที่มีคะแนนต่างกันไม่เกิน 25 เสียง สามารถนับคะแนนใหม่ โดยการขานชื่อรายบุคคลได้ โดยมี ส.ส.ให้การรับรองถูกต้อง แต่นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ คัดค้าน ขอให้นับคะแนนใหม่ด้วยการเสียบบัตรลงคะแนนเท่านั้น แต่ฝ่ายค้านยืนยันตามข้อบังคับการประชุมตามข้อ 85 ต้องให้นับคะแนนใหม่โดยการขานชื่อเท่านั้น
ในที่สุด นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ตัดสินให้นับคะแนนใหม่โดยการขานชื่อรายบุคคล แต่ก็ยังเกิดความวุ่นวายตามมา เมื่อฝ่ายค้านให้นับองค์ประชุมก่อนการขานชื่อรายคน ระหว่างนั้นส.ส.เริ่มเดินออกจากห้องประชุม มีทีท่าองค์ประชุมจะไม่ครบ จนนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สอบถามว่า ขณะนี้ ส.ส. เดินออกจากห้องประชุม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ หมายความว่า การกลับมาโหวตใหม่ครั้งหน้า ต้องใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนนใหม่หรือไม่ ซึ่งนายสุชาติ ชี้แจงว่า สภาค้างคาเรื่องใดไว้ต้องกลับมาดำเนินการต่อ ไม่สามารถยกเลิกเรื่องใดได้ สุดท้ายเมื่อนับองค์ประชุมเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า มีองค์ประชุม 257 ครบองค์ประชุม
จากนั้น เวลา 15.10 น. เริ่มขั้นตอนการขานชื่อลงคะแนนรายบุคคล โดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ขณะที่บางส่วนของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลงมติงดออกเสียง และมี ส.ส.ประชาธิปัตย์บางคนลงมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่น นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ส.ส.ชุมพร นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุราษฎร์ธานี นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง
อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ร่วม 30 คน ที่ไม่อยู่ในห้องประชุมตอนลงมติขานคะแนน ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุม ลงมติขานเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ทั้งนี้เมื่อขานชื่อลงคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว มี ส.ส. ร่วม30 คน ที่มาโหวตลงคะแนนไม่ทัน ส่วนใหญ่เป็นส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้แย่งกันขานชื่อลงคะแนน บางคนตะโกนขานชื่อตัวเองถึง 3 รอบ จนชุลมุนมั่วกันไปหมด ทำให้นายสุชาติที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม บอกให้สมาชิกใจเย็นๆ เกรงว่ากรรมการนับคะแนนจะจดผลคะแนนไม่ทัน เกิดความคลาดเคลื่อน โดยกรรมการนับคะแนนใช้เวลารวมคะแนนนานกว่า 1 ชั่วโมง ก็ยังสรุปผลไม่ได้
ระหว่างนั้น นายธีรัจชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แจ้งว่า พรรคก้าวไกลได้ย้อนดูเทปช่วงขานชื่อลงคะแนน พบมีสมาชิกหมาย 225 และหมายเลข 255 โหวต 2 ครั้ง ทำให้ นางสุเนตตา แซ่โก๊ะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง ขอใช้สิทธิพาดพิงว่า หมายเลขตนคือ 255 แต่นายธีรัจชัยแย้งว่า คนที่ขานหมายเลข 255 เป็นผู้ชาย ซึ่งทางกรรมการนับคะแนนก็ระบุว่า ขอให้วางใจการทำหน้าที่นับคะแนน เพราะกรรมการประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ นายสุชาติ กล่าวเสริมว่า ถ้ามีใครมีหลักฐานว่าใครขานชื่อซ้ำโดยทุจริต ก็ไม่ต่างจากการกดบัตรแทนกัน มีสิทธิที่จะไปฟ้องต่อได้
จนกระทั่งเวลา 17.14 น. ภายหลังการนับคะแนนเรียบร้อยแล้ว นายสุชาติ ประกาศผลการลงมติวาระ 3 ปรากฏว่าที่ประชุมยังคงโหวตไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ด้วยคะแนน 196 ต่อ 194 งดออกเสียง 15 ถือว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
หลังพ่ายแพ้แบบเฉียดฉิว พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ตั้งคำถามในทำนองว่า สภาแห่งนี้ต้องตอบคำถามประชาชนว่า ผู้แทนในสภาเป็นผู้แทนราษฎรหรือผู้แทนของใคร ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีการรณรงคฺมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากที่เข้าใจแก่นสารของ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ว่าไม่ใช่การเพิ่มนักดื่ม แต่คือการเพิ่มผู้ผลิต ปลดล็อกให้มีผู้ผลิตรายย่อยและรายใหม่มากขึ้น กระจายเงินหลักแสนล้านต่อปีสู่ผู้ประกอบการ SMEs หากตัดสินกันตามหลักการหรือความต้องการของประชาชน ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องผ่านสภาอย่างแน่นอน ซึ่งพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าจะผลักดัน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าต่อไป
ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ออกมาตอบโต้ว่าการที่สภาฯ มีมติคว่ำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า นั้น อยากให้ฝ่ายค้านเปิดใจรับฟังความห่วงใยจากที่ประชุมสภาฯ บ้าง เพราะหากเรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนนั้น รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
แต่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านั้น เห็นได้ชัดเจนว่ายังมีจุดบกพร่องอยู่ในหลายจุด ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก ซึ่งรัฐบาลได้ระบุเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบต่างๆ ดังกล่าวในกฎกระทรวง ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง ดังนั้น อย่ามาใช้วาทะกล่าวหาว่าเงื่อนไขเหล่านั้น ทำให้ไม่เป็นการเปิดเสรีอย่างแท้จริง
นายธนกร เห็นควรเปิดโอกาสในการผลิตและจำหน่ายสุราและเบียร์ แต่ไม่ควรให้อิสระมากเกินไปจนไม่มีขอบเขตตาม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพราะต้องยอมรับว่าสุราส่งผลกระทบต่อสังคม ต่อศีลธรรม ต่อสุขภาพ การกระจายตัวของการผลิตไปยังทุกๆ บ้าน ทุกท้องถิ่น สุรา เบียร์ มีราคาถูกลง ทำให้การเข้าถึงสุราได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนและครอบครัวที่อ่อนไหวต่อปัญหาสุรา ซึ่งสุดท้ายจะหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ คือ ปัญหาครอบครัว การเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาท
“รัฐบาลจึงมีความห่วงใยในเรื่องนี้ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านั้น แม้ว่าอาจจะแก้ไขการผูกขาดได้ แต่กลายเป็นว่ามองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในอนาคต ซึ่งกฎกระทรวงนั้นได้แก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้เอาไว้แล้ว ...กฎกระทรวงนี้ดีที่สุดกับทุกฝ่ายแล้ว จึงขอให้ฝ่ายค้านเข้าใจและอย่าคิดแบบไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้อีกต้องหัดมองให้ครบทุกมิติ” นายธนกร ถือโอกาสฟาดกลับพรรคก้าวไกล